ผักคราดหัวแหวนใช้รักษา


ผักตุ้มหู  ผักเผ็ด

ชื่อ
จีนเรียก    โฮ่วเจียเช่า, ตั่วอึ้งฮวย, เทียงบุ่งเช่า Spilanthes acmella Murr.

ลักษณะ
อยู่ในประเภทดอกเบญจมาศ ชอบขึ้นในทุ่งนา ริมคู ริมถนนหนทาง หรือคนนำมาปลูกเป็นยา เป็นพืชล้มลุก ลำต้นสีแดงแกมม่วง มีขนขึ้นประปราย สูง 2-3 ฟุต โดยมากขึ้นเอน เมื่อต้นถูกดินก็ปริรากยึดกับดิน ใบขึ้นคู่ สีเขียวเข้ม มีก้านใบ ใบรูปกลมรี ยาว 1-2 นิ้ว ฐานบานปลายแหลม ขอบใบเป็นหยักๆ รูปฟันเลื่อย หน้าใบเอ็นขึ้นเห็นชัด ออกดอกเกือบตลอดปี ก้านดอกยาวมาก ออกดอกที่ปลาย เป็นกลุ่มกลมสีเหลือง ส่วนลูกเป็นเม็ดสีดำ

รส
รสเผ็ดเฝื่อน ธาตุร้อน ไม่มีพิษ

สรรพคุณ
สามารถแก้พิษ ขับลม ใช้ภายนอกแก้บวม แก้ปวด ฤทธิ์เข้าถึงตับและม้าม

รักษา
ไข้จับสั่น ลงท้องเพราะหวัดร้อน ใช้ภายนอกแก้พิษงูกัด หมากัด ผิวหนังเป็นพิษ เป็นตุ่ม ผื่นฝี ฝีเรื้อรัง ฝีตะมอย ปวดฟัน

ตำราชาวบ้าน
1. ไข้จับสั่น-ผักคราดหัวแหวน 1 ตำลึง ต้มนํ้าใส่นํ้าตาลแดง
2. ลงท้องเพราะหวัดร้อน-เอาผักคราดหัวแหวนดองเค็มสักครึ่งตำลึง ต้มน้ำรับประทาน
3. งูพิษกัด-เอาผักคราดหัวแหวน และหญ้าดอกตูบ  อย่างละ 1 ตำลึง ตำกับเหล้าจนแหลก เอานํ้ารับประทาน ส่วนกากใช้พอกปากแผล หรือเอาผักคราดหัวแหวนที่ตากแห้งแล้วบดผงผสมเหล้ารับประทาน
4. หมากัด-ผักคราดหัวแหวน 1 ตำลึง ตำกับเหล้าจนแหลก เอานํ้ารับประทาน ส่วนกากใช้พอกที่แผล
5. ผิวหนังเป็นผื่นฝีตุ่มพิษ-ผักคราดหัวแหวนตำกับเหล้า    ใช้พอกหรือทา
6. ฝีแผลเรื้อรังหายยาก-ผักคราดหัวแหวน ตำแหลกเอานํ้าผสมนํ้ามันชา ทาหรือพอก
7. ฝีตะมอยหัวนิ้วมือนิ้วเท้า-ผักคราดหัวแหวน หญ้าดอกตูบ ตะขาบบิน อย่างละเท่าๆ กัน ตำแหลก แล้วพอก ถ้าแผลแตกก็ตำใส่นํ้าผึ้ง พอก
8. ปวดฟัน-เด็ดเอาดอกผักคราดหัวแหวน ขยี้แล้วยัดใส่ฟันที่ปวด

ปริมาณ
สดใช้ไม่เกิน 1 ตำลึง แห้งไม่เกินครึ่งตำลึง ใช้ภายนอกกะพอประมาณ

ข้อควรรู้
หญิงมีครรภ์ ไม่ควรรับประทาน

ที่มา:บุญชัย  ฉัตตะวานิช