ผักดาวทองประโยชน์ทางยา


ผักกะตอง

ชื่อ
จีนเรียก     ฮื้อเซ็งเช่า   ไต้ตอเช่า ไทยทางพายัพเรียกผักกะตองใช้กินกับลาบ  Houttuynia cordata. Thunb.

ลักษณะ
ชอบขึ้นตามร่องนํ้าตามทุ่งนา ที่ลุ่ม ปกติชาวบ้านชอบปลูกเป็นผักกับ อาหารและเป็นยา เป็นพืชยืนต้นหลายปี ต้นสูงประมาณ 7-8 นิ้ว ลำต้นมักมีสีแดง ใบคู่ มีก้านใบยาว ใบรูปคล้ายรูปหัวใจ ฐานกลมป้านปลายแหลม ยาว 2-3 นิ้ว ขอบใบเรียบ ฐานก้านใบมีฝักหุ้ม เคี้ยวดูมีกลิ่นคาวปลา ออกดอกหน้าร้อนและหน้าฝน ดอกมีกลีบ 4-5 กลีบ ตัวดอกเป็นช่อขึ้นกลางดูเป็นเมล็ดเล็กๆ สีเขียวอ่อน

รส
รสเผ็ดพอควร กลิ่นคาว ธาตุเย็น มีพิษนิดหน่อย

สรรพคุณ
รับประทานแก้พิษ ขับนํ้าหนอง ขับปัสสาวะ ใช้ภายนอกระงับปวด ขับพิษ ฤทธิ์เข้าถึงปอดและม้าม

รักษา
แก้ไอเพราะปอดร้อน ไอกรน ปอดอักเสบเป็นหนอง เด็กลงท้อง ใช้
ภายนอกแก้โรคผิวหนังเป็นตุ่มบวม ฝี ขี้เกลื้อน ฝีตะมอย

ตำราชาวบ้าน
1. ไอเพราะปอดร้อน – ผักดาวทอง 1 ตำลึง ต้มกวยแชะ
2. ไอกรน – ผักดาวทองครึ่งตำลึง ตุ๋นนํ้าตาลทรายขาว
3. ปอดอักเสบเป็นหนองบ้วนหนอง – ผักดาวทอง 1 ตำลึง ตำแหลกตุ๋น กับน้ำผึ้ง หรือต้มปอดหมู รับประทาน
4. เป็นบิด – ผักดาวทอง 1  ตำลึง ต้มน้ำ ชงน้ำผึ้ง รับประทาน หรือใส่ น้ำตาลแดง รับประทาน หรือต้มกับผักเบี้ยแดง  1 ตำลึง รับประทาน
5. เด็กลงท้อง – ผักดาวทอง เจ็ดใบ ชงน้ำร้อน รับประทาน
6. ฝี – ตำผักดาวทอง พอก
7. กลากเกลื้อน – ตำผักดาวทอง ทา
8. ตะมอยที่นิ้วมือ – ผักดาวทองตำแหลก แล้วพอก

ปริมาณใช้
สดไม่เกิน 2 ตำลึง แห้งไม่เกิน 1 ตำลึง ใช้ภายนอกกะประมาณพอควร

ที่มา:บุญชัย  ฉัตตะวานิช