ปุ๋ย:การใช้ปุ๋ยฟอสฟอรัส

ฟอสฟอรัสที่มีอยู่ในดิน ส่วนใหญ่จะมีอยู่ 2 รูปคือ ในรูปของสารอินทรีย์ เช่น ในรูปของฮิวมัส และอินทรียวัตถุ อีกรูปหนึ่งคือ เป็นสารอนินทรีย์ ซึ่งอยู่ในรูปของสารประกอบของธาตุเหล็ก อะลูมิเนียมและธาตุอื่นๆ แต่ไม่ละลายน้ำ

คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดคิดว่าฟอสฟอรัสคงถูกชะล้างได้ง่ายเช่นเดียวกับพวกไนเตรท ความจริงแล้วฟอสฟอรัสในดินนั้นจะถูกชะล้างได้น้อยมาก เนื่องจากฟอสฟอรัสจะทำปฏิกิริยากับสารเคมีอื่น ๆ ในดิน จนเป็นสารที่ไม่ละลายน้ำ และจะถูกตรึงไว้ในดิน จึงทำให้พืชได้รับฟอสฟอรัสไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทั้งๆที่มีฟอสฟอรัสอยู่ในดินอยู่แล้ว โดยเฉพาะในดินกรดจะตรึงฟอสฟอรัสได้มากกว่าดินกลาง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พืชที่ปลูกในดินกรดขาดธาตุฟอสฟอรัสได้มากกว่าพืชที่ปลูกในดินที่เป็นกลาง

การเพิ่มปริมาณฟอสฟอรัสลงในดิน เพื่อให้พืชนำไปใช้ประโยชน์มากที่สุด จึงเป็นเรื่องที่เกษตรกรทุกคนควรเข้าใจเพื่อนำไปปฏิบัติให้ได้ผลถูกต้องต่อไป

ก่อนอื่นควรทราบว่า ปุ๋ยฟอสฟอรัสเกือบทั้งหมดมาจากหินฟอสเฟตทำปฏิกิริยากับกรด แล้วนำไปทำให้เป็นกลางหรือทำปฏิกิริยากับสารแอมโมเนียมได้ปุ๋ยในแบบต่างๆและไม่มีคุณสมบัติเป็นกรดอีกต่อไปอย่างไรก็ตามการใส่ปุ๋ยฟอสฟอรัสชนิดใดๆ ลงในดินก็ตาม ควรมีการพิจารณาคือ ชนิดของปุ๋ยฟอสเฟตและการละลายน้ำของปุ๋ยที่มีผลต่อพืชแต่ละชนิดด้วย เพราะการใช้ปุ๋ยฟอสฟอรัสที่ละลายน้ำได้ดี จะทำให้ฟอสฟอรัสถูกตรึงในดินได้เร็วและมากกว่า 70℅ แต่ถ้าใช้ปุ๋ยฟอสฟอรัสที่ละลายน้ำได้น้อย ถึงแม้ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อพืชช้าแต่ก็ทำให้ฟอสฟอรัสถูกตรึงได้ช้าไปด้วย การใช้ประโยชน์จึงใช้ได้นานกว่าพวกฟอสฟอรัสที่ละลายน้ำได้ดี

การจัดการสภาพของดินให้เหมาะสมก่อนที่จะใส่ปุ๋ยฟอสฟอรัสเป็นสิ่งที่ควรกระทำ ดินที่มีพีเอช(pH)น้อยกว่าหรือมากกว่า 7 ควรทำการปรับ pH ดินให้อยู่ในระหว่าง 6.0-7.0 เสียก่อน การให้ปุ๋ยฟอสฟอรัสควรให้ในช่วงที่พืชมีความต้องการฟอสฟอรัสจริงๆ คือในช่วงระยะแรกของพืช พืชจะมีความต้องการฟอสฟอรัสสูง วิธีการใส่ปุ๋ยควรใช้วิธีโรยเป็นแถวหรือเป็นแถบ ห่างจากเมล็ดที่ปลูก 1-1นิ้วครึ่ง (ถ้าเป็นการใช้เมล็ดปลูก) และควรใช้ปุ๋ยเม็ดเพื่อลดพื้นที่สัมผัสระหว่างปุ๋ยกับดิน นอกจากนี้ควรเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุ โดยใช้ปุ่ยคอกหรือปุ๋ยพืชสดให้กับดินเสมอๆ เพื่อเป็นการเพิ่มฟอสฟอรัสในดินอีกทางหนึ่ง