ปุ๋ยปลอม:หลักเกณฑ์ในการตัดสินใจเลือกซื้อปุ๋ยเคมี

ระวัง!ปุ๋ยปลอม(ดร.พรชัย  สุธาทร)

จากการที่ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ปุ๋ยจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร  แม้ว่าปุ๋ยมีราคาแพงขึ้นทุกวัน  มีแนวโน้มว่าการใช้ปุ๋ยของเกษตรกรจะเพิ่มขึ้นทุกปี  จึงได้มีผู้เห็นแก่ได้พวกหนึ่งทำการปลอมปนปุ๋ยขึ้น  โดยใช้วัตถุต่าง ๆ ที่ราคาถูก แต่ไม่มีประโยชน์ต่อพืชแต่อย่างใด บางครั้งยังเป็นอันตรายต่อพืชมาผสมรวมกับปุ๋ย หรือบางครั้งไม่มีเนื้อปุ๋ยอยู่เลย  บรรจุลงกระสอบแล้วจำหน่ายเป็นปุ๋ยแก่เกษตรกร  ก่อให้เกิดความเดือดร้อนโดยทั่วไป  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตชนบทยากจนห่างไกลความเจริญและเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปไม่ถึง

เนื่องจากสาเหตุดังกล่าว  ผู้เขียนจึงได้รวบรวมหลักเกณฑ์โดยกว้าง ๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐระดับท้องถิ่น  หัวหน้ากลุ่มเกษตรกรหรือแม้แต่ตัวเกษตรกรเองสามารถใช้ตรวจสอบปุ๋ยก่อนซื้อว่าเป็นปุ๋ยจริงหรือไม่ หลักเกณฑ์ที่จะกล่าวต่อไปนี้แม้ว่าจะไม่สามารถพิสูจน์ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าปุ๋ยอันไหนปลอม อันไหนจริง แต่ก็สามารถใช้เป็นหลักในการซื้อปุ๋ยได้  ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถส่งตัวอย่างปุ๋ยไปตรวจสอบที่หน่วยงานของรัฐได้หรืออยู่ระหว่างรอผลการตรวจสอบ

หลักเกณฑ์นี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ขั้นตอน คือ

1.  การติดต่อ ซื้อ-ขาย

2.  กระสอบปุ๋ย

3.  การทดสอบเนื้อปุ๋ย

การติดต่อซื้อขาย

เมื่อมีการติดต่อซื้อขายปุ๋ย ผู้ซื้อควรสังเกตสิ่งดังต่อไปนี้

1.  อย่าซื้อปุ๋ยจากพ่อค้าเร่  แม้ว่าจะถูกแนะนำมาก็ตาม  ควรซื้อจากบริษัทหรือร้านค้าที่เชื่อถือได้

2.  เมื่อซื้อควรขอใบเสร็จไว้เป็นหลักฐานภายหลังหากพบว่าปุ๋ยปลอม  จะได้ดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติปุ๋ย

3.  อย่าซื้อปุ๋ยโดยพิจารณาจากเครื่องหมายการค้า  แต่ควรพิจารณาจากสูตรปุ๋ยว่าเหมาะสมกับพืชที่ปลูกหรือไม่  และราคาเหมาะสมหรือไม่

ราคาอาจคำนวณได้จากราคาต่อหน่วย เช่น ปุ๋ยสูตร 10-10-10 ราคากระสอบละ 320 บาท ราคาเฉลี่ยต่อหน่วยเท่ากับ    320/10+10+10 หรือ 320/30 =10.67 บาท เมื่อเทียบกับปุ๋ยสูตร 15-15-15  ซึ่งราคากระสอบละ  400  บาท  ซึ่งราคาเฉลี่ยต่อหน่วยเท่ากับ 400/15+15+15 = 8.89  จะเห็นได้ว่าปุ๋ยสูตร 15-15-15 ราคาเฉลี่ยต่อหน่วยถูกกว่า  ซึ่งควรพิจารณาซื้อปุ๋ยสูตร 15-15-15

4.  ราคาปุ๋ยที่ซื้อควรใกล้เคียงกับราคามาตรฐาน  ไม่ควรต่ำกว่าราคามาตรฐานมากนัก

5.  อย่าซื้อปุ๋ยที่มีชื่อหรือตราแปลก ๆ ใหม่ ๆ

6.  ควรเรียกเอกสารคำแนะนำในการใช้ปุ๋ยจากผู้ขายทุกครั้ง  เพื่อเป็นแนวทางสำหรับใชปุ๋ยนั้นให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด  ถ้าไม่มีเอกสารคำแนะนำดังกล่าวนี้อาจเป็นปุ๋ยปลอมก็ได้

กระสอบปุ๋ย

จากกระสอบปุ๋ย  ผู้ซื้อควรพิจารณา

1.  กระสอบปุ๋ยควรได้รับการขึ้นทะเบียนและมีสิ่งดังต่อไปนี้

1.1  ชื่อการค้าของปุ๋ยเคมี และมีคำว่าปุ๋ยเคมี

1.2  เครื่องหมายการค้าและตำบลที่ตั้งของบริษัท

1.3  ปริมาณธาตุอาหารที่ได้รับรองแล้วและถ้ามีธาตุอาหารรองก็ต้องบอกไว้ด้วย เช่น ไนโตรเจนทั้งหมด (N)= 15 %  ฟอสเฟตที่เป็นประโยชน์ (P2O5) = 10%  โปรแตชที่ละลายน้ำ (K2O = 15% สำหรับปุ๋ยสูตร 15-15-15

1.4  สูตรปุ๋ยที่แน่นอน เช่น 15-15-15, 15-20-0

1.5  น้ำหนักสุทธิตามระบบเมตริก(กิโลกรัม)  ถ้าบรรจุมากกว่า 25 กิโลกรัม ต้องเป็น 50 กิโลกรัมเท่านั้น

1.6  หมายเลขทะเบียนข้างกระสอบ(ยกเว้นปุ๋ยเคมี มาตรฐาน เช่น ปุ๋ยยูเรีย แอมโมเนียมซัลเฟต ซูเปอร์ฟอสเฟต ดับเบิ้ลซูเปอร์ ฟอสเฟต ทริบเปิลซูเปอร์ฟอสเฟต  โปแตชเซี่ยมคลอไรด์ โปแตชเซี่ยมซัลเฟต)

2.  อย่าซื้อปุ๋ยที่กระสอบไม่มีสิ่งดังกล่าวในข้อ 1

3.  อย่างซื้อปุ๋ยที่กระสอบเก่าเกินไป  หรือบรรจุกระสอบไม่เรียบร้อย เช่น มีรอยตัดหรือเย็บปากถุงใหม่ เพราะปุ๋ยอาจเสื่อมคุณภาพหรือผู้ขายอาจซื้อกระสอบมาเพื่อใส่ปุ๋ยปลอมในกระสอบนั้นเพื่อจำหน่าย

4.  ในกรณีที่เป็นปุ๋ยน้ำ  ซึ่งบรรจุอยู่ในขวด (แก้วหรือพลาสติก) หรือภาชนะอื่น ๆ ก็ได้  หลักเกณฑ์เดียวกันกับการตรวจสอบกระสอบปุ๋ย เช่นจะต้องมีคำว่า “ปุ๋ยเคมี” ปริมาณปุ๋ยบอกเป็นลูกบาศก์เซนติเมตร(ซม3) และไม่มีคำอวดอ้างหรือโฆษณาชวนเชื่อต่าง ๆ

การทดสอบเนื้อปุ๋ย

1.  ปุ๋ยเคมีแท้  จะมีเม็ดแข็งบีบไม่แตกง่าย และขนาดสม่ำเสมอกันต่างกับปุ๋ยปลอมซึ่งส่วนมากจะบีบแตกง่าย  และขนาดเม็ดปุ๋ยไม่แน่นอนใหญ่บ้างเล็กบ้างปนกันไปในกระสอบเดียวกัน

2. ปุ๋ยเคมีแท้  เมื่อถูกน้ำจะไม่อ่อนตัวทันทีเหมือนปุ๋ยปลอม  ซึ่งประกอบด้วยหิน ดินหรือปูน

3.  ปุ๋ยไนโตรเจน  ซึ่งใช้เป็นปุ๋ยข้าวอาจทดสอบได้ง่าย ๆ  โดยนำปุ๋ยใส่ลงในแก้วน้ำประมาณ 10-20 เม็ด แล้วหยดน้ำปูนใส (ปูนกินกับหมาก) หรือน้ำโซดาไฟ (โซเดียมไฮดรอกไซด์) หรือน้ำขี้เถ้า ลงไปจนท่วมเม็ดปุ๋ย  ใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ปิดไว้ 2-3 นาที แล้วเปิดออกมาดมดู ถ้าได้กลิ่นแอมโมเนีย (หรือกลิ่นเยี่ยวอูฐ) ก็เป็นปุ๋ยเคมีแท้ ถ้าไม่ได้กลิ่นอะไรเลยก็เป็นปุ๋ยปลอม

จากหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น  ทำให้ผู้ซื้อสามารถตรวจสอบเบื้องต้นในการซื้อปุ๋ยเคมีเพื่อป้องกันการซื้อปุ๋ยปลอม  อย่างไรก็ตามถ้าเป็นไปได้การซื้อปุ๋ยในคราวต่อไปควรได้ส่งตัวอย่างไปให้หน่วยงานของรัฐบาลในการทดสอบ  โดยติดต่อผ่านเจ้าหน้าทีของรัฐ  เช่น  เจ้าหน้าที่ของศูนย์พัฒนาที่ดินต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ  ในการนำตัวอย่างเข้ามาตรวจสอบ  ก่อนที่จะซื้อปุ๋ยครั้งต่อไปหรือติดต่อเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในด้านการเกษตร เพื่อความสะดวกในการซื้อปุ๋ยเคมี  ควรซื้อรวมกันครั้งละมาก ๆ โดยให้หัวหน้ากลุ่มต่าง ๆ เป็นผู้ดำเนินการซื้อ แล้วส่งตัวอย่างปุ๋ยมาทดสอบเพื่อเป็นการทุ่นเวลาและค่าใช้จ่าย

ปัญหาเรื่องปุ๋ยปลอมนี้เป็นปัญหาใหญ่เรื้อรังมานานปี และนับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ  ทำความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อการเกษตรของประเทศไทย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อพี่น้องเกษตรกร  ผู้ซึ่งอยู่ในสภาพยากจนอยู่แล้ว  แทนที่จะนำเงินไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่น  กลับมาต้องซื้อปุ๋ยปลอมซึ่งไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย  อาจเปรียบได้เหมือนคนไข้หนัก แล้วซื้อยาปลอมมากิน

จึงควรที่รัฐบาลต้องหามาตรการเร่งด่วนในการกำจัดปัญหานี้ให้หมดสิ้นไปโดยเร็วที่สุด  เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของการเกษตรของประเทศต่อไป