ปุ๋ยหมักจากเศษวัสดุเหลือใช้

เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรหลายชนิด เช่น ผักตบชวา กากอ้อย ก้อนเห็ดเก่า ฯลฯ แทนที่จะทิ้งไว้ให้เป็นขยะ หรือเผาทิ้งไปให้เปล่าประโยชน์ เราสามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการทำเป็นปุ๋ยหมักได้เป็นอย่างดี สามารถนำกลับไปใช้ในแปลงเกษตรคืนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ผืนดิน

ปุ๋ยหมักผักตบชวา

ผักตบชวาเป็นวัชพืชน้ำที่มีการแพร่พันธุ์ได้รวดเร็วมาก เริ่มจาก 10 ต้นจะเพิ่มเป็น 1,610 ต้น ภายในเวลาเพียง 3 เดือน

ด้วยคุณลักษณะพิเศษของผักตบชวาที่มีรากฝอยติดอยู่จำนวนมากทำให้สามารถดูดซับธาตุอาหารที่ปะปนมากับน้ำเอาไว้ในต้นที่อวบอ้วนสมบูรณ์ เมื่อนำมาทำเป็นปุ๋ยหมักปริมาณธาตุอาหารจึงมากตามมาด้วย ปริมาณปุ๋ยหมักจากผักตบชวา 1 ต้น สามารถเทียบเป็นปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟตได้ 60 กิโลกรัม เทียบเป็นปุ๋ยทริบเบิลซูเปอร์ฟอสเฟตได้ 15 กิโลกรัม เทียบเป็นปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ได้ 46.6 กิโลกรัม

ผักตบชวาสามารถนำมาทำเป็นปุ๋ยหมักได้ทั้งแบบสดและแบบแห้ง โดยจะใช้ผักตบชวาเพียงอย่างเดียว หรือจะนำไปผสมกับวัสดุอื่น ๆ ที่มีในพื้นที่ก็ได้

วิธีทำปุ๋ยหมักผักตบชวาแบบสด

ข้อดีของการใช้ผักตบชวาแบบสด คือ กองปุ๋ยจะมีความชื้นอยู่ตลอดเวลา ทำให้ลดงานที่ต้องคอยรดน้ำกองปุ๋ยได้ อย่างไรก็ตามการตรวจกองปุ๋ยก็ยังเป็นสิ่งที่ควรทำอยู่เสมอ

1.  ใช้ผักตบชวาเพียงอย่างเดียว

วิธีการกองปุ๋ยหมักแบบนี้ไม่ยุ่งยาก แต่อาจใช้เวลาในการรอให้กองปุ๋ยหมักย่อยสลายค่อนข้างนาน วิธีการคือรวบรวมผักตบชวามากองไว้แล้วย่ำให้แน่น ๆ จำกัดกองไม่ให้กว้างเกินกว่า 4 เมตร สูงไม่เกินกว่า 3 เมตร ส่วนความยาวขึ้นอยู่กับปริมาณของผักตบชวาที่รวบรวมมาได้ หลังจากทำกองเสร็จแล้วเพียงรอให้กองปุ๋ยย่อยสลายซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน

2.  ใช้วัสดุหลายชนิดรวมกัน

กรณีที่มีจำนวนผักตบชวาไม่เพียงพอ ก็สามารถนำวัสดุชนิดอื่น ๆ ที่มีมาทำเป็นปุ๋ยได้ เช่น เศษหญ้าทั้งสดทั้งแห้ง ใบไม้ เศษพืชผัก เป็นต้น

วิธีทำ

1.  นำเศษพืชที่มีลักษณะแห้งวางกองชั้นล่างสุดทับด้วยผักตบชวา ย่ำให้แน่น ทำกองสูง 50 ซม.กว้างไม่เกิน 2 เมตร รดน้ำให้ชุ่ม ชั้นบนโรยด้วยมูลสัตว์ ปริมาณ 1 ใน 5 ส่วนของเศษพืช ทำเป็นชั้น ๆ อย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนกองปุ๋ยสูงไม่เกิน 1.5 เมตร

2.  ชั้นบนสุดให้โรยด้วยดินหรือมูลสัตว์ทับอีกครั้งหนาประมาณ 1 นิ้ว จากนั้นคลุมกองปุ๋ยด้วยฟางข้าวหรือทางมะพร้าว

3.  การกลับกองให้ทำทุก ๆ 15 วันประมาณ 1-2 เดือน ปุ๋ยก็จะย่อยสลายให้นำไปใช้ได้

วิธีทำปุ๋ยหมักผักตบชวาแบบแห้ง

1.  นำผักตบชวาไปตากแดดประมาณ 1-2 สัปดาห์ รวบรวมจนได้ปริมาณที่ต้องการ

2.  ทำกองกว้าง 2-3 เมตร สูงประมาณ 40-50 ซม. ย่ำให้แน่น โรยมูลสัตว์ประมาณ 1-2 นิ้ว แล้วรดน้ำให้ชุ่มทำเป็นชั้น ๆ ไปอย่างนี้จนกองสูงไม่เกิน 1.5 เมตร โดยชั้นบนสุดให้โรยทับด้วยดินหรือมูลสัตว์หนา 1 นิ้ว คลุมกองด้วยฟางข้าวหรือทางมะพร้าว

3.  กลับกองทุก ๆ 15 วัน และตรวจกองปุ๋ยโดยสอดมือเข้าไปในกองลึก ๆ หยิบปุ๋ยคอกมาบีบดูหากมีน้ำทะลักออกมาตามง่ามมือ แสดงว่ากองปุ๋ยแฉะเกินไปให้กลับกองปุ๋ยโดยเร็ว ถ้ามีน้ำติดฝ่ามือเล็กน้อยแสดงว่ากองปุ๋ยมีความชื้นพอเหมาะแต่ถ้าไม่มีน้ำติดฝ่ามือเลยให้ทำการรดน้ำทันที ใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน ปุ๋ยก็จะย่อยสลายสามารถนำไปใช้ได้

ปุ๋ยหมักจากกากอ้อย

หากมีพื้นที่อยู่ใกล้โรงงานทำน้ำตาลเศษเหลือจากโรงงานไม่ว่าจะเป็นกากอ้อยหรือขี้ตะกรันอ้อย ล้วนสามารถนำมาทำปุ๋ยหมักได้ทั้งสิ้น โดยส่วนผสมจะใช้กากอ้อย 100 ส่วน ต่อปุ๋ยคอกหรือขี้ตะกรันอ้อยหรือหน้าดินจากกองหญ้าหรือกองฟางเก่าหรือปุ๋ยหมักที่ย่อยสลายแล้วอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือผสมกันให้ได้ 10 ส่วน

วิธีทำ

1.  นำกากอ้อยมาวางกองบนพื้นกว้างยาวประมาณ 2-3 เมตร สูง 30-40 ซม. โดยย่ำให้แน่น ๆ

2.  โรยปุ๋ยคอกหรือขี้ตะกรันอ้อยอย่างใดอย่างหนึ่งหรือผสมกันหนาประมาณ 1-2 นิ้ว

3.  ทำเป็นชั้น ๆ อย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งกองปุ๋ยสูง 1-15 เมตร

4.  ชั้นบนสุดให้หว่านหน้าดินจากกองหญ้าหรือกองฟางเก่าหรือปุ๋ยหมักที่ย่อยสลายแล้วหนาประมาณ 1 นิ้ว

5.  รดน้ำให้ชุ่ม และคอยระวังไม่ให้น้ำในกองปุ๋ยแห้งหรือแฉะเกินไป การตรวจให้สอดมือเข้าไปในกองลึก ๆ หยิบปุ๋ยออกมาบีบดูหากมีน้ำทะลักออกมาตามง่ามมือแสดงว่ากองปุ๋ยแฉะเกินไปให้กลับกองปุ๋ยโดยเร็ว ถ้ามีน้ำติดฝ่ามือเล็กน้อยแสดงว่ากองปุ๋ยมีความชื้นพอเหมาะ แต่ถ้าไม่มีน้ำติดฝ่ามือเลยให้ทำการรดน้ำทันที

6.  กลับกองปุ๋ยทุก ๆ 7-10 วัน กรณีที่ไม่มีแรงงานในการกลับกอง อาจใช้วิธีทำช่องระบายอากาศไว้ในกองปุ๋ยก็ได้ แต่การย่อยสลายของกองปุ๋ยจะเกิดขึ้นช้ากว่าวิธีการกลับกอง

7.  ปุ๋ยหมักที่ได้จากกากอ้อยนี้จะใช้ธาตุอาหารหลัก คือ ธาตุไนโตรเจนประมาณ 1.3% ธาตุฟอสฟอรัส 0.86% และธาตุโพแทสเซียม 1.15%

ปุ๋ยหมักจากก้อนเห็ดเก่า

สูตรปุ๋ยหมักสูตรนี้เป็นการนำก้อนเห็ดเก่าที่เหลือทิ้งหลังการเพาะเห็ดมาใช้ให้เป็นประโยชน์ จากการศึกษาพบว่าปริมาณของก้อนเห็ดเก่าที่ถูกนำมาทิ้งในจังหวัดนครปฐมแหล่งเพาะเห็ดที่สำคัญแห่งหนึ่งมีมากถึงปีละ 4,793 ตันต่อปี ขยะเหล่านี้คือแหล่งเพาะพันธุ์โรคไม่พึงประสงค์มากมาย หากในพื้นที่สามารถจัดหาก้อนเห็ดเก่าได้ง่าย ปุ๋ยหมักสูตรนี้เป็นทางเลือกที่ดีอีกทางเลยทีเดียว

วิธีทำ

1.  นำก้อนเห็ดเก่ามาฉีกถุงแล้วทุบวัสดุในถุงให้ละเอียด นำไปผสมกับเศษพืชทั้งสดและแห้งที่สับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ทำให้ได้ปริมาณ 3 ส่วน

2.  ผสมกับปุ๋ยขี้นกสดหรืออื่น ๆ ที่ให้ธาตุไนโตรเจนสูง ใช้ปริมาณ 3 ส่วน

3.  ผสมกับปุ๋ยขี้ไก่สดหรืออื่น ๆที่ให้ธาตุฟอสฟอรัสสูง ใช้ปริมาณ 3 ส่วน

4.  ผสมกับปุ๋ยขี้วัวสดหรืออื่น ๆ ที่ให้ธาตุโพแทสเซียมสูง ใช้ปริมาณ 3 ส่วน

5.  นำส่วนผสมทั้งหมดมากองให้มีความกว้าง x ยาว x สูง ด้านละ 1 เมตร คลุมทับด้วยใบตองกล้วย

6.  หลังจากนั้น 3-4 วัน ให้ตรวจดูด้านในกองปุ๋ยหากกองปุ๋ยไม่ร้อนให้เติมมูลสัตว์ลงไป

7.  กลับกองปุ๋ยทุก ๆ 2 วัน รอจนกระทั่งกองปุ๋ยย่อยสลายดีจึงนำไปใช้

ปุ๋ยน้ำจากมะพร้าวหมัก

นอกจากคุณสมบัติพิเศษในการให้ปุ๋ยทางใบแก่พืชผักแล้ว ปุ๋ยน้ำสูตรนี้ยังมีกลิ่นหอมและมีสารจับใบให้เป็นมันได้นาน ทำให้มีมดมาตอมช่วยกินเพลี้ยหรือศัตรูของพืชผักได้อีกด้วย

วิธีทำ

1.  นำมะพร้าวขูด 1 กิโลกรัม ผสมน้ำหรือน้ำมะพร้าว 5 ลิตรหมักทิ้งไว้ในภาชนะ 5 วัน จะเกิดอาการเหมือนการเดือดของน้ำ

2.  คั้นเอาเฉพาะน้ำ ก่อนนำไปใช้รดพืชผักให้ผสมน้ำในอัตรา ปุ๋ย 1 ส่วน ต่อน้ำ 2-3 ส่วน

ปุ๋ยน้ำจากใบพืชตระกูลถั่ว

วิธีทำ

1.  นำใบพืชตระกูลถั่วชนิดต่าง ๆ เช่น กระถิน ขี้เหล็ก แคฝรั่ง ถั่วมะแฮะ ฯลฯ รวบรวมให้ได้ 15 กิโลกรัม ใส่ลงในกระสอบมุ้งไนลอน แล้วมัดปากถุงให้แน่น

2.  นำไปใส่ในโอ่งหรือภาชนะที่สามารถบรรจุน้ำได้ 100 ลิตร หรือประมาณ 5 ปี๊บ ทับด้วยของหนักให้กระสอบจม

3.  หมักทิ้งไว้ 7 วัน หมั่นคนน้ำโอ่งเช้าเย็น เพื่อให้มีออกซิเจนป้องกันกลิ่นเหม็นจากการบูดเน่า

4.  นำกระสอบปุ๋ยออกจากตุ่มน้ำที่ได้จะใช้เป็นหัวเชื้อ ก่อนนำไปใช้รดพืชผักให้ผสมน้ำเปล่าเพื่อลดความเข้มข้นในอัตรา ปุ๋ย 1 ส่วนต่อน้ำ 2-3 ส่วน