พะยอม

(White Meranti)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Shorea roxburghii G.Don
ชื่อวงศ์ DIPTEROCARPACEAE
ชื่ออื่น กะยอม (เชียงใหม่), ขะยอม (ลาว), ขะยอมดง (เหนือ),
แคน (ร้อยเอ็ด), เชียง เซี่ยว (กะเพรี่ยง-เชียงใหม่) พะยอม (กลาง), ยอม พะยอมทอง (สุราษฎร์ธาน-¬ปราจีนบุรี), ยางหยวก (น่าน), เน่าใน (แม่ฮ่องสอน)
ลักษณะทั่วไป ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ผลัดใบ สูง 15-40 ม. ลำต้นเปลาตรงกิ่งอ่อนเกลี้ยง ทรงพุ่มกลม เปลือกต้นหนา สีน้ำตาลหรือสีเทาเข้ม แตกเป็นร่องตามยาวลำต้นเป็นสะเก็ดหนา เปลือกในสีน้ำตาลอ่อนปนเหลืองและมีทางสีน้ำตาลแก่ผ่านเส้นรอบ ลำต้นอาจถึง 3 ม. เนื้อไม้แข็ง สีเหลืองอ่อนแกมเขียว


ใบ ใบรูปขอบขนานหรือแกมรูปขอบขนานขนาดกว้าง 3.5-4 ซม. ยาว 8-10 ซม. โคนและปลายใบมนหรือหยักเป็นติ่งสั้นๆ เนื้อใบ ค่อนข้างหนาใบเกลี้ยงเป็นมัน เส้นแขนงใบมีระหว่าง 15-20 คู่ และโค้งขนานไปสู่ขอบใบ เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได ขอบใบมักโค้งเป็นคลื่น จะผลัดใบหมดในฤดูแล้งและแตกยอดอ่อนใหม่ ก้านใบยาว 2-2.5 ซม.
ดอก สีเหลืองอ่อนหรือสีขาวนวล มีกลิ่นหอม ออกรวมกันเป็นช่อใหญ่ตามปลายกิ่งหรือเหนือรอยแผลใบใกล้ๆ ปลายกิ่ง โคน ขอบกลีบฐานรองดอกจะเกยกันแต่ไม่ติดเป็นเนื้อเดียวกัน มี 5 กลีบ กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบดอกจะจีบเวียนกันไปตามเข็มนาฬิกา กลีบรองกลีบดอกเกลี้ยงสีคล้ำ ขอบหยักเป็นฟันเลื่อย เกสรเพศผู้มี 15 อัน ก้านดอกยาว 1.5 ซม. รังไข่รูปรี ภายในแบ่งเป็น 3 ช่อง เพศแต่ละช่อง มีไข่อ่อน 3 หน่วย
ผล รูปกระสวยปลายแหลมขนาดกว้าง 1.2 ซม. ยาว 2 ซม. ซ่อนตัวผู้อยู่ภายในกระพุ้งโคนปีกประกอบด้วยปีกเรียวแคบ มีเส้นปีก ปีกละ 10 เส้น ปีกยาว 3 ปีก กว้าง 1 ซม. ยาว 8 ซม. ปีกสั้น 2 ปีก ขนาดยาว 3 ซม.
นิเวศวิทยา พบตามป่าเบญจพรรณแล้งและชื้น ป่าดิบแล้ง ทั่วๆ ไป ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 60-1,200 ม.
การใช้ประโยชน์ ดอกอ่อน นำมารับประทานสดหรือนำมาลวก เป็นผักร่วมกับน้ำพริก หรือนำไปปรุงอาหาร เช่น แกงส้ม ผัดกับไข่ ซุบไข่ทอด
หมายเหตุ ต้นไม้ประจำจังหวัดพัทลุง
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย