ผักกาด:การปลูกผักกาดหัวแบบครบวงจร

พรศักดิ์  เจียมวิจิตร และคณะ

สถาบันวิจัยการทำฟาร์ม  กรมวิชาการเกษตร

จังหวัดสุรินทร์เป็นจังหวัดหนึ่ง มีชื่อเสียงในด้านการปลูกผักกาดหัวเพื่อนำไปแปรรูปเป็นหัวไชโป้ชนิดเค็มและหวาน มีพื้นที่ปลูกปี พ.ศ.๒๕๓๑ ทั้งหมด ๑๓๐ ไร่ แหล่งปลูกผักกาดหัวมากที่สุดของจังหวัดอยู่ที่ตำบลนาบัวอำเภอเมือง

สภาพพื้นที่ตำบลนาบัว เป็นที่ราบลุ่มและที่ดอนในการปลูกพืชไร่ เกษตรกรปลูกข้าวโพดเป็นพืชแรกและปลูกผักกาดหัวเป็นพืชที่สอง ส่วนพืชที่สามอาจจะปลูกถั่วลิสงหรือข้าวโพดตามอีกพืชหนึ่ง เนื่องจากมีน้ำไม่เพียงพอ

พื้นที่ปลูกผักกาดหัวของจังหวัดสุรินทร์มีน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดอื่น เนื่องจากจะขึ้นอยู่กับโรงงานที่รับซื้อผลผลิตในรูปผักกาดหัวหมักแห้งว่าในแต่ละปีจะต้องการมากน้อยเพียงไร การที่เกษตรกรจะขายผักกาดหัวสดนั้น ความต้องการของตลาดยังมีน้อย ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน

ฤดูปลูกและการเตรียมดิน

เกษตรกรจะปลูกผักกาดหัวประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงที่อุณหภูมิต่ำเหมาะต่อการปลูกและการเจริญเติบโตของผักกาดหัวได้เป็นอย่างดี โดยเลือกดินร่วนปนทรายเป็นพื้นที่ปลูก

ผักกาดหัวสามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินร่วนซุยและเก็บความชื้นได้ดี เกษตรกรทำการไถดะ ตากดินให้แห้งเพื่อทำลายวัชพืชและโรคแมลงต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในดินแล้วไถแปรอีก ๓-๔ ครั้ง คราดอีก ๒ ครั้งเพื่อให้ดินร่วนซุย

พันธุ์และวิธีการปลูก

เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมปลูกพันธุ์ที่มีลักษณะหัวเรียวแหลมที่เป็นพันธุ์เบามีอายุประมาณ ๔๕-๔๗ วัน เป็นพันธุ์ที่โรงงานในจังหวัดสุรินทร์ต้องการมีอยู่ ๒ พันธุ์คือ พันธุ์เบาเบอร์ ๑ และพันธุ์หนักเบอร์ ๒

เกษตรกรปลูกโดยไม่ยกร่อง โดยขุดหลุมระยะประมาณ ๒๐x๓๐ ซม.หยอดเมล็ดลงในหลุมๆละ ๔-๕ เมล็ดใช้ดินกลบ เมื่อผักกาดหัวอายุได้ประมาณ ๒๐-๒๕ วัน ทำการถอนแยกเหลือหลุมละ ๒ ต้น ใช้อัตราเมล็ดพันธุ์ประมาณ ๔ ลิตร/ไร่

การใส่ปุ๋ยและปฏิบัติดูแลรักษา

เกษตรกรบางรายใช้ปุ๋ยคอกประมาณ ๖๐๐ กก./ไร่ ใส่ไปพร้อมกับการไถดะ โดยไถกลบลงไปในดินพร้อมกัน ส่วนปุ๋ยเคมีใช้สูตร ๑๖-๑๖-๘ ประมาณ ๒๕ กก./ไร่ โดยหว่านให้ทั่วพื้นที่ปลูกแล้วไถคราดกลบไปพร้อมกันแบบเดียวกับการใส่ปุ๋ยคอก การใส่ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยคอกจะใส่เพียงครั้งเดียว

การปฏิบัติดูแลรักษาเกษตรกรจะทำการกำจัดวัชพืชเพียงครั้งเดียวในการเตรียมดิน หลังปลูกแล้วไม่มีการกำจัดวัชพืชอีกจนถึงเก็บเกี่ยว การกำจัดแมลงศัตรูพืชใช้สารเมทธิลพาพาไธออน(โฟลิดอล)กำจัดครั้งแรกเมื่อปลูกได้ ๑๕ วัน ครั้งที่ ๒ เมื่อผักกาดหัวอายุได้ประมาณ ๒๕-๓๐ วัน การใช้ฮอร์โมนนั้นเกษตรกรจะใช้ ๒ ครั้ง โดยผสมกับสารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช

การให้น้ำครั้งแรกหลังจากปลูกได้ประมาณ ๒๐-๒๕ วัน ในลักษณะพ่นให้ทั่วแปลงโดยใช้เครื่องสูบน้ำพ่น การให้น้ำช่วงต่อไปห่างกันช่วงละ ๕-๖ วันจนถึงเก็บเกี่ยว ให้น้ำประมาณ ๔ ครั้ง

การเก็บเกี่ยวผลผลิต

ใช้วิธีถอนหรือดึงขึ้น ก่อนเก็บเกี่ยวจะต้องให้น้ำอีกเป็นครั้งสุดท้าย โดยพ่นน้ำให้ชุ่มทั่วแปลง ทิ้งไว้ประมาณ ๒ วัน ทำให้ถอนหรือเก็บเกี่ยวได้ง่าย ผักกาดหัวไม่หักหรือขาด ทำการเก็บเกี่ยวเมื่ออายุได้ประมาณ ๔๕-๔๗ วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์ของผักกาดหัว น้ำหนักผลผลิต ผักกาดหัวสดเฉลี่ย ๑,๕๐๐ กก./ไร่ เมื่อนำไปหมักแห้งได้ผลผลิต ๘๕๐ กก./ไร่

การแปรรูปผลผลิตโดยวิธีการหมัก

เกษตรกรถอนผักกาดหัวตัดใบทิ้ง แล้วนำไปใส่ในหลุมที่เตรียมไว้ซึ่งจะรองด้วยกระสอบป่าน เรียงผักกาดหัวในหลุมเป็นชั้น ๆ ประมาณ ๑๐ ชั้น แต่ละชั้นโรยเกลือโดยตลอด เกษตรกรจะนำผักกาดหัวขึ้นจากหลุมมาตากแดดตอนเช้า และนำลงใส่หลุมในเวลาเย็น ทำในลักษณะนี้ประมาณ ๔-๕ วัน และหมักทิ้งไว้อีก ๒ คืนพร้อมทั้งใช้ฟางข้าวคลุมไว้

เมื่อครบกำหนดเวลาที่หมัก นำขึ้นจากหลุมไปตากแดดอีก ๑ วัน แล้วนำไปใส่ในหลุมดินหมักทิ้งไว้อีกประมาณ ๔-๕ วัน โดยไม่มีการเอาขึ้นมาจากหลุมหมักจนถึงเวลาจำหน่าย

ผลพลอยได้ผักกาดหัว

เกษตรกรนำเศษของใบและผักกาดหัวที่เน่าและเสียไปเลี้ยงสัตว์ เช่น เป็ด ไก่ สุกร กระบือ วัวและปลา เป็นต้น

ปัญหาและอุปสรรคของเกษตรกร

จากการสำรวจและสัมภาษณ์เกษตรกรปลูกผักกาดหัวในพื้นที่ตำบลนาบัว พบว่ามีปัญหาด้านราคาของผักกาดหัว เพราะโรงงานซื้อในลักษณะผักกาดหัวหมักและเป็นผู้กำหนดราคารับซื้อผลผลิตของเกษตรกรที่เป็นสมาชิก โดยโรงงานจะเป็นผู้ให้วัสดุการเกษตรกับเกษตรกร เช่น เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยเคมี เกลือ และเป็นผู้ตั้งกฎเกณฑ์เกี่ยวกับวัสดุต่างๆ ที่เกษตรกรจะต้องคืนให้โรงงาน เช่น

เมล็ดพันธุ์ ๑ กระป๋อง = ผักกาดหัวหมัก ๒๕ กก.

ปุ๋ยเคมี ๕๐ กก. = ผักกาดหัวหมัก ๑๐๐ กก.

เกลือราคากิโลกรัมละ ๑ บาท

ดังนั้นเกษตรกรที่ปลูกผักกาดหัวจะมีปัญหาในเรื่องของราคา เนื่องจากตลาดของผักกาดหัวในจังหวัดสุรินทร์ยังไม่กว้างสำหรับเกษตรกร มีเฉพาะโรงงานเท่านั้นที่รับซื้อและเป็นผู้กำหนดราคา เกษตรกรไม่สามารถต่อรองราคากับโรงงานได้เลย ส่วนการจำหน่ายผักกาดหัวสดนั้นจะมีเพียงเล็กน้อย

สรุป

เกษตรกรปลูกผักกาดหัวมีปัญหาในด้านราคา แต่ก็ยังพอใจที่จะปลูกต่อไป เพราะเกษตรกรคิดว่าการปลูกผักกาดหัวนั้นสามารถขายให้กับโรงงานได้ไม่ต้องลงทุนมาก เพียงแต่ซื้อสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและฮอร์โมนเท่านั้น ไม่ต้องไปเสี่ยงกับปัญหาในด้านการตลาดที่ไม่แน่นอน และผักกาดหัวเป็นพืชอายุสั้นเพียง ๔๕-๔๗ วันเท่านั้น เกษตรกรคิดว่าดีกว่าปลูกพืชชนิดอื่นที่ใช้เวลานาน และอาจจะต้องเสี่ยงต่อปัญหาของตลาดอีกด้วย