ผักตระกูลแตง:โรคที่เกิดกับผักตระกูลแตง

โรคผักตระกูลแตง

กลุ่มงานวิจัยโรคพืชผักและไม้ประดับ

กองโรคพืชและจุลชีวเกษตร

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

พืชตระกูลแตงมีหลายชนิด บางชนิดใช้รับประทานแบบพืชผักบางชนิดรับประทานแบบผลไม้  ไม่ว่าจะเป็นแตงชนิดไหนก็ตามมีโอกาสที่จะเป็นโรคชนิดเดียวกันได้ แตงที่รับประทานแบบผลไม้ได้แก่  แตงโม แตงกวา แคนตาลูป แตงไทย แตงที่ใช้เป็นอาหารจำพวก ผัก ได้แก่ แตงกวา แตงร้าน มะระ ฟักทอง ฟัก แฟง น้ำเต้า ตำลึง บวบ ฯลฯ

จากการสำรวจพบว่าพืชในตระกูลแตงแต่ละชนิดมีโรคระบาดที่สำคัญและเป็นอุปสรรคต่อการปลูกมากหลายโรคด้วยกัน แต่ละโรคทำลายพืชตระกูลแตงเกือบทุกชนิดและเป็นโรคเดียวกัน  ดังนั้นการศึกษาและเรียบเรียงคำแนะนำเรื่องโรคใดโรคหนึ่งและวิธีป้องกันกำจัดจึงสามารถใช้รวมไปได้กับพืชทุกชนิดในตระกูลแตง

โรคผักตระกูลแตงและวิธีป้องกันกำจัด

โรคผักตระกูลแตงมีความสำคัญทางเศรษฐกิจไม่แพ้โรคผักของพืชตระกูลอื่น ๆ หรือพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ และกำลังจะได้รับการส่งเสริมให้พืชบางชนิดในตระกูลนี้ปลูกกันอย่างกว้างขวาง  เพื่อใช้ผลิตอาหารกระป๋องสำเร็จรูป เช่น ทำแตงกวาดอง ฯลฯ และเป็นที่แน่นอนว่าจะต้องประสพปัญหาเรื่องโรค  ซึ่งจะทำให้เกิดความต้องการเอกสารวิชาการเกี่ยวกับรายละเอียดเรื่องโรคและวิธีป้องกันกำจัด เช่น  รายละเอียดเรื่องระดับความเสียหายความรุนแรงของโรค การแพร่ระบาด สาเหตุของโรค สภาพสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเกิดโรคพาหะนำโรคและวิธีป้องกันกำจัดที่ให้ผลดีที่สุดและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อย  การป้องกันกำจัดโรค โดยวิธีใช้สารเคมีฉีดพ่นอาจไม่ได้ผลเลยและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากขึ้นโดยไม่จำเป็น เช่น ในกรณี ที่เกิดโรคขาดธาตุอาหารหรือสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่เชื้อโรค ดังนั้น จำเป็นที่จะต้องทราบสาเหตุที่แท้จริงเสียก่อน  แล้วจึงจะคัดเลือกวิธีการป้องกันกำจัดที่แท้จริงมาใช้หรืออาจจะต้องใช้วิธีการหลาย ๆ วิธีเข้าร่วมกันเพื่อให้การป้องกันกำจัดมีประสิทธิภาพสูง  โรคจะได้ลดน้อยลง  เพื่อที่จะให้การเรียบเรียงสมบูรณ์จึงได้จัดแบ่งโรคของผักตระกูลแตงออกเป็นหมวดหมู่ตามสาเหตุของโรค

โรคปลายผลเน่าเกิดจากขาดธาตุแคลเซียม

โรคปลายผลเน่าแห้งสีดำ (Blossomend rot)

โรคปลายผลเน่าเป็นโรคที่ทำความเสียหายมากกับแตงโม โดยเฉพาะพันธุ์ชาร์ลสตันเกรย์  ซึ่งปลูกไม่แพร่หลายนัก  เพราะพันธุ์นี้มีขนาดใหญ่มากไม่เป็นที่นิยมของผู้ซื้อ  แต่ก็มีข้อดีที่เก็บได้นานกว่าแตงพันธุ์ชูก้าเบบี้  ซึ่งนิยมปลูกกันมากในปัจจุบัน  พันธุ์ชูก้าเบบี้เก็บไม่ได้นานเท่าชาร์ลสตันเกรย์ก็จริงแต่เนื่องจากไม่เป็นโรคนี้และมีขนาดกำลังดี  จึงนิยมปลูกกันมาก  นอกจากแตงโมแล้ว แตงร้านและแตงกวาก็ปรากฎว่าเป็นโรคนี้บ้างเล็กน้อย

ลักษณะอาการของโรค

อาการเหี่ยวเริ่มจากปลายผลเข้ามาต่อมาเนื้อเยื่อจะแห้งแข็งเป็นสีน้ำตาบ  เนื่อเยื่อจะยุบเข้าไปและมักจะมีเชื้อราอื่น ๆ มาขึ้นบนเนื้อเยื่อที่ตายแล้วทำให้เกิดอาการเน่าขึ้นภายหลัง

สาเหตุของโรค

โรคนี้เกิดจากการขาดธาตุแคลเซียมและเกี่ยวกับการดูดซึมน้ำของรากแตงโมด้วย สาเหตุทั้งสองมีความสัมพันธ์กันมาก  เพราะธาตุแคลเซียมจะช่วยให้การดูดซึมที่รากดีขึ้นด้วย  แตงโม  คงต้องการธาตุนี้มากกว่าพืชอื่น ๆ ในตระกูลเดียวกัน

การป้องกันกำจัด

การปลูกแตงโมควรใช้ปูนขาวใส่ลงในดินสัก 100-150 กิโลกรัมต่อไร่  หรือจะใช้ฉีดพ่นด้วยธาตุแคลเซียม เช่น แคลเซียมคลอไรด์ 0.2 % และควรให้น้ำสม่ำเสมอหรือต้องปลูกในที่ ๆ มีน้ำในระดับที่แตงโมจะดูดซึมได้สม่ำเสมอตลอดเวลา

โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย

1.  โรคเหี่ยวเฉาเกิดจากแบคทีเรีย (Bacterial wilt)

แตงกวาเป็นโรคนี้มากกว่าอย่างอื่น และแตงโมมีความทนทานต่อโรคนี้สูงมากจนเกือบจะไม่พบโรคนี้เลย  ถ้ามีโรคนี้ระบาดจะเสียหายเพราะแตงจะเหี่ยวภายในเวลาอันรวดเร็ว

ลักษณะอาการของโรค

อาการเกิดที่ใบโดยแสดงอาการเหี่ยวเป็นบางใบก่อน  อาการเหี่ยวลามไปที่ขั้วใบและเถาแตง  ทำให้เถาแตงเหี่ยวตายทั้งต้นในเวลาอันรวดเร็ว  เมื่อเหี่ยวมาก ๆ ผลจะเหี่ยวแห้งแล้วต้นพืชจะตาย

การตรวจโรคนี้ใช้วิธีตัดลำต้นที่เป็นโรคตามขวางเพื่อดูเชื้อบักเตรีซึ่งมีลักษณะเป็นของเหลวขุ่นข้นสีเหมือนสีน้ำนม ออกมาจากรอยตัด บางครั้งไม่พบของเหลวดังกล่าวควรนำไปแช่ในน้ำที่สะอาดถ้าพบของเหลวดังกล่าวไหลออกมาทำให้น้ำขุ่นกว่าเดิมก็แสดงว่าพืชนั้นมีแบคทีเรียในเนื้อเยื่อพืชก็ต้องนำมาทำการเพาะเลี้ยงเชื้อหาเชื้อบริสุทธิ์

สาเหตุของโรค

โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย  ซึ่งแพร่ระบาดโดยแมลงศัตรูพืช

การป้องกันกำจัด

ถอนต้นที่เป็นโรคไปทำลายเสีย กำจัดแมลงที่อาจนำเชื้อโรค

2.  โรคใบจุด โรคใบจุดของผักตระกูลแตงที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย มีเชื้อแบคทีเรียเป็นสาเหตุอยู่ 2 ชนิด

ก. โรคใบจุดเกิดจากแบคทีเรีย (Angular leaf spot, Bacterial spot jor Blight)

แตงแคนตาลูป แตงโม เป็นโรคนี้มากกว่าอย่างอื่น  ส่วนแตงกวา น้ำเต้า มีความคงทนต่อโรคนี้ต่างกัน

ลักษณะอาการของโรค

อาการเริ่มแรกจะเป็นเป็นจุดฉ่ำน้ำ ขนาดแผลไม่แน่นอน ในที่ ๆ มีอากาศชื้นอาจพบเชื้อแบคทีเรียดูดออกมาที่แผล

เมื่อแผลแห้งจุดของแผลจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและใบจะแห้งร่วงไปในที่สุด  อาการของโรคเป็นเฉพาะที่ เช่น ที่กิ่ง ใบ ผล แต่แผลที่ผลมีขนาดเล็กกว่า ถ้าเป็นมาก ๆ ผลจะร่วง

สาเหตุของโรค

โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Pseudomonas lachrymans (E.F. Smith and Bryan) Carsner

การป้องกันกำจัด

เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียอาศัยอยู่ในเศษซากพืชและอยู่ในเมล็ด  การป้องกันจึงควรแช่เมล็ดพันธุ์ด้วยน้ำร้อน  ประมาณ 55 องศาเซลเซียส นาน 10 นาที ก่อนปลูก หรือปลูกพืชหมุนเวียน 3 ปี ควรทำลายเศษซากพืชเสียก่อนปลูกพืชและใช้ยาฆ่าแมลงที่อาจนำเชื้อโรคมาสู่ต้นพืช

ข.  โรคใบจุด (Bacterial leaf-spot)

พืชที่เป็นโรคนี้ได้แก่ แตงกวา ฟักทอง แตงโม น้ำเต้า

ลักษณะอาการของโรค

โรคใบจุดนี้มีอาการเหมือนกับชนิดแรกต่างกันพบโรคเฉพาะที่ใบไม่เป็นที่ผล

สาเหตุของโรค

โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas cucurbitae

การป้องกันกำจัด

ใช้วิธีการป้องกันกำจัดเหมือนชนิดแรก

โรคที่เกิดจากเชื้อรา

1.  โรคราน้ำค้าง (Downy mildew)

โรคราน้ำค้างจัดว่าเป็นโรคที่สำคัญของแตงโมทุกพันธุ์รวมทั้งพืชในตระกูลนี้อีกหลายชนิดเช่น แตงกวา แตงร้าน มะระ ฯลฯ ส่วนพวกตำลึง บวบ ฟักทอง ฟักข้าว ไม่ค่อยพบโรคนี้ระบาด

ลักษณะอาการของโรค

ใบแตงโมมีแผลสี่เหลี่ยมสีน้ำตาลอ่อนประปรายทั่วใบ  ทำให้ใบแห้งและเหี่ยวอาการจะปรากฎบนใบแก่โคนเถาก่อน  โรคระบาดรวดเร็วมากจะทำให้เถาแตงเหี่ยวตายหมดทั้งเถาได้ในเวลาที่อากาศชื้น  ด้านท้องใบจะมีกระจุกของราสีขาวหม่นขึ้นบนแผลคล้ายผงแป้ง โรคมักจะระบาดรุนแรงและรวดเร็ว  เมื่อแตงกำลังให้ผล  ทำให้เถาแตงตายไปก่อนที่แตงโมจะสุก

สาเหตุของโรค

โรคนี้เกิดจากเชื้อรา Pseudoperonospora cubensis ซึ่งเป็นเชื้อราที่แพร่ระบาดไปในอากาศ

การป้องกันกำจัด

1.  คลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยเอพรอน 35 อัตราส่วนยา 1-2 ซองต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กก.

2.  ใช้ยาริตโตมิล เอ็มเซต 72, วามีน, ชนิดใดชนิดหนึ่งฉีดพ่น 5-7 วันต่อครั้ง

2.  โรคราแป้ง

โรคราแป้งจัดว่าเป็นโรคที่ทำความเสียหายมากอีกโรคหนึ่งของแตงโมทุกพันธุ์และพืชในตระกูลนี้เกือบทุกชนิดเป็นโรคนี้ได้ง่าย

ลักษณะอาการของโรค

ใบมีราสีขาวจับคล้ายผงแป้งโดยเฉพาะด้านบนใบและตามผล  เมื่อเชื้อราเริ่มจับใบใหม่ ๆ มีลักษณะเป็นวงกลมสีขาวซึ่งจะขยายออกไปจนคลุมเต็มผิวใบทำให้ใบแห้งกรอบเป็นสีน้ำตาลอาการใบแห้งจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและทำให้ใบแห้งหมดทั้งเถาได้ เถาแตงโมจะทรุดโทรมเร็ว

สาเหตุของโรค

โรคราแป้งเกิดจากเชื้อรา Oidium sp. ซึ่งสร้างสปอร์สีขาวคล้ายผงแป้งจับเคลือบอยู่บนใบและหลุดปลิวแพร่ระบาดไปในอากาศได้ง่าย

การป้องกันกำจัด

1.  ควรฉีดพ่นยาป้องกันกำจัดเชื้อรานี้โดยใช้ยากำมะถันผงชนิดละลายน้ำได้ในอัตรา 30-40 กรัม ต่อน้ำ 1 ปี๊บ

2.  ใช้ยาคาราเทนหรือมิลเด็กซ์

หมายเหตุ อัตราส่วนตามข้างสลากการฉีดพ่นยาดังกล่าวต้องฉีดพ่นในเวลาที่ไม่มีแสงแดดหรืออากาศร้อนจัด และใช้ความเข้มข้นต่ำไว้ก่อนจะไม่ทำให้เกิดอาการใบไหม้ ยาชนิดอื่นไม่ให้ผลดีเท่ายาที่กล่าวมาแล้ว

3.  โรคแอนแทรกโนส (Anthracnose)

แตงโมทุกพันธุ์เป็นโรคนี้และจัดว่าเป็นโรคที่ระบาดทั่วไป  โรคนี้ไม่ทำให้เนื้อใบเสียแต่ทำให้แตงโม มีรสหวานน้อยลงและมีสีอ่อนกว่าปกติ  ยกเว้นแตงแคนตาลูป  ซึ่งมีแผลใหญ่และผลเน่าอย่างรวดเร็วและเสียหายมากกว่าแตงพันธุ์อื่น ๆ

ลักษณะอาการของโรค

โรคนี้ทำให้เกิดจุดหรือแผลนูนเล็ก ๆ สีน้ำตาบประปรายทั่วไป  แผลดังกล่าวนี้เกิดบนผลแตงโม  ทำให้ผลแตงโมมีผิวขรุขระ พันธุ์ที่ไม่มีความต้านทาน แผลจะขยายใหญ่ขึ้นและเนื้อเยื่อตรงกลางแผลจะยุบต่ำลงไปจากระดับเดิมเล็กน้อย  ตรงกลางแผลมีเชื้อราเป็นหยดเยิ้มสีชมพูอ่อน  เรียงเป็นวงกลมซ้อนกันหลายชั้นตามขนาดของแผลที่ขยายใหญ่ขึ้น เช่น แผลบนแตงแคนตาลูป

สาเหตุของโรค

โรคนี้เกิดจากเชื้อรา Colletotrichum lagenarium

การป้องกันกำจัด

ฉีดพ่นยาป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น เบนเลท,เดอโรซาน,ไดโฟลาแทน หรือซินโคโฟล ชนิดใดชนิดหนึ่ง อัตราตามข้างสลากทุก ๆ 5-7 วัน  เมื่อเริ่มพบโรคระบาดและเก็บผลที่เป็นโรคทิ้ง  เพื่อทำให้มีเชื้อแพร่ระบาดมากขึ้น  ยาป้องกันกำจัดเชื้อราเกือบทุกชนิดให้ผลในการป้องกันกำจัดใกล้เคียงกัน  การใส่ปุ๋ยอินทรีย์และกากพืชจำนวนมากมีผลทำให้โรคลดน้อยลงได้มาก

4.  โรคเหี่ยว (Fusarium wilts)

แตงโม แตงกวา แตงร้าน แคนตาลูป เป็นโรคนี้ทั่วไปทุกแห่ง พืชอื่น ๆ ในตระกูลเดียวกันนี้มีความต้านทานและคงทนต่อโรคสูง  จึงไม่ใครพบโรคนี้  ความเสียหายเกิดขึ้นมากน้อยแล้วแต่จำนวนต้นที่เหี่ยวตาย  แต่จัดว่าเป็นโรคที่สำคัญโรคหนึ่งซึ่งเป็นมากในระยะที่แตงกำลังตกผล  ซึ่งอาจจะทำให้ต้นเหี่ยวตายไปก่อนที่จะเก็บผล

ลักษณะอาการของโรค

ใบแก่ที่อยู่ที่โคนเถาแตงจะเริ่มเหลืองและเหี่ยวตายก่อนแล้วลามไปจนถึงปลายเถาบางต้นมีลำต้นแตกช้ำ  แตงมักจะเริ่มเหี่ยวจากแขนงใดแขนงหนึ่งก่อน  แล้วจะแห้งตายหมดทั้งเถาในเวลาต่อมา

สาเหตุของโรค

เกิดจากเชื้อรา Fusarium spp. ซึ่งเป็นเชื้อราที่ชอบอาศัยอยู่ในดินที่เป็นทรายมากและเป็นดินกรด  ดินที่ปลูกแตงติดต่อกันหลายปีมักจะมีโรคนี้ระบาดมาก

การป้องกันกำจัด

1.  ควรปรับดินด้วยปูนขาวประมาณ 100-150 กก. ต่อไร่  และเมื่อจะปลูกซ้ำ ที่ควรจะใส่ปุ๋ยอินทรีย์ให้มากหลังจากการใส่ปูนขาวจะช่วยทำให้โรคนี้ลดน้อยลง  ถ้าปุ๋ยอินทรีย์จำพวกปุ๋ยคอกหรือมูลสัตว์หายากก็ควรพิจารณาปลูกพืชตระกูลถั่วแซมหรือสลับแล้วไถกลบต้นถั่วให้เป็นปุ๋ยพืชสดหรือกากพืชลงไปในดิน และไม่ควรปลูกแตงซ้ำที่เกินกว่า 3 ปี

2.  ใช้ยาเทอราโซล  หรือเทอราคอลซุปเปอร์เอ็กซ์  อัตราส่วนตามข้างสลากรดโคนต้นให้ชุ่ม

หมายเหตุ การใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์มากจะทำให้เป็นโรคนี้มากขึ้น  ควรใส่แต่น้อยแต่ใส่หลาย ๆ ครั้ง

5.  โรคใบจุด

แตงมีโรคใบจุดเกิดจากเชื้อราต่างกันหลายชนิด  มีอาการคล้ายคลึงกัน การระบาดของโรคไม่รุนแรงเหมือนโรคอื่น ๆ โรคใบจุดของแตงมีดังต่อไปนี้

5.1  โรคใบจุดของแตงเกิดจากเชื้อออเทอนาเรีย (Alternaria)

ลักษณะอาการของโรค

จุดแผลจะฉ่ำน้ำ มีสีเหลือง และสีของแผลจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล หรือเทากลาง ๆแผลมีสีดำ  เมื่อแผลมีขนาดใหญ่ แผลจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มและพบเชื้อราขึ้นเรียงเป็นวงแหวนกลาง ๆ แผลอาจฉีกขาด ผลของต้นที่เป็นโรคมักจะสุกก่อนกำหนด และอาจพบแผลที่ผลและที่ลำต้น

สาเหตุของโรค

โรคนี้เกิดจากเชื้อรา Alternaria cucumerina (Ellis and Everhart Elliott)

การป้องกันกำจัด

เนื่องจากเชื้อราอาศัยอยู่ในเศษซากพืช การป้องกันกำจัดจึงควรทำดังนี้

1.  ทำลายเศษซากพืชที่เป็นโรค

2.  ใช้เมล็ดที่ปราศจากโรค

3.  คลุกยาคลุกเมล็ด เช่น ไดเทนเอ็ม 45 ชนิดสีแดงเสียก่อนปลูก

4.  ปลูกพืชหมุนเวียน 3 ปี

5.  ใช้ยาพวกเดอโรซาน, ไดเท็นเอ็ม45, ไดโฟลาแทน หรือซินโคโฟลฉีดพ่น

5.2  โรคใบจุดเกิดจากเชื้อราเซอคอสปอรา

ลักษณะอาการของโรค

จุดของแผลมีขนาดเล็กเป็นรูปกลมหรือเหลี่ยมมีสีน้ำตาล กลาง ๆ จุด มีสีขาวหรือน้ำตาลอ่อนขอบของแผลมีสีม่วง หรือน้ำตาลอ่อน ส่วนมากเกิดด้านใบ

สาเหตุของโรค

โรคนี้เกิดจากเชื้อรา Cercospora citrullina Cook

การป้องกันกำจัด

ใช้วิธีเดียวกับโรคที่เกิดจากเชื้อออเทอนาเรีย

6.  โรคใบแห้ง (Corynespora blight)

แตงกวาเป็นโรคได้ง่าย

ลักษณะอาการของโรค

ลักษณะของแผลที่ใบจะกลมหรือเหลี่ยมมีสีน้ำตาล กลาง ๆ แผลมีสีเขียวหรือเหลือง เมื่อมีแผลมากและแผลมีขนาดใหญ่ขึ้น  ใบจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและแห้งตาย  แผลบนกิ่งก้าน มีลักษณะยาวตามส่วนของพืช  ผลที่ถูกเชื้อเข้าทำลายมักจะเป็นผลที่แก่และผลที่มีสีเหลือง  ใบหรือผลอ่อนที่มีสีเขียวเชื้อราชนิดนี้จะไม่เข้าทำลาย

สาเหตุของโรค

โรคนี้เกิดจากเชื้อรา Corynespora melonia (Cooke) Lindan

การป้องกันกำจัด

1.  ทำลายเศษซากพืชที่เป็นโรคและเศษซากพืชหลังเก็บเกี่ยว

2.  ใช้ยาเบนเลท ไดเทนเอ็ม 45 หรือ ไดโฟลาแทน  ชนิดใดชนิดหนึ่งในการป้องกันกำจัดแต่จากการทดลองพบว่ายาเบนเลทใช้ได้ผลดี

7.  โรคดอกเน่า (Choanephora wet-rot)

พืชที่เป็นโรคนี้ได้แก่ น้ำเต้า ฟักทอง และพืชอื่น ๆ

ลักษณะอาการของโรค

บริเวณที่เป็นโรคจะเป็นจุดสีดำขนาดเท่าหัวเข็มหมุด  ฉ่ำน้ำและเน่าเละมักเป็นโรคบริเวณยอดอ่อน ๆ และยอดที่กำลังมีดอกโดยยอดจะมีสีซีดกว่ายอดปกติ  ต่อมายอดและผลอ่อนจะแห้ง  ส่วนมากจะพบโรคนี้ในเวลาที่มีฝนตากชุกและมีน้ำค้างหรือหมอกลงจัด

สาเหตุของโรค

โรคนี้เกิดจากเชื้อรา Choanephora cucurbitarum

การป้องกันกำจัด

ใช้ยาซาพรอล  หรือไดโฟลาแทน อัตราส่วนตามข้างสลาก ฉีดพ่นทุก ๆ 5-7 วัน

8.  โรคผลเน่า

โรคผลเน่าที่พบมากเกิดจากเชื้อรา 2 ชนิด และเป็นมากกับแตงโมและแตงกวา

8.1  โรคผลเน่าเกิดจากเชื้อพิเทียม (Pythium Fruit rot)

ใช้ยาริดโดมิล เอ็มแซด 72 หรือไดโฟลาแทนหรือซาพรอล อัตราส่วนตามข้างสลาก ฉีดพ่นทุก ๆ 5-7 วัน

ลักษณะอาการของโรค

จะพบโรคนี้ทั้งที่ผลและที่ราก อาการที่ผลจะเน่าและมักพบเส้นใยสีขาวของเชื้อราปกคลุมอยู่ที่ผิวของผล  ถ้าเกิดที่รากจะทำให้รากเน่า

สาเหตุของโรค

เกิดจากเชื้อรา Pythium spp.

8.2  โรคผลเน่าเกิดจากเชื้อดิพโพเดีย (Diplodia fruit rot)

แตงโมเป็นโรคนี้ได้มากที่สุด  นอกจากนี้มีแตงกวา และแคนตาลูป

ลักษณะอาการของโรค

เมื่อกดดูบริเวณขั้วของแตงโมที่เป็นโรคจะบุ๋ม  เชื้อราจะเข้าบริเวณขั้วก่อนเนื้อเยื่อที่ติดกับขั้วจะเน่าและฉ่ำน้ำ อาการเน่าเกิดขึ้นเร็วมาก เมื่อเป็นมาก ๆ ผลแตงจะมีสีดำ ถ้าอากาศชื้น ๆ จะพบเชื้อราสีเทา คลุมอยู่ที่ผล ถ้าพบเป็นโรคในผลที่ยังอ่อนเชื้อราจะเข้ามาบริเวณปลายผล  มีอาการเหมือนบริเวณที่ขั้วของผลแตงโมที่ถูกเชื้อชนิดนี้เข้าทำลาย  โดยมีสีอ่อนกว่าบริเวณที่ไม่ถูกเชื้อเข้าทำลาย เมื่อแผลมีขนาดใหญ่สีของแผลจะเข้ม พบเชื้อราบริเวณผิวแตงเห็นได้ชัดเจน  ต่อมาผิวแตงจะแห้ง  เชื้อราชนิดนี้ทำให้เกิดอาการผลเน่าได้เช่นเดียวกับเชื้อราชนิดแรกที่กล่าวมาแล้ว

สาเหตุของโรค

เกิดจากเชื้อรา (Diplodia gossypina coke)

การป้องกันกำจัด

1.  ฉีดพ่นยาป้องกันกำจัดเชื้อรา

9.  โรครากปม

การปลูกแตงโมในที่บางแห่งมีปัญหาโรครากปมระบาดมาก โรคนี้ไม่ทำให้เถาแตงโมตายแต่ก็ทำให้แตงแคระแกรนไม่ใคร่เจริญเติบโต ทำให้ผลผลิตตกต่ำ

ลักษณะอาการของโรค

ยอดแตงแสดงอาการชูตั้งชันและไม่เจริญยืดยาวออกไป  ในเวลากลางวันที่มีอากาศร้อน  เถาแตงจะแสดงอาการเหี่ยวและฟื้นเป็นปกติในเวลากลางคืนอีก  ถ้าถอนต้นแตงตรวจดูจะพบรากบวมเป็นปมขนาดต่าง ๆ กัน ไม่มีรากฝอยซึ่งเป็นสาเหตุให้การดูดอาหารและน้ำที่รากไม่เป็นปกติเกิดการอุดตันขึ้นเพราะเชื้อโรคเข้าไปอาศัยอยู่และไปกระตุ้นให้เซลส์ของรากโตและมีระบบเนื้อเยื่อรากผิดปกติไป

สาเหตุของโรค

เกิดจากไส้เดือนฝอยชนิดหนึ่ง Meloidogyne spp. ซึ่งตัวเมียจะไชเข้าไปอาศัยอยู่ในราก  ทำให้รากบวมโตเป็นปมและแย่งอาหารจากราก

การป้องกันกำจัด

1.  ใช้ยาฟูราดาน อัตรา 3 กรัม รองก้นหลุมเมื่อปลูก

2.  ควรใช้ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยคอกและกากพืชเพื่อปรับปรุงดินจะช่วยลดปริมาณการเป็นโรคลง  โดยเฉพาะการปลูกในดินร่วนปนทราย

3.  ถอนต้นพืชที่เป็นโรคทิ้งเพื่อกำจัดไข่ตัวเมียที่จะแพร่ระบาดในแปลง

หมายเหตุ ในดินเหนียวและดินที่มีอินทรีย์วัตถุมาก ๆ ไม่ค่อยเป็นโรคนี้

10.  โรคยอดหงิกใบด่าง

โรคยอดหงิกใบด่างของแตงโมและพืชอื่น ๆ เกิดจากเชื้อวิสาซึ่งมีศัตรูจำพวกปากดูดเป็นตัวนำเชื้อโรคให้แพร่ระบาดติดต่อกัน  จัดว่าเป็นโรคที่สำคัญอีกโรคหนึ่ง  ทำความเสียหายมากเพราะจะทำให้ต้นที่เป็นโรคไม่ผลิดอกออกผล  หรือมีผลเล็กผิดปกติ

ลักษณะอาการของโรค

พืชจะแสดงอาการใบมีสีเขียวและเหลืองด่างลายประปรายทั่วใบและเนื้อใบหยักเป็นคลื่น  ใบเล็กลง ยอดตั้งชันและชงักการเจริญเติบโต ยอดหก ไม่ผลิดอกออกผลต่อไป

สาเหตุของโรค

โรคนี้เกิดจากเชื้อวิสาที่มีศัตรูจำพวกปากดูดเช่น แมลงหวี่ขาว เพลี้ยไฟและเพลี้ยอ่อนเป็นพาหะนำโรคจากต้นที่เป็นโรคติดต่อไปยังต้นดีได้ง่าย  เชื้อวิสาของแตงโมมีหลายชนิดซึ่งทำให้เกิดอาการใกล้เคียงกัน

การป้องกันกำจัด

เนื่องจากมีศัตรูพืชเป็นตัวนำโรคจึงต้องป้องกันมิให้มีศัตรูดังกล่าวระบาดโดยการฉีดพ่นยาฆ่าแมลงประเภทดูดซึม  เช่น  แลนเนท และเซวิน  กำจัดพวกเพลี้ยไฟและเพลี้ยอ่อน และถอนทำลายต้นที่แสดงอาการเป็นโรคออกไปจากไร่  จะช่วยลดโรคนี้หรือป้องกันโรคนี้ได้

หมายเหตุ ศัตรูพวกนี้มีขนาดเล็กมาก  แต่พอจะสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า เพลี้ยไฟตัวเรียวยาวสีเหลืองอมส้ม  เคลื่อนไหวรวดเร็ว ตัวแก่มีสีดำและบินได้