ผักกาดหอม:ผักปลอดสารพิษ


ผักกาดหอม(Lettuce)

คะนึง  ใกล้กลาง

ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อสังคม

ถ้าพูดถึงอาหารที่เป็นพวกยำชนิดต่าง ๆ พวกลาบทั้งหลาย ฟังดูแล้วคนที่ชอบรสจัด ๆ หรือคนแถบอีสานคงคุ้ยเคยดี และพวกผักที่ใช้ในการเป็นผักเพื่อกินแกล้มหรือใช้ในการแต่งกลิ่น แต่งให้อาหารมีความน่ากินเพิ่มสีสันมากขึ้น ทุกคนคงนึกถึงผักกาดหอมหรือผักสลัดก่อนใครแน่เลย เพราะผักกาดหอมแค่เอ่ยชื่อก็รู้แล้วว่าสรรพคุณเป็นอย่างไร ดับกลิ่นคาว มีคุณค่าทางอาหารและมีวิตามินสูง บางคนบอกเป็นผักที่ช่วยทำให้เกิดความคึกคักทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจเป็นอย่างดีทั้งยังช่วยยับยั้งการเกิดโรคมะเร็งบางอย่างให้กับผู้ที่รับประทานผักกาดหอมเป็นประจำอีกด้วย

ผักกาดหอม เป็นผักที่อยู่ในตระกู่ล Compositae มีชื่อวิทยาศาสตร์ Lactuca sativa L ผักกาดหอมใบหยิกเป็นชนิดที่นิยมปลูกมากในบ้านเรา ลักษณะสีของใบมีตั้งแต่สีเขียวอ่อนจนถึงสีม่วงแดง เพราะปลูกได้ตลอดปี แต่ถ้าจะให้มีคุณภาพดีควรปลูกช่วงปลายฝน หรือต้นฤดูหนาว ผักกาดหอมชอบอากาสเย็น แหล่งที่ปลูกมากคือ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี เลย เชียงใหม่ ส่วนมากจะเป็นการเพาะปลูกแบบใช้ทั้งปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืชกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบด้านสุขภาพของผู้ผลิตเอง เกิดการตกค้างของสารเคมีในดินและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติโดยทั่วไป ตลอดจนส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยตรง ดังนั้นเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจในด้านการปลูกผักทั่วไป ก็สามารถทำการเพาะปลูกผักแบบไม่ใช้สารเคมีหรือเรียกว่า การทำการเกษตรแบบอินทรีย์ เพื่อไว้กินเองเป็นผักสวนครัวหรือจะทำเพื่อส่งจำหน่ายตามร้านค้าที่ขายอาหารปลอดสารเคมีเป็นรายได้เสริมในยุค IMF ได้ดังนี้

เตรียมเมล็ดพันธุ์ และเตรียมแปลงเพาะปลูก

เมล็ดพันธุ์ผักกาดหอมสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายเมล็ดพันธุ์ที่เชื่อถือได้ โดยให้พิจารณาดูวันหมดอายุของเมล็ดพันธุ์ที่ข้างกระป๋องว่าหมดอายุหรือเปล่า เมื่อได้มาแล้วก็เป็นการเตรียมแปลงปลูกให้เลือกพื้นที่ที่เป็นที่โล่ง แสงแดดส่องทั่วถึงทั้งวัน ทำเป็นแปลงขนาด 1×4 เมตร เพื่อสะดวกในการทำและง่ายในการดูแล  สำหรับผู้ที่เริ่มทดลองปลูกผักใหม่ ๆ ใกล้แหล่งน้ำที่ใช้รดผัก ขุดดินให้ลึกประมาณหนึ่งหน้าจอบหรือ 15-20 ซม. ให้ตากดินไว้ประมาณ 5-7 วัน

วิธีการเพาะปลูก

เมื่อตากดินเพื่อฆ่าเชื้อโรคที่อยู่กับดินบางชนิดแล้วย่อยดินให้มีความละเอียดไม่ให้เป็นก้อนใหญ่ เพื่อสะดวกในการหว่านเมล็ดพันธุ์  โดยช่วงที่มีการย่อยดินให้ใส่ปุ๋ยหมักชีวภาพ ประมาณ 4-5 กก.  ร่วมกับเศษซากวัสดุ เช่น ละอองข้าว ใบไม้แห้งต่าง ๆ ประมาณ 10-15 กก. รวมทั้งใส่กากเมล็ดสะเดาบด 4 กก. ตามขนาดแปลงที่กล่าวมา  โดยผสมคลุกเคล้าปุ๋ยหมักชีวภาพและเศษซากต่าง ๆ ให้เข้ากับดิน เมื่อเตรียมแปลงเรียบร้อยแล้วสามารถหว่านเมล็ดพันธุ์ผักกาดหอมลงแปลงได้เลย แต่เป็นวิธีที่ไม่ประหยัดเมล็ดพันธุ์ ควรใช้วิธีหยอดเป็นแถวจะประหยัดกว่าและการดูแลก็ง่ายกว่า  โดยใช้ระยะห่างระหว่างแถว 20 ซม.  ด้วยการทำร่องตามแนวยาวของแปลงแล้วหยอดเมล็ดตามลงไป เสร็จแล้วให้คลุมด้วยเศษฟางลงบนแปลง เพื่อช่วยในการพรางแสงแดดให้หนาประมาณ 2 ซม. เป็นการช่วยป้องกันเมล็ดกระจายเวลารดน้ำไปด้วนในตัว

การดูแลรักษา

เมื่อต้นกล้างอก มีใบ 2-3 ใบ ก็เริ่มถอนต้นที่ไม่แข็งแรงทิ้ง และจัดระหว่างต้นระหว่างแถวประมาณ 20×20 ซม. ช่วงต้นอ่อนถ้าสามารถช่วงพรางแสงได้ก็จะเป็นการดี รดน้ำเช้าเย็นทุกวัน

การใส่ปุ๋ย

ใส่ปุ๋ยหมักชีวภาพ เพื่อช่วยเร่งการเจริญเติบโตในช่วงของการเตรียมดินไปแล้ว และเมื่อผักกาดหอมมีอายุ 20-25 วัน ให้ใส่ปุ๋ยหมักชีวภาพที่มีธาตุอาหารโปรแตสเซียมที่สูง  โดยช่วงที่ทำปุ๋ยหมักชีวภาพ ให้เติมขี้เถ้าขาวของแกลบที่ได้จากการเผาอิฐ  ซึ่งจะช่วยให้ปุ๋ยหมักชีวภาพ มีธาตุโปรแตสเซียมสูงขึ้นอีก หรือถ้าไม่ได้ใส่ช่วงการทำปุ๋ยหมักชีวภาพ ก็ให้ใส่แยกต่างหากจากปุ๋ยหมักชีวภาพ 1 กก./ตารางเมตร เพราะธาตุอาหารโปรแตสเซียม จะช่วยทำให้ใบของผักกาดหอมบางลงทำให้กรอบน่ากินเพราะถ้ามีธาตุไนโตรเจนสูงจะทำให้ใบของผักกาดหอมมีสีเขียวจัด รสชาติไม่อร่อย

การป้องกันกำจัดโรคและแมลง

ผักกาดหอม โดยส่วนมากแมลงจะไม่ค่อยเข้ารบกวน เพราะมีกลิ่นฉุนช่วยในการขับไล่แมลงได้บางชนิด แต่โรคที่เกิดกับผักกาดหอม เช่น โคนเน่า รากเน่า อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ผลผลิตของผักกาดหอมไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งมีสาเหตุมาจากการปลูกในอัตราที่ชิดมากเกินไป หรือเกิดจากดินที่ทำให้เกิดโรคพืชขึ้น  จึงควรปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยหมักชีวภาพ เพื่อให้ดินได้ปรับสภาพได้รวดเร็วขึ้นอย่างต่อเนื่อง  เป็นการลดการระบาดของโรคพืชได้ และการไม่ปลูกพืชผักชนิดเดียวกันในพื้นที่เดิมซ้ำ ๆ หลายฤดูก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งในการป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชได้อย่างดียิ่ง

การเก็บเกี่ยว

ผักกาดหอมใบหยิกมีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 45-50 วัน โดยเลือกเก็บต้นที่มีใบยังอ่อน ไม่เหนียว กระด้าง ใบมีความกรอบ ต้นจะสูงประมาณ 20-25 ซม.