ผักกาดเขียวปลี

ผักกาดเขียวปลีหรือที่เรียกว่า ผักกาดดอง เป็นผักกาดที่ปลูกกันมานานแล้วอยู่ในตระกูล Cruciferae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Brassica juncea เป็นผักที่นิยมนำมาดอง ไม่นิยมรับประทานสดเพราะมีรสขม แม้แต่ต้มสุกแล้ว ก็ยังไม่หายขม แต่จะมีคุณภาพดีหลังจากดองเค็มแล้วเพราะจะกรอบ เปราะ ไม่ยุ่ยเปื่อย ในระยะแรก ๆ นิยมนำมาทำผักกาดดองในระดับครอบครัว ต่อมาได้รับความนิยมกันอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะความต้องการของต่างประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น เมื่ออุตสาหกรรมการทำผักกาดดองขยายตัวขึ้นความต้องการวัตถุดิบก็ย่อมมากขึ้น นับเป็นผักที่ทวีความสำคัญทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ผักกาดเขียวปลีมีลักษณะและรูปร่างต้นหลายแบบ ตั้งแต่พวกไม่เข้าปลีมีแต่เพียงใบเรียงตัวกันหลวม ๆ พวกเข้าปลีกลมแน่น และ พวกที่มีส่วนลำต้นพองหนา

ผักกาดเขียวปลีมีถิ่นกำเนิดในเอเซียใต้ เอเซียกลาง และเอเซียตะวันออก มีปลูกมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์แล้วในประเทศจีนทางตอนใต้ของลุ่มแม่นํ้าแยงซีโดยเฉพาะในมณฑลเสฉวนและในอินเดีย

ลักษณะทั่วไป

ผักกาดเขียวปลีเป็นผักประเภทอายุปีเดียว รากเป็นระบบรากแก้ว เป็นพืชใบเลี้ยงคู่ ใบยาวประมาณ 15-50 เซนติเมตร กว้าง 5-40 เซนติเมตร ใบที่อยู่ด้านนอกจะมีขนาดใหญ่ ส่วนใบที่อยู่ถัดเข้าไปจะค่อย ๆ เล็กลง ช่อดอกเป็นแบบ raceme หรือ panicle ยืดออกได้ จุดกำเนิดของดอกอยู่ที่ยอด ดอก ประกอบด้วยกลีบรองดอกสีเขียวอมเหลืองหรือสีเขียวอ่อน กลีบดอกมีสีเหลือง ผลสามารถแตกเองได้เมื่อฝักแก่ โดยจะแตกเป็นสองแฉกแยกจากข้างล่างขึ้นข้างบน ส่วนเมล็ดมีลักษณะกลม มีสีนํ้าตาลหรือสีเหลือง

พันธุ์

พันธุ์ผักกาดเขียวปลีส่วนใหญ่ถูกนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น จีน ไต้หวัน เป็นต้น พันธุ์ผักกาดเขียวปลีสามารถแบ่งได้ 3 พวกใหญ่ ๆ คือ

1. พวกเข้าปลี แบ่งออกเป็น 2 พันธุ์คือ พันธุ์ปลีกลม ซึ่งเป็นพันธุ์ ที่ให้นํ้าหนักผลผลิตต่อไร่สูง แต่มักเกิดอาการปลีแตกร้าว ชะลอการเก็บเกี่ยวไม่ได้ ลักษณะใบนอกจะแผ่ กาบใบหนาและกว้าง และพันธุ์ปลีแหลม มีลักษณะหัวปลีแหลม ให้นํ้าหนักผลผลิตต่อไร่ตํ่ากว่าพันธุ์ปลีกลม แต่ไม่ค่อยเกิดอาการปลีแตก สามารถชะลอการเก็บเกี่ยวได้นานขึ้น แต่พันธุ์ที่นิยมปลูก ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ปลีกลม

2. พวกลำต้นพองหนา ส่วนของลำต้นจะพองหนาขึ้นก่อนการออกดอก นิยมนำมาปอกและใช้ดองเค็ม

3. พวกไม่เข้าปลี จะมีรสขมน้อยกว่าพวกเข้าปลี จึงสามารถนำมาใช้เป็นผักสดปรุงอาหารได้โดยตรง

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

ผักกาดเขียวปลีสามารถขึ้นได้ในดินแทบทุกชนิดที่อุดมสมบูรณ์ ความ เป็นกรดเป็นด่างของดิน (pH) อยู่ระหว่าง 6-6.5 ความชื้นในดินควรมีมากใน ระยะการเจริญเติบโตและลดน้อยลงในระยะเข้าปลี เป็นผักที่ต้องการแสงแดด เต็มที่ตลอดวัน นอกจากนี้ผักกาดเขียวปลีมีความต้องการสภาพอากาศหนาวเย็น คล้ายกับกะหลํ่าปลี โดยจะให้ผลผลิตสูงและคุณภาพดีในช่วงอุณหภูมิระหว่าง 15-20 องศาเซลเซียส

ข้อควรพิจารณาก่อนทำการผลิตผักกาดเขียวปลี

1. ควรมีแหล่งจำหน่ายผลผลิตที่แน่นอน ซึ่งการมีแหล่งจำหน่ายผลผลิต ที่แน่นอนนั้นจะทำให้เกษตรกรมีความมั่นใจในการลงทุนมากขึ้น

2. ควรมีปริมาณการผลิตที่เหมาะสม มีเป้าหมายการผลิตว่าจะผลิต ปริมาณมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับปัจจัยทางด้านความต้องการของ ตลาดและกำลังผลิตของเกษตรกร

3. ควรมีการคมนาคมที่ดีพอและประสิทธิภาพการขนส่งที่สูง ซึ่งเป็นความต้องการของผู้ผลิตและผู้ซื้อ เพราะจะทำให้การค้าขายคล่องตัวขึ้น

4. ควรคำนึงถึงคุณภาพของผลผลิต ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต่างก็ต้องการ ผลผลิตที่มีคุณภาพ แต่สภาพแวดล้อมและเทคนิคการผลิตมีขีดจำกัด ซึ่งต้องมีการกำหนดมาตรฐาน โดยความตกลงของเกษตรกรและผู้ซื้อในคุณภาพที่ เหมาะสม

5. ควรมีราคาที่พอใจตามสภาวะเศรษฐกิจและต้นทุนการผลิต

6. ควรผลิตในฤดูกาลที่เหมาะสม โดยปกติผักกาดเขียวปลีสามารถปลูกได้ตลอดปี แต่ในช่วงฤดูหนาวจะให้ผลผลิตดีที่สุด แต่บางท้องที่ในฤดูหนาว มีนํ้าไม่เพียงพออาจจะต้องปลูกในฤดูฝนก็ได้

7. ควรเน้นแหล่งผลิตที่เหมาะสม มีน้ำเพียงพอ ควรเน้นแหล่งที่มีการผลิตเป็นกลุ่ม เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทางราชการและผู้ซื้อช่วยแก้ปัญหาการผลิต และรับซื้อได้สะดวก

การเตรียมแปลงปลูก

แปลงปลูกจะมีการเตรียมที่แตกต่างกันออกไปตามสภาพพื้นที่ และ ปริมาณการผลิต โดยทั่วไปมีหลักการเตรียมแปลงดังนี้

1. การปลูกแบบแถวเดียว ส่วนใหญ่เป็นการปลูกแบบไร่ เหมาะแก่การปลูกตามพื้นที่ราบเรียบและใช้เครื่องจักรเตรียมดินเพื่อการยกร่อง แถวห่างกันประมาณแถวละ 50 เซนติเมตร โดยปลูกระหว่างต้น 50 เซนติเมตร

2. การปลูกแบบยกร่องสวน โดยการขุดคูระบายนํ้าเพื่อยกแปลงขนาดใหญ่ มีความกว้างประมาณ 5-6 เมตร ส่วนความยาวแล้วแต่สะดวก และสภาพพื้นที่ คูระบายนํ้านี้จะช่วยระบายนํ้าเข้าออกให้อยู่ในระดับที่ต้องการได้ มักนิยมปลูกโดยการหว่านเมล็ดหรือหยอดเมล็ดเป็นแถว แล้วถอนแยก เพื่อจัดระยะปลูกให้ได้ขนาด 50 X 50 เซนติเมตร

3. การยกแปลงแบบแถวคู่ เหมาะแก่การทำสวนขนาดเล็ก ใช้แรงคนในการเตรียมดิน โดยยกแปลงปลูกกว้าง 1 เมตร ความยาวแล้วแต่สะดวก ทำทางเดินเข้าไปรดนํ้าได้โดยสะดวก

การเตรียมดิน

เนื่องจากผักกาดเขียวปลีเป็นผักที่มีระบบรากตื้น ในการเตรียมดินปลูกควรขุดไถดินให้ลึกประมาณ 15-20 เซนติเมตร ตากดินไว้ประมาณ 5-7 วัน ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้วลงในดินให้มากประมาณ 2-3 ตันต่อไร่ เพื่อปรับปรุงให้ดินมีสภาพทางกายภาพที่ดีขึ้นและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ หลังจากนั้นพรวนย่อยหน้าดินให้ละเอียดเนื่องจากเมล็ดผักกาดเขียวปลีมีขนาดเล็กมาก ถ้าหน้าดินหยาบเมื่อหว่านเมล็ดจะตกลงลึกเกินไป อาจจะไม่งอกหรืองอกยาก ถ้าดินเป็นกรดควรปรับระดับ pH ของดินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

การปลูก

วิธีการปลูกผักกาดเขียวปลีแบบหว่านเมล็ดทั่วทั้งแปลงแล้วถอนแยก จัดระยะระหว่างต้นในภายหลัง เป็นวิธีที่นิยมมากที่สุด รองลงมาได้แก่การปลูกแบบหยอดเมล็ดเป็นแถวหรือเป็นหลุม ส่วนการปลูกแบบเพาะย้ายกล้านั้น ไม่เป็นที่นิยมมากนัก

การปลูกแบบหว่าน วิธีทำโดยหว่านเมล็ดให้กระจายทั่วทั้งพื้นที่ผิว แปลงปลูกที่ได้เตรียมดินไว้อย่างดีแล้ว แล้วใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัว ดีแล้วหรือดินผสมอย่างดี หว่านโรยทับตามลงไปให้หนาประมาณ 0.5-0.8 เซนติเมตร หลังจากนั้นคลุมด้วยฟางหรือหญ้าแห้งสะอาดบาง ๆ เพื่อเก็บความชื้น รดนํ้าด้วยฝักบัวฝอยละเอียดให้ชุ่มและทั่วถึง เมื่อต้นกล้างอกมีใบจริงประมาณ 1-2 ใบให้เริ่มถอนแยกโดยเลือกต้นที่อ่อนแอ ไม่สมบูรณ์ เป็นโรคหรือเบียดกันแน่นออก การถอนแยกอาจทำหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายไม่ควรปล่อยให้ต้นกล้าอายุเกิน 25-30 วัน พร้อมทั้งจัดระยะระหว่างต้นประมาณ 50 เซนติเมตร

การปลูกแบบโรยเป็นแถวหรือหยอดหลุม เป็นวิธีที่ประหยัดเมล็ดได้มากกว่าการหว่านโดยการโรยเมล็ดเป็นแถวลึกลงไปในดินประมาณ ½ – 1 เซนติเมตร ให้ห่างกันแถวละ 50 เซนติเมตร ควรให้เมล็ดในแถวห่างกัน พอสมควร และถอนแยกครั้งสุดท้ายให้ต้นแถวเดียวกันห่างกันประมาณ 50 เซนติเมตร หรือปลูกแบบหยอดหลุมโดยขุดหลุมตื้น ๆ ห่างกัน 50 เซนติเมตร ใช้ปู๋ยคอกหรือปู๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้วรองก้นหลุม หยอดเมล็ดประมาณ 3-5 เมล็ดต่อหลุม กลบด้วยดินผสมหรือปู๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ใช้ฟางหรือหญ้าแห้ง สะอาดคลุมเพื่อช่วยรักษาความชื้น รดนํ้าด้วยฝักบัวฝอยละเอียด เมื่อต้นกล้า งอกมีใบจริง 1-2 ใบควรเริ่มทำการถอนแยกและถอนแยกครั้งสุดท้ายเมื่อมีใบจริง 3-4 ใบ หรืออายุประมาณ 25-30 วัน ให้เหลือหลุมละ 1 ต้น

การปลูกแบบเพาะและย้ายกล้า เป็นวิธีที่ประหยัดเมล็ดพันธุ์มากที่สุด แต่สิ้นเปลืองแรงงานมากจึงไม่ค่อยนิยมวิธีทำโดยหว่านหรือโรยเมล็ดเป็นแถวในแปลงเพาะกล้าที่เตรียมดินอย่างดีแล้ว เนื่องจากกล้าผักกาดเขียวปลีค่อนข้าง อ่อนแอ ดังนั้นก่อนปลูกลงแปลงควรย้ายลงชำในถุงพลาสติกครั้งหนึ่งก่อนเมื่อ อายุ 20 วัน เพื่อให้ได้กล้าผักที่มีคุณภาพดีและสะดวกในการย้ายปลูก ควร ปฎิบัติดูแลให้ต้นกล้าสมบูรณ์ หมั่นตรวจดูแลป้องกันโรคและแมลง และเมื่อ กล้าอายุ 30 วัน จึงย้ายลงปลูกในแปลง

การปฏิบัติดูแลรักษา

การให้น้ำ เนื่องจากผักกาดเขียวปลีเป็นผักที่ต้องการนํ้ามากและมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้นในระยะกล้าควรให้นํ้าบ่อยครั้งและสมํ่าเสมอ และให้ในปริมาณมากขึ้นในช่วงเจริญเติบโต แต่ผักกาดเขียวปลีจะต้องการนํ้าน้อยลงเมื่อเข้าระยะห่อปลี ให้นํ้าโดยใช้ระบบพ่นฝอยหรือใช้สายยางติดหัวฝักบัว

การใส่ปุ๋ย สัดส่วนปุ๋ยที่จะใช้กับผักกาดเขียวปลีควรใช้ในโตรเจน (N) 1.5-2 ส่วน ฟอสฟอรัส (P2O5) 1 ส่วน และโปแตสเซียม (K2O) 1.5-2 ส่วน เช่น ปุ๋ยสูตร 14-14-21, 13-13-21 รวมกับปุ๋ยไนโตรเจนเช่น ยูเรีย โดยจะใส่กับปุ๋ยรองก้นหลุมตอนปลูกประมาณ 50-150 กิโลกรัมต่อไร่ ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดินและปริมาณปุ๋ยคอกที่ใช้ ควรพรวนกลบลงไปในดิน และทำการใส่ปุ๋ยเสริมคือปุ๋ยไนโตรเจน เช่น ยูเรีย จำนวน 2 ครั้ง ในอัตรา 20-25 กิโลกรัมต่อไร่ แบบหว่านหรือโรยข้าง แล้วรดนํ้าตามทันทีเมื่ออายุประมาณ 14 วัน และ 30 วัน ตามลำดับ

ถ้าดินขาดพวกธาตุอาหารรองที่จำเป็น เช่น โบรอน หรือผักเริ่มแสดง อาการขาดธาตุต่าง ๆ ดังกล่าว ควรมีการให้ธาตุโบรอนแก่ผักกาดเขียวปลีด้วย อาจให้ในรูปของโบแร๊กซ์ โดยใส่ลงในดินในอัตราประมาณ 2-4 กิโลกรัม ต่อไร่ หรือละลายโบแร๊กช์ผสมนํ้าฉีดพ่นให้ทางใบในอัตราส่วน 40 กรัมต่อนํ้า 20 ลิตร ฉีดให้ทั่วทุกต้นในช่วงระหว่างการเจริญเติบโต

สำหรับการพรวนดินและกำจัดศัตรูพืช ควรปฎิบัติพร้อม ๆ กับการถอนแยกในระยะแรก

การเก็บเกี่ยว

ผักกาดเขียวปลีที่ปลูกในเมืองไทยส่วนมากจะมีอายุกล้าประมาณ 30 วัน หลังจากหยอดเมล็ด แล้วเจริญเติบโตเข้าสู่ระยะหัวปลีอายุประมาณ 40-55 วัน และสามารถเก็บเกี่ยวเพื่อส่งตลาดหรือโรงงานได้เมื่ออายุประมาณ 55-75 วัน ควรเลือกตัดหัวที่เข้าปลีแน่นได้ขนาดที่ตลาดต้องการ โดยใช้มีดคม ๆ ตัดที่ โคนต้น ตัดแต่งใบนอกเล็กน้อยแล้วบรรจุภาชนะเพื่อส่งตลาดหรือนำไปขึ้นรถ ต่อไป

โรคและแมลง

โรคเน่าคอดิน สาเหตุเกิดจากเชื้อราได้หลายชนิด ลักษณะอาการส่วนโคนของต้นกล้าที่อยู่ระดับดินจะมีลักษณะเป็นรอยชํ้าสีนํ้าตาล เนื่องจากแปลงปลูกชื้นแฉะอยู่เสมอหรือหว่านเมล็ดหนาแน่นเกินไป อากาศถ่ายเทไม่สะดวก ลักษณะยอดจะแห้งคล้ายถูกนํ้าร้อนลวก จะทำให้ผักตายอย่างรวดเร็ว บริเวณ ที่เป็นโรคจะค่อย ๆ ขยายวงกว้างออกไปเป็นวงกลมกว้างขึ้น ภายในวงกลมที่ขยายออกไปจะไม่มีต้นกล้าเหลืออยู่เลย ในสภาพที่มีอากาศเย็นและมีความชื้น สูงอาจพบเส้นใยสีขาวคล้ายปุยสำลีของเชื้อราขึ้นปกคลุมที่บริเวณเกิดโรค

การป้องกันกำจัด คลุกเมล็ดก่อนนำไปปลูกด้วยแคปแทน, เทอร์แซน ไม่หว่านเมล็ดแน่นเกินไป ควรถอนกล้าออกบ้างเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ดี และ ระมัดระวังเรื่องความชื้นโดยอย่าให้นํ้ามากโดยไม่จำเป็นและอย่าให้นํ้าขังบน แปลงปลูก

โรคเน่าเละ สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด แต่ที่พบเสมอคือ Erwinia carotovora อาการเริ่มแรกจะปรากฏเป็นจุดฉ่ำนํ้าใส ๆ ซึ่งมักเกิดตรงบริเวณรอยแผลที่ตัดออกจากต้น แผลจะขยายใหญ่ขึ้นและลุกลามไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีขอบเขต เนื้อเยื่อบริเวณแผลจะยุบตัวลง นํ้าจากเซลล์ที่ถูกทำลายจะทำให้แผลเปียกเยิ้มเกิดการเน่าและมีกลิ่นเหม็น

การป้องกันกำจัด ระมัดระวังอย่าให้เกิดแผลหรือรอยชํ้าทั้งขณะเก็บเกี่ยวและขนส่ง ในแปลงปลูกควรมีการระบายนํ้าที่ดีและไม่รดนํ้ามากจนเกินไป ฉีดยาฆ่าแมลงเพื่อกำจัดแมลงปากกัดหรือแมลงวันในแปลงปลูก

โรคโอกึนหรือโอเก็ง สาเหตุเกิดจากการขาดธาตุโบรอน มักเกิดในพื้นที่ซึ่งมีการปลูกผักกาดเขียวปลีติดต่อกันหลาย ๆ ครั้ง การขาดธาตุโบรอน จะเกี่ยวข้องกับขบวนการ Sugar translocation และการใช้ธาตุแคลเซียมของพืช จะทำให้พืชแคระแกร็นและมักจะเกิดมีรอยแตกขึ้นตามผิวของส่วนต่าง ๆ เช่น ลำต้น ก้านใบ เมื่อขุดขึ้นมาดูปลายรากจะแห้งตายเป็นสีดำ หากเป็นมาก เมื่อผ่าดูไส้กลางลำต้นจะเป็นรอยชํ้าสีดำ ป้องกันได้โดยการให้ธาตุอาหาร พวกโบรอนลงไปในดินบ้าง

โรครานํ้าค้างของผักกาดเขียว สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Peronospora parasitica อาการจะเริ่มปรากฏที่ใบล่างก่อน โดยเริ่มแรกจะเป็นแผลขนาดเล็ก และสีซีดจาง ต่อมาแผลขยายใหญ่ขึ้น รูปร่างแผลไม่แน่นอน เมื่อพลิกดูใต้ใบ เนื้อเยื่อใบบริเวณใต้แผลจะยุบตัวลง ขอบแผลไม่สมํ่าเสมอ ในช่วงเช้าที่มีอากาศชื้นจะพบส่วนของเชื้อเจริญอยู่บริเวณแผลด้านใต้ใบ โดยเฉพาะที่ส่วนของแผล เป็นขุยสีขาวปรากฏให้เห็น เมื่อเป็นมาก ๆ จะทำให้ใบไหม้แห้งตายไปในที่สุด

การป้องกันกำจัด คลุกเมล็ดด้วยเมทาแลคซิลในอัตรา 7 กรัมต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม กำจัดวัชพืชในแปลง และฉีดพ่นด้วยสารเคมีแคปตาโฟล หรือแมนโคเซปในอัตรา 30 กรัมต่อนํ้า 20 ลิตร เมื่อต้นพืชอายุได้ 1 เดือน จะปรากฏอาการของโรคขึ้น

หนอนกระทู้ผัก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Spodoptera litura พบบ่อยมากในพวกผักกาด หนอนชนิดนี้จะสังเกตได้ง่าย คือลำตัวอ้วนป้อม ผิวหนังเรียบคล้ายหนอนกระทู้หอม มีสีสันต่าง ๆ กัน แถบสีขาวข้างลำตัวไม่ค่อยชัด หัวมักมีจุดสีดำใหญ่ตรงปล้องที่สาม แต่ถ้าหนอนมีขนาดใหญ่มักจะไม่ค่อยเห็นชัดนัก เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาด 3-4 เซนติเมตร เคลื่อนไหวช้า ระยะตัวหนอนจะกินเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ จึงเข้าดักแด้ตามใต้ผิวดิน ระยะดักแด้ประมาณ 7-10 วัน

ลักษณะการทำลาย หนอนกระทู้ผักทำลายผักกาดเขียวปลีโดยจะกัดกินใบ ก้านใบ หรือเข้าทำลายปลี ตัวหนอนจะกัดกินใบจนผิวใบบางใส หรือเป็นรูพรุนไปหมด มักจะเข้าทำลายเป็นหย่อม ๆ ตามจุดที่วางไข่ไว้

การป้องกันกำจัด หมั่นตรวจดูสวนผักอยู่เสมอ เมื่อพบไข่ควรทำลายเสีย เป็นการป้องกันการระบาดไม่ให้ลุกลามต่อไป สำหรับสารเคมีที่ใช้ฉีดพ่นได้แก่ เมโธมิล อัตรา 10-12 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

ด้วงหมัดผัก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Phyllotreta sinuata ตัวเต็มวัย เป็นแมลงปีกแข็งขนาดเล็ก ยาว 1 ½  มิลลิเมตร ตัวเต็มวัยจะวางไข่ในดินบริเวณ ใกล้ ๆ ต้นพืช ตัวอ่อนมีขนาดเล็ก สีขาวใส โตเต็มที่ยาวประมาณ ½  เซนติเมตร จะเข้าดักแด้ในดิน ด้วงหมัดผักมีนิสัยที่สังเกตได้ง่ายคือเมื่อถูกกระทบกระเทือน จะกระโดดโดยอาศัยขาหลัง ส่วนโคนขาใหญ่จึงสามารถดีดตัวได้ไกล

ลักษณะการทำลาย ด้วงหมัดผักเป็นศัตรูที่สำคัญของพวกผักกาด พบการทำลายไต้ตลอดทั้งปี โดยตัวเต็มวัยจะกัดกินใบจนเป็นรูพรุน ทำความเสียหายได้ในระยะที่ผักกำลังเจริญเติบโต สำหรับตัวอ่อนที่เป็นหนอนจะชอบกัดกินราก

การป้องกันกำจัด ไม่ปลูกผักชนิดเดียวกันซํ้าที่เดิม การไถตากดิน ในฤดูแล้งจะเป็นการช่วยทำลายตัวอ่อนหรือดักแด้ที่อยู่ในดินได้ และฉีดพ่น ด้วยเซฟวิน 85 % ในอัตรา 20-30 กรัมต่อนํ้า 20 ลิตร