ผักตบชวา

ผักตบชวา (phak top chawaa) ผักตบป่อง สวะ ผักบ่ง ผักป่อง (ไทย) จุยโหว่โล้ว ตั่วจุ๋ยเพี้ย (จีน)
เป็นพืชขึ้นลอยบนผิวน้ำ หรือบนดินชื้นแฉะ มีอายุข้ามปี (perennial) ลำต้นสั้น
ใบ ออกเป็นช่อ (rosettes) รอบต้น ตัวใบลักษณะกลม จนถึงรูปไต ปลายใบมน อาจมีขนาดใหญ่หรือเล็ก ก้านใบอาจยาวหรือสั้นแตกต่างกันได้มาก ขึ้นกับสภาพความอุดมสมบูรณ์ของน้ำและธาตุอาหาร เส้นผ่าศูนย์กลางใบ 2.5-15 ซม. ทำหน้าที่ต้านลมแบบใบของเรือ ส่วนกลางของก้านใบลงไปถึงโคนใบจะพองออก ภายในมีเนื้อฟ่ามๆ คล้ายฟองน้ำ เป็นสิ่งพยุงให้ต้นลอยน้ำได้ อาจมีขนาดยาวได้ถึง 30 ซม. ส่วนโคนใบมีหูใบ
ดอก เป็นช่อ (spike) ออกตลอดปี ช่อหนึ่งมี 6-12 ดอก (อาจถึง 35 ดอก) ก้านช่อดอกยาว 13-30 ซม. ดอกย่อยมีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก (perianth) สีม่วง ติดกันที่ฐานเป็นรูปทรงกรวยยาวประมาณ 5 ซม. ส่วนปลายแยกออกเป็น 6 กลีบ กลีบบนมีวงขนาดใหญ่ 1 วง สีน้ำเงิน ตรงกลางสีเหลือง มีเกสรตัวผู้ 6 อัน ยาว 3 อัน สั้น 3 อัน ติดกับกลีบดอก ก้านเกสรตัวเมีย 1 อัน เป็นเส้นบางๆ ปลายเป็นตุ่มสีขาว รังไข่มีเมล็ดมาก เมื่อดอกบานเต็มที่และเริ่มโรย ก้านช่อดอกจะโค้งงอลง ทำให้ดอกที่โรยจมลงใต้น้ำ
ผล (capsule) มี 3 พู มีเมล็ดภายในมาก อาจมีมากถึง 50 เมล็ดต่อผล เมล็ดกลม
ขยายพันธุ์ โดยอาศัยเมล็ด หรือแตก ต้นอ่อนใหม่จากไหลแล้วแยกหลุดออกไปจากต้นเดิม รากแตกออกจากข้อบนไหล บางครั้งมีสีม่วงดำ ซึ่งเกิดจากสาร anthocyanin พบตามที่น้ำขัง ลำคลองชลประทานทั่วไป