พรรณพฤกษชาติในประเทศไทย

พฤษชาติ

อาณาจักรพฤกษชาติชั้นสูง หรืออาณาจักรเมตาไฟตา (Metaphyta) ประกอบด้วยพืซสีเขียวเป็นส่วนใหญ่ จัดจำแนกออกเป็น 2 อาณาจักรย่อยคือ ไบรโอไฟตา (Bryophyta) และเทรคีโอไฟตา (Tracheophyta)

Bryophyta

ไบรโอไฟท์ เป็นกลุ่มพืชไร้ดอกที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก พบมากในแหล่งที่มีความชื้นในอากาศสูง มีร่มเงา มักขึ้นเป็นกลุ่มคลุมดิน หิน เปลือกไม้ หรือบางชนิดเกาะอยู่บนใบไม้ มีบทบาทในธรรมชาติ คือ ช่วยคลุมผิวดิน เก็บความชุ่มชื้น และเป็นแหล่งที่เหมาะสมต่อการงอกของสปอร์ และเมล็ดของพันธุ์ไม้ต่าง ๆ พืชพวกไบรโอไฟท์มีจำนวนมากกว่า 25,000 ชนิด แยกเป็น 3 อับดับคือ Bryopsida ได้ แก่พวกมอส (mosses) Hepaticopsida ได้แก่พวกลิเวอร์เวิร์ธ (liverworts) และ Anthocerotopsida ได้ แก่ฮอร์นเวิร์ธ (hornworts) ในประเทศไทยพบประมาณ 800 ชนิด

พืชกลุ่มนี้มีโครงสร้างไม่ซับซ้อน ประกอบด้วยเนื้อเยื่อที่คล้ายกันเกือบทั้งต้น พวกหนึ่งมีลักษณะคล้ายต้นไม้เล็ก ๆ ประกอบด้วยส่วนที่เป็นแกนคล้ายต้น มีแผ่นแบนบางสีเขียวคล้ายใบเกาะที่แกนและกลุ่มเส้นสีขาวหรือสีน้ำตาลที่ทำหน้าที่ยึดเกาะ อีกพวกหนึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นสีเขียวแยกสาขาเป็นคู่ๆ หรือเป็นแผ่นค่อนข้างกลมขอบหยักเว้า ช่วงชีวิตที่มีสีเขียวนี้ทำหน้าที่สร้างเซลล์สืบพันธุ์ (gametophyte) ส่วนช่วงชีวิตที่ทำหน้าที่สร้างสปอร์ (sporophyte) นั้นมีอายุสั้นและอาศัยอยู่บนต้นที่ทำหน้าที่สร้าง เซลล์สืบพันธุ์

Tracheophyta

เทรคีโอไฟท์ คือกลุ่มพืซที่มีโครงสร้างซับซ้อน มีเนื้อเยื่อที่ทำหน้าที่ลำเลียง ระยะที่สร้างสปอร์ เจริญเป็นอิสระ และมีอายุยาวกว่าช่วงชีวิตที่สร้างเซลล์สืบพันธุ์ (ตรงข้ามกับพืชพวกไบรโอไฟท์) พืชกลุ่มนี้มีอยู่ จำนวนมาก เจริญอยู่ในสภาพถิ่นอาศัยต่างๆ กัน จัดจำแนกออกเป็น 8 อันดับ ได้แก่พวก หวายทะนอย (Psilopsida) พวกหางสิงห์ (Lycopsida) พวกหญ้าถอดปล้อง (Sphenopsida) พวกเฟินต่าง ๆ (Filicopsida) พวกสน (Coniferopsida) พวกปรง (Cycadopsida) และพวกมะเมื่อย (Gnetopsida) ส่วนกลุ่มพืชดอกหรือพวกไม้ดอก (Angiospermopsida) มีจำนวนและการกระจายพันธุ์มากที่สุด

ANGIOSPERMOPSIDA

ไม้ดอก มีจำนวนประมาณ 250,000 ชนิด พบขึ้นกระจายทั่วโลกในถิ่นอาศัยต่าง ๆ ความหลากหลายมีมากทั้ง ขนาด รูปร่าง อายุขัย ตลอดจนลักษณะและสีสันของดอก ส่วนที่เรียกว่า ดอก นั้นประกอบด้วย วงชั้นต่าง ๆ ตั้งแต่รอบนอกหรือส่วนล่างสุดเข้าไปหาส่วนกลางของดอก ได้แก่วงชั้นกลีบเลี้ยง วงชั้นกลีบดอก วงชั้นเกสรตัวผู้ และวงชั้นเกสรตัวเมีย ความแตกต่างของดอกไม้มีได้มาก เช่น อาจมีวงชั้นต่าง ๆ ไม่ครบทั้ง 4 ชั้น บางชนิดสร้างดอกแยกเพศ มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะรูปร่างของชั้นทั้ง 4 หรือมีการ เชื่อมติดกันของส่วนต่างๆ ในชั้นเดียวกันและระหว่างชั้นดังจะเห็นได้จากดอกไม้นานาชนิดที่พบขึ้นอยู่ทั่วไปซึ่งในบางพวกมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก เช่น ลดรูปของกลีบดอกและกลีบเลี้ยงเหลือแต่เกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมีย จนทำให้เป็นที่สังเกตได้ยาก

กลุ่มไม้ดอกแยกได้เป็นพวกใบเลี้ยงเดี่ยวและใบเลี้ยงคู่ ทั้งสองกลุ่มนอกจากจะมีความแตกต่างกัน ที่จำนวนใบเลี้ยงตามชื่อกลุ่มแล้วยังแตกต่างกันที่ลักษณะต้น ใบและดอก ตลอดจนโครงสร้างของเนื้อเยื่อ ภายในต้นและใบด้วย

พืชใบเลี้ยงเดี่ยว สังเกตได้ง่าย ๆ จากลักษณะเส้นใบมักจะเป็นแบบขนาน ดอกมีส่วนประกอบของชั้นต่าง ๆ เป็นจำนวนสามหรือทวีคูณของสาม

พืชใบเลี้ยงคู่ ส่วนมากเส้นใยแยกสาขาแบบร่างแห ดอกมีส่วนประกอบของชั้นต่าง ๆ ที่ใม่ใช่จำนวนสาม