พลูคาวมีสรรพคุณอย่างไร


ชื่ออื่น ผักก้านตอง (แม่ฮ่องสอน) ผักเข้าตอง ผักคาวตอง (ภาคเหนือ) ผักคาวทอง (ภาคกลาง) หื่อชอเช่า (แต้จิ๋ว) ยวีเซียนฉ่าว (จีนกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Houttuynia cordata Thunb.
วงศ์ Saururaceae
ลักษณะต้น เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี สูงประมาณ 15 ซม. ทั้งต้นนำมา ขยี้จะมีกลิ่นคาวปลา ลำต้นทอดไปตามดิน มีรากงอกตรงข้อประปราย ใบเป็นรูปหัวใจ ออกสลับกัน ยาว 4-8 ซม. กว้าง 4-6 ซม. ปลายใบ แหลม ฐานใบรูปหัวใจ ขอบใบเรียบ ใต้ใบมีต่อมเล็กๆ สีม่วง ก้านใบยาว 1-4 ซม. มีหูใบ เป็นเส้นยาว 2.5 ซม. โดยส่วนฐานจะห่อลำต้นไว้ ส่วนล่างจะเกิดร่วมกับก้านใบ ช่อดอกเกิดที่ส่วนบนของลำต้น ออกตรงกันข้ามกับใบ ยาวราว 2 ซม. บนแกนช่อมีดอกเล็กสีเหลือง ที่โคนช่อดอกมีกลีบรองดอกสีขาว 4 กลีบ ชอบขึ้นในที่ชื้นแฉะ
ส่วนที่ใช้ ทั้งต้น ใบ ราก
สรรพคุณ
ทั้งต้น ใช้ในโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ฝีหนองในปอด ปอดบวม ไข้มาเลเรีย แก้บิด ขับปัสสาวะลดอาการบวมน้ำ นิ่ว ขับระดูขาว ริดสีดวงทวาร ดากโผล่ แก้โรคผิวหนังผื่นคัน ฝีฝักบัว ฝี แผลเปื่อย และ พอกในรายกระดูกหัก
ใบ แก้บิด หัด โรคผิวหนัง ริดสีดวงทวาร และหนองใน
ราก ขับปัสสาวะ
ข้อห้ามใช้
ห้ามใช้ในผู้ที่มีอาการกลัวหนาว  แขนขาเย็น ไม่กระหายน้ำ ชอบดื่มของร้อน ปวดท้อง ท้องร่วง ปัสสาวะใสและมาก ชั้นฝ้าบนลิ้นขาว (จีนเรียกอาการพร่อง)
ตำรับยาและวิธีใช้
1. นิ่ว ระดูขาว ใช้ต้นสด 25-30 กรัม ต้มน้ำกิน
2. ไซนัสเรื้อรัง ใช้ทั้งต้นสดตำให้ละเอียด คั้นน้ำ แล้วหยอดจมูก วันละ 5-6 ครั้ง พร้อมกับใช้ต้นสด 25 กรัม ต้มน้ำกิน
3. ใช้ทั้งต้นสด 30-60 กรัม (แห้ง 10-15 กรัม แช่ในน้ำ 1-3 นาทีก่อนต้ม) ต้มน้ำใส่เหล้าเล็กน้อย กิน 3 วันติดต่อกัน อีกส่วนหนึ่งต้มน้ำแล้วเอาน้ำชะล้าง สำหรับริดสีดวงทวาร
4. ฝีฝักบัว ใช้ทั้งต้นแห้ง บดเป็นผง ผสมน้ำผึ้งพอก ถ้ายังไม่เป็น หนองก็จะยุบหายไป ถ้ามีหนองจะดูดหนองออกมา
5. ฝี แผลเปื่อย ใช้ต้นสด ตำให้ละเอียดพอกบริเวณที่เป็น (เปลี่ยน ยาเช้า-เย็น) เวลาพอกจะรู้สึกปวด 1-2 ชม. แต่หลังจากนั้น 1-2 วัน ก็จะหาย
6. อาการคันของอวัยวะเพศภายนอกของสตรี ฝีบริเวณทวารหนัก ใช้ ทั้งต้นจำนวนพอประมาณต้มน้ำชะล้าง
รายงานทางคลีนิค
1. ฝีหนองในปอด (lung abscess) ใช้พลูคาวแห้งวันละ 30-60 กรัม นำไปแช่น้ำเย็นสักครู่ ต้มให้เดือดแล้วกิน (อย่าต้มนาน) ในการรักษา เด็กที่เป็นฝีหนองในปอด 5 ราย พบว่าภายใน 1-2 สัปดาห์หนองและแผลที่ปอดหาย (แต่เยื่อหุ้มปอดหนาขึ้นเล็กน้อย) ส่วนอาการไข้จะลดลงเป็นปกติหลังการใช้ยา 2-8 วัน ในระยะ 2-3 วันแรกของการรักษาส่วนใหญ่ ผู้ป่วยมีอาการสำลัก ไอมีเสมหะ และหนองจำนวนมาก หลังจากนั้น 5 วัน อาการไอลดลง ไม่มีเสมหะและหนอง ต่อมาอีก 1 สัปดาห์ อาจมีอาการไอบ้าง พลูคาวช่วยลดกลิ่นเหม็นของเสมหะ และสภาพระบบเลือด (blood picture) จะกลับสู่ปกติภายใน 10 วัน
มีรายงานว่าใช้ต้นสด 60 กรัม คั้นน้ำกินวันละ 2 ครั้ง รักษาผู้ป่วย 1 รายที่เป็นโรคฝีหนองในปอดและมีหนองในช่องปอด (โดยไม่ใช้ยาต้านจุลชีพและไม่ดูดน้ำออก) ในวันที่สองพบว่า เสมหะ อาการไอและ การหายใจเร็วลดลงอย่างเห็นได้ชัดและสามารถลุกนั่งได้ ต่อมาในวันที่ สามสามารถเดินได้ เมื่อกินยาครบสิบวัน ถ่ายเอ็กซ์เรย์ปอดพบว่าหายเป็นปกติ
2. ไอกรน (ไอร้อยวัน) เตรียมยาฉีดโดยใช้พลูคาวและน้ำกลั่น ในอัตราส่วน 1 : 1 แล้วฉีดตรงเฉพาะจุด (ที่ใช้ปักเข็ม) ที่เกี่ยวกับอาการ หอบ เสมหะ และเลือด วันละครั้ง เป็นเวลา 5 วัน เว้น 1 วัน แล้วฉีดต่อ อีก 5 วัน ในการรักษาผู้ป่วย 52 ราย พบว่าได้ผลดี 32 ราย, ดีขึ้นชั่วคราว 18 ราย, ไม่ได้ผล 2 ราย โดยทั่วไปจะหายภายใน 5-10 วัน
3. ข้ออักเสบเป็นหนอง ใช้ยาฉีดพลูคาว (มีตัวยา 1 กรัมต่อมล.) ฉีดเข้าข้อครั้งละ 5-15 มล. สองหรือสามวันต่อครั้ง (ก่อนฉีดยาให้ดูด หนองบริเวณข้อออกแล้วล้างด้วยน้ำเกลือที่ปราศจากเชื้อ) ขณะเดียวกันก็ฉีดยา 5 มล. เข้ากล้ามเนื้อวันละ 2 ครั้ง (ต้องลดการเคลื่อนไหวของข้อที่อักเสบ) ในคนไข้ข้ออักเสบเป็นหนอง 3 ราย พบว่าอาการดังกล่าวหาย ไปใน 7, 10 และ 12 วัน ตามลำดับ โดยทั่วไปหลังจากฉีด 1-2 ครั้งก็สามารถควบคุมอาการไว้ได้
4. โรคผิวหนัง ใช้พลูคาว 60 กรัมเติมน้ำ 180 มล. แล้วกลั่นจนได้ น้ำกลั่นพลูคาว 90 กรัม เอาสำลีชุบ น้ำกลั่นพลูคาว พอกบริเวณที่เป็น ในการรักษาตุ่มใต้ผิวหนัง ฝี และแผลติดเชื้อ 50 ราย ได้ผล 48 ราย, ไม่ ได้ผล 2 ราย ตุ่มใต้ผิวหนังอักเสบได้ผลดีที่สุด ผู้ป่วยส่วนหนึ่งให้กิน น้ำกลั่นพลูคาวร่วมด้วย ครั้งละ 10-20 มล. วันละ 3 ครั้ง
5. ปากมดลูกอักเสบเรื้อรัง ใช้พลูคาวที่ทำเป็นเม็ด ในแต่ละเม็ด มีเดคาโนอิล อะซีตัลดีไฮด์ (decanoyl acetaldehyde) 10 มก. สอดเข้า ปากมดลูกวันละเม็ด เป็นเวลา 5 วัน ในการรักษาผู้ป่วย 11 ราย พบว่า ได้ผลดี 3 ราย, ส่งเกตได้ว่าอาการดีขึ้น 3 ราย, ดีขึ้นชั่วคราว 4 ราย, ไม่ ได้ผล 1 ราย
ผลทางเภสัชวิทยา
1. ผลในการต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย สารที่ออกฤทธิ์คือเดคาโนอิล อะซีตัลดีไฮด์ เมื่อทดลองนอกร่างกายมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อ Bacillus influenza, Pneumococcus spp. และ Staphylococcus aureus อย่าง เห็นได้ชัด แต่มีฤทธิ์น้อยในการยับยั้งเชื้อ Bacillus dysernerius, Bacillus coli, Bacillus typhosus น้ำมันที่สกัดจากพลูคาวมีฤทธิ์การยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลชีพหลายชนิด โดยเฉพาะยีสต์ (yeast) และเชื้อรา (mold)
2. ฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ กรอกน้ำสกัดพลูคาวให้คางคกหรือกบ ทำให้หลอดเลือดฝอยขยายตัว อัตราการไหลเวียนของโลหิตและการขับ ปัสสาวะเพิ่มขึ้น ฤทธิ์ในการขับปัสสาวะอาจเนื่องมาจากสารโปตัสเซียม (potassium) หรืออาจเป็นเพราะมีเคอร์ซิตริน (quercitrin) ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดขยายตัว
3. ฤทธิ์อื่นๆ พลูคาวยังมีฤทธิ์ ระงับปวด ห้ามเลือด กระตุ้นให้เนื้อเยื่อเกิดใหม่ น้ำสกัดพลูคาวฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักรมีฤทธิ์ในการ ระงับไอ แต่ไม่มีฤทธิ์ในการขับเสมหะและแก้หืด
ความเป็นพิษ
พลูคาวมีพิษน้อยมาก ปริมาณของเดคาโนอิล อะซีตัลดีไฮด์ ที่ทำให้หนูถีบจักรตาย 50% (LD50) คือ 1.6 ± 0.081 กรัมต่อ กก.น้ำหนักตัว ฉีดสารสกัดในขนาด 38-47 มก.ต่อ กก.น้ำหนักตัวเข้าหลอดเลือดดำ ของสุนัขไม่ทำให้สุนัขตาย ถ้าเพิ่มเป็น 61-64 มก.ต่อ กก.น้ำหนักตัว จึง ทำให้ตาย เมื่อผ่าซากสุนัขจะพบว่าปอดมีเลือดออกและมีก้อนเลือด ถ้า ใช้วิธีกรอกเข้ากระเพาะอาหารวันละ 80-160 มก.ต่อ กก.น้ำหนักตัว เป็นเวลาติดต่อกัน 1 เดือน พบว่าในระยะแรกน้ำลายไหลมาก มีอาการอาเจียนร่วมด้วย นอกจากนั้นก็ไม่มีอาการผิดปกติ
สารเคมีที่พบ
ทั้งต้น มีน้ำมันหอมระเหย 0.0049% ซึ่งประกอบด้วย decanoyl acetaldehyde , methyl-n-nonylketone, myrcene, lauric alde-hyde, capric aldehyde, capric acid, potassium chloride, potassium sulfide และ cordarine
ใบ ดอก ผล มี quercetol, quercitrin, isoquercitrin, reynoutrin และ hyperin
ที่มา:สำลี  ใจดี, สุนทรี  วิทยานารถไพศาล, รพีพล  ภโววาท, จิราพร  ลิ้มปานานนท์, นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี, วิทิต  วัณนาวิบูล