ผักบุ้งทะเล

(Goat’s Foot Creeper)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ipomoea pes – caprae (L.) Sweet
ชื่อวงศ์ COIWULACEAE
ชื่ออื่น ผักบุ้งทะเล (ภาคกลาง), ละบูเลาห์ (มาเลย์-นราธิวาส)
ลักษณะทั่วไป ไม้ล้มลุก ยาว 5-30 ม. ลำต้นทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน มีรากที่ข้อ เป็นสัน เกลี้ยง มียางขาว รากแก้วใหญ่
ใบ ใบ มักออกจากลำต้นด้านเดียว รูปไข่ ไข่กลับ รี กลม รูปไต สี่เหลี่ยม หรือขอบขนาน ยาว 3-10 ซม. ปลายใบจักเป็นแฉกลึก ถึงกึ่งกลางใบ ปลายแฉกกลม โคนใบสอบแคบ เป็นรูปหัวใจหรือสอบเรียวไปยังก้านใบ


ดอก สีชมพู ม่วงอมแดงหรือม่วง ที่โคนด้านในสีเข้มกว่า ออกเป็นช่อ ตามง่ามใบ ก้านช่อยาว 3-16 ซม. แข็งเป็นเหลี่ยม หรือแบนเกลี้ยง ก้านดอกยาว 1-3 ซม. เมื่อเป็นผลจะยาวขึ้นถึง 4.5 ซม. ใบประดับรูปหอกแกมรูปไข่ ยาว 0.3-0.35 ซม. หลุดร่วงง่าย กลีบรองกลีบดอกชั้นนอก รูปไข่ หรือ รูปรี ยาว 0.9 ซม. กลีบชั้นในกว้างกว่า รูปกลมยาว 1.3 ซม. โค้ง กลีบทั้งหมดปลายมน และมีติ่งแหลมสั้น เกลี้ยง เนื้อค่อนข้างหนามัน กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปปากแตร ยาว 6.5 ซม. เกลี้ยง เกสรเพศผู้ และเกสรเพศเมียอยู่รวมกัน ที่โคนก้านเกสรเพศผู้มีขน รังไข่เกลี้ยง
ผล ผล แห้ง รูปกลม ยาว 0.1-1.7 ซม. มี 2 ช่อง 4 เมล็ดต่อผล ยาว 0.6-1 ซม. สีดำ มีขนดำหนาแน่น
นิเวศวิทยา พบตามชายหาด
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร ต้น ถอนพิษลมเพลมพัด (อาการ บวมที่ไปตามอวัยวะทั่วๆ ไป) เป็นยาสมาน เจริญอาหาร ระบาย ต้มนํ้าอาบแก้อาการคันตามผิวหนัง น้ำคั้นแก้พิษแมงกะพรุน ราก ขับปัสสาวะในโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ใบ ใช้ภายนอกทา แก้โรค ไขข้ออักเสบ แก้อาการจุกเสียด น้ำต้มใช้ล้างแผล เข้ากับสมุนไพรอื่น ต้มเอาไอรมริดสีดวงทวาร น้ำคั้นต้มกับน้ำมะพร้าว ทำเป็นขี้ผึ้งทาแผลทุกชนิด และแผลเรื้อรัง เมล็ด แก้ตะคริว แก้ปวดท้อง
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย