ผลสรุปจากการทดลองเลี้ยงแมลงดานา

จากการทดลองเลี้ยงแมลงดานาเท่าที่สรุปผลแล้วมีดังต่อไปนี้

ระยะที่ 1

ไข่ (Eggs)  โดยการเก็บไข่แมลงดาที่มีอายุประมาณ 2-3 วัน ในบริเวณหลังเรือนเพาะชำของโรงเรียนเกษตรกรรมปราจีนบุรี  ซึ่งมีขนาดกล้าง 0.1 ซม. ยาว 0.2 ซม. มีสีน้ำตาลเข้ม ปลายเป็นขีด ๆ และจุดที่ยอดใน 1 รังมีประมาณ 165-180 ฟอง ลักษณะการเรียงของไข่จะเรียงกันเป็นแถว ๆ จำนวนที่นำมาทดลองในครั้งนี้มี 6 รัง ด้วยกัน  โดยไปหาไข่แมลงดาตามกอหญ้า  เมื่อเห็นแล้วก็นำเอามาเลี้ยง  โดยเอามาฟักในอ่างเคลือบมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 15 ฟุต สูงประมาณ 2 ฟุต  ในอางนี้ก็ใส่ดินลงไปสักครึ่งหนึ่งของอ่าง  แล้วเอาน้ำใส่สูงประมาณ 3-5 นิ้วฟุต  การปักไข่แมลงดาก็ปักให้สูงจากระดับน้ำประมาณ 1.5-.30 นิ้ว  ถ้าหากปักต่ำเกินไปก็ไม่ดี  เพราะไข่ก็จะไม่ฟักตัวในวันต่อ ๆ มาไข่ก็จะโตขึ้นเรื่อย ๆ และเปลือกไข่ก็จะมีสีจางลง

การออกจากไข่ พอในระยะประมาณ 5-7 วันไข่ก็จะมีขนาดกล้าว 0.35-.04 ซม. ยาว 0.45-0.5 ซม. และไข่นั้นก็จะเต่งเต็มที่  มีสีจางเป็นสีเทา ๆ บริเวณโคนไข่มีสีน้ำตาลเข้ม ปลายไข่เป็นขีดสีน้ำตาล ปลายสุดก็เป็นจุดสีน้ำตาล 1 จุด ต่อมาปลายยอดไข่ก็จะออกพร้อมกัน แทบทุกใบ คงจะมีบางฟองหลงเหลืออยู่บ้างแต่ก็มีเป็นจำนวนน้อย  ตัวอ่อนนั้นจะโผล่หัวขึ้นมาให้เห็นมี สีเหลือง และเห็นลูกตา 2 ข้างสีดำ  แต่ยังไม่หลุดออกมาจากไข่ต่อมาสักประมาณ 5-6 ชั่วโมง  ตัวอ่อนนั้นจะค่อย ๆ เบ่งตัวออกเองจากไข่  ในท่าหงายท้องร่วงลงในน้ำแทบจะพร้อม ๆ กัน เมื่อลงในน้ำแล้วมันจะหยุดนิ่งอยู่ชั่วครู่หนึ่ง  ออกมาครั้งแรกตัวจะป้อม ๆ มีสีเหลืองนิ่มวัดได้ขนาดประมาณกว้าง 0.3 ซม. ยาว 0.8 ซม. พอระยะสัก 2-4 นาที ตัวอ่อนของแมลงดาก็จะขยายตัวทางด้านกว้างขนาดกว้างประมาณ 0.35 ซม. ส่วนทางด้านยาวก็คงเดิม การขยายตัวนี้คล้าย ๆ เราถูกกักขังอยู่นาน พอออกมาได้ก็ต้องเบ่งกันหน่อยละในทำนองนี้

รวมระยะในการฟักของแมลงดาประมาณ 7-8 วัน หลังจากออกมาจากเปลือกไข่แล้ว  เปลือกของไข่ก็ยังคงติดอยู่กับกิ่งหญ้านั้นอย่างเดิม ขณะที่มันออกจากไข่และลงไปในน้ำ ตรงกลางสันหลังของมันจะสังเกตว่ามีฟองน้ำอยู่  มันจะลอยตัวอยู่เฉย ๆ และทำคล้าย ๆ จะรีดฟองน้ำออกจากตัวของมันทางก้น  ที่เป็นเช่นนี้ก็คงเพราะต้องการให้น้ำซึมเข้าไปในร่างกาย  เพื่อให้ร่างกายขยายใหญ่ขึ้น และเพื่อต้องการที่จะดำน้ำได้นั่นเอง  หลังจากสิ่งต่าง ๆ พร้อมแล้วมันก็จะดำลงไปในน้ำทันที  ในระยะแรกมันคงจะไม่กินอาหารอะไรคิดว่าที่มันยังไม่กินอาหารนั้น เพราะมีไข่แดงที่เป็นอาหารสำรองอยู่ภายในท้องของมัน  แล้วเหมือนกับลูกไก่ และลูกเป็ด ที่อยู่ได้ 2-3 วัน เพราะมีไข่แดงในร่างกายเพียงแต่ให้กินน้ำเท่านั้นก็พอ  แต่ถ้าเรานำอาหารให้แมลงดากินมันก็จะกิน แต่มันจะเริ่มกินอาหารหลังจากออกเป็นตัวแล้วประมาณ 12-14 ชม.

การเจริญเติบโต มันจะเจริญเติบโตโดยการลอกคราบ 5 ครั้ง  จึงเป็นแมลงที่สมบูรณ์  หลังจากออกเป็นตัวแล้วมันจะเจริญเติบโต  อย่างรวดเร็วมีขนาดประมาณ กว้าง 0.5 ซม. ยาง 1.0 ซม. ตัวอ่อนเมื่อออกครั้งแรกตัวจากสีเหลือง ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีเขียว สีเทา และเข้มขึ้นตามลำดับ ตามบริเวณศีรษะ ขา หลัง ในระยะใหม่ ๆ นี้มันจะดำผุด ดำว่ายขึ้น ๆ ลง ๆ เหมือนเด็ก ๆ ที่ชอบเล่นการว่ายน้ำมันก็เอาขาหน้าชี้ไปข้างหน้า ส่วนขา 2 คู่หลัง ก็จะทำเหมือนใบพายพายเรือ

การหายใจ มันจะว่ายขึ้นมาเหนือน้ำ แล้วปลิ้นตัวเอาส่วนท้องหงายขึ้นและพลิกตัวกลับดำลงไปในน้ำแล้วขึ้นมาหายใจใหม่  เช่นนี้เรื่อย ๆ ไป ตามปรกติมันจะลอยตัวอยู่ในระดับผิวน้ำแล้วชูก้นขึ้น ทำมุม 55 องศา ที่ปลายก้นมีท่อคล้าย ๆ จะเป็นท่อหายใจขณะที่มันขึ้นมาหายใจมันจะลอยอยู่เฉย ๆ ทำท่าเหมือนตาย  พอสักระยะหนึ่งพอสมควรมันก็จะดำลงในน้ำ ถ้ามันอยู่ในน้ำมันก็จะเกาะอยู่กับกอหญ้า หรือเศษไม้หรือพื้นดิน  มันก็จะชูก้นของมันเสมออยู่กับผิวน้ำ

อาหาร ในวันแรกก็ทดลองให้ลูกน้ำ  วันต่อมาก็เอาลูกกบหรือที่เราเรียกว่าลูกอ๊อดให้มันกินวันละ 1 ครั้ง

การจับเหยื่อ ลูกแมลงดามียุทธวิธีและมีความว่องไวในการจับเหยื่อนั้น  อาหารที่มันโปรดก็ได้แก่ลูกอ๊อดก่อนที่มันจะจับเหยื่อ  มันจะทำทีทำท่าอยู่ในลักษณะเฉย ๆ คืออยู่นิ่ง ๆ หรือในสภาพปรกติปล่อยให้ลูกอ๊อดว่ายน้ำเล่นไปมาให้ตายใจเสียก่อน  และเมื่อผ่านมาในระยะที่พอเหมาะ  ลูกแมลงดาก็จะพุ่งตัวออกไปหาเหยื่ออย่างรวดเร็ว และใช้ขาหน้าที่เป็นขาจับ จับเหยื่อนั้นไว้แน่น  หลังจากนั้นก็จะใช้ปากเจาะและดูดเข้าไปในผิวหนังของเหยื่อ ขณะที่มันเจาะนั้นมันจะปล่อยพิษออกมาเพื่อทำให้เหยื่อตาย  เหยื่อนั้นก็จะดิ้นและค่อย ๆ อ่อนกำลังลงและตายในที่สุดมันจะดูดเหยื่อนั้นจนมีสีขาวซีดและเป็นเนื้อยุ่ย ๆ เมื่อมันอิ่มแล้วมันก็จะปล่อยเหยื่อทิ้งไป  ลักษณะการจับเหยื่อนั้น มันจะลอยขึ้นมาผิวน้ำให้ก้นชูขึ้นทำระดับประมาณ 55 องศา เหมือนกับการหายใจของมัน  มันจะเจาะดูดเหยื่อสักประเดี๋ยวเดียวมันก็จะดำลงไปในน้ำ  พร้อมกับจับเหยื่ออย่างแน่นแล้วก็ขึ้นมาลอยตัวใหม่ มันจะทำเช่นนี้เรื่อย ๆ จนกว่ามันจะอิ่ม

การถ่ายเทน้ำ น้ำที่ใช้ควรจะเป็นน้ำตาม สระ คลอง บึง หรือน้ำในนา ควรจะเปลี่ยนน้ำ สักประมาณ 6-7 วันต่อครั้งก็จะดีเพราะว่าน้ำจะไม่เน่า

ระยะก่อนที่ลูกแมลงดาจะลอกคราบ

ในระยะนี้ตัวมันจะโตขึ้น อ่างที่เลี้ยงก็จะแคบลงมีเนื้อที่ ไม่เพียงพอ สำหรับจำนวนที่ออกเป็นตัวอ่อนชุดหนึ่ง ๆ ก็มีประมา  150-180 ตัว อาจจะมากกว่านี้ก็โตสักเล็กน้อย  เมื่อมีจำนวนมาก ๆ เช่นนี้ก็จะต้องย้ายสถานที่ใหม่  โดยทำเป็นบ่อขุดกว้างประมาณ 1 เมตร ยาวประมาณ 2 เมตร แล้วเอาผ้าพลาสติกรองที่ก้นบ่อ  หลังจากนั้นก็เอาดินกลบและใส่ที่ก้นบ่อประมาณ 6-8 นิ้ว ความลึกของบ่อประมาณ 24 นิ้ว พร้อมกับเอากอหญ้ามาใส่เพื่อเป็นที่ให้มันเกาะ และเป็นที่หลบแดด หลบศัตรูได้สัก 2-3 กอ อาหารลูกกบก็ให้ 1 ครั้งต่อวัน  ในระยะหลัง จากที่มันออกเป็นตัวแล้ว 8 วันจะมีขนาดประมาณกว้าง 0.5 ซม. ยาว 1.1 ซม. ลำตัวจะมีสีเข้มขึ้น เหตุที่ย้ายลงบ่อเพราะ

1.  มีเนื้อที่ไม่เพียงพอกับจำนวนลูกแมลงดา

2.  อาหารไม่พอมันก็จะกินกันเอง

ระยะที่ 2 การลอกคราบ ครั้งที่ 1

ก่อนลอกคราบตัวอ่อนจะมีขนาด ประมาณกว้าง 0.6 ซม. ยาว 1.0 ซม.  และมีอายุได้ประมาณ 5-6 วัน  ลักษณะตัวอ้วนป้อมมีสีเหลืองอมเขียว  ระยะนี้มันจะไม่กินอาหารโดยจะอยู่นิ่ง ๆ และมักจะเกาะตามกอหญ้าหรือดำลงไปใต้น้ำนาน ๆ จึงจะโผล่ขึ้นมาครั้งหนึ่ง

ตัวอ่อนลอกคราบครั้งแรกนี้ จะออกมาทางด้านบริเวณ ต้นคอของตัวเก่าโดยต้นคอจะปริแยกออกแล้วตัวใหม่ ก็ออกมาเป็นตัวสีเขียวอ่อนอมเหลือง  และมันก็จะทิ้งคราบน้ำเก่าให้ลอยเหนือน้ำ ตัวอ่อนนี้จะนิ่มมีขนาดใหญ่กว่าเดิม คือมีขนาดประมาณกว้าง 0.7 ซม. ยาว 1.5 ซม.  การลอกคราบออกมาครั้งใหม่นี้ มันจะหยุดนิ่งอยู่กับที่สักระยะหนึ่งพอสักครู่มันก็จะเริ่มเคลื่อนไหวและว่ายน้ำดำน้ำและว่ายน้ำเล่นเหมือนเดิม  ตัวก็จะเข้มขึ้นสำหรับอาหารลูกกบตามปรกติวันละ 1 ครั้ง  รวมระยะเวลาจากตัวอ่อนจนถึงการลอกคราบครั้งแรก ประมาณ 12-14 วัน ระยะนี้ยังไม่มีปีก

ระยะที่ 3 การลอกคราบครั้งที่ 2

ต่อมาในระยะอีก 5-6 วัน ก็จะลอกคราบ ระยะนี้ลำตัวจะป้อม ๆ สีเหลืองอมน้ำตาลตัวอ่อนนิ่ม มันจะไม่ค่อยโผล่ขึ้นมาให้เห็น  มีขนาดประมาณกว้าง 1.1-1.2 ซม. ยาว 2.4-2.5 ซม.  รวมระยะเวลาลอกคราบจากครั้งที่ 1-2 ประมาณ 17-20 วัน ระยะนี้ยังไม่มีปีก

ระยะที่ 4 การลอกคราบครั้งที่ 3 ต่อมาอีก 5-6 วัน ก็ลอกคราบอีก

การลอกคราบ ในครั้งนี้ก็เหมือนกับครั้งที่ 1 และ 2 ตัวจะมีสีเขียว ต่อมาก็จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล มีขนาดประมาณกว้าง 1.6-1.7 ซม. รวมอายุแล้วประมาณ 22-26 วัน ระยะนี้ก็ยังคงไม่มีปีก

ระยะที่ 5 ลอกคราบครั้งที่ 4

อีกประมาณ 5-6 วัน ก็มีการลอกคราบเป็นครั้งที่ 4 ปีกของแมลงดาในระยะนี้ก็ยังไม่มีการลอกคราบก็เหมือนกับครั้งก่อน ๆ ตอนนี้ตัวมีขนาดประมาณ กว้าง 2.5-2.6 ซม. ยาว 5.5-5.6 ซม. ตัวจะมีสีเขียวอมน้ำตาลเข้ม  บริเวณลำตัวจะมีขนสีน้ำตาล  รวมอายุประมาณ 27-32 วัน

ระยะที่ 6 การลอกคราบครั้งที่ 5 เป็นครั้งสุดท้าย

ในระยะนี้จะเป็นตัวแก่ที่สมบูรณ์ คือมีปีกและเหมือนแมลงดา ที่เราจับมากินเป็นอาหารตัวสีน้ำตาลด้านปลายสุดของปีกเป็นแผ่นบาง ๆ ใส ๆสีน้ำตาลและสีขาวใส  มีขนาดประมาณกว้าง 2.5-2.6 ซม. ยาว 6.5-7.0 ซม. ในตัวเมีย ในตัวผู้มีขนาด ประมาณกว้าง 2.0-2.1 ซม. ยาว 5.0-5.1 ซม. รวมแล้วตั้งแต่เริ่มต้นคือไข่ เป็นตัวอ่อนที่ลอกคราบ 5 ครั้ง จนถึงตัวแก่ประมาณ 32-38 วัน

ศัตรูของแมลงดานา

1.  ศัตรูด้วยกันเอง เป็นศัตรูที่สำคัญหมายถึงว่าถ้ามีอาหาร  ไม่เพียงพอแล้วแมลงดานาก็จะเกิดกินกันเอง วิธีแก้ก็คือ หาอาหารให้มันอย่างเพียงพอ  กับจำนวนของแมลงดานาที่เราเลี้ยง

2.  มดดำ ในระยะที่มันกำลังฟักตัวใกล้จะออก มักจะมีมดดำเข้ามาไต่ตอม  และกินไข่ที่กำลังฟักตัวเป็นอาหาร

3.  เกิดเชื้อรา ถ้าหากไข่ที่เรานำมาฟักอยู่ใกล้น้ำเกินไปแล้ว  ก็จะเกิดเชื้อราขึ้น รานี้มีสีขาว และเมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะลุกลามไปหมดทั้งรัง และไข่นั้นจะฝ่อเหี่ยว

4.  เห็บ(Tiok) ก็เป็นศัตรูของแมลงดาตัวเต็มวัย  เพราะมันจะเกาะบริเวณต่าง ๆ ของแมลงดา ส่วนมากจะเกาะบริเวณส่วนท้อง คอ

ประโยชน์ของแมลงดานา

1.  ตัวผู้ใช้ปรุงรสอาหารในชีวิตประจำวัน ได้เป็นอย่างดีเพราะมีกลิ่นหอมฉุนแรง  โดยผสมกับ น้ำพริกกะปิ น้ำพริกปลาร้า ทำน้ำปลาแมลงดานา ซึ่งมีราคาแพงมากที่จังหวัดศรีษะเกษ ซื้อขายกันในราคา ขวดละ 50-80 บาท

2.  ตัวเมีย ขณะที่ยังไม่ไข่จะไม่มีกลิ่นหอม  หลังจากออกไข่แล้วจะมีกลิ่นหอม  แต่หอมไม่มาก กลิ่นสู้ตัวผู้ไม่ได้  จึงเหมาะที่จะใช้ชุบแป้งทอดแล้วนำไปจิ้มกินกับน้ำจิ้ม

3.  ไข่แมลงดานา นอกจากเราจะรับประทานตัวมันแล้วเรายังนำไข่ของมัน มารับประทาน หรือนำมาย่างไฟก็ได้  สำหรับเรื่องรสชาตินั้น ไม่ต้องพูดถึง กินสด ๆ จะมีรสมัน ๆ แต่ถ้า เอาไปย่างไฟเสียหน่อยแล้วจะมีทั้งรดมันและกลิ่นหอมเพิ่มขึ้นด้วย

4.  การใช้ปรุงอาหาร

ในฤดูที่แมลงดานาหายากเช่น ฤดูแล้ง ควรจะนำแมลงดานามาดองแช่น้ำปลาไว้  สามารถเก็บไว้ได้นาน

บรรดาพี่น้องเกษตรกรในภาคอีสาน นิยมใช้แมลงดานา ปรุงรสอาหาร เพื่อช่วยให้อาหารมีรสชาติ แซ่บขึ้นดังวิธีต่อไปนี้

แจ่วแมลงดานา

1.  เอาพริขี้หนูแห้งมาคั่วให้หอมแล้วตำให้ละเอียด

2.  เอาแมลงดานามาย่างให้หอม(ปีกอ่อน ปีกแข็งเด็ดทิ้งไป)

เอาแมลงดานาที่ย่างไฟหอมดีแล้วตำผสมกับพริกป่น ให้เข้ากันแล้ว ต้มน้ำปลาแดก(ปล้าร้า) ผสมลงไปก็ใช้รับประทานได้

ซุปหน่อไม้

เอาแมลงดานาที่ย่างไฟหอมดีแล้ว มาตำให้ละเอียดใส่พริกป่นลงไปเติมน้ำปลาร้า(ปลาแดก)แล้วผสมลงในซุปหน่อไม้ รสแซ่บอีหลี ๆ

น้ำพริกมะเขือ

พริกชี้ฟ้าเผาไฟ ตำให้ละเอียด แล้วใส่แมลงดานาลงไป ตำให้เข้ากันใส่น้ำปลาร้าลงไปผสมกับมะเขือเปราะหรือมะเขือยาวที่ต้มให้เปื่อยแล้ว

5.  ราคาแมลงดานา โดยทั่วไปตามท้องตลาด จะจำหน่ายในราคา ประมาณ 2.00-2.50 บาท สำหรับตัวผู้ ส่วนตัวเมีย ราคาตัวละประมาณ 50 สตางค์ ไข่แมลงดาก็ตกราคารังละ 50 สตางค์  ถ้าไม่ใช่ฤดูฝนราคาจะแพงขึ้นอีกซึ่งในการค้นคว้า ทดลองและค้นคว้าครั้งนี้ ยังได้ข้อมูลไม่เพียงพอ  คิดว่าถ้าโอกาสและเวลาเอื้ออำนวย  จะต้องทำการค้นคว้าเพิ่มเติมต่อไปอีก เพื่อให้ข้อมูลต่าง ๆ สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และก็คิดว่าคงจะมีการตั้งฟาร์มเลี้ยงแมลงดานาและมีการปรับปรุงพันธุ์ให้ดีขึ้นในอนาคตเป็นแน่

นับว่าคุณเอกชัย พฤกษ์อำไพ เป็นผู้ที่มีสายตาไกล  สามารถคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำ เพราะหลังจากที่ได้ทดลองเลี้ยงแมลงดานา เพียง 8 ปี ก็ได้มีการตั้งฟาร์มเลี้ยงแมลงดานาขึ้นเป็นแห่งแรกในภาคอีสานที่จังหวัดศรีสะเกษแล้วและต่อไป ก็คงจะมีการตั้งฟาร์มเลี้ยงแมลงดานากันทุกจังหวัดทุกภาค ซึ่งจะมีผลให้เกษตรกรมีอาชีพใหม่และมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก

สำหรับราคาแมลงดานาที่คุณเอกชัย พฤกษ์อำไพ เขียนไว้เมื่อ 8 ปีก่อน  ตัวผู้ราคาตัวละ 2-2.50 บาท ตัวเมียตัวละ 50 สตางค์

ในปัจจุบันแมลงดานามีราคาสูงขึ้นกว่าเท่าตัวแล้ว  คือเท่าที่สอบถามราคาจากพ่อค้าแม่ค้าแมลงดานาในกรุงเทพฯ หลายรายเมื่อปลายเดือน พฤศจิกายน 2527  ซึ่งเป็นช่วงที่แมลงดานามีราคาแพงแล้วราคาขายส่งตัวละ 5 บาท ราคาขายปลีกตัวละ 6-8 บาท ถ้ามีการเลี้ยงแมลงดานาส่งตลาดในช่วงฤดูแล้ง จะขายส่งหรือขายปลีกก็ขายได้ในราคาที่น่าพอใจวันยังค่ำ

พงษ์พันธ์  บุญไพโรจน์