โรคผักที่เกิดจากการได้รับแร่ธาตุ

โรคผักที่เกิดจากการขาดหรือได้รับแร่ธาตุอาหารมากเกินไป

พืชผักก็เช่นกับพืชทั่วๆ ไปและสิ่งที่มีชีวิตอื่น คือมีความต้องการอาหารจำพวกแร่ธาตุในการดำรงชีวิต และการเจริญเติบโต รวมไปถึงการปรุงแต่งให้ผักมีสี ขนาด รส และคุณภาพในด้านอาหาร (nutritive value) ดีขึ้นด้วย

ธาตุอาหารที่จำเป็นที่พืชผักต้องการอยู่ในรูปของสารอนินทรีย์ (inorganic) มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 16 ธาตุ แยกออกเป็น 2 พวก ตามปริมาณในการใช้และความต้องการของผัก คือพวกแรกเป็นธาตุอาหารที่ผักต้องการในปริมาณมากเรียกว่าธาตุอาหารหลัก (major elements หรือ cronutrients) ได้แก่ คาร์บอน (C) ออกซิเจน (O) ไฮโดรเจน (H) ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) โปแตสเชียม(K ) แคลเซียม (Ca) กำมะถัน (S) และแมกนีเซียม (Mg) ธาตุอาหารพวกนี้พืชใช้ในการสร้างส่วนต่างๆ เพื่อการเจริญเติบโตของต้นกิ่งก้านใบ ราก ผล สร้างเป็นโปรตีน แป้งน้ำตาล และสร้างพลังงานเพื่อให้กลไกต่างๆ ในการดำเนินชีวิตเป็นไปโดยปกติส่วนอีกพวกหนึ่งเป็นธาตุอาหารที่พืชใช้ในปริมาณ เพียงเล็กน้อย (trace) เรียกว่าธาตุอาหารพืชประกอบ หรืออาหารรอง (minor elements หรือ micronutrients) ได้แก่ เหล็ก (Fe) แมงกานีส (Mn) โบรอน (B) สังกะสี (Zn) ทองแดง (Cu) โมลิบดีนัม (Mo) และคลอรีน (Cl) พวกนี้พืชนำไปใช้ในการสร้างส่วนประกอบของเอนไซม์ (enzyme) คลอโรฟbลล์ (chlorophyll) ฮอร์โมน (hormone) เซลล์ของส่วนที่กำลังเจริญเติบโต (meristematic cells) เป็นต้น

อย่างไรก็ตามธาตุอาหารสองพวกนี้ทั้งธาตุอาหารหลักและธาตุอาหารรองต่างก็มีความสำคัญเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะขาดโดยที่พืชได้รับไม่พอเพียง หรือมีมากเกินไป ก็ล้วนแต่จะก่อให้เกิดโทษกับพืชทั้งสิ้น ถ้าได้รับน้อยหรือไม่พอต่อความต้องการพืชก็จะแสดงอาการที่เรียกว่าโรคขาดอาหาร (mineral deficiency disease) ในทางตรงกันข้ามธาตุบางชนิดหากมีมากหรือพืชได้รับมากเกินไปก็จะทำให้พืชแสดงอาการผิดปกติได้เช่นกัน โรคที่เกิดในกรณีหลังนี้เรียกว่า excess of mineral diseaseโดยเฉพาะพวก micronutrients หรือ trace elements พวกนี้หากได้รับมากเกินไปก็จะทำให้เกิดอาการเป็นพิษ (toxin) กับพืช อย่างไรก็ดีโดยปกติแล้วธาตุพวกหลังนี้ในดินปลูกที่เป็นดินธรรมดาทั่วๆ ไปมักจะมีอยู่ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของพืช เกือบไม่จำเป็นที่จะต้องหามาใส่เพิ่มอีกเพราะพืชใช้น้อยมาก พวก macronu­trients หรือ major elements เท่านั้นที่มักจะไม่พอหรือขาด เนื่องจากพืชมีความต้องการในปริมาณที่ค่อนข้างสูงจึงจำเป็นที่จะต้องหามาเพิ่มใส่ลงในดินปลูกให้เพียงพออยู่เสมอ

การเติมธาตุอาหารพืชต่างๆ เหล่านี้ลงในดินก็ทำได้โดยการใส่สารที่เรียกว่าปุ๋ยในรูปต่างๆ ลงในดินเช่นปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักที่ได้จากพืชหรือเศษซากอินทรีย์วัตถุต่างๆ ซึ่งปุ๋ยเหล่านี้ต่างก็มีแร่ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อพืชรวมอยู่ ซึ่งพืชสามารถนำไปใช้ได้ช้าๆ ทีละน้อย หรืออาจจะใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้เตรียมขึ้นเป็นการค้าโดยมีส่วนผสมของแร่ธาตุแต่ละชนิดที่ต้องการผสมรวมอยู่เลยซึ่งพืชสามารถนำไปใช้ได้ทันที และเร็วกว่าพวกแรกเช่นปุ๋ยสำเร็จรูปที่มีส่วนผสมของไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปแตสเชียม หรือเป็นปุ๋ยที่มีธาตุเฉพาะเช่น กำมะถัน แมกนีเซียม สังกะสี โบรอน หรือ แคลเซียม อย่างใดอย่างหนึ่งเดี่ยวๆ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความต้องการผู้ใช้และพืชแต่ละชนิด อย่างไรก็ตามปุ๋ยวิทยาศาสตร์สำเร็จรูปที่เตรียมขึ้น และขายอยู่ตามท้องตลาดส่วนใหญ่จะเห็นว่าประกอบด้วยธาตุอาหารหลักที่สำคัญ 3 ชนิดคือ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปแตสเชียม (N-P-K) ซึ่งเป็นธาตุที่พืชใช้ในปริมาณมากที่สุด และในดินปลูกทั่วๆ ไปก็มักจะมีไม่พอ ความจริงนอกจากไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปแตสเชียม 3 ชนิดนี้แล้ว ยังมีธาตุอีก 3 ชนิดซึ่งเป็นธาตุอาหารหลักที่พืชต้องการมากเช่นกันคือ คาร์บอน ออกซิเจน และไฮโดรเจน แต่ธาตุทั้งสามนี้พืช สามารถจับได้จากอากาศในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์ ( CO2 ) และก๊าซอิสระ (free gas) ทั้ง O2 และ H2 ซึ่งมีอยู่อย่างมากมายมหาศาลในธรรมชาติ ไม่ปรากฏว่าพืชแสดงอาการขาดธาตุอาหารทั้ง 3 ชนิดนี้ จึงไม่จำเป็นต้องหามาเพิ่มให้กับพืชอีก

ในบางกรณีแม้จะพบว่าดินปลูกมีแร่ธาตุทั้งสองพวกนี้อยู่ แล้วเป็นจำนวนมาก แต่อยู่ในรูปหรือปริมาณที่ไม่สมดุลกัน หรือไม่ก็อยู่ลักษณะของสารประกอบที่ไม่ละลายนํ้า ซึ่งพืชไม่สามารถดูดซึมหรือนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ ก็ย่อมทำให้เกิดอาการที่เรียกว่าขาดธาตุอาหาร (deficiency) ได้เช่นกัน การที่ธาตุต่างๆ อยู่ในรูปที่ไม่ละลายนํ้านี้ส่วนใหญ่เกี่ยวกับสภาพความเป็นกรด-ด่าง หรือ pH ของดิน โดยปกติแล้ว ธาตุอาหารพืชต่างๆ จะละลายสลายตัวได้ดีในดินที่เป็นกรดเล็กน้อยหรือเป็นกลาง (pH 6.5-7.0)

อาการของโรคผักที่เกิดจากการขาดหรือได้รับธาตุอาหารมากเกินไป

ธาตุอาหารหลัก (macronutrients หรือ major elements)

ไนโตรเจน (nitrogen-N)

โดยหน้าที่ไนโตรเจนเป็นส่วนประกอบสำคัญของเซลล์ เป็นธาตุอาหารที่พืชโดยเฉพาะผักต้องการมากเป็นอันดับสองรองจากโปแตสเซียมใช้ในการสร้างโปรตีน คลอโรฟิลล์ และในการเจริญเติบโต ทำให้ต้นผักแข็งแรง มีสีเขียวสด ต้นและใบอวบอ่อนกรอบ มีไฟเบอร์หรือเสียนน้อย เมื่อขาดไนโตรเจนผักจะแสดงอาการแคระแกรนเจริญเติบโตช้าใบมีขนาดเล็กกว่าปกติหรือน้อยกว่าปกติสีเหลืองซีด โดยอาการเหลืองจะเริ่มจากโคนต้นขึ้นไปหายอด ถ้าขาดมากใบจะแห้งตาย และร่วงหลุดจากต้น

พืชผักมีความต้องการไนโตรเจนค่อนข้างสูงในระยะแรกของการเจริญเติบโต เพราะจำเป็นสำหรับการสร้างโปรตีนที่จะนำไปใช้สร้างเซลล์สำหรับส่วนยอดหรือปลายที่จะเจริญเติบโตต่อไปเป็นต้น รากและใบให้ได้มากที่สุด

ในทางตรงกันข้ามถ้าผักได้รับไนโตรเจนมากเกินไปก็จะเกิดผลเสียเช่นกันโดยเฉพาะเมื่อพ้นจากระยะต้นอ่อนไปแล้ว คือจะทำให้เกิดโรคที่เรียกว่าเฝือใบมีใบมากกว่าปกติ หรือใบหนากว่าปกติ สีเขียวเข้ม ต้นจะอวบอ่อนเซลล์ผิวบาง ลำต้นไม่แข็ง เปราะ หักล้มง่าย ออกดอกผลช้าหรือล่ากว่ากำหนด ถ้าเป็นผักพวกหัวหรือรากจะทำให้คุณภาพเลวลง เช่น พวกหอม กระเทียม จะได้หัวที่โตแต่จะมีนํ้าหนักเบาเนื้อไม่แน่นเน่าเสียง่าย ส่วนพวกที่เป็นหัวแบบหัวเผือกหัวมัน (tu­ber) ก็จะมีแป้งน้อย มีขนาดเล็ก เนื้อหยาบไม่น่ารับประทาน

ชนิดของผักที่ต้องการไนโตรเจน ปรากฏว่าผักทุกชนิด ต้องการไนโตรเจนในการเจริญเติบโต โดยเฉพาะพวกผักที่ปลูกเพื่อรับประทานต้นและใบซึ่งได้แก่ผักกาดต่างๆ และพวกกะหล่ำ (brassica) เช่นกะหล่ำปลี กะหล่ำดอก เป็นต้น พวกนี้ต้องการไนโตรเจนสูงเพื่อการเจริญเติบโตที่รวดเร็วให้ ต้นและใบอ่อนกรอบ มีไฟเบอร์ หรือเสี้ยนน้อย

ดินที่ขาดไนโตรเจน ได้แก่ดินที่มีอินทรีย์วัตถุ (organic matter) น้อย และดินที่สลายตัวได้เร็วเช่นดินทราย ดินปนทราย หรือดินในที่สูงตามเนินเขาที่มีความลาดเอียงมากๆ

การแก้การขาดไนโตรเจน ในดินที่ขาดหรือถ้าจำเป็นต้องปลูกพืชผักลงในดินดังกล่าว ก็ทำการแก้ไขได้โดยการให้ปุ๋ยหรืออินทรีย์วัตถุลงไป อาจเป็นรูปของปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์ เช่น แอมโมเนียมไนเตรท แอมโมเนียมซัลเฟต หรือยูเรียลงไป นอกจากนั้นพวกกากถั่ว เศษซากพืชตระกูลถั่ว เมื่อไถกลบลงในดิน ก็จะช่วยเพิ่มไนโตรเจนให้กับดินเป็นอย่างดี และปุ๋ยจากสัตว์นอกจากปุ๋ยคอกแล้ว พวกเลือดป่น ปลาป่น ก็นับว่ามีไนโตรเจนมากพอควร แต่ราคาค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับปุ๋ยอินทรีย์ชนิดอื่น

พวกปุ๋ยในรูปของอินทรีย์วัตถุต่างๆ เมื่อใส่ลงในดินก็จะ

ถูกพวกจุลินทรีย์ (microorganisms) บางชนิดที่มีอยู่ในดินนั้นเข้าทำปฏิกิริยาเปลี่ยนให้เป็นเกลือไนเตรท ซึ่งละลายนํ้าได้เสียก่อนแล้วพืชจึงจะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อไป

ฟอสฟอรัส (phosphorus – P)

ในบรรดาธาตุอาหารสำคัญ 3 ชนิดระหว่าง N-P-K ฟอสฟอรัสเป็นธาตุอาหารที่พืชผักต้องการน้อยกว่าธาตุอื่นๆ ฟอสฟอรัสทำหน้าที่เป็นส่วนประกอบของยีนส์ (genes) นิวเคลียส (nucleus-nucleoproteins) และเอนไซม์เป็นส่วนประกอบของสารชั่วคราวที่เกิดจากการเผาผลาญ

คาร์โบไฮเดรท และเป็นตัวให้ (donate) พลังงานที่ได้จากการเผาผลาญนี้ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตในกิจกรรมต่างๆ ขณะเจริญเติบโตทำให้พืชผักตั้งตัวได้เร็วขึ้นในระยะแรกของการเจริญเติบโต ทำให้การติดดอกออกผลดี จากนี้ยังช่วยให้พืชผักแก่เก็บเกี่ยวได้เร็วขึ้น

เมื่อขาดฟอสฟอรัส จะทำให้เกิดการสะสมอาหารจำพวกแป้งในใบมากขึ้น ใบจะมีขนาดเล็กมีสีเขียวหม่นปนเทา ก้านใบ เส้นใบ (vein) หรือลำต้นอาจมีสีอมม่วง ต้นไม่ค่อยเจริญเติบโต เมล็ด ผล หรือฝักจะแก่ช้ากว่าปกติ ถ้าเป็นพืชพวกธัญพืช เช่นพวกข้าวต่างๆ (cereal crops) จะให้เมล็ดน้อย เมล็ดลีบ คุณภาพเลว ความงอกไม่ดี

ดินหรือแหล่งที่ขาดฟอสฟอรัสในดินทั่วๆ ไปมักจะมีฟอสฟอรัสไม่เพียงพอต่อความต้องการพืช โดยเฉพาะในดินที่เป็นกรดหรือด่างจัดเกินไป ในดินนี้แม้จะมีฟอสฟอรัสสูงมากแต่ก็จะไปรวมกับธาตุอื่นในรูปของสารประกอบเช่นรวมกับเหล็กในดินกรดในรูปของเหล็กฟอสเฟต หรือรวมกับแคลเซียมในรูปของแคลเซียมฟอสเฟต ซึ่งสารประกอบทั้งสองนี้ไม่ละลายน้ำจึงไม่มีประโยซน่ต่อพืช การแก้การขาดฟอสฟอรัสจึงอาจทำได้โดยวีธีปรับ pH ของดินโดยการเติมอินทรีย์วัตถุหรือปูนขาวลงในดินเพื่อทำให้ pH อยู่ในระดับกลางๆ ราว 6.5-7.0 ฟอสฟอรัสที่มีอยู่ก็จะถูกนำไปใช้ได้

ความสัมพันธ์ระหว่างผักบางอย่างกับโรคบางชนิดเมื่อได้รับฟอสฟอรัสสูงเกินไป

แตงกวา จะง่าย (susceptible) ต่อการเกิดโรค จาก cucumber mosaic virus

ถั่วต่างๆ จะง่ายต่อการเกิดโรค จาก tobacco mosaic virus

มะะเขือเทศ จะยาก (resistance) ต่อการติดเชื้อ Fusarium sp.

บuท (beet) จะยากต่อการเกิดโรคจากเชื้อ Phoma sp.

การแก้การขาดธาตุฟอสฟอรัส

ดินที่ขาดฟอสฟอรัสอาจแก้ได้โดยการใช้ปุ๋ยเคมีพวกซุปเปอร์ฟอสเฟต (super phosphate) ซึ่งได้มาโดยการสะกัดหินฟอสเฟต (phosphate rock) ด้วยกรดกำมะถัน (H2SO4) ซึ่งจะทำให้แคลเซียมที่มีอยู่ถูกเปลี่ยนไปเป็นโมโนแคลเซียม (monocalcium) และไดแคลเซียมฟอสเฟต (dicaalcium phosphate) ซึ่งสารทั้งสองนี้เมื่อไปรวมกับแอมโมเนีย (NH3) ก็จะได้แอมโมเนียมฟอสเฟต noniurn phosphate) ซึ่งพืชนำไปใช้ได้ ส่วนปุ๋ยคอก manure) นั้นมีฟอสฟอรัสอยู่น้อย เนื่องจากไปรวมอยู่ในรูปโปรตีนซึ่งสลายตัวช้า หากใช้หลังจากปลูกผักลงไปในดินแล้วมักจะใช้ได้ไม่ทัน ทำให้เกิดการขาดขึ้นได้

โปแตสเซียม (potassium – K)

โปแตสเซียมจัดเป็นธาตุสำคัญที่พืชผักมี ต้องการมากเป็นอันดับหนึ่ง คือมากที่สุดในบรรดาธาตุสำคัญ 3 ชนิดนี้ พืชใช้โปแตสเซียมในกระบวนการเผาผลาญ (catabolism) ใช้สร้างและลำเลียงคาร์โบไฮเดรทช่วยการหมุนเวียนน้ำในพืช ช่วยในปฏิกิริยาต่างๆ ภายในเซลล์ช่วยลดพิษที่เกิดจากการที่มีธาตุอื่นมากเกิน นอกจากนี้ยังพบว่าโปแตสเซียมเป็นส่วนประกอบสำคัญของผนังเซลล์(cell wall) หรือผนังพลาสมา (plasma membrane) ของเซลล์

ผักที่มีความต้องการโปแตสเซียมมากได้แก่ผักที่ส่วนใหญ่ใช้ผลรับประทาน เช่น มะเขือ แตงต่างๆ และผักที่ปลูก เพื่อใช้หัว (bulb) และราก (root หรือ tuber) เช่น หอม เผือก มัน สาคู ฯลฯ พวกนี้ถ้าได้รับปุ๋ยโปแตสเซียมอย่างพอเพียงจะให้ผลดีมีน้ำหนักดี เนื้อแน่น สีสวย คงความสดอยู่ได้นาน เก็บรักษาไว้ได้นานไม่เน่าหรือช้ำง่ายในระหว่างขนส่ง

อาการที่พืชผักแสดงออกเมื่อขาดธาตุโปแตสเซียม คือ แคระแกรนใบด่างลายสีซีด (chlorosis) ขอบใบไหม้แห้ง หรือเกิดจุดเล็กๆ ขึ้นตามขอบใบโดยเฉพาะใบแก่ ในผักบางชนิด ขอบใบอาจม้วนเข้าด้านใน ผักใช้ใบจะมีใบหนา รสไม่ดี ในกรณีของพืชผักที่ปลูกเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ การขาดธาตุนี้มี ผลกระทบกระเทือนมาก คือจะทำให้เมล็ดสุกหรือแก่ไม่พร้อมกันโดยเฉพาะมะเขือเทศ เนื่องจากธาตุโปแตสเซียมในพืชสามารถเคลื่อนย้ายถ่ายเทจากส่วนที่แก่กว่าไปยังส่วนที่อ่อนกว่าได้ด้วยเหตุนี้เมื่อส่วนของต้นที่เกิดใหม่ขาดก็จะดึงเอาธาตุนี้ที่มีและสะสมอยู่ในส่วนที่แก่โดยเฉพาะจากใบมาใช้ ในการเจริญเติบโตในระยะแรก ดังนั้นอาการขาดธาตุโปแตสเซียมจึงจะแสดงออกให้เห็นในส่วนล่างหรือใบแก่ก่อนเสมอ

แหล่งหรือดินที่ขาดธาตุโปแตสเซียม

อาการขาดโปแตสเซียมมักจะพบกับพืชที่ปลูกในดินเลว เช่นดินปนทรายหรือดินที่เป็นทรายจัดตามชายทะเล นอกจากนั้นก็ในดินโคลนหรือดินที่มีมูลสัตว์ (muck soil) มากๆ สำหรับในดินปนถ่านหรือดินในแหล่งที่มีหินถ่าน (peat soil) นั้นปกติจะมีโปแตสเซียมอยู่มาก แต่จะรวมอยู่กับธาตุอื่นในรูปของสารประกอบที่พืชไม่สามารถนำไปใช้ได้

ดินที่มีลักษณะเป็นดินเหนียว เช่นดินบริเวณกรุงเทพฯ ดอนเมือง ปทุมธานี พบว่ามีธาตุโปแตสเซียมอยู่ในปริมาณที่ค่อนข้างสูง และอยู่ในรูปที่พืซสามารถนำไปใช้ได้จะค่อยๆ สลายตัวให้พืชนำไปใช้ได้ทีละน้อย พืชผักที่ปลูกในดินชนิดนี้ จึงไม่ค่อยแสดงอาการขาดให้เห็น

แคลเซียม (calcium – Ca)

แคลเซียมเป็นธาตุที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของผนังเซลล์ เป็นสารที่อยู่ระหว่างเซลล์ (middle lamella) ทำหน้าที่เชื่อมให้ผนังเซลล์ แต่ละเซลล์ยึดเกาะติดกันอยู่ได้ โดยอยู่ในรูปของแคลเซียมเพคเตท (calcium pectate) ที่ไม่ละลายนํ้า นอกจากนั้นยังพบว่าเป็นส่วนประกอบของส่วนยอดหรือปลายสุดของพืชที่กำลังเจริญเติบโต (meristemetic cells) โดยทำหน้าที่สร้างผนังเซลล์เมื่อมีการแบ่งตัว ช่วยลด

ตารางแสดงปริมาณความต้องการธาตุ N-P-K ในผักบางชนิด และนํ้าหนักผลผลิตที่ได้ต่อไร่

ชนิดของผัก ธาตุอาหารที่พืชใช้ กก./ไร่ น้ำหนักสดของผัก ที่ผลิตได้ กก./ไร่
N PO K2O
ผักกาดหอม 8.9 3.3 19.5 4,060
แตงกวา 8.2 6.6 13.0 4,900
มะเขือเทศ 17.8 4.9 26.0 6,000
กะหลำปลีขาว 40.6 14.5 49.0 11,300
กะหลำปลีแดง 49.0 13.8 57.0 8,100
กะหลาดอก 32.5 13.0 41.0 8,100
กะหลำดาว        
(Brussel sprouts) 32.2 9.8 29.0 970
กะหลำปม 17.8 13.0 26.0 3,240 (ปม)
        1,780 (ใบ)
หอม 13.0 6.6 19.5 4,400

 

พิษภายในเซลล์เมื่อมีกรดอินทรีย์ เช่น กรดอ๊อคซาเลทมากเกินไป โดยจะไปทำให้เกิดตะกอนของแคลเซียมอ๊อคซาเลท ซึ่งไม่มีพิษหรือไม่เป็นอันตรายต่อพืช ปรกติในพืชจะพบธาตุแคลเซียมในใบแก่มากกว่าใบอ่อน แต่เนื่องจากแคลเซียมไม่สามารถถ่ายเทหรือเคลื่อนย้ายได้เหมือนเช่นอย่างโปแตสเซียม ด้วยเหตุนี้หากเกิดการขาดขึ้น พืชก็จะแสดงอาการให้เห็นในส่วนยอด ปลายหรือส่วนที่อ่อนที่สุดของต้นก่อน

ลักษณะอาการขาดธาตุแคลเซียมจะเห็นได้ที่เนื้อเยื่อของส่วนปลาย (meristems) เช่น ที่ยอดตาปลายราก โดยจะทำให้ส่วนต่างๆ เหล่านี้แห้งตาย หยุดการเจริญเติบโตไม่ออกดอก ผล ใบอ่อนหงิกบิดเบี้ยวหรือม้วน ส่วนพวกพืชที่ให้หัวหรือราก เช่น หัวผักกาด บีท แครอท หัวจะอ้วนสั้น และสีซีดจาง โรคขาดธาตุแคลเซียมในผักที่สำคัญและพบเสมอ คือ โรคก้นเน่า (blossom end rot) ของผลมะเขือเทศ พริกยักษ์ (capsicum) และแตงบางชนิด เป็นโรคที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับพืชดังกล่าวมาก โดยเฉพาะมะเขือเทศอาการจะเกิดที่ด้านใต้หรือก้นของผลอ่อนโดยเริ่มจากจุดช้ำเล็กๆ แล้วค่อยขยายโตขึ้นตามขนาดของผล เกิดเป็นแผลใหญ่ค่อนข้างกลม ยุบตัวลงลักษณะแห้งผิวเรียบมันสีนํ้าตาลหรือดำ ขนาดของแผลจะโตไปตามขนาดของผลในมะเขือเทศอาจใหญ่ถึง 1 นิ้ว หรือกว่าหากผลนั้นโตมาก

สำหรับการเกิดโรคก้นเน่าดำในมะเขือเทศและพริก capsicum นี้ พบว่านอกจากจะเนื่องมาจากการขาดธาตุ แคลเซียมแล้ว ยังมีสิ่งประกอบอย่างอื่นเข้ามามีส่วนร่วมใน

การช่วยส่งเสริมความรุนแรงของโรคให้มีมากยิ่งขึ้น พบว่าโรคนี้จะเป็นมากและรุนแรงในท้องที่ที่มีฝนตกชุกตอนต้นฤดู แล้วติดตามด้วยความแห้งหรือเมื่อฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานานติดต่อกัน นอกจากนั้นการเปลี่ยนสภาพสิ่งแวดล้อมของดินปลูก เช่น กล้ามะเขือเทศ ที่เพาะในดินแปลงเพาะ ที่ค่อนข้างชื้นและเย็น มีปุ๋ยอุดมสมบูรณ์พวกนี้หากถอนไปปลูกในดินที่เลวกว่าหรือมีสภาพแตกต่างไปจากแปลงเพาะกล้าเดิมมากๆ โดยเฉพาะถ้ามีธาตุแคลเซียมน้อยหรือไม่พอเพียงต่อความต้องการของพืชแล้วจะเกิดโรคได้ง่ายรวดเร็ว และรุนแรง แต่ถ้ากล้าเหล่านั้นถูกย้ายไปปลูกในดินแปลงที่มีสภาพใกล้เคียงกับแปลงเพาะแม้จะขาดแคลเซียมบ้างก็จะไม่แสดงอาการรุนแรงนัก การเกิดของโรคจะค่อยเป็นค่อยไป อาจจะแสดงออกเฉพาะกับผลหรือลูกบางลูกในกิ่งที่ดกหรือ ติดลูกมากๆ เท่านั้น นอกจากสิ่งแวดล้อมแล้วชนิดและปริมาณของธาตุอาหารอย่างอื่น ในดินก็เป็นสิ่งหนึ่งที่อาจช่วยเสริมหรือลดความรุนแรงของโรคลงได้ เช่น พบว่าในดินที่มีไนโตรเจน คลอรีนและกำมะถันสูง หากขาดแคลเซียม อาการก้นเน่าของผลก็จะรุนแรงซึ่งตรงกันข้ามกับฟอสฟอรัส ธาตุนี้ถ้ามีมากกลับจะช่วยลดความรุนแรงของโรคก้นเน่าลง กระทั่งตัวต้นพืชเองก็มีส่วนร่วมด้วย เช่น พืซที่มีระบบรากเลว มีรากน้อยหรือรากสั้น (shallow root system) พืชที่ปลูกในที่ที่มีนํ้าแช่รากหรือให้นํ้ามากเกินไป มีอัตราการระเหยน้ำสูงไม่คงที่ พวกนี้ถ้าได้รับแคลเซียมไม่พอเพียง อาการของโรคก็จะรุนแรงยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้การรักษาอัตราการระเหยน้ำของพืชให้อยู่ในระดับคงที่ และสม่ำเสมอก็จะช่วยบรรเทาความรุนแรงของโรคลงได้วิธีหนึ่ง นอกจากนี้ยังพบว่าแคล เซียมมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคของเชื้อบางชนิดด้วย เช่น ช่วยลดความรุนแรงของโรครากบวม (club root) ในผักพวกกะหล่ำที่เกิดจากราเมือก Plasmodiophora brassicae ลงได้ ทั้งนี้เนื่องจากแคลเซียมเป็นตัวลดความเป็นกรดของดิน ทำให้ไม่เหมาะต่อการเจริญเติบโตและการก่อให้เกิดโรค fection) ของเชื้อนี้ และในทางตรงกันข้ามพืชที่ปลูกในที่มีธาตุแคลเซียมน้อยก็จะมีการสะสมแป้งในเนื้อเยื่อมากเกินไปทำให้ง่าย (susceptible) ต่อการเข้าทำลายของเชื้อบางชนิด โดยเฉพาะพวกที่ทำให้เกิดอาการเน่าต่างๆ เช่น ถั่วต่างๆ พวกนี้ถ้าปลูกในดินที่ขาดแคลเซียมจะถูกเชื้อราพวก Rhizoctonia sp. เข้าทำลาย เกิดเป็นโรคราก หรือโคนเน่าได้ง่ายเป็นสองเท่าของถั่วที่ปลูกในดินที่มีแคลเซียมพอเพียง โดยเฉพาะต้นอ่อนหรือกล้าจะถูกทำลายอย่างรวดเร็ว และอาจตายไปก่อนที่จะงอกขึ้นมาพ้นผิวดิน

ดินที่ขาดหรือมีแคลเซียมไม่พอต่อความต้องการของพืช มักจะเป็นดินที่ค่อนข้างเป็นกรด หรือดินที่มีการชะล้างมากๆ เช่น ดินที่ถูกนํ้าไหลผ่าน หรือดินที่แช่น้ำอยู่นานๆ

การแก้การขาดธาตุแคลเซียม ดินที่ขาดแคลเซียมแก้ได้ โดยการเติมสารหรือปุ๋ยที่มีธาตุนี้ผสมอยู่ลงในดินนั้น เช่น แคลเซียมซัลเฟตหรือยิบซัม (CaSO4 2H2O) หรือ แคลเซียมไนเตรท [Ca(NO3)2] ลงไป กรณีของมะเขือเทศที่แสดงอาการก้นผลเน่า (blossom-end rot) ในระยะเริ่มแรกที่แสดงอาการอาจแก้ได้โดยการฉีดพ่นด้วยสารละลายแคลเซียมซัลเพ่ต หรือแคลเซียมไนเตรทให้กับต้นมะเขือเทศโดยตรง นอกจากนั้นการใส่ปูนขาวลงในดินก็ช่วยแก้การขาดแคลเซียมได้แต่ต้องระวังไม่ควรใช้กับดินที่เป็นด่างมากอยู่แล้วเพราะเท่ากับจะไปช่วยเพิ่ม pH ของดินให้สูงยิ่งขึ้น

กำมะถัน (sulphur – S)

กำมะถันเป็นส่วนประกอบสำคัญของกรดอะมิโน (amino acid) และโปรตีนบางชนิด มีหน้าที่จำเป็นในกระบวนการ metabolism ในพืชเป็นส่วนประกอบของสารที่มีกลิ่นฉุนในผักหลายชนิด เช่น คะน้า หอม กระเทียม ผักกาดหัวและมัสตาร์ด เป็นส่วนประกอบของวิตามิน หรือ co-enzyme มีส่วนร่วมในการสร้างคลอโรฟิลล์ในพืช ในการจับไนโตรเจนจากอากาศมาสร้างโปรตีนของแบคทีเรียพวก Rhizobium sp. ที่อาศัยอยู่ในปมที่รากของพืชตระกูลถั่ว กำมะถันก็มีส่วนหรือเป็นตัวร่วมในปฏิกิริยานั้น

อาการขาดธาตุกำมะถัน เมื่อขาดพืชจะแสดงอาการเหลืองซีดทั้งใบคล้ายกับการขาดไนโตรเจน เจริญเติบโตช้า แคระแกร็น มีโปรตีนน้อย กากมาก พืชพวกถั่วจะมีปมที่รากน้อยกว่าปกติโดยทั่วๆ ไปแล้วในดินธรรมดาจะมีกำมะถันพอเพียงต่อความต้องการของพืชจึงมักไม่ใคร่พบว่าพืชแสดงอาการขาดธาตุนี้ อย่างไรก็ดี ในกรณีที่หากเกิดการขาดขึ้นก็อาจแก้ไขโดยการใส่ปุ๋ยพวกแอมโมเนียมซัลเฟต ซุปเปอร์ฟอสเฟต หรือเอปซั่ม (epsum=MgSO4) ลงในดิน

แมกนีเซียม (magnesium – Mg)

พืชที่มีสีเขียวทุกชนิดต้องการธาตุแมกนีเซียมในการเจริญเติบโต เนื่องจากแมกนีเซียมมีส่วนร่วมในการสร้างเม็ดสีที่มีสีเขียว (green pigment) โดยรวมอยู่ในโมเลกุลของคลอโรฟิลล์ทั้ง a และ b (chlorophyll a คือ C55H72O5N4Mg  chlorophyll b คือ C55 H70O6N4Mg) ช่วยในการเคลื่อนย้ายฟอสฟอรัสโดยเฉพาะจากส่วนที่แก่ไปยังส่วนอื่นๆ ที่อ่อนกว่าของต้น ช่วยในการสร้างไขมันในพืช (plant fat) มีความต้องการในกระบวนการที่มีชีวิต (vital activity) หลายชนิดในพืช รวมทั้งช่วยให้พืชมีความต้านทานต่อโรคที่เกิดจากเชื้อบางชนิดด้วย นอกจากนี้แมกนีเซียมยังเป็นส่วนประกอบของผนังเซลล์โดยอยู่ในรูปของแมกนีเซียม เพคเตท (magnesium pectate) และเป็นตัวร่วมในการทำงานของเอนไซม์บางชนิดอีกด้วย

อาการขาดธาตุแมกนีเซียม เนื่องจากแมกนีเซียมสามารถ เคลื่อนย้ายถ่ายเทได้ในพืช ดังนั้นเมื่อขาดหรือพืชได้รับธาตุนี้ไม่เพียงพอ อาการก็จะแสดงขึ้นที่ใบแก่ตามส่วนล่าง ๆ ของต้น หรือกิ่งก่อน โดยจะสังเกตเห็นบริเวณขอบใบมีสีซีดจางลง ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรืออาจแดงในพืชบางชนิด ในที่สุดจะเป็นสีน้ำตาลแล้วแห้ง ขณะเดียวกันเนื้อใบที่อยู่ในๆ ลึกเข้าไปก็จะค่อยๆ ชัดลงจนเหลืองไปจนจรดแกนใบ ถ้าอาการขาดมีมากขึ้นใบจะแห้งตายทั้งใบ แล้วล่วงหลุดจากต้น อาการดังกล่าวจะค่อยๆ ลามจากโคนต้นหรือโคนกิ่งขึ้นไปหายอด หรือปลายจนในที่สุดจะเหลือเฉพาะใบที่ยังอ่อนตามส่วนปลาย หรือยอดเท่านั้นที่จะยังคงมีสีเขียวอยู่

สำหรับพวกธัญพืช หรือพืชพวกที่มีเส้นใบขนาน เช่น พวกข้าวต่างๆ อาการเหลืองหรือซีดลงของสีจะปรากฏเป็นเส้นขีดยาวๆ ขนานไปตามความยาวของใบ และเส้นขีดเหล่านี้ จะเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นถ้าเอาไปส่องดูกับแสงอาทิตย์

ส่วนพืชพวกแตง เช่น แตงกวา แตงร้าน แตงโม แตงไทย ฟัก แฟง และผักพวกที่มีใบอ่อนบาง บางชนิดอาการเหลือง อาจไม่ปรากฏให้เห็น แต่จะเกิดเป็นแผลจุดเล็กๆ ลักษณะโปร่งแสง (translucent) ขึ้นแทนจุดเหล่านี้เมื่อขยายโตขึ้นก็จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลจางๆ ลักษณะคล้ายแผลที่เกิดจากโรคแอนแทรคโนสหรือโรครานํ้าค้าง

มะเขือเทศถ้าขาดแมกนีเซียมใบจะแสดงอาการเหลือง คล้ายขาดคลอโรฟิลล์ แต่ส่วนของเส้นใบจะมีสีเขียวเข้มขึ้น พวกกะหล่ำต่างๆ เมื่อขาดใบแก่ที่อยู่ตอนล่างๆ ของต้น นอกจากจะเหลืองแล้วยังจีบย่น หรือไม่ก็แสดงอาการด่างเป็นดวงๆ หรือลาย ขอบใบเปลี่ยนเป็นสีขาว

นอกจากนี้การขาดธาตุแมกนีเซียมในพืชผักบางชนิดยังมีผลเกี่ยวโยงกับโรคที่เกิดจากเชื้อบางอย่างอีกด้วย เช่น มะเขือเทศถ้าเป็นโรค blight ที่เกิดจากเชื้อรา Altemaria solani ขณะเดียวกันถ้าขาดธาตุแมกนีเซียมไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดโรคได้ง่ายและรุนแรงขึ้นเท่านั้นเชื้อยังจะเข้าทำลายส่วนของผล ทำให้เกิดอาการแผลขึ้นที่ผลด้วย ซึ่งโดยปกติแล้วโรคนี้จะเป็นเฉพาะต้นและใบเท่านั้น ไม่ทำลายหรือเกิดอาการขึ้นที่ผลมะเขือเทศ

พืชผักที่พบว่ามีความต้องการธาตุแมกนีเซียมมากและมักแสดงอาการขาดให้เห็นเสมอคือพืชในตระกูล Cruciferae ได้แก่ พวกกะหล่ำต่างๆ พวก Solanaceous ได้แก่ พริก มะเขือ มะเขือเทศ มันฝรั่ง พวก Cucurbits ได้แก่ พวกแตงต่างๆ นอกจากนี้ก็ได้แก่ พวกถั่วบางชนิด เช่น ถั่วแขก ถั่วลันเตา ถั่วผักยาว ฯลฯ

ดินที่ขาดธาตุแมกนีเซียม มักจะเป็นดินร่วนปนทรายเล็ก น้อย (light sandy soil) โดยเฉพาะในฤดูฝนที่มีการชะล้างมาก นอกจากนั้นก็ในดินที่เป็นกรดมากๆ

การแก้การขาดธาตุแมกนีเซียม

พืชที่ยังเจริญเติบโตเร็วก็ยิ่งต้องการแมกนีเซียมมาก โดยเฉพาะ ถ้ายิ่งให้ปุ๋ยโปแตสและไนโตรเจนมาก ก็ยิ่งต้องเพิ่มแมกนีเซียมให้มากขึ้นตามส่วนเพื่อให้สมดุลกัน การให้ปุ๋ยแมกนีเซียม อาจให้โดยตรงกับต้นพืช หรือจะใส่ลงในดินก็ได้วิธีที่ง่ายและให้ผลดีคือใช้ผสมกับสารเคมีฆ่ารา (fungicide) แล้วฉีดพ่นให้กับพืชโดยตรง เช่น ใช้เกลือเอปซั่ม (MgSO47H2O) ในปริมาณ 1-2 กิโลกรัมโดยผสมกับสารเคมีฆ่าเชื้อราที่ต้องการ 100 แกลลอน หรือราว 400 ลิตร หรืออาจ’ใข้เดี่ยวๆ โดยละลายนํ้าในปริมาณเดียวกัน วิธีนี้พืซจะนำไปใช้ได้เร็วกว่า

สำหรับการใส่แมกนีเซียมลงในดิน นิยมใช้ปูนโดโลไมท์(dolometic lime) ซึ่งมีแมกนีเซียมอ๊อกไซด์ (MgO) รวมอยู่สูงถึง 37% อย่างไรก็ตาม หากมี MgO ต่ำกว่า 20% ในการใส่ลงในดินก็ไม่ควรให้น้อยกว่าไร่ละ 1 ตัน หรือ 1,000 กก. และต้องใส่ก่อนปลูกพืชไม่น้อยกว่า 1 เดือน จากนั้นก็ไถพรวนเพื่อให้แมกนีเซียมที่ใช้กระจายคลุกเคล้ากับดินได้ทั่วถึงทุกส่วน อย่างไรก็ดี ในการใช้ปูนโดโลไมท์ใส่ลงในดินนี้มีสิ่งที่ต้องระวัง คือ ไม่ควรใช้กับดินที่เป็นด่าง หรือด่างจัดเกินไป เพราะปูนโดโลไมท์จะยิ่งไปช่วยเพิ่มความเป็นด่างของดินให้มากยิ่งขึ้นจนอาจเป็นอันตรายกับพืชที่ปลูกได้

ส่วนดินที่มีแมกนีเซียมมากเกินไปไม่ปรากฏว่าเป็นพิษ หรือเป็นอันตรายใดๆ กับพืช

ธาตุอาหารพืชประกอบ (micro nutrients หรือ trac elements)

โบรอน (boron-B)

ประวัติการค้นพบโบรอนที่เกี่ยวข้องกับพืชได้เริ่มขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1857 โดยมีผู้พบโบรอนรวมอยู่ในเนื้อเยื่อของพืช และเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปเมื่อปีค.ศ.1859ส่วนเรื่องพิษของโบรอนที่มีต่อพืซนั้นได้มีการศึกษาและทดสอบเมื่อปี ค.ศ. 1876 ผู้แนะนำให้ใช้โบรอนผสมกับปุ๋ยอย่างอื่น เพื่อใช้พืชได้ใช้คนแรกเป็นชาวฝรั่งเศส ชื่อ Bertrand เมื่อปีค.ศ. 1903ต่อมาในปีค.ศ. 1910 Agluhon ได้พิสูจน์ว่าโบรอนเป็นธาตุที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช และพืชแต่ละชนิดต่างมีความต้องการธาตุนี้ในปริมาณที่เหมาะที่สุด (optimum requirement) ต่างๆ กัน ในปี 1913 ก็มีผู้พบว่าโบรอนเป็นธาตุสำคัญที่ช่วยเพิ่มความเจริญเติบโตให้กับพืชพวกถั่วกินฝักต่างๆ เช่น ถั่วแขก ถั่วลันเตา ถั่วฝักยาว และในข้าวโพดเมื่อปี 1915 หลังจากนั้นก็มีรายงานเกี่ยวกับโรคที่เกิดจากการขาดธาตุโบรอนกับพืชผักต่างๆ อีกหลายชนิดและมีชื่อเรียกโรคนี้ต่างๆ กันออกไป ตามชนิดของพืชและอาการที่เกิดขึ้นซึ่งไม่เหมือนกัน เช่น โรคดอกสีนํ้าตาล (brown heart) ของกะหล่ำดอก โรคแกนลำต้นเน่าหรือหัวด่างลายของรูทาบาก้า (water core หรือ mottled heart of rutabaga) โรคเนื้อในเน่าดำหรือแผลสะเก็ดรอบหัว (internal black spot หรือ girdle) ของบีท ก้านใบแตกของคึ่นฉ่าย (crack stem of celery) โรคไส้ของกะหล่ำ (hollow stem of cabbage) โรคไส้แกนของเเอปเปิล (internal cork of apple) และโรคใบเหลืองของอัลฟัลฟา (boron yellow of alfalfa) เป็นต้น

ธาตุโบรอนนี้แม้จะจัดเป็นธาตุอาหารรองที่พืชต้องการใน ปริมาณน้อยมาก แต่ก็จำเป็นสำหรับพืชผักทุกชนิดในการเจริญเติบโตที่จะขาดไม่ได้ ส่วนปริมาณความต้องการโบรอนในพืชแต่ละอย่างก็แตกต่างกันออกไป บางชนิดก็มีความไวต่อธาตุนี้มาก จนกระทั่งไม่สามารถแยกปริมาณที่มากจนเป็นอันตราย (excess) ออกจากปริมาณพอดีที่ต้องการได้ อย่างไรก็ตามได้มีผู้แยกผักออกเป็นพวกๆ ตามปริมาณในความต้องการธาตุโบรอน เป็น 4 พวกด้วยกันจากสูงลงมาหาต่ำดังนี้ พวกที่ทนต่อโบรอนได้ในปริมาณที่มาก (very tolerant) ทนปกติ (tolerant) พวกที่มีความไวต่อโบรอน (sensitive) และพวกที่ไวมาก (very sensitive)

พวกที่ทนต่อโบรอนมาก (very tolerant) พวกนี้จัดเป็นพืชผักที่มีความต้องการโบรอนค่อนข้างมาก มีความคงทนต่อบอแรกซ์ (borax) สูงถึง 9 กก. ต่อไร่ โดยไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆ เกิดขึ้น ตัวอย่างผักในกลุ่มนี้ ได้แก่ บีท กระหล่ำดอก เทอร์นิบ และรูทาบาก้า

พวกที่ทนต่อโบรอนในปริมาณปกติ (tolerant) พวกนี้ต้องการโบรอนในปริมาณธรรมดาหรือปานกลางรองลงมาจากพวกแรก โดยสามารถทนต่อการเติมบอแรกซ์ลงในดินปลูกได้ถึง 5.5 กก. ต่อไร่ โดยไม่เป็นอันตราย ได้แก่ หน่อไม้ฝรั่ง บร็อคโคลี่ กะหล่ำปลี แครอท ผักกาดขาว มะเขือยาว กะหล่ำปม ผักกาด หอมหัว หอมใหญ่ พริก ผักกาดหัว และมันเทศ

พวกที่มีความไวต่อโบรอน (sensitive) จัดเป็นพวกที่ต้องการโบรอนในการเจริญเติบโตน้อยมีความต้องการโบรอน อันดับสาม พวกนี้สามารถทนต่อปริมาณบอแรกซ์ที่จะใส่ลงในดินได้อย่างสูงไม่เกิน 3.6 กก. ต่อไร่ ได้แก่ คึ่นฉ่าย แตงไทยหรือแตง muskmelon แตงสควอทซ์ (squash) แตงโม ถั่วแขก ถั่วลันเตา มันฝรั่ง และมะเขือเทศ

พวกที่ไวต่อธาตุโบรอนมากที่สุด (very sensitive) ได้แก่ ผักที่ต้องการโบรอนในการเจริญเติบโตในปริมาณที่น้อยที่สุด เมื่อเทียบกับสามพวกแรก คือ จะทนต่อบอแรกซ์ในดินได้ไม่เกิน 900 กรัม (0.9 กก.) ต่อไร่ ได้แก่ พวกถั่ว (bean)ชนิดต่างๆ เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วดำ ถั่วฝักยาว ถั่วผี แตงต่างๆ เช่น แตงร้าน แตงกวา และสตอเบอร่รี่ เป็นต้น

หน้าที่หรือความจำเป็นของโบรอนในพืช ธาตุโบรอนมี

หน้าที่ในการควบคุมการสร้าง การเคลื่อนย้ายคาร์โบไฮเดรท และการแบ่งเซลล์ เมื่อขาดโบรอนก็จะเกิดการขาดคาร์โบไฮเดรทขึ้นในพืช การสร้างผนังเซลล์ก็จะไม่เป็นไปตามปกติ พวก meristemetic cell ก็จะไม่เจริญเติบโตต่อไป ไม่สามารถเกิดเป็นต้น กิ่ง ใบ และรากได้ พวก conducting tissue ต่างๆ จะไม่เชื่อมต่อกัน ทำให้หน้าที่ในการลำเลียงนํ้า อาหารไม่เป็นไปตามปกติ collenchyma หรือ supporting cells ซึ่งปกติเป็นเซลล์ที่มีผนังหนาก็จะบางลง มีผลทำให้ส่วนต่างๆ ผิดรูปร่างไป นอกจากนี้โบรอนยังมีความเกี่ยวพันกับธาตุอาหารอย่างอื่นด้วย เช่น เมื่อขาดโบรอน จะทำให้พืชดูดซึมธาตุ โปแตสเซียมขึ้นมาจากดินมากเกินความต้องการจนอาจก่อให้เกิดอันตรายหรือถึงขั้นเป็นพิษกับต้นพืชได้ เป็นตัวช่วยเร่ง (catalyst) ในปฏิกิริยาการสลายตัวของแคลเซียมให้เกิดต่อเนื่องกันไปได้เรื่อยๆ หรือหากพืชได้รับธาตุแคลเซียมน้อยไม่สมดุลกับโบรอนก็จะทำให้พืชแสดงอาการโบรอนเป็นพิษขึ้น นอกจากนี้โบรอนยังช่วยลดพิษอันเกิดจากการมีธาตุเหล็กมากเกินไปอีกด้วย

สำหรับพิษของโบรอนหรือการที่พืชได้รับธาตุโบรอนมาก เกินไป อาการขั้นแรกที่จะเห็นได้คือ เนื้อใบระหว่างเส้น vein จะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ลักษณะคล้ายๆ การขาดธาตุแมกนีเซียม ต่อมาขอบใบจะแห้ง ระบบรากเสียหาย ต้นพืชไม่เจริญเติบโต เท่าที่ควร คล้ายกับได้รับอาหารไม่พอ ถ้า excess มากๆ อาจทำให้พืชทั้งต้นตายได้

ลักษณะอาการที่พืชขาดธาตุโบรอนอาการโดยทั่วๆ ไปคือ ชะงักหรือหยุดการเจริญเติบโต (stunt) ที่ส่วนปลายหรือขอบใบโดยเฉพาะใบอ่อนจะไหม้แห้ง ใบแก่จะบิดเบี้ยวหรือผิดรูปที่ขอบหรือส่วนล่างของผิวใบจะเปลี่ยนเป็นสีแดง ลำต้นส่วนที่เป็นไส้กลาง (pith) หรือส่วนของเนื้อเยื่อที่อวบอ่อน (fleshy tissue) จะช้ำหรือเกิดเป็นแผลแยกแตกออก สำหรับพวกผักที่ให้หัว ช่น บีท แครอท มันฝรั่ง หรือเป็นผล เช่น แตง squash สีของเนื้อภายในจะซีดจางหรือหายไป (discoloration) เนื้อแห้งหยาบและแข็ง (corky) ส่วนของเซลล์ที่ทำหน้าที่ส่งลำเลียงนํ้าหรืออาหาร (conducting tissue) จะค่อยๆ ถูกทำลายไปทีละน้อย นอกจากนั้นพืชผักที่ปลูกเพื่อเอาเมล็ดหรือทำพันธุ์ ถ้าขาดจะให้เมล็ดน้อยลงหรือไม่มีเมล็ดเลย เหล่านี้เป็นลักษณะอาการโดยทั่วๆ ไปที่อาจจะเห็นได้ นอกจากนี้พืชแต่ละชนิดอาจจะมีอาการเฉพาะของมัน ปลีกย่อยแตกต่างกันออกไปอีก ดังตัวอย่างเช่น

พวกกะหล่ำ (cabbages) อาการขาดโบรอนจะเห็นได้ที่ส่วนแกนหรือไส้ของลำต้นโดยจะเกิดอาการแยกแตกออก หรือเน่ากลวงระบบรากจะไม่สมบูรณ์ บางครั้งจะเน่าเสียไปด้วย ในบรรดาผักกะหล่ำต่างๆ กะหล่ำดอกจะแสดงอาการชัดเจนรุนแรงและเสียหายมากกว่าอย่างอื่น คือนอกจากจะเกิดรอยแยกภายในลำต้นหรือไส้กลวงแล้ว ส่วนของดอกซึ่งปกติจะมีสีขาวนวลหรือครีม จะเกิดเป็นจุดแผลสีน้ำตาลซึ่งจะค่อยขยายลุกลามโตขึ้นจนอาจคลุมเต็มส่วนที่เป็นดอกทั้งหมด ในกรณีของดอกที่โตเต็มที่แล้วรูปฟอร์มของดอกจะไม่เสียไปแต่อย่างไร เพียงจะทำให้ไม่น่าดู ไม่น่ารับทานเท่านั้น แต่ถ้าดอกนั้นยังเล็กอยู่และเกิดขาดโบรอนขึ้น ดอกจะแตกออกเป็นแขนงเล็กๆ ไม่รวมหรือห่อเป็นช่อ ที่ดอกจะมีแผลสีนํ้าตาลเช่นกัน ปลายใบอ่อนที่อยู่ด้านในๆ ของลำต้นจะไหม้เปลี่ยนเป็นสีน้พตาล ดอกที่เกิดแผลสีนํ้าตาลเมื่อนำมารับประทานจะมีรสขม ส่วนของต้นกะหล่ำดอกถ้าโตเต็มที่แล้วจะไม่แสดงอาการผิดปกติแต่อย่างไร นอกจากในระยะที่เป็นต้นอ่อน หรือยังเล็กอยู่ อาจแสดงอาการชะงักการเจริญเติบโต หรือ Stunt ขึ้นได้

คึ่นฉ่าย โดยเฉพาะคึ่นฉ่ายเทศ (celery) อาการขาดโบรอนบนผักชนิดนี้เป็นอาการที่แตกต่างจากโรคอื่นและเห็นได้ชัดเจนที่สุด คือจะเกิดแผลแตกหรือแยกออกตามขวางขึ้น ที่ก้านใบ (petiole) โดยเมื่อเริ่มเกิดรอยแยกขึ้นใหม่ๆ เพียง 2-3 แห่งนั้น ส่วนของเปลือกหรือ epidermis จะม้วนขึ้น กลับไปด้านหลัง ทำให้ก้านใบแลดูมีลักษณะเป็นขุยหรือแผลสะเก็ดเล็กๆ ขึ้น แต่เมื่อเป็นมากขึ้นขุยเหล่านั้นจะหายไป แต่จะเกิดเป็นแผลสีนํ้าตาลขึ้นแทน หากการขาดยังมีอยู่ต่อไป รากจะเปลี่ยนเป็นสีนํ้าตาลหรือไม่ก็เกิดเป็นแผลสีส้มเปลือกล่อนลอกฉีกขาดออกได้โดยง่าย ปลายรากกุด ขอบใบไหม้ ก้านแข็ง เปราะหักง่าย เมื่อนำมารับทานจะมีรสขมเช่นกัน

แครอท (carrot) เมื่อขาดโบรอนใบอ่อนจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองพร้อมทั้งบิดเบี้ยวเสียรูปทรงส่วนใบแก่ที่อยู่ด้านนอกๆ ของต้นจะแผ่ชี้ออกด้านข้างโดยรอบ ต้นจะเหี่ยวง่าย หัวจะมีขนาดเล็กกว่าปกติ เนื้อแข็งเป็นเสี้ยน ปลายหดสั้นทู่ บางครั้ง จะพบว่ามีอาการไส้กลวงเกิดขึ้น

แตง squash ฟักทอง อาการขาดโบรอนในพืชพวกนี้ คือ หยุดการเจริญเติบโต (stunt) แคระแกร็นเถาหดสั้น กิ่งก้าน ใบแข็งเปราะ หักง่าย ใบเหลืองห่อ หรุบลงด้านล่าง เป็นรูปถ้วยคว่ำ ก้านใบหนา และม้วนปลายเถา หรือใบอ่อนตรงปลายเถาจะแห้ง

บีท (beet) เมื่อขาดโบรอนเนื้อในหัวจะอ่อนช้ำ สีของเนื้อเปลี่ยนเป็นสีดำ ในกรณีที่ขาดรุนแรงที่ผิวนอกของหัวจะเกิดแผลแตกโดยรอบตอนกลางๆ ของหัว ตรงระดับดิน ระบบรากจะเสียปลายรากกุด สำหรับใบบีทเมื่อขาดโบรอน ปกติจะไม่แสดงอาการใดๆ ให้เห็น นอกจากบางครั้งอาจเปลี่ยนเป็นสีแดง และถ้าขาดมากๆ อาจบิดเบี้ยวและม้วนงอ

มันฝรั่ง อาการขาดโบรอนจะปรากฏให้เห็นที่ใบ คือ ใบ

ม้วนหงิก คล้ายอาการ leaf roll ที่เกิดจากเชื้อไวรัส

สิ่งแวดล้อมที่ช่วยส่งเสริมความรุนแรงจากการขาดธาตุโบรอน

อาการขาดธาตุโบรอน จะเกิดขึ้นรุนแรงและเห็นได้ชัดในฤดูหรือช่วงที่อากาศแห้งแล้ง ในดินปลูกที่มีฤทธิ์เป็นด่าง นอกจากนั้นพืชที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว หรือเร็วเกินไปจากการเร่งปุ๋ยพวกไนโตรเจนและโปแตสเซียม ความเสียหายจะมีมากกว่าพืชที่เจริญเติบโตเป็นปกติหรือโตช้า

ดินที่ขาดธาตุโบรอน ดินทรายตามชายฝั่งทะเลจะพบว่ามีโบรอนน้อยที่สุด อย่างไรก็ดี การขาดโบรอนจนเป็นอันตรายต่อพืชจะพบได้ในดินเกือบทุกชนิด

การป้องกันการขาดโบรอน

การแก้การขาดโบรอน ทำได้ 2 วิธี คือ เติมโบรอน ลงในดินในรูปของปุ๋ยให้พืชได้ใช้ทางราก และนำมาละลายน้ำฉีดพ่นให้กับพืชให้ได้รับโดยตรงทางใบ

โบรอนที่ถูกที่สุดอยู่ในรูปของบอแรกซ์ (borax) ซึ่งจะมีโบรอนเป็นส่วนประกอบอยู่ราว 12% นอกจากนั้น กรดบอริค(boric acid) ก็เป็นสารที่ให้ธาตุโบรอนอีกชนิดหนึ่งที่นำมาใช้ได้แม้ว่าราคาจะสูงกว่าบอแรกซ์ แต่ก็จะมีโบรอนรวมอยู่สูงถึง 27.5% วิธีให้โบรอนกับพืชในรูปของปุ๋ยอาจทำให้โดยผสมบอแรกซ์ หรือกรดบอริคดังกล่าวกับปุ๋ยชนิดอื่นๆ ใส่ลงในดินแล้วไถพรวนไปพร้อมกัน หากจะใช้โดยวิธีฉีดพ่นให้กับพืชโดยตรงก็นำเอาสารประกอบโบรอนดังกล่าวมาละลายนํ้าตามจำนวนที่ต้องการแล้วใช้เครื่องฉีดพ่นลงบนต้นพืช ถ้าจะให้นํ้ายาจับเกาะติดต้นและใบพืชดียิ่งขึ้นก็ให้ผสมสารเคลือบใบพวก sticker, spreader หรือนํ้าสบู่อ่อนๆ ลงไปด้วย นอกจากนี้ทั้งบอแรกซ์และกรดบอริคอาจใช้ร่วมกับยาฆ่าเชื้อ Bordeaux mixture ได้ โดยนำมาผสมเข้าด้วยกัน แล้วฉีดให้กับพืชพร้อมกัน เป็นการประหยัดทั้งแรงงานและเวลาที่โดยไม่เกิดความเสียหายใดๆ ในบางท้องที่ที่กันดารน้ำ การพ่นบอแรกซ์แห้งในลักษณะของฝุ่นหรือผง (dusting) ให้กับพืชโดยตรงก็อาจทำได้ โดยนำเอาบอแรกซ์มาผสมกับแป้งหรือฝุ่นผงพวก non – chemical ingredient ในอัตราส่วน 1:1 อย่างไรก็ดี การให้โบรอนในรูปฝุ่นผงนี้ ควรทำในขณะที่พืชยังเปียกอยู่ เช่น หลังฝนตกใหม่ๆ หรือในตอนเช้าในขณะที่น้ำค้างหรือหมอกยังไม่แห้งจากต้น และมีลมสงบ

การให้โบรอนโดยตรงกับพืชไม่ว่าจะโดยการผสมน้ำฉีดพ่นหรือในลักษณะฝุ่นผงจัดว่าให้ผลดีและพืชนำไปใช้ได้เร็วกว่าใส่ลงในดินในรูปของปุ๋ย โดยเฉพาะหลังจากปลูกพืชลงในดินและต้นพืชงอกแล้ว เพราะกว่าโบรอนจะสลายตัวละลายนํ้าให้อยู่ในรูปที่พืชจะเอาไปใช้ได้ ก็มักจะแก่หรือตายเสียก่อนโดยโดยเฉพาะ พืชผักซึ่งมีอายุการเจริญเติบโตสั้น

สำหรับปริมาณของโบรอน จะใช้มากน้อยเท่าใดนั้นนอกจากจะพิจารณาตามชนิดของพืชซึ่งมีความต้องการโบรอน ไม่เท่ากันแล้ว ความเป็นกรดเป็นด่างของดินปลูกก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่จะต้องนำมาพิจารณาประกอบกันด้วยโดยเฉพาะดินที่มีฤทธิ์เป็นด่าง ตัวอย่างเช่น ในดินธรรมดามี pH กลางๆ สำหรับผักบางชนิดให้เพียง 2 กก. (บอแรกซ์) ต่อไร่ ก็เป็นการเพียงพอที่จะทำให้ผักนั้นเจริญงอกงามเป็นปกติ ขณะเดียวกันถ้าดินนั้นเป็นด่างจัด (pH 8-9 ขึ้นไป) อาจต้องให้บอแรกซ์สูงถึง 15 กก. ต่อไร่ จึงพอที่จะทำให้ผักชนิดเดียวกันนั้นเจริญได้เท่ากัน

ทองแดง (copper – Cu)

หน้าที่ของทองแดงในพืชนับว่าสำคัญมากเพราะพบว่ามีส่วนร่วมอยู่ในกระบวนการเกือบทุกชนิดในการดำรงชีวิตของพืช เช่น ช่วยในการเจริญเติบโตเนื่องจากทองแดงเป็นส่วนประกอบของโปรตีน มีส่วนร่วมในการสร้างคลอโรฟิลล์ มีหน้าที่เกี่ยวกับระบบหายใจ (respiration)การระเหยน้ำ (transpiration) และ oxidation process ช่วยในการสืบพันธุ์ ขยายพันธุ์ มีส่วนร่วมในการผลิตเอนไซม์บางชนิด นอกจากนั้นยังพบว่าทองแดงเป็นตัวช่วยทำให้ธาตุอื่นบางชนิดเป็นประโยชน์ (available) หรือไม่เป็นประโยชน์ (non-available) ต่อพืชอีกด้วย

อาการที่พืชแสดงออกเมื่อขาดธาตุทองแดง

เริ่มแรกใบจะมีสีเข้มขึ้นก่อนหรือไม่ก็เกิดเป็นสีน้ำเงินเป็นจํ้าๆ ต่อมาขอบใบจะม้วนขึ้นบนส่วนที่มีสีเขียวจะค่อยๆ ซีดจางลงจากปลายใบเข้ามาเหลือไว้ เฉพาะตามแนวเส้น vein ใหญ่เท่านั้นที่จะยังเขียวอยู่ อาการส่วนใหญ่จะเริ่มจากใบแก่ที่อยู่ส่วนล่างๆ ของต้นก่อนแล้วจึงเคลื่อนขึ้นไปสู่ยอด ใบที่แสดงอาการดังกล่าวในที่สุดจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแล้ว แห้งตายขณะที่ใบแสดงอาการต้นพืชก็จะหยุดการเจริญเติบโต แกร็น บางครั้งอาจมีอาการเหี่ยวเฉา หรือไม่ก็เจริญเติบโตในทางตั้ง คือ สูงขึ้นอย่างเดียวแต่ก็ช้ามาก ถ้าถอนต้นพืชจากดินก็จะพบว่าระบบรากงันรากน้อยและสั้นไม่แผ่กระจายเหมือนปกติ เปราะขาดหักง่าย ทำหน้าที่ดูดน้ำ อาหารไปเลี้ยงต้นได้ไม่เต็มที่ นอกจากนั้นพืชที่ขาดธาตุทองแดงจะออกดอกล่าให้ดอกน้อยหรือไม่มีดอกเลย หรือไม่ก็เป็นดอกที่ไม่สมบูรณ์ไม่มีเกสรตัวผู้(anther) ทำให้ไม่สามารถผสมเกิดเป็นลูกเป็นผลขึ้นได้ ในพืชบางชนิด การขาดธาตุทองแดงอาจทำให้เกิดอาการหดย่น บิดเบี้ยว เสียลักษณะกับส่วนต่างๆ เช่น ต้น ใบ กิ่งก้านได้

พืชผักที่พบว่ามักจะขาดธาตุทองแดงเสมอได้ บีท แครอท

คึ่นฉ่าย กะหล่ำ มะเขือ ผักกาดหอมห่อ ถั่วชนิดเมล็ดกลม (peas) ต่างๆ หอม พริก มันฝรั่ง มะเขือเทศ ข้าวโพดหวาน เป็นต้น

ความต้องการทองแดงในปริมาณที่เหมาะสม (optimum requirement) ของพืชผักแต่ละชนิดก็แตกต่าง เช่น พวกพริก มะเขือ มะเขือเทศ มีความต้องการอยู่ระหว่าง 0.01 – 0.5 ppm. ส่วนพวกถั่ว (peas) ชนิดต่างๆ มีความต้องการอยู่ในระดับแตกต่างกันตั้งแต่ 0.006 – 1.0 ppm.

ดินที่ขาดทองแดงมักจะเป็นดินที่มีหินถ่าน (peat soil) ปนอยู่ดินทรายและดินปนหิน ดินที่มีหินถ่านปนพวกนี้แม้จะมีธาตุทองแดงปนอยู่บ้างแต่ขณะเดียวกันก็จะมีสารอื่นปนอยู่ด้วยอีกหลายชนิด เช่น tanin lignin และ humic acid ซึ่งสารพวกนี้จะไปรวมกับทองแดง เกิดเป็นสารประกอบที่พืชไม่สามารถนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ได้

การแก้การขาดธาตุทองแดง

ในดินที่ขาดทองแดงหรือมีทองแดงแล้วแต่พืชไม่สามารถนำไปใช้ได้ก็ให้แก่โดยวิธีใส่จุนสี(CuSO) ลงในดินนั้น หรือจะนำมาละลายนํ้าแล้วฉีดพ่น (spray) ให้กับพืชโดยตรงก็ได้ มีผู้พบว่าผักกาดหอมห่อ (lettuce) และหอมใหญ่ที่ฉีดด้วยยา Bordeaux mixture นอกจากจะปลอดจากโรคราบางชนิดแล้ว ธาตุทองแดงที่ผสมอยู่ในยาดังกล่าวยังช่วยให้พืชได้รับธาตุนี้เพิ่ม ทำให้ผลผลิตดีขึ้นด้วย สำหรับปริมาณจุนสีที่จะใส่ลงในดินจะมากน้อยเท่าใดนั้น นอกจากจะขึ้นอยู่กับพืชที่ปลูกแล้วยังขึ้นอยู่กับชนิดของดินด้วย เช่น ในดินถ่าน ก็ใช้ราว 20-40 กก.ต่อไร่ ส่วนดินธรรมดาเพียง 0.5-2 กก. ต่อไร่ ก็เพียงพอต่อความต้องการของพืช

เหล็ก (iron – Fe)

แม้ว่าเหล็กจะไม่ได้เป็นส่วนประกอบโดยตรงของคลอโรฟิลล์ แต่ก็มีหน้าที่และความจำเป็นอย่างมากต่อการสร้างเม็ดสีเขียว (green pigment) ในพืช ช่วยให้พืชดูดซึมธาตุไนโตรเจนได้เป็นปกติ เมื่อเกิดการขาดธาตุเหล็กจะทำให้เกิดมีมากเกินไปของไนโตรเจนและสาร asparagine ขึ้นโดยเฉพาะในบีท มะเขือเทศและหัวมันฝรั่ง ซึ่งมีผลเสียคือทำให้การเข้าทำลายของโรคบางชนิดเป็นไปได้ง่ายและเร็วขึ้น นอกจากนั้นยังพบว่าเหล็กมีความสัมพันธ์กับธาตุอื่นๆ อีกด้วย เช่น ข้าวโพด จะมีการสะสมธาตุเหล็กไว้เป็นจำนวนมากตามข้อ (nodes) ถ้าได้,รับธาตุโปแตสเซียมไม่เพียงพอ

อาการที่พืชขาดธาตุเหล็ก

เมื่อเกิดการขาดธาตุเหล็กพืชจะแสดงอาการซีดจาง (chlorosis) โดยอาการจะเริ่มจากขอบใบเข้ามาต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรืออาจขาวในที่สุดใบที่อยู่บริเวณยอดของต้นหรือปลายกิ่งจะมีขนาดเล็กลง ในกรณีที่ขาดมาก นอกจากอาการที่ใบแล้ว กิ่งหรือแขนงที่อยู่ตอนปลายๆ หรือยอดก็จะแห้งตายไปด้วย นอกจากนี้จะพบว่าปล้องระหว่างข้อ (intemodes) ของต้นจะหดสั้น ในมะเขือเทศ ถ้าขาดผลเมื่อสุกจะมีสีซีดไม่แดงเหมือนปกติหรือไม่ก็ขาว สำหรับผักโดยทั่วๆ ไป ถ้าขาดธาตุเหล็กนอกจะเหลืองซีดแล้ว อาจแสดงอาการแคระแกรนด้วย

ดินที่ขาดธาตุเหล็ก ปกติแล้วในดินทั่วๆ ไปจะมีธาตุเหล็ก เพียงพอ การขาดธาตุเหล็กมักจะเกิดในดินที่เป็นด่างจัดหรือมีปูนมาก ในดินดังกล่าวเหล็กไม่สลายตัวพืชนำไปใช้ไม่ได้ นอกจากนี้ในดินที่มีการสะสมพวกโลหะหนัก (heavy metals) บางชนิด เช่น ทองแดง แมงกานีส สังกะสี นิเกิล และโคบอลท์ในดินนี้แม้จะมีธาตุเหล็กอยู่มากพืชก็จะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ไม่ได้

ในกรณีที่ดินมีเหล็กมากเกินไป ก็จะเป็นอันตรายกับพืช เช่นกัน โดยเฉพาะมะเขือเทศ พริกและพวกแตงต่างๆ อาการที่พืชเหล่านี้แสดงออกเมื่อได้รับเหล็กมากเกินไป คือ ใบด่างลาย คล้ายกับอาการ mosaic หยุดการเจริญเติบโต ม้วนลงด้านล่าง ในที่สุดจะซีดเหลืองทั้งใบ โดยเส้น vein จะ มีสีเขียวเข้ม หากเกิดขึ้นในระยะกล้าหรือต้นอ่อนอาจรุนแรงถึงตายได้ ดินที่มักจะพบว่ามีธาตุเหล็กมากเกินไปจนถึงกับก่อให้เกิดอันตรายกับพืช ได้แก่ ดินทราย ดินลูกรังที่มีสีแดงหรือสีน้ำตาลเข้ม เป็นต้น

การแก้การขาดธาตุเหล็ก

ทำได้โดยการนำเอาสารประกอบเหล็ก เช่น เฟอรัส ซัลเฟต (ferrous sulfate) เพ่อริคซัลเพ่ต (ferric sulfate) หรือเฟอริคซิเตรต (ferric citrate) มาละลายนํ้าในอัตราส่วน 1 กก. ต่อนํ้า 8 ปี๊บ (160 ลิตร) แล้วฉีดพ่นให้กับพืชโดยตรง หรือจะรดลงในดินรอบๆ ต้นพืช เพื่อให้พืชนำขึ้นมาใช้โดยผ่านทางรากก็ได้ อย่างไรก็ดี การฉีดให้กับพืชโดยตรง จะทำให้พืชนำมาใช้ได้ผลเร็วกว่าให้โดยผ่านทางดิน และยังไม่ต้องคำนึงถึง pH และบรรดาโลหะหนักอื่นๆ อันจะทำให้เหล็กไม่เป็นประโยชน์ต่อพืชดังกล่าวแล้ว การฉีดควรทำ 3-4 ครั้งในระยะที่พืชกำลังเจริญเติบโต

นอกจากสารประกอบดังกล่าวแล้ว ปัจจุบันมีสารประกอบ อินทรีย์พวกคีเลท (chelating agent = ethylene diamine tetraacetic acid ; EDTA) ซึ่งสารนี้เมื่อใส่ลงในดินแม้เพียงจำนวนเล็กน้อย ก็จะช่วยทำให้เหล็กในรูปที่ไม่ละลายน้ำ หรือที่พืซไม่สามารถนำไปใช้ได้กลับให้เป็นประโยชน์ต่อพืชเช่น ถ้าใส่

คีเลทลงในดินเพียง 10 กรัม จะมืผลเท่ากับใช้เฟอรัสซัลเฟต (Fe2SO4) ถึง 2,500 กรัม ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้นิยมใช้กันมาก เพราะนอกจากจะสะดวกแล้ว ยังถูกกว่าอีกด้วย ในปัจจุบันมีจำหน่ายในรูปของ Fe-EDTA

การแก้การมีธาตุเหล็กมากเกินไป ก็ทำได้โดยการเติมปูนขาวลงในดิน เพื่อเปลี่ยนสภาพของดินให้ค่อนไปทางด่างเล็กน้อยระหว่าง pH 6.5-7 เหล็กที่มีอยู่ก็จะถูกพืชนำไปใช้ได้น้อยลง

แมงกานีส (manganese – Mn)

ธาตุแมงกานีสมีส่วนร่วมในกระบวนการที่มีชีวิตหลายอย่างในพืช ช่วยในการสร้างคลอโรฟิลล์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของเอนไซม์ออกซีเดส (enzyme oxidase) ช่วยในการดูดซึมคาร์บอนในกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืชช่วยในการผลิตวิตามินต่างๆ และช่วยควบคุมปริมาณของสารอื่น ใน plant sap

อาการที่พืชแสดงออกเมื่อขาดธาตุแมงกานีส

เนื่องจากแมงกานีสไม่สามารถเคลื่อนย้ายถ่ายเทได้ในพืช อาการจึงเริ่มจากยอดหรือส่วนบนลงมาหาโคนต้นปกติแล้วอาการจะเริ่มแสดงให้เห็นหลังจากที่พืชโตขึ้นมาประมาณครึ่งหนึ่งของการเจริญเติบโต คือ ราว 4-6 สัปดาห์หลังจากปลูก โดยเนื้อใบจะมีสีซีดจางลง แล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นเหลืองหรือน้ำตาล ส่วนเส้นใยจะคงเขียวอย่างเดิม บางครั้งจะมีอาการขอบใบม้วนให้เห็นด้วย นอกจากใบเปลี่ยนสีแล้วอาจมีอาการจุดสีเทาจุดเหลืองหรืออาการด่างลายขึ้น ในพืชพวกถั่วซึ่งจัดว่าไวต่อธาตุแมงกานีสมาก ถ้าขาดจะมีอาการจุดแผลสีดำขึ้นภายในใจกลางเมล็ดหรือที่ใบเลี้ยงที่เรียกว่า marsh spot มีผลทำให้เมล็ดเสื่อมคุณภาพ และ

ความงอกเสียไป

ในพืชผักทั่วๆ ไปอาการขาดแมงกานีสที่จะสังเกตเห็นได้ คือ ใบเหลืองทั้งใบแล้วร่วงหลุดจากต้น หรือไม่ก็เกิดอาการแห้งลงมาจากส่วนปลาย (die-back) ของแขนงหรือยอดที่แตกออกมาใหม่ต้นพืชแคระแกร็นชะงักการเจริญเติบโต

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่พืซได้รับแมงกานีสมากเกินไป ก็จะเกิดอาการในลักษณะเช่นเดียวกันนี้

ผักที่ต้องการแมงกานีสมากได้แก่ ถั่วต่างๆ บีท กะหล่ำ แครอท คึ่นฉ่าย แตงกวา ผักกาดหอม หอม มันฝรั่ง หัวผักกาดเเดง (radish) และมะเขือเทศ

ปกติแล้วปริมาณความต้องการธาตุแมงกานีสในพืชแต่ละชนิดมีไม่มากนักเพราะจัดอยู่ในพวกธาตุอาหารประกอบ ปลูกที่ดินธรรมดาโดยทั่วๆ ไปจึงมักไม่ใคร่แสดงอาการขาด นอกจากดินที่เป็นด่างที่มี pH สูงเกินกว่า 6.5 ขึ้นไป ดินเหนียวที่มีสารพวกปูนรวมอยู่มาก (marl soil) หรือดินที่มีอินทรีย์วัตถุสูง ในดินพวกนี้แม้จะมีธาตุแมงกานีสอยู่มาก จะอยู่ในรูปที่ไม่ละลายนํ้า พืชใช้ไม่ได้ อย่างไรก็ดี จากการศึกษาปริมาณความต้องการธาตุแมงกานีสในการเจริญเติบโตในผักชนิดต่างๆ พบว่า ถ้าพืชได้รับธาตุนี้เพียง 1 ใน 5,000,000 ส่วน (0.2 ppm.) ก็จะเพียงพอต่อการเจริญเติบโตปกติ และถ้าได้รับสูงขึ้นมาถึง 20 ppm. จะมากเกินไป ก่อให้เกิดอาการมีมากเกินไปขึ้น จากการวิเคราะห์ส่วน ประกอบของแมงกานีสที่มีอยู่ในเนื้อพืชผักบางชนิด พบว่ากะหล่ำต่างๆ มีแมงกานีสเป็นส่วนประกอบอยู่ 10.6 ppm. ถั่ว peas 15.7 ppm. ถั่ว beans 39.7 ppm. มะเขือเทศ 15.2 ppm. และบีท (ส่วนของใบ) 32-60 ppm.

การแก้การขาดธาตุแมงกานีส

ดังได้กล่าวแล้วว่าแมงกานีสจะขาดหรือพืชนำไปใช้ ไม่ได้ในดินที่เป็นด่าง ดังนั้นการเปลี่ยนสภาพดินให้เป็นกลาง ค่อนไปทางกรดเล็กน้อย โดยการเติมสารหรือปุ๋ยที่ทำให้เกิดกรด (acid producing compounds) เช่น แอมโมเนียมซัลเฟต [(NH4 )2SO4] หรือแมงกานีสซัลเฟต (MnSO4)ในปริมาณ 5-10 กก. ต่อไร่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเป็นด่างของดินว่าจะอ่อนหรือจัดเพียงไรโดยปกติแล้วประมาณ 10-40 กก.ต่อไร่ ก็นับว่าเพียงพอ และปลอดภัยต่อการมีมากเกินไป

สำหรับ MnSO4 นั้นนอกจากจะใช้เติมลงในดินแล้ว อาจนำมาละลายน้ำในอัตราส่วน 100 กรัมต่อน้ำ 1 ปี๊บ (20 ลิตร) ฉีดพ่นให้กับผักที่แสดงอาการขาดโดยตรงทุกๆ 10 วัน ช่วยแก้การขาดได้ สำหรับในดินที่เคยขาดเป็นประจำควรทำการฉีดให้ก่อนที่พืชจะแสดงอาการ และควรทำการฉีดติดต่อกันหลายๆ ครั้ง

โมลิบดีนัม (molybdenum – Mo)

หน้าที่ของโมลิบดีนัมในพืช คือ มีส่วนร่วม อยู่ในเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ลดไนเตรท (NO ) ที่มีอยู่ในดินในรูปของไนไตรท์ (Nop เพื่อให้พืชนำไปใช้ได้

อาการขาดธาตุโมลิบดินัมในผักแต่ละชนิดจะไม่เหมือนกัน เช่นกะหล่ำดอกถ้าขาดจะเกิดอาการใบหนาบวมสีเขียวแกมเทา ขอบใบม้วนขึ้นบน ทำให้บางครั้งใบมีลักษณะห่อเป็นกรวย ในกรณีที่ขาดมากใบจะมีแต่แกนไม่มีเนื้อใบ หรือมีก็เพียงเล็กน้อย ส่วนเจริญที่ยอดหรือปลาย ต้น กิ่ง จะถูกทำลาย ทำให้ไม่มีการสร้างดอก ผล ต้นผักจะชะงักการเจริญเติบโต แต่ไม่ถึงตายนอกจากในระยะกล้าซึ่งอาการจะรุนแรงกว่าต้นพืชที่โตแล้ว

สำหรับผักที่มีใบบางกว่ากะหล่ำ เช่น ผักกาดหอม ยอดจะแห้งตาย แคระแกรน ขอบใบม้วนพร้อมๆ กับสีซีดจางลง หรือเหลือง คล้ายอาการขาดไนโตรเจน เมื่อการขาดมีขึ้นใบ จะค่อยๆ แห้งและบางลงคล้ายกระดาษ ในบีทเมื่อขาด โมลิบดีนัมจะสังเกตเห็นขอบใบเปลี่ยนเป็นสีแดง ธาตุโมลิบดีนัมที่มีอยู่ในพืชสามารถเคลื่อนย้ายถ่ายเทได้ ฉะนั้นเมื่อขาดอาการจะเริ่มให้เห็นจากโคนต้นขึ้นไปหายอด

ความต้องการธาตุโมลิบดีนัมในพืชแต่ละชนิดไม่เท่ากันถั่ว ธัญพืช และพวกหญ้าต่างๆ เป็นพืชที่มีโมลิบดีนัมเป็นส่วน ประกอบที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับพืชอย่างอื่นพวกวัชพืชต่างๆ มีปานกลาง ที่ต่ำที่สุดก็ได้แก่ พวกผักกาดต่างๆ และในบรรดาผักทั้งหมด ปรากฏว่ากะหล่ำดอกเป็นผักที่ไวต่อการขาดโมลิบดีนัมมากที่สุด

ดินที่ขาดโมลิบดีนัม ได้แก่ ดินที่เป็นด่างจัดในดินนี้แม้จะมีธาตุโมลิบดีนัมอยู่มาก แต่ก็จะไม่ละลายนํ้าพืชไม่สามารถนำไปใช้ได้ พืชจะใช้โมลิบดีนัมได้ดีก็เฉพาะในดินที่เป็นกลาง (pH 7.0) เท่านั้น

การแก้การขาดโมลิบดีนัม

การแก้การขาดธาตุโมลิบดีนัมทำได้โดยการให้สารประกอบโซเดียมโมลิบเดท (sodium molybdate) หรือ แอมโมเนียมโมลิบเดท (ammonium molybdate) กับพืช ทั้งในรูปของปุ๋ยโดยใส่ลงในดินปลูก และผสมกับนํ้าฉีดพ่นให้กับต้นพืชโดยตรง แต่ก็ต้องทำโดยความระมัดระวัง ทั้งนี้ เพื่อมิให้เกิดการมีมากเกินไปขึ้นเพราะอาจเป็นอันตรายกับพืช ปกติแล้วการใส่ลงในดินมักจะผสมรวมกับปุ๋ยอย่างอื่นใน ปริมาณที่ไม่เกิน 700 กรัมต่อไร่ ในการให้กับพืชโดยตรงก็ให้ละลายโซเดียมหรือแอมโมเนียมโมลิบเดทอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวแล้วในอัตราส่วนระหว่าง 50-300 กรัม กับนํ้าในปริมาณที่พอจะฉีดให้กับต้นพืซที่ปลูกในเนื้อที่ 1 ไร่ หรือ อาจจะใช้โดยวิธีราดรดลงในดินระหว่างแถวพืชที่ปลูกก็ได้ โดยให้เพิ่มปริมาณของสารขึ้นอีก 1 เท่าตัว เป็น 300-700 กรัม ในบางกรณีหากการเพิ่มโซเดียมหรือแอมโมเนียมโมลิบเดทลงในดิน หรือโดยวิธีฉีดพ่นให้กับพืชโดยตรงทำไม่สะดวก อาจใช้วิธีนำเอาสารนี้มาคลุกกับเมล็ดพืช แล้วจึงนำไปเพาะก็จะเป็นการแก้การขาดโมลิบดีนัมได้โดยเฉพาะ ในระยะเริ่มแรกของการเจริญเติบโต

ดินที่มีปุ๋ยคอกพวกมูลสัตว์ต่างๆ หรือดินที่มีการปลูกพืช คลุมอยู่หนามากๆ มักจะพบว่ามีธาตุโมลิบดีนัมอยู่พอเพียง และอยู่ในรูปที่ผักสามารถนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตได้

สำหรับในกรณีที่หากพบว่าดินมีโมลิบดีนัมอยู่ในปริมาณที่มากเกินไป ในระดับที่อาจเป็นอันตรายต่อพืชปลูกก็แก้ได้ โดยการเติมสารที่ทำให้ดินเปลี่ยนสภาพจากเป็นกลางเช่นจุนสี (CuSO4) หรือปูนขาวเพื่อให้ดินดังกล่าวกลายเป็นกรด หรือด่างอย่างอ่อนๆ เสีย โมลิบดีนัมที่มีอยู่ก็จะถูกพืชนำไปใช้ได้น้อยลง เป็นการลดอันตรายจากการมีมากเกินไปลงได้

สังกะสี (zinc – Zn)

สังกะสีทำหน้าที่ร่วมอยู่ในกระบวนการออกซิเดชั่น (oxidation) ของเซลล์พืช ช่วยในการเคลื่อนย้ายคาร์โบไฮเดรท ช่วยควบคุมการใช้นํ้าตาลในพืช เป็นตัวร่วมในการผลิตคลอโรฟิลล์ เป็นส่วนประกอบออกซิน (auxin) และฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโตของพืช

อาการที่พืชแสดงออกเมื่อขาดสังกะสีคล้ายกับอาการที่เกิดจากการขาดแมกนีเซียม กล่าวคือ สีของใบจะซีดจางลง โดยจะเริ่มจากขอบใบเข้ามาด้านในขนาดของใบจะเล็กลง ส่วนยอดหรือปลายที่จะเจริญเติบโตต่อไป จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือไม่ก็ขาวซีด หากขาดมากพืชทั้งต้นจะหยุดการเจริญเติบโตและอาจตายในที่สุด ข้าวโพดถ้าขาดสังกะสีจะแสดงอาการที่ส่วนยอดหรือปลาย คือ จะทำให้มีสีขาวซีดที่เรียกว่า white bud ใบอ่อนจะม้วนกลมเป็นช่อไม่คลี่ออก เป็นใบปกติ

สำหรับพืชที่มักจะพบว่ามีการขาดสังกะสีเสมอ ได้แก่ พวกส้ม มะนาวต่างๆ อาการที่แสดงออกคือใบเรียวเล็ก เนื้อ ใบเหลืองด่างโดยมีส่วนของเส้นใบ เขียวสลับเป็นลายที่ชาวบ้านเรียกว่าโรคใบแก้ว ส่วนยอดหรือปลายแขนงที่แตกใหม่จะแห้ง ผลจะมีสีซีดจาง เปลือกอาจหนาหรือบางกว่าธรรมดา เนื้อในแกนฟ่ามแห้ง มีนํ้าน้อย

ธาตุสังกะสีในพืชไม่สามารถเคลื่อนย้ายถ่ายเทได้เมื่อขาดอาการจึงเริ่มแสดงให้เห็นจากส่วนปลายหรือยอดก่อนแล้วจึงเคลื่อนลงมาหาโคน

ส่วนดินที่ขาดสังกะสีมักจะเป็นดินที่ถูกนํ้าท่วมหรือดินที่มีนํ้าขังอยู่เป็นเวลานาน

การแก้การขาดสังกะสี

ในกรณีไม้ยืนต้นเช่น ส้ม มะนาวต่างๆ เมื่อเกิดการขาดธาตุสังกะสีขึ้น อาจแก้ได้โดยใช้วิธีง่ายๆ คือ เจาะรูที่ลำต้นแล้วใช้สารละลายสังกะสีซัลเฟต (zinc sulfate) หยดใส่ลงไป หรืออาจใช้โลหะสังกะสี เช่น ตะปูตอกหลังคาที่เคลือบสังกะสี ตอกติดไว้กับต้นก็จะช่วยแก้การขาดได้ เป็นวิธีที่ชาวสวนนิยมทำกันมาแต่เดิม อย่างไรก็ดี วิธีนี้พืชเอาไปใช้ได้น้อย และช้ามาก ส่วนในผักต่างๆ เมื่อขาดก็ใช้สังกะสีซัลเฟต ละลายนํ้าฉีดพ่นให้กับต้นผักโดยตรง หรือจะใช้วิธีผสมกับปุ๋ยอย่างอื่นใส่ลงในดินปลูกก็ได้ โดยใช้ในปริมาณ 3-4 กิโลกรัมต่อไร่ ก็นับเป็นการเพียงพอ

สารประกอบสังกะสีอีกชนิดหนึ่งที่นำมาใช้ได้ในลักษณะ เดียวกัน คือ สังกะสีออกไซด์ (zinc oxide) แต่มีข้อเสียคือ ละลายนํ้าได้น้อยและช้ากว่าสังกะสีซัลเฟต จึงต้องใช้ในปริมาณที่มากกว่า และต้องใส่ลงในดินก่อนที่จะทำการปลูกผักเป็นเวลานานพอสมควร

วิธีที่ดีและให้ผลเร็วที่สุดคือการฉีดสเปรย์ให้กับพืชโดยตรง โดยใช้สังกะสีซัลเฟต 100-150 กรัมต่อนํ้า 1 ปี๊บ (20 ลิตร) โดยนํ้ายานี้ 1 ปี๊บจะใช้กับผักที่ปลูกได้ในเนื้อที่ 80 ตารางเมตร การฉีดพ่นควรทำซํ้าหลายๆ ครั้ง ในกรณีที่พืซแสดงอาการขาดให้เห็น สังกะสีซัลเฟตอาจใช้ร่วมกับสารเคมีฆ่าเชื้อรา จำพวกที่มีทองแดงเป็นส่วนประกอบ (copper fungicide ส่วนสังกะสีออกไซด์ไม่นิยมใช้ในการสเปรย์

ปัจจุบันมีสารเคมีที่เตรียมขึ้นเป็นการค้าซึ่งมีผลทั้งในการป้องกันกำจัดเชื้อรา และแก้การขาดสังกะสีได้พร้อมกันทำให้สะดวกต่อการใช้ยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น ziram (zinc dimethyl dithiocarbamate) zineb(zinc ethylene bis diocarbamate)

คลอรีน (chlorine-Cl)

หน้าที่ที่แท้จริงของธาตุคลอรีนในพืชจะมีอย่างไรยังไม่มีผู้ใดทราบแน่นอน แต่ก็มีนักวิทยาศาสตร์บางท่านได้ลงความเห็นว่า คลอรีนมีความสำคัญต่อกระบวนการสังเคราะห์แสง และช่วยให้พืชแก่เร็วขึ้น

อาการขาด ปกติแล้วพืชไม่แสดงอาการขาดธาตุนี้ เนื่องจากคลอรีนมีอยู่ทั่วไปในอากาศในลักษณะของก๊าซเช่นเดียวกับคาร์บอนไฮโดรเจน และออกซิเจน แต่จากการทดลองพบว่าหากพืซได้รับธาตุนี้ไม่เพียงพอจะแสดงอาการใบเหี่ยวด่างลาย แเผลจุด และมีสีบรอนซ์

ผักที่พบว่ามีความไวต่อการขาดคลอรีนมากที่สุด ได้แก่ ผักกาดหอมห่อ (lettuce) รองลงมาได้แก่ ซูการ์บีท gar beet) โดยถ้าาขาดจะแสดงอาการที่เนื้อใบอ่อนที่อยู่ตอนกลางๆ ของต้นโดยสีซีดจางลงและด่างลายเป็นร่างแห (netted)

สรุปลักษณะอาการโรคผักอันเนื่องมาจากการขาดและมีธาตุอาหารบางชนิดมากเกินไป

1. ชะงักการเจริญเติบโต แคระแกร็นขนาดของต้น ใบ กิ่ง หัว ผลและฝักเล็กหรือมีนํ้าหนักน้อยกว่าปกติ

2. ทำให้สีของต้น ใบ ลูก ผลหรือฝักเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เปลี่ยนเป็นสีเหลือง ขาวซีด แดง น้ำตาลปนแดง ม่วง หรือมีสีคลํ้า

3. ก่อให้เกิดอาการใบไหม้ใบจุดแห้งเป็นสีน้ำตาล หรือเกิดเป็นแผล necrosis อาการแห้งจากขอบใบเข้ามา หรือเกิดเป็นแผลระหว่างเส้นใบ

4. เกิดอาการด่างลาย สีเหลืองหรือซีดสลับกับสีเขียวเข้ม

อย่างสม่ำเสมอระหว่างเนื้อใบและเส้นใบหรือแกนใบ

5. เกิดอาการใบม้วน หงิกงอ หรือหยักเป็นคลื่น การม้วนของใบอาจม้วนขึ้นด้านบน หรือลงด้านใต้ก็ได้

6. เกิดอาการแห้งขึ้นกับส่วนของต้นหรือใบโดยอาการแห้งนี้ อาจเริ่มจากส่วนยอดลงมาหาโคนต้น จากโคนขึ้นไปหายอด หรืออาจจะแห้งเฉพาะที่ส่วนยอดหรือส่วนปลายสุดที่เดียวก็ได้

7. เกิดอาการที่ผิวหรือเปลือกนอกของส่วนต่างๆ ปริแตกแยกออกลักษณะเป็นสะเก็ด ขุย แคงเกอร์หรือเป็นแผลยาว

8. ทำให้รสและคุณภาพของพืชผลผลิตเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น ขม จืดชืด เนื้อแห้งแข็งกระด้างหรือเป็นเสี้ยน

9. ใบชี้แผ่ออกด้านข้างเป็นรัศมีโดยรอบต้น หรือเจริญเติบโตในทางตั้งคือสูงขึ้นอย่างเดียว

การจำแนกอาการโรคขาดธาตุอาหารหรือมีมากเกินไป

ก. อาการส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ใบแก่หรือใบที่อยู่ล่างๆ ของต้น ลักษณะเป็นแผลจุดเฉพาะแห่งหรือทั่วตลอดทั้งต้น

ก.1 อาการเกิดขึ้นทั่วไปตลอดทั้งต้น ใบที่อยู่ส่วนล่างๆ แสดงอาการแห้งหรือไหม้ บางครั้งอาจมีอาการซีดจางลงหรือไม่ก็เขียวเข้มขึ้นกว่าเดิม

ก.1.1 ถ้าสีเขียวจางลง ใบแก่ที่อยู่ส่วนล่างของต้นเหลืองหรือแห้งเป็นสีนํ้าตาลจางๆ กิ่งก้านสั้น ผอมเรียว อาการเหล่านี้ถ้าเกิดขึ้นในช่วงท้ายๆ ของการเจริญเติบโต ธาตุอาหารที่ขาดคือไนโตรเจน     ………………(N)

ก.1.2 ถ้าพืชแสดงอาการเขียวเข้ม พร้อมกับมีสีม่วงหรือแดงเกิดตามมา บางครั้งใบแก่ที่อยู่ตอนล่างๆ ของต้นเหลืองออกเขียวปนน้ำตาลหรือดำ กิ่งก้าน สั้นผอมเรียว อาการเกิดขึ้นในช่วงหลังของการเจริญเติบโต ธาตุที่ขาด ฟอสฟอรัส……….(P)

ข. อาการเกิดขึ้นเฉพาะแห่ง เป็นแผลลายด่างหรือเป็นดวงสีเหลืองสลับเขียว อาจมีหรือไม่มีจุดเซลล์ตายเกิด ปกติมักจะพบเกิดขึ้นกับใบแก่ที่อยู่ตอนล่างๆ ของต้น

ข.1 ใบแก่เกิดอาการด่างลายสีเหลืองสลับเขียว อาจเกิดหรือไม่เกิดจุดเซลล์ตาย บางครั้งจะพบว่าขอบใบพับหรือม้วนทั้งขึ้นและลงด้านใต้

ข.1.1 ใบเกิดอาการด่างลายหรือเป็นดวงอาจมีสีแดงเกิดขึ้นในพืชบางชนิดเช่นฝ้าย บางครั้งอาจเกิดเป็นแผลจุด ปลายหรือขอบใบม้วนขึ้นด้านบน หรือห่อเป็นรูปถ้วย กิ่งก้านผอมเรียว ธาตุที่ขาด แมกนีเซียม…………….(Mg)

ข.1.2 ใบเกิดอาการด่างลายเป็นดวง พร้อมทั้งเกิดแผลหรือจุดเซลล์ตายเป็นแห่งๆ

ข.1.2.1 จุดเซลล์ตายมีขนาดเล็กโดยปกติจะเกิดที่ปลายใบหรือใบระหว่างเส้น vein บริเวณขอบใบแห้ง กิ่งก้านผอมเรียว ธาตุที่ขาดคือ โปแตสเซียม……………..(K)

ข.1.2.2 เกิดเป็นแผลสีเหลืองสลับเขียวกระจายทั่วเนื้อใบระหว่างเส้น vein เมื่อเป็นนานๆ อาจรวมไปถึงเส้น vein ด้วย กิ่งก้านหรือปล้องข้อสั้นกว่าปกติ ธาตุที่ขาด สังกะสี ……..(Zn)

ค. อาการเกิดที่ส่วนยอดตาหรือใบอ่อนและเป็นอาการที่เกิดเฉพาะแห่ง

ค.1 ส่วนปลายของยอดหรือตาที่แตกใหม่ ตายแล้วติดตามด้วยอาการหดย่นที่ส่วนปลายหรือโคนของใบอ่อน

ค.1.1 ใบอ่อนหรือส่วนปลายของตาที่แตกใหม่มีลักษณะม้วนเป็นขอคล้ายเบ็ดตกปลาในตอนแรก แล้วค่อยๆ แห้งตายจากส่วนปลายหรือขอบใบเข้ามา ต้นพืชหยุดการเจริญเติบโต ธาตุที่ขาด แคลเซียม………….(Ca)

ค.1.2 ใบอ่อนหรือตาที่แตกใหม่ ซีด จางลง ลำต้น หรือส่วนแกนใบกลวง ก้านใบแข็ง เปราะหักง่าย ใบปิดเบี้ยว ส่วนเปลือกหรือผิวของต้น กิ่งก้าน ก้านใบ แตกออกเป็นแผลซีดเล็กๆ ตามขวาง ธาตุที่ขาด โบรอน………………(B)

ค.2 ส่วนปลายยอดหรือตาปกติ แต่จะเกิดอาการเหี่ยวหรือด่างลาย บางครั้งจะพบจุดเซลล์ตายเกิดขึ้น

ค.2.1 ใบอ่อนเหี่ยวอย่างถาวรไม่มีอาการจุดหรือด่างลายใดๆ สีของใบค่อยๆ ซีดจางลง คงเหลือไว้เฉพาะตามแนวเส้น vein ใหม่เท่านั้นที่ยังคงเขียวอยู่ ต้นพืชหยุดการเจริญเติบโตแคระแกร็นหรือไม่ก็เจริญในทางตั้ง คือ สูงขึ้นอย่างเดียวแต่ก็เป็นไปอย่างช้าๆ ธาตุที่ขาด ทองแดง…………….(Cu)

ค.2.2 ใบอ่อนไม่แสดงอาการเหี่ยวเฉาหรือแห้งแต่จะเกิดอาการด่างลาย พร้อมกับอาจมีจุดหรือแผลเซลล์ตายอยู่ทั่วไปบนใบ หรืออาจไม่มีจุดดังกล่าวก็ได้

ค.2.2.1 เกิดเป็นจุดหรือแผลเซลล์ตายกระจายทั่วไป สีของ ใบจะค่อยๆ ซีดจางลงโดยเริ่มจากขอบใบเข้ามาหาแกนใบ ในที่สุดใบจะแห้งหมดทั้งใบแล้วร่วงหลุดออกจากต้น ธาตุที่ขาด แมงกานีส     …………………(Mn)

ค.2.2.2 ใบไม่ปรากฎจุดเซลล์ตาย อาการด่างลายอาจเกิดหรือไม่เกิดก็ได้ แต่จะแสดงอาการซีดจางลงหรือเขียวเข้มขึ้น

ค.2.2.2.1 ใบอ่อนรวมทั้งเส้น vein และเนื้อใบระหว่างเส้น vein ซีดจางลง ธาตุที่ขาด กำมะถัน……………(S)

ค.2.2.2.2 ใบอ่อน แสดงอาการด่างลาย โดยเส้น vein ใหญ่ยังคงเขียวเป็นปกติ กิ่งก้านสั้นผอมเรียว ธาตุที่ขาด เหล็ก…..(Fe)