ผักกะหล่ำปลี

ผักตระกูลกะหล่ำที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในตลาดบ้านเรานั้น ได้แก่ กะหล่ำปลี มีทั้งปลูกในระดับสวนครัวหลังบ้านจนถึงระดับเพื่อการค้าขนาดใหญ่ กะหล่ำปลีเป็นผักที่มีคุณลักษณะหลายประการ คือมีคุณค่าในทางอาหารสูง มีรสชาติดี หวานกรอบ ประกอบอาหารได้หลายประเภท รับประทานได้ทั้งดิบและสุก มีอายุการเก็บรักษาได้นานวัน และทนทานต่อการขนส่งพอสมควร เรียกได้ว่าน่าปลูกมากทีเดียว

ฤดูปลูก

กะหล่ำปลีชอบอากาศหนาว ความชื้นสูงอุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 7.2-29.4 °C และต้องไม่เกิน 37.7 °C เพราะจะทำให้ได้ผลผลิตไม่ดีหรืออาจตายได้ ช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมที่จะปลูกกะหล่ำปลีได้ดีคือระหว่างเดือนตุลาคม-มกราคม ในระหว่างเดือนมีนาคม-กันยายนก็พอจะปลูกได้โดยได้พันธุ์เฉพาะ และปลูกในแหล่งที่มีอากาศเหมาะสมทางภาคเหนือของไทย เป็นต้น กะหล่ำปลีเป็นพืชผักที่ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี ทำให้การปลูกกะหล่ำปลีในปัจจุบันแบ่งได้เป็น 3 รุ่นคือ

รุ่นที่ 1 เริ่มเพาะเมล็ดตั้งแต่เดือนกันยายน ปลูกเดือนตุลาคม เก็บขายได้ในราวเดือนธันวาคม เป็นรุ่นที่ขายได้ราคาดี แต่ผลผลิตต่อไร่ต่ำ ในบางปีที่ยังมีฝนตกอยู่จะทำให้เตรียมดินได้ลำบาก และการปฎิบัติรักษาก็ทำได้ยาก มีโรคและแมลงรบกวนมาก

รุ่นที่ 2 เริ่มเพาะเมล็ดเดือนตุลาคม ปลูกเดือนพฤศจิกายน รุ่นนี้ไม่ได้รับอันตรายจากฝนแล้ว การเตรียมดินง่าย ดูแลรักษาสะดวก โรคและแมลงน้อยได้ผลผลิตต่อไร่สูง มีผักออกส่งท้องตลาดมาก ทำให้มีราคาถูก ออกสู่ตลาดราวเดือนมกราคม

รุ่นที่ 3 เริ่มเพาะเมล็ดในเดือนพฤศจิกายนปลูกเดือนธันวาคม รุ่นนี้จะเก็บเกี่ยวผลผลิตก็เดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งอากาศเริ่มร้อนไม่เหมาะแก่การเข้าปลีมีโรค และแมลงชุกชุม มีผักออกสู่ตลาดน้อย

พันธุ์

กะหล่ำปลีมีหลายพันธุ์ ทั้งรูปหัวกลม หัวแป้น รูปหัวใจ สีเขียว ขาว ม่วง ถ้าแบ่งตามอายุการเก็บเกี่ยวคือพันธุ์หนัก มีอายุการเก็บเกี่ยว 90-120 วัน พันธุ์กลางมีอายุ 80-90 วัน และพันธุ์เบามีอายุ 60-70 วัน ในเมืองไทยปลูกพันธุ์เบาได้ผลดีที่สุด เพราะเป็นพันธุ์ที่ไม่ต้องการอากาศหนาวมากนัก กะหล่ำปลีพันธุ์เบาที่ปลูกได้ผลดีที่สุดได้แก่

1.พันธุ์โคเปนเฮเก็น มีอายุประมาณ 72 วัน ลักษณะของเส้นใบนูนเด่นชัด ปลีมีลักษณะกลม นํ้าหนักประมาณ 2 กก. รสหวานกรอบนิยมปลูกกันมาก ในภาคเหนือ สามารถปลูกได้ตลอดปี

2.พันธุ์เออร์ลี่ เจอซี่ เวคฟิลด์ มีอายุ 63 วัน ใบยาว หัวปลีรูปทรงกรวย น้ำหนักประมาณ 1 กก.รสหวานกรอบ เป็นพันธุ์ที่ทนทานต่อโรค

3.พันธุเออร์เลียนา (Earliana) อายุ 60 วัน หัวปลีกลมแน่นดีมาก นํ้าหนัก 2 ปอนด์ (เกือบ 1 กก.) เหมาะที่จะปลูกขายในท้องถิ่น

การเตรียมดิน

ดินที่กะหล่ำปลีชอบ ปลูกได้ผลดีคือดินร่วนปนดินเหนียว หรือดินร่วนปนดินทราย ดินมีค่าพีเอชประมาณ 6.0-6.5 หากดินเป็นกรดต้องมีการใส่ปูนขาว เพื่อปรับสภาพดินในอัตราที่เหมาะสม

แปลงที่จะปลูกให้ขุดดินลึกสัก 30 เซนติเมตร ตากดินสัก 7 แดด เมื่อดินแห้งดีแล้วเก็บวัชพืชให้เกลี้ยง ย่อยดินให้ร่วนซุย ผสมปุ๋ยคอกลงในดินคลุกเคล้าให้ทั่วประมาณ 3-4 ตัน/ไร่ ถ้าเป็นดินเหนียวหรือดินทรายและเป็นแปลงขนาดใหญ่ ควรเตรียมดินก่อนปลูกสัก 1 ฤดู คือพอฤดูฝนก็เตรียมไถดินและใส่พวกปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก แกลบ ขี้เลื่อย เศษหญ้า ทิ้งไว้ตลอดฤดูฝน พวกอินทรีวัตถุเหล่านั้นจะเน่าเปื่อย ผุพังทำให้ดินร่วนซุย มีธาตุอาหารดีเหมาะแก่การปลูกกะหล่ำปลีให้งอกงาม แปลงสำหรับปลูกกะหล่ำปลีโดยมากนิยมร่องสูงขึ้นมาให้มีขนาดกว้างประมาณ 1 เมตร ซึ่งเป็นแปลงที่ปลูกกะหล่ำปลีได้ 2 แถว เตรียมหลุมสำหรับปลูกต้นกล้าระยะห่างระหว่างต้น 40-75 เซนติเมตร ระหว่างแถว 60-100 เซนติเมตร

การเพาะกล้า

แปลงสำหรับเพาะกล้าไม่ต้องขุดพลิกดินให้ลึกนัก ประมาณ 15 เซนติเมตรก็พอ และมีการตากดินใส่ปุ๋ยคอกในดินเช่นเดียวกับแปลงปลูก ขนาดของแปลงเพาะกล้าเพื่อปลูกในเนื้อที่ 1 ไร่ใช้ที่ประมาณ 5 ตารางเมตร ใช้เมล็ดพันธุ์ 1, 000 เมล็ด การปลูกเป็นผักสวนครัวจะเพาะกล้าลงกระถางหรือลังต่าง ๆ ก็ได้ หว่านเมล็ดพันธุ์ลงในแปลงให้กระจายและหว่านดินผสมปุ๋ยคอกกลบหน้าบาง ๆ เสร็จแล้วใช้ฟางข้าวหรือหญ้าคาแห้งคลุมปิดบนแปลงอีกที รดน้ำให้ชุ่ม ในช่วงระยะเมล็ดเริ่มงอก ควรรดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมออย่าให้ขาดน้ำได้ จะทำให้เมล็ดไม่งอกหรือตายได้

เมื่อกล้ามีอายุได้ 3-4 สัปดาห์ จึงย้ายกล้าไปปลูกในแปลงปลูก

วิธีปลูก

เมื่อต้นกล้าที่จะย้ายมาปลูกได้แล้ว จึงเตรียมวัดระยะของหลุมปลูก รดน้ำให้ชุ่มพอควร ก่อนถอนกล้ามาปลูกควรรดน้ำในแปลงกล้าไว้ก่อนประมาณ 30 นาที เพื่อให้กล้าชุ่มนํ้า จะได้ไม่แห้งเหี่ยวง่าย เวลาที่ปลูกกล้าควรเป็นเวลาหลังบ่าย 4 โมง เพื่อให้แดดอ่อนจะได้ไม่ทำให้ต้นกล้าเหี่ยวเฉา ใช้นิ้วขุดหลุมแล้วปักต้นกล้าลงไป กดดินให้แน่นพอควร แล้วรดน้ำให้ชุ่ม หลังจากปลูกแล้วหากพบว่ามีต้นที่ตายให้ปลูกซ่อมภายใน 7 วันต้นกล้าที่พบว่าเป็นโรคไม่ควรนำมาปลูกเพราะจะทำให้ต้นตาย และโรคอาจจะแพร่ลามไปยังต้นอื่น ๆ ได้อีก

หลังจากปลูกเสร็จแล้วในวันรุ่งขึ้นต้องทำร่มบังแดดให้กับผักที่ปลูกสัก 3-4 วัน อุปกรณ์ที่ใช้กันก็มีกะลามะพร้าว กาบกล้วยเสียบไม้ ใบไม้ต่าง ๆ โดยปิดบังแดดในเวลาแดดจัด คือ 9.00-16.00 น.หรืออาจจะใช้ฟางข้าวแห้งคลุมบาง ๆ ทั้งแปลงก็จะช่วยพยุงต้นกล้าให้ตั้งตัวได้ดีและช่วยเก็บความชื้นในดินได้ด้วย

การให้นํ้า

ในระยะแรกรดน้ำฉีดพ่นฝอย ๆ เช้า-เย็นตามปกติ แต่เมื่อถึงระยะ กะหล่ำปลีเริ่มเข้าปลีควรถอดฝักบัวออก เพื่อไม่ให้น้ำเข้าไปในปลี พอกะหล่ำปลีเข้าปลีเต็มที่แล้ว ลดปริมาณน้ำให้น้อยลง มิฉะนั้นแล้วปลีจะแตกได้ ซึ่งต่างจากพืชผักตระกูลกะหล่ำประเภทรับประทานดอก ซึ่งในระยะพัฒนาการของดอกจะขาดนํ้าไม่ได้

การให้ปุ๋ย

กะหล่ำปลีเป็นพืชที่ต้องการอาหารสูง หรือเรียกได้ว่ากินอาหารเปลือง ดินและน้ำควรจะสมบูรณ์เสมอ หากดินจืดลงและกะหล่ำปลีไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร ต้องใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์เพิ่มลงไป แต่ถ้าผักเจริญเติบโตได้ดีก็ไม่ต้องใส่ การใส่ปุ๋ยสูตร มีดังนี้คือ

1.เมื่อปลูกได้ราว 15 วัน ใส่ปุ๋ยจำพวกไนโตรเจน เช่น ยูเรีย 46 % หรือแอมโมเนียมซัลเฟต 21 % ให้ต้นละ 1 ช้อนชา ปุ๋ยจำพวกนี้จะช่วยให้ใบงาม

2.เมื่อปลูกได้ 30 วัน ทำการพรวนดินรอบ ๆ โคนต้น ใส่ปุ๋ยสูตร 12-8-8 ต้นละ 2 ช้อนชา หรือใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักแทน ต้นละ 1 กำมือ กลบดิน แล้ววันรุ่งขึ้นจึงรดน้ำ

3.ในการให้ปุ๋ยกะหล่ำปลีแต่ละครั้งควรผสมธาตุอาหารเสริมพวกโบรอน, สังกะสี ฯลฯ ลงไปด้วย เพราะมีความจำเป็นแก่พืชตระกูลกะหล่ำมาก

โรคและแมลงที่สำคัญ

โรคที่มักพบในกะหล่ำปลีได้แก่ โรคเน่าเละ, โรคใบจุดและใบไหม้,โรคไส้ดำ, โรคเน่าดำ

แมลงศัตรู ได้แก่ หนอนคืบกะหล่ำ หนอกกระทู้หอม หนอนเจาะยอดกะหล่ำ

การเก็บเกี่ยว

อายุของกะหล่ำปลีตั้งแต่วันปลูกจนถึงวันเก็บเกี่ยวได้ แล้วแต่ลักษณะของพันธุ์ที่ปลูก ซึ่งพันธุ์ที่ปลูกในเมืองไทยเป็นพันธุ์เบาอายุเก็บเกี่ยวเร็วกว่าพันธุ์หนัก มีอายุประมาณ 60-70 วัน หัวที่จะทำการเก็บเกี่ยวคือหัวที่แน่นและขนาดพอเหมาะ หากปล่อยไว้นานปลีจะหลวมลง ทำให้คุณภาพของหัวกะหล่ำปลีต่ำลง

เมื่อตัดต้นกะหล่ำปลีและขนออกมานอกแปลงแล้วตัดแต่งใบนอกออก เหลือเป็นหัวกลมข้างในคัดแยกขนาดแล้วบรรจุเข่ง

กะหล่ำปลีที่ปลูกกินเป็นผักสวนครัว เวลาจะรับประทานตัดเอาแต่เฉพาะ ตรงหัวกลมออกมาไม่จำเป็นต้องตัดทั้งต้น เพราะต้นตอที่เหลือจะแตกแขนงและหัวออกมาใหม่ให้เก็บกินได้อีก

เกษตรกรบางท้องถิ่นที่ตัดหัวเล็ก ๆ ที่แตกออกมาใหม่นี้ ไปขายได้ราคาดีกว่าหัวใหญ่เสียอีก