ปุ๋ย:ใช้ปุ๋ยโปแตสเซียมอย่างไรให้ได้ผลดี

ถ้าพืชขาดโปแตสเซียมจะทำให้อัตราการสังเคราะห์แสงลดลงและอัตราการหายใจสูงขึ้น ในไม้ผลจะทำให้คุณภาพและปริมาณผลผลิตของพืชลดต่ำลง คุณภาพของผลไม้ เช่น สีของผลไม่สวย เนื้อจะฟ่าม เนื้อไม่แน่น ในพืชพวกส้มมีกรดซิตริกน้อยลง แต่ถ้าพืชได้รับโปแตสเซียมมากเกินไปก็มีผลเสียเช่นกันคือ ทำให้พืชแก่ช้ากว่าปกติ เนื้อของพืชและผลไม้นุ่มและยุ่ย ทำให้เก็บรักษาได้ไม่นาน

โปแตสเซียม(K) เป็นธาตุอาหารหลักที่จำเป็นต่อพืชอีกธาตุหนึ่ง ในบรรดา 3 ธาตุหลักที่เรารู้จักกันดี แต่โปแตสเซียมเมื่อเข้าไปอยู่ในพืชแล้วจะไม่เปลี่ยนเป็นสารประกอบอินทรีย์เหมือนกับไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส(P) แคลเซียม(Ca) และแมกนีเซียม (Mg) แต่จะอยู่ในรูปเกลืออินทรีย์หรืออนินทรีย์ที่ละลายได้ความสำคัญของโปแตสเซียมที่มีต่อพืชมีหลายประการได้แก่ ความสำคัญต่อขบวนการสร้างน้ำตาลและแป้ง เช่น ในไม้ผล ทำให้เนื้อของผลไม้มีคุณภาพดี เนื้อไม่ฟ่าม รสชาติดี ในพืชหัวที่เกิดจากราก (root tuber) เช่น มันเทศ รักเร่ โปแตสเซียมจะช่วยให้พืชหัวสร้างหัวได้สมบูรณ์ และที่สำคัญคือมีผลต่อขบวนการสังเคราะห์และขบวนการหายใจ ถ้าพืชขาดโปแตสเซียมจะทำให้อัตราการสังเคราะห์แสงลดลงและอัตราการหายใจสูงขึ้นในไม้ผล จะทำให้คุณภาพและปริมาณผลผลิตของพืชลดต่ำลง คุณภาพของผลไม้ เช่น สีของผลไม้สวย เนื้อจะฟ่าม เนื้อไม่แน่น ในพืชพวกส้มมีกรดซิตริกน้อยลง แต่ถ้าพืชได้รับโปแตสเซียมมากเกินไป ก็มีผลเสียเช่นกันคือทำให้พืชแก่ช้ากว่าปกติ เนื้อของพืชและผลไม้นุ่มและยุ่ย ทำให้เก็บรักษาได้ไม่นาน

การสูญเสียโปแตสเซียมในดิน มีหลายวิธี เช่น ถูกพืชดูดนำไปใช้ถูกตรึงไว้ในดิน ถูกพืชนำไปสะสมไว้ที่ต้นมากเกินไปการที่น้ำไหลบ่าไปตามผิวดินแล้วชะล้างเอาอนุภาคของดินซึ่งมีโปแตสเซียมอยู่ในดินไปด้วย โดยเฉพาะในดินที่มีเนื้อหยาบ เช่น ร่วนปนทราย (sandy loam) โปแตสเซียมจะถูกชะล้างให้สูญหายไปได้มาก และเร็วกว่าดินที่มีเนื้อละเอียด ซึ่งมีปริมาณของอนุภาคดินเหนียวมากกว่า

มีงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพของโปแตสเซียมในปุ๋ยเคมี โดยใช้อินทรียวัตถุกับดินร่วนปนทรายในภาคตะวันออก ซึ่งพื้นที่ดินในภาคตะวันออกส่วนใหญ่เป็นดินเนื้อหยาบประเภทดินร่วนปนทราย มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ มีความจุแลกเปลี่ยนประจุบวกต่ำ มีแร่โปแตสเซียมน้อย จึงทำให้มีโปแตสเซียมที่เป็นประโยชน์ต่อพืชน้อย การผลิตพืชเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงในพื้นดินเหล่านี้จึงต้องใช้ปุ๋ยโปแตสเซียมร่วมด้วยในอัตราที่สูงมากและปุ๋ยโปแตสเซียมก็เป็นปุ๋ยที่ละลายน้ำได้ดี เมื่อใส่ลงไปในดินจึงมีโอกาสละลายและถูกชะล้างด้วยน้ำฝนแล้วพาเอาโปแตสเซียมออกไปจากดินผิวบนเป็นปริมาณ ก่อนที่รากพืชจะมีโอกาสดูดมาใช้ได้ทัน ทำให้ประสิทธิภาพของโปแตสเซียมลดลงไปมาก ดังนั้นการเพิ่มประสิทธิภาพของปุ๋ยโปแตสเซียมที่ใส่ในดินเนื้อหยาบคือ การรักษาโปแตสเซียมให้คงไว้ในดินผิวบนเพื่อรอให้พืชนำไปใช้ได้และลดอัตราการซึมซาบของน้ำในดินให้ช้าลง โดยการเพิ่มความจุในการแลกเปลี่ยนไอออนของดิน เช่น การเพิ่มสารคอลลอยด์พวกแร่ดินเหนียวและอินทรียวัตถุ และการลดอัตราเร็วการซึมซาบน้ำ ซึ่งสามารถทำได้โดยการเพิ่มอินทรียวัตถุร่วมกับการใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของปุ๋ยโปแตสเซียม เนื่องจากอินทรียวัตถุจะช่วยเพิ่มความจุในการแลกเปลี่ยนไอออนบวกของดินและเพิ่มความสามารถของดินในการอุ้มน้ำ และลดอัตราการชะล้างโปแตสเซียมออกจากดิน

การทดลองครั้งนี้ได้ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ร้อยละ 0, 2.5 และ 5 โดยปริมาตร ของดิน 16 ลิตร ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตรที่ให้โปแตสเซียม 0 และ 0.7783 กรัมต่อกระถาง ในชุดดินบ้านบึง ชุดดินสตึกที่เกิดจากหินแกรนิตและชุดดินหุบกะพง ทำการปลูกข้าวโพดพันธุ์ลูกผสม 2602 เพื่อวัดปริมาณโปแตสเซียมจากปุ๋ยเคมีอันเนื่องจากปฏิกิริยาร่วมระหว่างอินทรียวัตถุกับปุ๋ยเคมี พบว่าอินทรียวัตถุสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของโปแตสเซียมในปุ๋ยเคมีได้ โดยเฉพาะในดินเนื้อหยาบที่มีความจุในการแลกเปลี่ยนไอออนบวกต่ำ และมีอินทรียวัตถุในดินต่ำมาก มีโปแตสเซียมที่เป็นประโยชน์ต่ำ ไม่มีแร่โปแตสเซียมในดิน เช่น ในชุดดินบ้านบึง แต่อินทรียวัตถุไม่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของโปแตสเซียมในปุ๋ยเคมีได้ ถึงแม้ว่าเป็นดินเนื้อหยาบ แต่มีความจุในการแลกเปลี่ยนไอออนบวกปานกลางมีอินทรียวัตถุในดินค่อนข้างต่ำ มีโปแตสเซียมที่เป็นประโยชน์ปานกลางหรือสูง และมีแร่โปแตสเซียมในดิน เช่น ในชุดดินสตึกที่เกิดจากหินแกรนิตและชุดดินหุบกะพง

นอกจากการเพิ่มอินทรียวัตถุในดินแล้ว วิธีการอื่น ๆ ที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพโปแตสเซียมในดินได้คือ การเพิ่มปุ๋ยโปแตสเซียมในดิน โดยการเพิ่มให้ใกล้เคียงกับปริมาณที่พืชดึงขึ้นมาจากดิน และสูญเสียไปเนื่องจากการเก็บเกี่ยวแต่ควรขึ้นกับลักษณะของดินด้วย ถ้าดินที่สามารถให้โปแตสเซียมสูง(เช่น ดินเหนียว สามารถตรึงโปแตสเซียมสูง) ปริมาณของปุ๋ยโปแตสเซียมที่ใส่ชดเชยให้แก่ดิน อาจจะต่ำกว่าปริมาณที่พืชดูดไปใช้จริงๆ ควรใส่โปแตสเซียมในปริมาณน้อยๆ แต่บ่อยครั้งจะดีกว่าการให้ครั้งละมากๆ แต่น้อยครั้ง การใช้ปูนขาวเพื่อปรับ pH ของดิน ถ้าใช้ปูนขาวในปริมาณที่มากเกินไปจะทำให้โปแตสเซียมถูกดูดซับอยู่ที่อนุภาคดิน เป็นประโยชน์ต่อพืชน้อยลง

เอกสารอ้างอิง

1.  คณาจารย์ภาควิชาปฐพีวิทยาคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 2526 ปฐพีวิทยาเบื้องต้น

2.  อภากร  อมรธรรม 2533 การเพิ่มประสิทธิภาพของโปแตสเซียมในปุ๋ยเคมีโดยใช้อินทรีย์วัตถุกับดินร่วนปนทรายในภาคตะวันออก  วิทยานิพนธ์ ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์