พริก

พริกมีหลายชนิด เช่น พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า พริกหยวก เป็นต้น พริกทุกชนิดจะมีรสเผ็ดร้อน พริกเป็นพืชในสกุล Capsicum มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาเขตร้อน และหมู่เกาะอินเดียตะวันตก ในทางการค้าบางทีเรียกพริกขี้หนูว่า African Chillies

พริกขี้หนู

พริกขี้หนู

ชื่อพื้นเมืองอื่นๆ พริกแกว

ชื่ออังกฤษ Capsicum, Cayenne Pepper

ชื่อวิทยาศาสตร์ Capsicum frutescens Linn.

วงศ์ Solanaceae

พริกชี้ฟ้า

พริกชี้ฟ้า

ชื่ออังกฤษ Chili Spur Pepper

ชื่อวิทยาศาสตร์ Capsicum armuum Linn, var. acuminatum Fingerh.

วงศ์ Solanaceae

พริกหยวก

พริกหยวก

ชื่ออังกฤษ Chili, Red Pepper, Sweet Pepper

ชื่อวิทยาศาสตร์ Capsicum armuum Linn.

วงศ์ Solanaceae

พริกเป็นพืชที่ใช้เป็นเครื่องเทศสำหรับแต่งรสอาหารให้มีรสเผ็ด มีปลูกทั่วไปในเขตอากาศอบอุ่นและอากาศร้อน โดยเขตอากาศร้อนนิยมปลูกพริกขี้หนูและพริกชี้ฟ้า ส่วนเขตอากาศอบอุ่นนิยมปลูกพริกหยวกซึ่งมีรสเผ็ดน้อยกว่า

สารสำคัญ

ในผลพริกประกอบด้วยสารรสเผ็ด ได้แก่ แคปไซซิน (capsaicin) และอนุพันธ์ของสารนี้ สารเหล่านี้จะมีมากที่บริเวณไส้ของผลและมีสารจำพวกแคโรทีนอยด์ (carotenoids) ซึ่งทำให้พริกมีสีส้ม-แดง ที่สำคัญได้แก่ แคโรทีน (carotene), แคปซารูบิน

(capsarubin), ลูทีโอลิน (luteolin) เป็นต้น นอกจากนี้ในพริกยังมี ไวตามินซี ไวตามินเอ ไขมัน โปรตีน และกรดอินทรีย์อื่นๆ ในเมล็ดพริกมีแอลคาลอยด์จำพวกโซลานีน (solanine), และโซลานิดีน (solanidine) อยู่ด้วย

ประโยชน์ทางยา

พริกใช้เป็นเครื่องเทศแต่งรสเผ็ดในอาหารของชาวตะวันออก ใช้ทั้งในรูปพริกสด และพริกแห้ง ใช้แต่งรสเครื่องดื่มและเหล้า ใช้แต่งสีอาหารให้น่ารับประทาน พริกช่วยให้เจริญอาหาร ช่วยขับลม ขับเสมหะ ขับเหงื่อ แก้อาเจียน ช่วยย่อยในกรณีที่กระเพาะมีนํ้าย่อยน้อย ช่วยกระตุ้นการทำงานของกระเพาะอาหารทำให้เจริญอาหาร และช่วยให้ระบบการย่อยอาหารดีขึ้น อาหารที่ปรุงด้วยพริกเมื่อรับประทานแล้วจะทำให้มีนํ้าลายออกมามากขึ้น ทำให้เอนไซม์ในนํ้าลายย่อยแป้งในปากได้มากขึ้นจึงทำให้รู้สึกว่ารสอาหารดีขึ้น

แต่ถ้ารับประทานพริกมากเกินไปและรับประทานเป็นประจำอาจทำให้กระเพาะและลำไส้อักเสบ ท้องเสีย ปวดท้อง และอาเจียนได้ คนที่เป็นแผลในกระเพาะอาหารไม่ควรรับประทานพริก เพราะอาจทำให้ระคายเคือง ทำให้กระเพาะอักเสบมากยิ่งขึ้น พริกยังสามารถใช้เป็นยาทาถูภายนอก ทำให้ผิวหนังร้อนแดง ช่วยให้เลือดมาเลี้ยงผิวหนังบริเวณนั้นมากยิ่งขึ้น ทำให้การหมุนเวียนของเลือดดีขึ้น จึงสามารถใช้แก้ปวดเมื่อยได้ ทิงเจอร์ที่ทำจากพริกใช้ทาถูบริเวณที่ถูกความเย็นจัด ทำให้รู้สีกร้อนขึ้น แก้อาการตะคิวได้ ยาเตรียมบางชนิดที่ทำจากพริกใช้ทาหัวแม่มือเด็กเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กดูดหัวแม่มือหรือกัดเล็บ นอกจากนี้พริกยังสามารถยับยั้งเชื้อจุลินทรียับางชนิดได้อีกด้วย

ในปัจจุบันได้มีการสกัดแคปไซซินจากพริก เพื่อนำไปผสมในยาชนิดต่างๆ มากมาย เช่น ยาธาตุ ยาเจริญอาหาร ยาขับลม ยาแก้ปวดท้อง และผสมในขี้ผึ้งทาถูนวด เป็นต้น