ผลไม้:การอนุรักษ์ไม้ผลเมืองร้อน

กรมวิชาการเกษตร ในฐานะตัวแทนประเทศไทยร่วมกับประเทศอินเดีย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ดำเนิน “โครงการวิจัยการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและการใช้ประโยชน์เชื้อพันธุกรรมไม้ผลเมืองร้อน” นำร่อง 4 ชนิด ได้แก่ ไม้ผลสกุลมะม่วง สกุลมังคุด สกุลเงาะ และสกุลส้ม ภายใต้โครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศ โดยได้รับงบอุดหนุนจากสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (UNEP/GEF)

นายจิรากร  โกศัยเสวี  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า โครงการวิจัยการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและการใช้ประโยชน์เชื้อพันธุกรรมไม้ผลเมืองร้อนเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศอินโดนีเซีย อินเดีย มาเลเซีย และไทย เพื่อพัฒนาวิธีการอนุรักษ์เชื้อพันธุกรรมไม้ผลเมืองร้อนที่มีคุณค่าและมีความสำคัญทางเศรษฐกิจสูง ทั้งพันธุ์ปลูกและพันธุ์ป่า พร้อมสนับสนุนให้ชุมชนและท้องถิ่นใช้ประโยชน์ความหลากหลายเชื้อพันธุกรรมไม้ผล เพื่อเพิ่มรายได้และสร้างความมั่นคงทางอาหารเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันยังเป็นการส่งเสริมให้ชุมชนรักษาสภาพแวดล้อมเพื่อสร้างความสมดุลของระบบนิเวศ ซึ่งจะช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่ง

ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรได้คัดเลือก 6 ชุมชนที่มีศักยภาพซึ่งมีความหลากหลายของเชื้อพันธุกรรมไม้ผลนำร่อง และมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์หรือใช้ประโยชน์จากเชื้อพันธุกรรมไม้ผลให้เข้าร่วมโครงการฯ ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอนุรักษ์ไม้ผลสกุลมะม่วงและสกุลส้ม ชุมชนในพื้นที่ จังหวัดศรีสะเกษ ที่มีการอนุรักษ์ต้นมะดันซึ่งเป็นไม้ผลสกุลมังคุด กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ จังหวัดจันทบุรี มีการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากส้มจี๊ด มังคุดและไม้ชะมวงซึ่งเป็นไม้ผลสกุลมังคุด กลุ่มเกษตรกรในหมู่บ้านคีรีวง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากเชื้อพันธุกรรมทั้งไม้ผลสกุลเงาะ มังคุด และมะม่วง กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรใน จังหวัดตรั้ง ที่ปลูกพืชผสมผสานหลายระดับเพื่อใช้ประโยชน์ และกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ จังหวัดกาญจนบุรี ที่มีความหลากหลายของเชื้อพันธุกรรมไม้ผลเมืองร้อน

นายทรงพล  สมศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านพืชสวน กรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่าโครงการฯนี้มีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี นอกจากจะสำรวจภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิเคราะห์การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของไม้ผลเมืองร้อนทั้ง 4 ชนิด โดยดึงชุมชนและท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมแล้ว ยังจะผลักดันให้ชุมชนใช้ประโยชน์จากแหล่งเชื้อพันธุกรรมไม้ผลเพิ่มมากขึ้น โดยกรมวิชาการเกษตรได้มีแผนสนับสนุนให้ชุมชนนำร่องใช้หลักปฏิบัติที่ดี ในการบริหารจัดการและอนุรักษ์ความหลากหลายของชนิดและพันธุ์ไม้ผลเมืองร้อน

ขณะเดียวกันยังมีแผนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น กรมป่าไม้ กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมการค้าภายใน เร่งส่งเสริมและพัฒนาการแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า ทั้งยังจะส่งเสริมการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิต การแปรรูป และพัฒนาศักยภาพตลาดควบคู่กันไปด้วย ซึ่งคาดว่าจะสามารถช่วยยกระดับรายได้ของเกษตรกรในพื้นที่เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10℅ ช่วยลดปัญหาผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำได้

นอกจากนั้นยังคาดว่า จะช่วยกระตุ้นให้คนในชุมชนบริโภคผลไม้เมืองร้อน 4 ชนิด เพิ่มมากขึ้นกว่า 20℅ ทั้งยังมีการขยายผลธุรกิจผลิตต้นกล้าหรือพันธุ์ไม้ผลเพิ่มขึ้น พร้อมและคาดว่าชุมชนจะดูแลรักษาและอนุรักษ์พื้นที่ป่าชุมชนใน 4 ประเทศ เพิ่มขึ้นประมาณ 1.87-3.12 แสนไร่

ซึ่งจะเป็นแหล่งผลิตและสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับชุมชนและท้องถิ่นได้ และยังเป็นพื้นที่สีเขียวที่ช่วยลดภาวะโลกร้อนได้