พริกยักษ์(Sweet Pepper)


ลักษณะทั่วไป
คล้ายกับการปลูกมะเขือเทศ คือการดูแลรักษาค่อนข้างยาก และใช้ปลูกในพื้นที่เพาะปลูกขนาดใหญ่ มีปัญหาโรคพืชมาก ทำให้การสูญเสียพืชผลค่อนข้างสูง ไม่ควรปลูกในพื้นที่ต่อจากการใช้ปลูกมะเขือเทศ หรือมันฝรั่ง ต้องให้คำแนะนำส่งเสริมค่อนข้างมาก เกษตรกรต้องเอาใจใส่มากเพื่อให้ได้ผลผลิตดี
ข้อมูลการผลิต
พันธุ์ California Wonder (พันธุ์เขียว) Wonder Bell (พันธุ์แดง), Golden Bell (พันธุ์เหลือง)
ฤดูปลูก ช่วง ก.พ.-ม.ค. ไม่ควรปลูกในฤดูหนาว
ความสูง 300-1500 เมตร (ฤดูหนาว ปลูกไม่ได้ในระดับ ความสูงเกิน 1000 เมตร)
ความเป็นกรดด่างของดิน 6.0-6.8
ชนิดของดิน ร่วนปนทราย ระบายน้ำดี หลีกเลี่ยงการปลูกในพื้นที่ที่เคยปลูกพืชตระกูลเดียวกัน (พริก,มะเขือยาว)
ระยะปลูก (ต้นxแถว)    ฤดูฝน 40×75 ซม. ฤดูหนาว 40×50 ซม. ฤดูร้อน 40×40 ซม.
จำนวนต้น ฤดูฝน 5 ต้น/ตร.ม. ฤดูหนาว 5 ต้น/ตร.ม. ฤดูร้อน 6 ต้น/ตร.ม.
ความกว้างของแปลง 1 เมตร
ระยะห่างของแปลง 50 ซม.
ระยะเวลาที่เจริญเติบโตเต็มที่ ตั้งแต่ย้ายปลูกถึงเก็บเกี่ยว 65-90 วัน (พันธุ์เขียว) 80-95 วัน (พันธุ์แดงและพันธุ์เหลือง)
ข้อมูลต้นทุนและผลตอบแทนและการใช้แรงงาน ไม่มีรายงาน
ข้อสังเกตเกี่ยวกับต้นทุนผลตอบแทน (ต่อพื้นที่ปลูก 100 ตร.ม.)
การผลิต
ตลาดภายในประเทศกว้างขวาง มีตลาดเอกชนรองรับเต็มที่ ปัจจุบันนิยมปลูกจำหน่ายในฤดูฝน แต่มีแนวโน้มที่จะผลิตในฤดูร้อนมากขึ้น การสูญเสียเมื่อขนส่งไปจำหน่ายตลาดกรุงเทพฯ ต่ำ (20-30%) ราคาตลาดสูงสุด ม.ค.-พ.ค. (18-20 บาท) ต่ำสุด ส.ค.-ต.ค. (11-13)
สำหรับเจ้าหน้าที่ส่งเสริม
ไม่ควรปลูกซ้ำพื้นที่ที่เคยปลูกพืชตระกูลเดียวกันมาก่อน พื้นที่ควรมีแสงเพียงพอ ดินถ้าเป็นกรดมากเกินไป จะทำให้เกิดโรคเหี่ยวได้ง่าย ไม่ควรเพาะกล้าในฤดูหนาว จะทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต ในการปลูกไม่ควรให้รากแก้วงอ จะทำให้พืชเจริญเติบโตไม่ดี แคระแกร็น เกษตรกรหลายรายจำหน่ายผลผลิตแก่แหล่งอื่นนอกโครงการฯ ทำให้คุมโควต้าลำบาก เกษตรกรต้องได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับเทคนิคการเพาะปลูกสม่ำเสมอ จึงจะทำการผลิตได้ผลดี
ข้อแนะนำเกี่ยวกับเทคนิคการเพาะปลูก
ศัตรูพืชและโรค
ศัตรูพืช
แมลงวันแตง    เข้าทำลายตั้งแต่ระยะติดผลจนถึงเก็บเกี่ยว สังเกตจากรอยบุ๋มสีขาวบนผิว ป้องกันโดยใช้เซฟวิน 85 ตลอดระยะนี้ ความถี่แล้วแต่การระบาด อาจใช้กับดักแมลงในระยะติดผล
แมลงหวี่ขาว พบได้ทุกระยะ ทำลายส่วยยอดของต้น ป้องกันแก้ไขโดยใช้ เมซูโรล มากน้อยตามอัตราการระบาด
เพลี้ยไฟ พบระหว่าง เม.ย.-ก.ค. ทำให้ใบหงิกม้วน ใช้ แลนเนท หรือเมซูโรล ตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงเวลาเก็บเกี่ยว โดยใช้ถี่ขึ้นถ้าการเข้าทำลายมีมากขึ้น
ปลวก (White Mite) พบก่อนระยะการติดดอก ดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้ใบหงิกงอ ป้องกันแก้ไขโดยใช้ โอไมท์ หรือ ไมแทค ตั้งแต่ระยะก่อนติดดอก จนถึงเก็บเกี่ยว โดยใช้บ่อยขึ้น ถ้าการระบาดมีมาก
หนอนเจา (American Boll Worm) พบตั้งแต่ระยะติดดอกจนถึงเก็บเกี่ยว ทุกฤดูปลูก ใช้แลนเนท หรือยา Synthetic pyrethroid สัปดาห์ละครั้ง หรือตามความจำเป็น
โรค
โรคใบจุด  พบตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว สังเกตุจากจุดกลมสีน้ำตาลมีสีเทาอ่อนตรงกลางใบ ใช้ บาวิสติน FL สลับกับ ไดเทนเอ็ม 45 ฉีดพ่นสัปดาห์ละครั้งเมื่อมีการระบาด
ราแป้ง  สังเกตจากผงสปอร์บนใบเมื่อมีการระบาดรุนแรงใช้ เบนเลท หรืออาฟูกาน 30 สลับกับ คาราเทน สัปดาห์ละครั้งถ้าจำเป็น
โรคเหี่ยว ที่มีสาเหตุจากเชื้อรา เข้าทำลายทุกระยะ ถามีเชื้อหลงเหลือในดิน พืชแสดงอาการต้นเหี่ยวในตอนกลางวัน ป้องกันโดยใช้แคปแทน ผสมกับเบนเลท หรือเทอร์ราคลอร์ โรคเหี่ยวที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย สังเกตจากพืชเหี่ยวเฉาอย่างรวดเร็วเมื่ออากาศร้อนในตอนกลางวัน ป้องกันแก้ไขโดยใช้โคแมค หรือคูปราวิท หรือขุดทำลายต้นที่มีอาการโรค
โรคแอนแทร็กโนส พบระยะติดผลสังเกตจากแผลเป็นวงกลมสีน้ำตาลมีใยสีชมพูตรงกลาง ใช้ แอนทราโคล เป็นระยะๆ ตั้งแต่ช่วงติดผลจนถึงเก็บเกี่ยว
อื่นๆ
การขาดธาตุแมกนีเซี่ยม สังเกตจากใบเหลืองแต่เส้นใบยังคงเขียว ฉีดพ่นสารประกอบแมกนีเซียมซัลเฟต
ปัจจัยที่ต้องการ (ต่อพื้นที่ปลูก 1 ตร.ม.)


ข้อควรปฏิบัติ
ช่วงการเตรียมกล้า
ขุดพลิกดินตากแดดทิ้งไว้ 7 วัน ขึ้นแปลงกว้าง 1 เมตร เว้นร่องน้ำระหว่างแปลง 50 ซม. ย่อยดินให้ละเอียด เก็บหญ้าออกให้หมด ใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก ปูนขาว ปุ๋ย 15-15-15 คลุกผสมในดินให้ทั่ว ปรับหน้าแปลงให้เรียบและแต่งข้างแปลงให้แน่น ขีดร่องขวางแปลงลึก 1 ซม. ห่างกัน 10 ซม. หยอดทีละเมล็ดห่างกัน 1 ซม. โรยฟูราดานในร่องหยอดเมล็ด กลบดิน แล้วใช้เซฟวิน 85 (ป้องกันมด) และ ไดเทนเอ็ม 45 (ป้องกันโรคเน่าคอดิน Damping Off) ผสมน้ำราด รดน้ำสร้างโครงตาข่ายพลาสติคครอบแปลง รักษาความชื้นและป้องกันแสงแดด รดน้ำแปลงก่อนจะย้ายปลูก ใช้เครื่องมือแซะกล้าอย่างระมัดระวัง พยายามให้ดินคงติดราก
ช่วงการปลูก
ขุดเตรียมดิน พักตากแดด 7 วัน ใส่ปูนขาว ปุ๋ยคอก ปุ๋ย 0-4-0 คลุกผสมในดิน ยกแปลงกว้าง 1 เมตร เว้นร่องรดน้ำระยะ 50 ซม. ระหว่างแปลง ขุดหลุมปลูกลึก 10 ซม. ห่างกันหลุมละ 45 ซม. รองพื้นด้วยปุ๋ย 15-15-15 ฟูราดาน และโบแรกซ์ กลบดินแล้วย้ายกล้ามาปลูก รดน้ำให้ชุ่ม
ช่วงดูแลรักษา
ทำค้างเมื่อย้ายปลูกแล้ว โดยปักไม้หรือไม้ไผ่ยาว 75 ซม. ลงดินผูกต้นเข้ากับไม้ค้ำเมื่อต้นสูงประมาณ 20 ซม. และผูกต่อไปทุกระยะที่ต้นสูงขึ้น (3-4 ครั้ง) เด็ดดอกแรกที่เกิดระหว่างลำต้นและกิ่งแขนงทิ้ง
ใส่ปุ๋ยครั้งแรก เมื่อย้ายปลูกได้ 7 วัน ใช้ปุ๋ย 46-0-0 ผสมน้ำรดหลังใส่ปุ๋ยครั้งแรก 10-15 วัน ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 ใช้สูตร 15-15-15 หลังจากนั้นอีก 20-30 วัน เมื่อเริ่มระยะติดผล ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 3 โดยใช้ปุ๋ย 15-15-15 และ 13-13-21 โรยโคนต้น (1 ช้อนแกง) กลบดินแล้วรดน้ำ กำจัดวัชพืชตามควร พร้อมกับการใส่ปุ๋ย ฉีดพ่นยาสัปดาห์ละครั้งหรือเมื่อต้องการ
ข้อควรระวัง
1. ผูกต้นและกิ่งกับไม้ค้ำ เพื่อป้องกันต้นหักล้ม
2. อย่าทำให้รากมีแผล ป้องกันเชื้อเข้าไปทำให้เกิดโรคเหี่ยว
3. เด็ดใบแก่ ใบที่มีโรค และผลเน่าทิ้ง ป้องกันการระบาดของโรค
ช่วงการเก็บเกี่ยว
พันธุ์เขียว เก็บเกี่ยวเมื่อผลมีผิวเรียบและแข็ง ใช้กรรไกรตัดตรงขั้ว ถ้าใช้มือเด็ดอาจทำให้ขั้วหลุด รวมทั้งขั้วผลที่อยู่ใกล้เคียงด้วย ใช้ปูนแดงป้ายรอยตัด(ป้องกันเชื้อแบคทีเรียขยายตัวทำให้ผลเสียหาย) ทำการคัดเกรด เช็ดผลให้สะอาดและแห้ง ห่อผลด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์แล้วบรรจุในกล่องพลาสติค
พันธุ์แดงและเหลือง วิธีเดียวกับพันธุ์เขียว แต่เก็บเกี่ยวเมื่อผลเริ่มมีสีได้มากกว่า 50%
ที่มา:ภาควิชาส่งเสริมและเผยแพร่การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่