ผักปลอดสารพิษ

ปัจจุบันสารกำจัดแมลงจากการสังเคราะห์ทางเคมีที่นำเข้าจากต่างประเทศยิ่งมีความร้ายแรงมากขึ้นทุกที และมีราคาสูงขึ้นมาตลอด มิหนำซ้ำยังทำให้เกิดปัญหามลภาวะทำลายสิ่งแวดล้อมให้เลวร้ายมากยิ่งขึ้น มีพิษตกค้างในดิน น้ำ อากาศ พืชผลที่ใช้บริโภค รวมทั้งกำจัดแมลงศัตรูธรรมชาติที่เป็นประโยชน์อีกด้วยและผู้บริโภคเริ่มตื่นตัวตระหนักถึงพิษภัยอันตรายแก่สุขภาพชีวิตกันแล้ว  ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์เกษตรจึงได้หลีกเลี่ยงที่จะใช้สารกำจัดแมลงโดยคิดค้นทดลองหาวิธีการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชที่ปลอดภัยต่อมนุษย์สัตว์เลี้ยง สภาวะแวดล้อม ด้วยการใช้เชื้อแบคทีเรีย ไวรัส วิธีกล สารสกัดจากพืช และอื่น ๆ ซึ่งพอประมวลสรุปได้ดังนี้

1.  การใช้เชื้อแบคทีเรีย Bacillus thuringiensis

หรือที่เรียกชื่อย่อว่า B.T. ซึ่งทำให้เกิดโรคกับแมลงศัตรูพืชที่สำคัญทางเศรษฐกิจหลายชนิด  อาทิเช่น หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนกระทู้หอม หนอนใยผัก หนอนคืบกะหล่ำ ด้วงหมัดผัก ฯลฯ  การใช้เชื้อแบคทีเรียนี้ เริ่ม่นำเข้ามาตั้งแต่ปี 2512 เป็นทางเลือกหนึ่งที่ลดการใช้สารกำจัดแมลง โดยไม่มีพิษตกค้างและพิษสะสมที่ทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ผู้บริโภค รวมทั้งแมลงศัตรูธรรมชาติที่เป็นประโยชน์เช่น ผึ้ง ตัวห้ำ ตัวเบียน เป็นต้น  เนื่องจาก B.T. มีข้อจำกัดหลายประการออกฤทธิ์ช้าใช้เวลา 1-2 วันหนอนจึงจะตาย  เกษตรกรคุ้ยเคยกับการพ่นสารกำจัดแมลงออกฤทธิ์เร็วตายทันที  ประกอบกับเชื้อนี้มีราคาถูกกว่าสารกำจัดแมลงไม่มากนัก  แต่ขณะนี้ก็ใช้กันมากขึ้น

2.  การใช้เชื้อไวรัส NPV

ซึ่งย่อมาจาก Nuclear Polyhedrosis Virus มีประสิทธิภาพสามารถทำให้หนอนกระทู้หอม หนอนเจาะสมอฝ้าย เป็นโรคตายได้ โดยแมลงชนิดอื่น ๆ อาทิเช่น ผึ้ง ต่อ แตน แมลงที่ช่วยผสมเกสรไม่เป็นอันตราย  นอกจากนี้ยังปลอดภัยต่อมนุษย์ สัตว์ และพืชอีกด้วย  เนื่องจากเกษตรกรเคยชินกับการใช้กสารกำจัดแมลง  ซึ่งทำให้หนอนตายอย่างรวดเร็ว  แต่การใช้เชื้อไวรัสนี้ต้องใช้เวลาฟักตัวและมีข้อจำกัดหลายประการ  สำหรับผลิตภัณฑ์เชื้อนี้ที่นำเข้าจากต่างประเทศยังไม่ได้มาตรฐาน ประกอบกับผลิตภัณฑ์ของโรงงานนำร่องของกรมวิชาการเกษตรมีจำกัด เกษตรกรยังใช้ไม่แพร่หลายเท่าที่ควร

3.  การใช้ตาข่ายไนล่อน

เย็บเป็นมุ้งกางคลุมแปลงผักที่ปลูกได้ผลดี  ซึ่งมีเกษตรกรชาวสวนผักมืออาชีพเห็นดีด้วย  จากการสอบถามในการทดสอบสาธิตนี้พบว่า ทั้ง ๆที่ได้ผลเกิน คุ้มค่ากับการลงทุนซื้อสารกำจัดแมลงในช่วงเวลาที่มุ้งเสื่อมสภาพตามอายุ และสามารถกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณืการเกษตรได้  แต่ทว่าไม่ยอมลงทุนซื้อหามาขยายผลหรือปฏิบัติตามอย่างต่อเนื่องด้วยตนเอง คอยแต่ขอรับความช่วยเหลือจากทางราชการเปรียบเสมือนเลี้ยงเด็กไม่รู้จักโตหรือถมเท่าไรไม่รู้จักเต็ม  ซึ่งควรจะได้พิจารณาทบทวนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

4.  การใช้กับดักกาวเหนียวสีเหลือง

เนื่องจากการค้นคว้าวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การเกษตรพบว่า  แมลงบางชนิดที่ออกหากินในเวลากลางวันจะบินเข้าหาวัตถุสีเหลืองมากที่สุด วัตถุประสงค์ตั้งแต่แรกก็เพื่อจับตัวเต็มวัยของแมลงศัตรูพืชในการพยากรณ์การระบาดล่วงหน้า แต่ข้อดีคือสามารถคุมกำเนิดและลดจำนวนแมลงด้วยการตัดไฟแต่ต้นลมไม่ใช่แก้ที่ตัวหนอนปลายเหตุ  ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่ในการลดการใช้สารกำจัดแมลง  ทั้งยังไม่ต้องยุ่งยากและเสียค่าใช้จ่ายมากเป็นการลดต้นทุนการผลิตไปด้วยในตัว กาวเหนียวสำเร็จรูปที่ซื้อขายในตลาดยี่ห้ออพอลโล่น้ำหนักสุทธิ 425 กรัม ราคา 340-370 บาท คุณสุวัฒน์  รวยอารี กลุ่มงานวิจัยแมลงศัตรูข้าวและธัญพืชเมืองหนาว กองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร ซึ่งเคยทำกาวเหนียวกับผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นชี้แจงว่า  การทำกาวเหนียวง่ายมากเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศเมืองเรา เก็บไว้ได้นาน วัสดุที่ใช้มี 3 อย่าง โดยอัตราส่วนดังนี้

  • น้ำมันละหุ่ง 150 ซี.ซี.
  • ผงยางสน 100 กรัม
  • ไขคาร์นัวบา 10-12 กรัม

ผู้เขียนได้สอบราคาวัสดุที่มีราคาถูกคือ บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด 855 ถ.มหาไชย ใกล้สี่แยกสามยอด แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กทม. 10200 โทร.221-2285 จำหน่ายน้ำมันละหุ่งบริสุทธิ์ที่เป็นยาระบายเด็กขนาด 1 ปี๊บ น้ำหนัก 17 กก. หรือ 18 ลิตร ราคา 950 บาท ไขคาร์นัวบาครึ่งกก. 140 บาท ซึ่งต้องรวมภาษีมูลค่าเพิ่มอีกร้อยละ 7 ส่วนยางสนร้านขายยาไทยเจ้ากรมเป๋อข้างประตูวัดสามปลื้ม ถ.จักรวรรดิ์  เขตสัมพันธวงศ์ โทร.221-3272 จำหน่ายราคากิโลกรัมละ 40 บาท  ปกติน้ำมันละหุ้งยางสน มีจำหน่ายตามร้านขายยาไทยแทบทุกจังหวัด จะขาดก็แต่ไขคาร์นัวบาซึ่งต้องซื้อที่กรุงเทพฯ เพราะนำเข้ามาจากต่างประเทศ ดังนั้นกาวเหนียวนี้น้ำหนักเท่ากับยี่ห้ออพอลโล่มีราคาถูกที่สุดเพียงประมาณ 27 บาทเท่านั้น

วิธีทำ เอาน้ำมันละหุ่งใส่ภาชนะตั้งไฟเคี่ยวให้อุ่นจนมีไอขึ้นที่ผิวหน้าแล้วทยอยใส่ผงยางสนและไขคาร์นัวบา ใช้ไม้พายคนให้เข้ากันละลายหมดนานสัก 5-10 นาที หลังจากนั้นยกภาชนะลงวางในถังหรือกะละมังที่ใส่ก้อนน้ำแข็งที่ทุบไว้ทันทีเพื่อให้ได้รับความเย็นอย่างรวดเร็ว  เมื่อต้องการเก็บไว้ก็ถ่ายภาชนะปิดฝาให้สนิทแน่น

วิธีใช้ ใช้แปลงทาสีป้ายกาวเหนียวบนถุงพลาสติกชนิดใสที่สวมถังพลาสติกสีเหลือง หรือกระป๋องน้ำเครื่องยี่ห้อเชลล์สีเหลืองที่ใช้แล้วตามปั๊มน้ำมัน  แล้วใช้แผ่นเหล็กหนาครึ่งหุนขนาด 1/3 นิ้วปาดให้ทั่ว เพื่อให้กาวติดบางที่สุดไม่ให้ไหลเยิ้มลงไปจะได้ประหยัดในตัว  การวางถังหรือกระป๋องให้คว่ำลงบนไม้รวกที่ปักสูงประมาณ 1 เมตร ห่างกันเป็นระยะ ๆ ไม่เกิน 8 เมตร ถ้ามีแมลงติดมากก็ร่นระยะใกล้เข้ามา กาวนี้ทนแดด ทนฝน ทนน้ำใช้เวลา 10-15 วันจึงจะแห้งต้องเปลี่ยนถุงพลาสติกใหม่

คุณวินัย  รัชตปกรณ์ชัย และคุณสุรศักดิ์  กาสา กลุ่มงานวิจัยแมลงศัตรูผักไม้ดอกและไม้ประดับ กองกีฏและสัตววิทยา  ได้ให้ข้อมูลแมลงที่บินมาติดกับดักกาวเหนียวสีเหลืองดังนี้ แมลงวันหนอนชอนใบ ผีเสื้อกลางคืนของหนอนกระทู้หอม หนอนใยผัก หนอนกระทู้ผัก หนอนคืบกะหล่ำ แมลงวันผลไม้ แมล่งวันทอง แมลงหวี่ขาว เพลี้ยไฟ เพลี้ยจั๊กจั่น เพลี้ยอ่อน

อนึ่งเมื่อปี 2530 ผู้เขียนเคยร่วมกับคุณอธิคม  มากดี  อดีตนักวิชาการเกษตรโครงการไร่นาสาธิตห้วนสีทน จ.กาฬสินธุ์ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทดลองใช้กับดักนี้กับแปลงปลูกฝ้ายหลังเก็บเกี่ยวข้าวในฤดูแล้งได้ผลดี  สามารถลดการใช้สารกำจัดแมลงเป็นที่น่าพอใจระดับหนึ่ง

5.  การใช้กับดักแสงไฟ

เนื่องจากมีแมลงหลายชนิดอาทิเช่น ผีเสื้อกลางคืนซึ่งเป็นตัวแก่พ่อแม่ของหนอนส่วนใหญ่ที่ทำลายพืชที่ปลูก และแมลงปีกแข็งที่ชอบหากินตอนกลางคืน นักวิทยาศาสตร์เกษตรจึงใช้แสงไฟล่อแมลงขึ้น  เพื่อต้องการทราบข้อมูลการเปลี่ยนแปลงจำนวนประชากรแมลงศัตรูพืชดังกล่าวได้ แต่มุมมองอีกด้านหนึ่งจะเห็นว่ากับดักนี้เป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถคุมกำเนิดแมลงศัตรูพืชได้อย่างดีเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม แสงไฟที่ใช้เป็นหลอดแบล็คไลท์ที่ชาวบ้านนำมาล่อแมลงดานา เมื่อปี 2530 ผู้เขียนร่วมกับนักวิชาการเกษตร โครงการไร่นาสาธิตห้วยสีทน จ.กาฬสินธุ์ และโครงการไร่นาสาธิตเพชรบุรี จ.เพชรบุรี สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ทดลองใช้หลอดแบล็คไลท์แท้ หลอดแบล็กไลท์เทียม หลอดขาวเวลาเปิดไฟจะมีสีฟ้า และหลอดนีออนธรรมดาสีฟ้ากับการปลูกฝ้าย หลังเก็บเกี่ยวข้าวในฤดูแล้งได้ผลดีที่แปลงปลูกฝ้ายฯ ในที่นาของเกษตรกร ต.ท่าคอย อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี สามารถลดการใช้สารกำจัดแมลงได้มาก ในขณะเดียวกันเกษตรกรเจ้าของไร่มะนาวข้างเคียงบอกว่า ที่ทางโครงการฯ มาติดตั้งไฟล่อแมลงในไร่มะนาวของเขาไม่ค่อยมีแมลงมาทำลายเหมือนแต่ก่อน

คุณประทิน  วรรณงาม อดีตเกษตรตำบลประจำสำนักงานเกษตรอำเภอบ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ปัจจุบันปฏิบัติงานที่สำนักงานเกษตรอำเภอปะเหลียน จ.ตรัง ได้ประสบผลสำเร็จงานทดสอบและพิสูจน์ประสิทธิภาพการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชในสวนองุ่นและกุหลาบด้วยหลอดแบล็คไลท์ด้วยตัวเองและแปลงของเกษตรกร  ที่ตำบลเกษตรพัฒนาและตำบลคลองตัน ซึ่งมีคุณสมพล  ศรีเข็มทอง เจ้าของสวนกุหลาบ และคุณประทวน  พุกนาลุ่ม เจ้าของสวนองุ่นพันธุ์ดำจากต่างประเทศเป็นตัวอย่างที่ดีมีเกษตรกรปฏิบัติตามมาก เพราะประหยัดเงินได้มากกว่าค่าใช้จ่ายซื้อสารกำจัดแมลงมาพ่นอย่างเทียบไม่ได้ คุณประทินได้ให้ข้อปฏิบัติ 21 ข้อ ในการใช้หลอดแบล็คไลท์ที่ถูกต้องดังนี้

–        ใช้ตัวช่วยทำลายแมลงเช่น ผงซักฟอก หรือสารจับใบผสมในน้ำใส่ภาชนะ

–        ใช้วัสดุทึบแสงบังขาหลอดไฟในกรณีไม่ต้องการให้แมลงจากสวนอื่นข้างเคียงเข้ามามาก

–        ไม่ควรล่อแมลงหวังกำจัดผีเสื้อกลางคืนตัวเต็มวัยในบ่อปลา เพราะจะไม่ได้ผล

–        ควรเปิดไฟล่อแมลงตลอดคืน ตั้งแต่พระอาทิตย์ตกดินจนรุ่งเช้า

–        ควรวางหลอดไฟในแปลงระยะห่างไม่เกิน 80 เมตร ถ้าถี่กว่านี้ประสิทธิภาพจะดีขึ้น

–        ควรกำจัดวัชพืชในแปลง อย่าปล่อยให้รกเป็นที่อาศัยของพวกแมลง

–        ถ้าปลูกพืชแบบยกร่องมีคูน้ำ ควรล่อแมลงด้านหัวร่องเพราะมองเห็นได้ชัดกว่า

–        ช่วงคืนเดือนมืดจะมีประสิทธิภาพการดักแมลงได้ดีกว่าคืนเดือนหงาย

–        ไม่ควรเปิดไฟหลอดนีออนหรือชนิดอื่นใดบริเวณใกล้เคียงกับที่ใช้หลอดแบล็คไลท์  เพราะแสงดังกล่าวจะไปข่มแสงจากหลอดแบล็คไลท์

–        ควรรดน้ำในช่วงเย็นหรือฝนตก จะทำให้การล่อแมล่งช่วงกลางคืนได้ดียิ่งขึ้นและแมล่งจะมาลงมากขึ้น

–        หลอดไฟขนาด 20 แรงเทียนดีกว่า 40 แรงเทียน เพราะวางได้ถี่กว่า

–        เกษตรกรต้องรู้จักตัวเต็มวัยของแมลงศัตรูพืชแต่ละชนิดด้วยเช่น ผีเสื้อกลางคืนของหนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนกระทู้หอม หนอนกระทู้ผัก หนอนใยผัก หนอนเจาะลำต้นองุ่น หนอนเจาะนมผักกระเฉด หนอนเจาะฝักถั่ว หนอนชอนใบส้ม เป็นต้น

–        เกษตรกรต้องล่อแมลงอย่างสม่ำเสมอทุกคืน หยุดไม่ได้

–        เกษตรกรต้องไม่ใจร้อนเกินไป หลังจากเริ่มล่อแมลงด้วยหลอดแบล็คไลท์แล้ว ต้องรออย่างน้อย 15 วัน จึงจะเห็นผล

–        ต้องรู้ช่วงที่แมลงระบาดมาก คือ ช่วงฤดูหนาวต่อฤดูร้อน และฤดูร้อนต่อฤดูฝน ควรเพิ่มหลอดไฟให้ถี่กว่าปกติ

–        ควรทำหลังคากันแดดกันฝน เพื่อยืดอายุการใช้งานหลอดไฟให้นานขึ้น

–        หลีกเลี่ยงการปลูกหอมแซมพืชที่หนอนกระทู้หอมทำลายได้ เช่น กุหลาบ องุ่น ดาวเรือง ฯลฯ

–        หลีกเลี่ยงการปลูกดาวเรืองใกล้เคียงกับสวนองุ่น  สวนมะม่วง โดยเฉพาะช่วงที่กำลังออกดอก และกุหลาบด้วย  แต่ในกรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรใช้หลอดแบล็คไลท์ล่อทำลายจะได้ผลดีมาก

6.  การใช้สารสกัดสะเดา

จากเอกสารคำแนะนำการใช้สารกำจัดแมลงและศัตรูพืชปี 2537 กองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร พบว่ามีแมลงหลากหลายชนิดทำความเสียหายกับพืชแต่ละชนิด เกษตรกรเกิดความสับสน ยากแก่การปฏิบัติป้องกันกำจัด ผู้เขียนมีความเห็นว่าควรจะได้จัดลำดับความสำคัญของแมลงศัตรูผักที่ทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจจากระดับความร้ายแรงมากที่สุดลดหลั่นลงมาที่จะต้องป้องกันกำจัด  จึงได้สอบถามเรื่องนี้กับคุณวินัย  รัชตปกรณ์ชัย และคุณกอบเกียรติ  บันสิทธิ์  กลุ่มงานวิจัยแมลงศัตรูผักไม้ดอกและไม้ประดับ กองกีฏและสัตววิทยา  กรมวิชาการเกษตร  ซึ่งมีประสบการณ์งานวิจัยด้านนี้มานานปี  และได้สำรวจตรวจตราแมลงศัตรูผักที่เกษตรกรปลูกอยู่ทั่วไปเป็นประจำ พอประมวลได้ดังนี้

–        คะน้า ผักกาดกวางตุ้ง ผักกาดขาวปลี ผักกาดเขียวปลี ผักกาดหัว กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก กะหล่ำปม บร็อคโคลี่ ได้แก่ หนอนใยผัก หนอนเจาะยอดกะหล่ำ ด้วงหมัดผักแถบลาย ด้วงหมัดผักสีน้ำเงิน หนอนแมลงวันชอนใบกะหล่ำ หนอนกระทู้หอม

–        ผักกาดหอม ปกติไม่มี

–        กุยช่าย ปกติไม่มี

–        ผักบุ้งจีน ปกติไม่มี

–        ต้นหอม หรือหอมแบ่ง หอมแดง หอมหัวใหญ่ ได้แก่ หนอนกระทุ้หอม หนอนชอนใบหอม เพลี้ยไฟ

–        ผักชี ปกติไม่มี

–        คึ่นฉ่าย ปกติไม่มี

–        ตั้งโอ๋  ปกติไม่มี

–        โหระพา กะเพรา ได้แก่ หนอนม้วนใบ

–        มะระจีน ได้แก่ แมลงวันทอง

–        แตงกวา แตงร้าน แตงโม ได้แก่ เพลี้ยไฟแตงโม หนอนกระทู้หอม ด้วงเต่าแตงแดง ด้วงเต่าแตงดำ

–        กระเทียม ได้แก่ ไรกระเทียม

–        ถั่วฝักยาว ถั่วลันเตา ถั่วแขก ได้แก่ หนอนแมลงวันเจาะต้นถั่ว หนอนเจาะฝักถั่วเขียว หนอนผีเสื้อน้ำเงิน หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนกระทู้หอม เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ ไรขาวพริก

–        มะเขือ มะเขือเปราะ มะเขือยาว ได้แก่ เพลี้ยไฟมะเขือ หนอนเจาะผลมะเขือ เพลี้ยจั๊กจั่นฝ้าย

–        มะเขือเทศ ได้แก่ หนอนเจาะสมอฝ้าย แมลงหวี่ขาวยาสูบ

–        พริก ได้แก่ เพลี้ยไฟพริก ไรขาวพริก หนอนเจาะสมอฝ้าย

–        ขิง ได้แก่ เพลี้ยหอย

–        หน่อไม้ฝรั่ง ได้แก่ หนอนกระทู้หอม หนอนเจาะสมอฝ้าย เพลี้ยไฟ

–        กระเจี๊ยบเขียว ได้แก่ หนอนกระทู้หอม หนอนเจาะสมอฝ้าย เพลี้ยไฟ เพลี้ยจั๊กจั่นฝ้าย

–        ข้าวโพดฝักอ่อน ข้าวโพดกินฝัก ได้แก่ หนอนเจาะต้นข้าวโพด มอดดิน หนอนเจาะสมอฝ้าย

–        มันเทศ ได้แก่ ด้วงงวงมันเทศ หนอนเจาะเถามันเทศ หนอนชอนใบมันเทศ หนอนกระทู้หอม

–        มันฝรั่งได้แก่  หนอนผีเสื้อเจาะหัวมันฝรั่ง

พืชสารธรรมชาตินอกจากยาสูบ หางไหล ข่า ตะไคร้หอม ฯลฯ สะเดา เป็นพืชหนึ่งที่เมล็ดผลสะเดามีสารธรรมชาติได้แก่ อะซาดิแรชติน ซาลานนิน นิมบิน และอื่น ๆ อีกนักสิบชนิดสามารถใช้ป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชได้มากกว่าพืชที่กล่าวข้างต้นและมีผลต่อแมลงที่กำจัดได้ดังนี้

–        กำจัดตัวหนอนและตัวเต็มวัย

–        ไล่ตัวหนอนและตัวเต็มวัย

–        ยับยั้งการกินอาหาร

–        ยับยั้งการเจริญเติบโตของไข่หนอน และดักแด้

–        ทำให้หนอนหรือตัวอ่อนไม่ลอกคราบ

–        ยับยั้งการวางไข่ของตัวเต็มวัย

–        ทำให้การผลิตไข่ลดน้อยลง

–        ห้ามการสร้างสารไคติน

สะเดาที่ปลูกในประเทศเรามี 3 ชนิดคือ สะเดาไทย สะเดาอินเดีย สะเดาช้างหรือต้นเทียม  จากการศึกษาวิจัยของกองวัตถุมีพิษการเกษตร กรมวิชาการเกษตรทราบว่าสะเดา อินเดียมีสารอะซาดิแรชตินสูงสุด 7.7 มิลลิกรัม ต่อ 1 กรัมของเนื้อในเมล็ด ส่วนสะเดาไทยและสะเดาช้างมีปริมาณสารนี้ใกล้เคียงกันคือประมาณ 4.0 และ 3.4 มิลลิกรัมต่อ 1 กรัมเนื้อในเมล็ดตามลำดับ

การสกัดสารธรรมชาติที่เป็นพิษต่อแมลงศัตรูพืชจากเมล็ดและผลสะเดามีอยู่ 3 วิธีคือ สกัดด้วยสารเคมีเฮกเซน เพนเทน ได้เป็นรูปน้ำมันออกมา สกัดด้วยแอลกอฮอล์ และสกัดด้วยน้ำ จากประสบการณ์ในการทดสอบประสิทธิภาพของสารสกัดสะเดา รศ.ดร.ขวัญชัย  สมบัติศิริ  ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  พบว่าสารสะกัดนี้ยังผลให้การป้องกันกำจัดแมลงแต่ละชนิดแตกต่างกันไป เพื่อให้ง่ายต่อการปฏิบัติจึงแบ่งแมลงเป็น 3 กลุ่ม คือ

  • ใช้สารสกัดสะเดาได้ผลดี มีแมลงหลายชนิดที่อ่อนแอต่อสารสกัดสะเดาเช่น หนอนกระทู้ชนิดต่าง ๆ เช่น หนอนกระทู้หอม หนอนใยผัก หนอนชอนใบ หนอนม้วนใบ หนอนบุ้ง หนอนแก้ว หนอนหัวกะโหลก เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไก่แจ้ แมลงหวี่ขาว เป็นต้น ดังนั้นจึงสามารถใช้สารสกัดสะเดาเพียงอย่างเดียวได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้สารกำจัดแมลงพ่นสลับในช่วงที่แมลงระบาด
  • ใช้สารสกัดสะเดาได้ผลปานกลาง  แมลงที่พบเช่ หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนเจาะกล้าต้นถั่ว หนอนเจาะดอกกล้วยไม้ หนอนแมลงวัน หนอนเจาะผลมะเขือ หนอนเจาะยอดกะหล่ำ แมลงวันทอง เพลี้ยจั๊กจั่น เพลี้ยไฟ ไรแดง เป็นต้น  ในกรณีที่แมลงเหล่านี้ระบาดมากการใช้สารสกัดสะเดาจะไม่ได้ผล จำเป็นต้องใช้สารกำจัดแมลงพ่นสัก 1-2 ครั้ง  หลังจากนั้นจึงค่อยใช้แต่สารสกัดสะเดาต่อไป
  • ใช้สารสกัดสะเดาไม่ได้ผลหรือได้ผลต่ำ  แมลงที่เห็นเช่น ด้วงปีกแข็งกัดกินใบพืช หมัดกระโดด มวนแดง มวนเขียว เป็นต้น จึงไม่ขอแนะนำให้ใช้สารสกัดสะเดาป้องกันแมลงดังกล่าว

สำหรับคุณสมปอง  ทองดีแท้ กองวัตถุมีพิษการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ได้ชี้แจงถึงผลการวิจัยทดลองและแนะนำแก่เกษตรกร ตามโครงการหมู่บ้านปลอดภัยสารพิษ ที่หมู่ 2,4,10 ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา และที่หมู่ 6 ต.ศรีมหาโพธิ์ อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี ด้วยการสนับสนุนทางการเงิน จากคณะกรรมการนักธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมไทย ซึ่งมีอดีตนายกรัฐมนตรี นายอานันท์  ปันยารชุน ฝ่ายสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย  โดยใช้ผงผลสะเดาแห้งที่บดละเอียด 700 กรัม แช่น้ำ 20-30 ลิตร เป็นเวลา 1 คืน ตอนแรกคนหรือกวนเป็นครั้งคราวแล้วกรองด้วยตะแกรงทองเหลืองร่อนแป้งนำสารสกัดที่ได้ผสมสารจับใบหรือน้ำสบู่ก็ได้ไปพ่นได้เลย หรืออาจจะนำไปผสมกับน้ำให้เจือจางลงอีกเพื่อความเหมาะสมกับพืชแต่ละชนิดไม่ให้ใบและผลเกิดร้อยไหม้ และควรพ่นทั้งบนและใต้ใบให้ทั่วตอนเย็นแดดร่มลมตกอันเป็นช่วงที่สารอะซาดิแรชตินอยู่ได้นานกว่าพ่นตอนที่มีแสงแดดจัด  ถ้าใช้ไม่หมดยังเก็บได้ไม่เกิน 3 วัน พืชผักที่ใช้สารสกัดนี้เพียงอย่างเดียวมาตลอดและได้ผลดีคือ ต้นหอมหรือหอมแบ่ง หอมแดง ถั่วฝักยาว มะเขือเปราะ มะเขือยาว พริก หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวโพดฝักอ่อน แต่ผักกาดหัว กะหล่ำปลี และแตงกวา แตงโม มีหนอนเจาะยอดกะหล่ำ ตัวแก่ด้วงหมัดผัก และเต่าแตงแดง เข้าทำลายตามลำดับ  ซึ่งต้องใช้เชื้อแบคทีเรีย B.T. และสารกำจัดแมลงโดยเฉพาะพ่นเป็นครั้งคราวเมื่อระบาดมากหรือป้องกันแต่เนิ่น ๆ

ส่วนคุณวีรวิทย์  วิทยารักษ์  ศูนย์วิจัยพืชสวนพิจิตรและคณะได้เปรียบเทียบการใช้สารสกัดสะเดาในรูปต่าง ๆ และสารพิษกำจัดแมลงกับต้นกระเจี๊ยบเขียว  ปรากฎว่าสารสกัดสะเดาจากกองวัตถุมีพิษการเกษตรอัตรา 284 ซี.ซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร และสารสกัดจากเมล็ดสะเดา 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ให้ผลดีในการป้องกันกำจัดหนอนเจาะสมอฝ้าย เพลี้ยจั๊กจั่นฝ้าย เพลี้ยอ่อน และไม่ทำลายแมงมุมซึ่งเป็นแมลงที่มีประโยชน์อีกด้วย

จากงานวันสะเดาหล่นเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2538 ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี ทราบว่าคุณมาโนช  แก้วเจริญสีทอง บ้านเลขที่ 105/1 หมู่ที่ 1 ต.โพธิ์พระยา อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี เป็นเกษตรกรที่มีความชำนาญและประสบการณ์ปลูกผักนานถึง 20 ปี และใช้สารกำจัดแมลงมาตลอด เมื่อประมาณ 3-4 ปีที่ผ่านมาเกิดอการแพ้ผิวหนังเริ่มคันพองแตกเป็นแผลพร้อมมีไข้ขึ้นจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล เสียเงินเป็นจำนวนมาก  จึงได้หันมาเปลี่ยนใช้สารสกัดจากผลสะเดาแห้งและข่าแก่สกัดด้วยน้ำกับพืชผักต่าง ๆ ที่ปลูกสลับกันตลอดปีเช่น คะน้า ผักกาด กวางตุ้ง ผักกาดขาว กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ผักบุ้งจีน มะเขือยาว เป็นต้น ปรากฎว่าได้ผลดีไม่ต้องใช้สารกำจัดแมลง  ทั้งยังเป็นการลดต้นทุนการผิลต และทำให้สุขภาพแข็งแรงอีกด้วย  นอกจากนี้ยังพบอีกว่า  แมลงที่เป็นประโยชน์อาทิเช่น ตัวห้ำ ตัวเบียนเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจึงขอให้แน่ใจได้ว่าสารสกัดสะเดาและข่าดีจริงอย่างไม่ต้องสงสัย

สิ่งที่น่าสนใจมากก็คือ ค่าใช้จ่าย การใช้สารสกัดสะเดาน้อยกว่าการใช้สารพิษมาก ซึ่งคุณเชาว์  เสาวลักษณ์  สำนักงานเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี รายงานไว้ดังนี้

1.  หอมหัวใหญ่ในฤดูปลูก 100 วัน ใช้สารสกัดสะเดาอย่างเดียวพ่นรวม 15 ครั้ง ในพื้นที่ 1 ไร่ เสียค่าใช้จ่าย 456 บาท ในขณะที่ใช้สารกำจัดแมลงต้องพ่นถึง 20 ครั้ง เสียค่าใช้จ่าย 2,278.40 บาท

2.  พืชผักช่วงการปลูก 45 วัน ใช้สารสกัดสะเดาอย่างเดียวพ่น 9 ครั้ง ในพื้นที่ 1 ไร่ เสียค่าใช้จ่ายรวม 217.60 บาท ส่วนสารกำจัดแมลงต้องพ่นถึง 12 ครั้ง เสียค่าใช้จ่ายทั้งหมด 1,715.20 บาท

ในงานนี้อาจารย์ นักวิทยาศาสตร์ที่กล่าวนามข้างต้นต่างยืนยันความไม่มีพิษ พิษตกค้าง การอนุญาตให้ใช้สารสกัดสะเดาได้ในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลียกล่าวคือ เกษตรกรไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากการพ่นสารสกัดสะเดาเหมือนกับการใช้สารกำจัดแมลง ละอองของสารนี้ไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยง  แมลงตัวห้ำตัวเบียนที่เป็นประโยชน์ได้รับอันตรายน้อยมากในขณะที่ดอกพืชบาน ใช้สารนี้พ่นได้ เพื่อป้องกันกำจัดแมลงที่มาทำลายดอก แต่มีอันตรายน้อยผึ้งและแมลงผสมเกสร ละอองของสารดังกล่าวที่ปลิวไปตกในแหล่งน้ำไม่ทำอันตรายต่อปลาและสัตว์น้ำ ส่วนที่ตกลงดินก็ไม่มีอันตรายต่อไส้เดือนในทดลองหาความต้านทานของหนอนใบผักภายหลังการใช้สารพิษกำจัดแมลงกลุ่มไพรีทรอยด์  แต่ยังไม่พบการดื้อต่อสารสกัดสะเดาในพืชที่นำมาบริโภคมีน้อยมากหรือไม่มีเลย  เพราะสลายตัวค่อนข้างเร็วในสภาพธรรมชาติ  ซึ่งตรงข้ามกับการใช้สารกำจัดแมลงใช้ไปนาน ๆ แมลงจะเพิ่มมากขึ้นต้องพ่นถี่ขึ้น ในสหรัฐอเมริกาทางการได้อนุญาตให้ผลิตภัณฑ์สะเดาในรูปการค้าหลายยี่ห้อใช้กับพืชที่รับประทานได้อาทิเช่น องุ่น สตรอเบอรี่ แอปเปิ้ล แพร์ เชอร์รี่ ถั่ว หน่อไม้ฝรั่ง กาแฟ ชา ข้าวโพด ข้าว ข้าวสาลี พืชน้ำมันต่าง ๆ

จากข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวข้างต้น ขอแนะนำให้ใช้กับดักกาวเหนียวสีเหลืองและกับดักแสงไฟเป็นหัวหอกสำคัญ เพราะเป็นการแก้ปัญหาต้นเหตุที่ทำลายตัวแก่พ่อแม่แมลงศัตรูผัก ไม่ให้เกิดแพร่พันธุ์ คือตัวหนอนด้วย เสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการใช้สารกำจัดแมลงมาก แล้วใช้สารสกัดจากผลสะเดาแห้งด้วยน้ำกับตัวหนอนที่มีอยู่น้อยให้หมดไป เป็นการลดต้นทุนการผลิตได้มาก และทำให้สิ่งแวดล้อม นิเวศวิทยาการเกษตรกลับคืนมา มิหนำซ้ำผักที่ได้จะปลอดสารกำจัดแมลงเป็นผักอนามัย  ซึ่งทำให้ผู้บริโภคมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

อนึ่งผู้เขียนขอขอบคุณอาจารย์นักกีฏวิทยา นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการเกษตร เจ้าหน้าที่ส่งเสริมฯที่กล่าวนามข้างต้น ที่ให้ข้อมูลประกอบการเขียนบทความนี้ไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย

เรื่อง  สุขสันต์  สุทธิผลไพบูลย์

อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์