ผักกาดน้ำมีสรรพคุณดังนี้


ชื่อวิทยาศาสตร์ Plantago major Linn.
ชื่ออื่นๆ หมอน้อย เชียแต้เช้า (จีน)
ชื่ออังกฤษ Common Plantain, Greater Plantain.
ลักษณะ ไม้ล้มลุกเนื้ออ่อนขนาดเล็ก สูงไม่เกิน 1 ฟุต ใบเดี่ยว รูปไข่กลับ กว้าง 10-15 ซ.ม. ยาว 20-30 ซ.ม. แทงขึ้นมาจากดินเหมือนผักกาดขาว ก้านใบยาว แผ่นใบกว้าง เส้นใบเห็นชัด รูปใบเหมือนช้อนสังกะสีขนาดใหญ่ ปลายใบมนกลม และกว้าง ดอกขนาดเล็กจัดรวมเป็นช่อยาว ก้านช่อดอกยาวพุ่งขึ้นมาจากตรงกลางต้น ดอกย่อยสีเขียวอมนํ้าตาลไม่มีก้านดอก ผลแก่แตกตรงกลางของผล
ส่วนที่ใช้ ทั้งต้นบนดิน
สารสำคัญ ใบมี iridoids, aucubin (C15 H24 O9 H2 O); 3, 4-dihydroaucubin. มีสารพวก flavonoids เช่น apigenin, leuteolin. และสารที่มีรสขม เมล็ดมี 0.183% ของ holoside planteose
ประโยชน์ทางยา มีการทดลองใช้ผักกาดน้ำขับนิ่วในไต ใช้ผักกาดนํ้าสดหนัก 130 กรัม ต้มกับนํ้า 1 ลิตร กรองให้เหลือประมาณ 750 มิลลิลิตร ให้กับผู้ป่วยเป็นโรคนิ่วในท่อไต 2 คน ดื่มวันละ 50 มิลลิลิตร ครั้งละ 2 วัน ถ้านิ่วไม่หลุดให้ดื่มซ้ำอีกทุกสัปดาห์ ผลปรากฏว่านิ่วหลุดทั้ง 2 ราย ใช้เวลา 2-6 เดือน
ทั้งต้นเป็นยาเย็น ใช้ขับปัสสาวะ ขับนิ่วในไต และแก้ร้อนในเจ็บคอ โดยต้มรวมกับสมุนไพรตัวอื่นๆ เช่น สนหมอก ว่านกาบหอย กล้วยหอมดิบ ราก¬บัวหลวง ดอกเก๊กฮวย และอื่นๆ ต้มกับนํ้าเติมนํ้าตาลกรวดเล็กน้อย
ใบห้ามเลือดที่ออกภายนอกได้ ใช้ใบขยี้ทาบริเวณที่ถูกแมลงกัดหรือถูกขนตำแยหรือผึ้งต่อย ใช้ใบสดตำพอกแผลเรื้อรัง ผิวหนังอักเสบ
ที่มา:ศาสตราจารย์พเยาว์  เหมือนวงษ์ญาติ