พริกไทย

พริกไทย

ชื่อพื้นเมืองอื่นๆ พริกน้อย, พริกไทยดำ พริกไทยล่อน

ชื่ออังกฤษ Pepper

ชื่อวิทยาศาสตร์ Piper nigrum Linn.

วงศ์ Piperaceae

พริกไทยใช้เป็นเครื่องเทศและใช้แต่งกลิ่นอาหารมานานแล้ว นอกจากจะใช้แต่งกลิ่นอาหารให้อาหารมีกลิ่นหอมและมีรสชวนรับประทาน แล้วยังช่วยถนอมอาหาร ทำให้อาหารเก็บได้นานขึ้นอีกด้วย พริกไทยมีลักษณะเป็นไม้เถาเลื้อยพันค้างโดยมีรากที่ออกตามข้อเป็นเครื่องยึด หรืออาจจะให้เลื้อยพันไปบนพืชชนิดอื่นก็ได้ เป็นพืชที่ปลูกทั่วๆ ไปในประเทศที่มีอากาศร้อน เช่น หมู่เกาะอินเดียตะวันตก บราซิล อินโดนีเซีย มาเลเซีย ศรีลังกา เขมร ไทย ฯลฯ แต่เดิมพริกไทยเป็นพืชที่ดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่ต่างต้นกัน แต่ตอนหลังนำมาปลูกและผสมพันธุ์จนกระทั่งได้พันธุ์ใหม่ที่มีดอกชนิดสมบูรณ์เพศ มีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน ผลพริกไทย มีลักษณะกลมอยู่เป็นพวงอัดกัดแน่น

พริกไทยดำ (Black pepper) และพริกไทยล่อน (White Pepper) ได้จากผลพริกไทยที่มีวิธีเก็บและวิธีเตรียมที่แตกต่างกัน โดยพริกไทยดำเป็นผลที่เก็บเมื่อผลโตเต็มที่แต่ยังไม่สุก เมื่อเก็บแล้วนำมาทำให้แห้ง จะมีเปลือกติด มีลักษณะเป็นสีดำ ส่วนพริกไทยล่อนเก็บเมื่อผลสุก นำมาแซ่นํ้าเพื่อลอกเอาเปลือกชั้นนอกออก แล้วนำมาผึ่งให้แห้ง จะได้พริกไทยที่มีสีออกขาว ไม่มีเปลือกชั้นนอก

สารสำคัญ

ผลพริกไทยประกอบด้วยนํ้ามันหอมระเหย (pepper

oil) ในปริมาณร้อยละ 2-4 ซึ่งทำให้พริกไทยมีกลิ่นหอม มีชั้นนํ้ามัน (oleoresin) ซึ่งทำให้พริกไทยมีรสเผ็ด และมีแอลคาลอยด์พิพเพอรีน (piperine) ร้อยละ 5-9 เป็นสารที่ทำให้เกิดกลิ่นฉุนและรส เผ็ดร้อน นอกจากนี้ยังมีโปรตีนและคาร์เบไฮเดรต อยู่ในปริมาณร้อยละ 11 และ 65 ตามลำดับ นํ้ามันพริกไทย (Pepper oil) เป็นนํ้ามันหอมระเหยที่ได้จากการนำพริกไทยดำมากลั่นด้วยไอนํ้า ประกอบด้วยสารจำพวกโมโนเทอร์ปีน (monoterpene) และ เซสควิเทอร์ปีน (sesquiterpene) หลายชนิด

ประโยชน์ทางยา

ในทางอาหารใช้ทั้งพริกไทยดำและพริกไทยล่อนโรยเพื่อแต่งกลิ่นอาหารที่ปรุงเสร็จแล้ว ใช้แต่งกลิ่นเครื่องดื่ม บรั่นดี ลูกกวาด เนยแข็ง และใช้ถนอมอาหารประเภทเนื้อ พริกไทยจะช่วยกระตุ้นปุ่มรับรสที่ลิ้นเป็นผลให้กระเพาะอาหารหลั่งนํ้าย่อยได้มากขึ้น

ส่วนในทางยานิยมใช้พริกไทยดำ โดยใช้เป็นยาขับลม ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ ชาวจีนยังใช้พริกไทยช่วยระงับอาการปวดท้อง มีรายงานว่าพิพเพอรีน ซึ่งเป็นแอลคาลอยด์หลักของพริกไทย ใช้แก้โรคลมบ้าหมู (Antiepileptic) ได้ และมีการเตรียมอนุพันธ์ของสารนี้ชื่อ Antiepilepsirine ซึ่งมีฤทธิ์แก้อาการชักได้ดีกว่า พิพเพอรีน และมีผลข้างเคียงน้อยกว่า เพื่อใช้เป็นยาออกจำหน่าย นอกจากนี้พิพเพอรีนยังมีฤทธิ์เป็นยาฆ่าแมลงได้ดี มีรายงานว่ามีฤทธิ์ฆ่าแมลงวันได้ดีกว่าไพรีทริน (pyrethrin) และไม่มีพิษต่อมนุษย์