พังกาหัวสุมดอกแดง


ชื่อวิทยาศาสตร์ Bruguiera gymnorrhiza (L.) Savigny
ชื่อวงศ์ RHIZOPHORACEAE
ชื่ออื่น ประสัก ประสักแดง โกงกางหัวสุม พังกาหัวสุม (กลาง), พลัก
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 25-35 ม. ทรงพุ่มกลม ทึบ โคนต้น มีพูพอนสูง และมีช่องอากาศขนาดใหญ่อยู่ทั่วไป มีรากหายใจ คล้ายหัวเข่า เปลือกต้นหยาบสีนํ้าตาลดำ ถึงดำแตกเป็นร่องตามยาว ไม่เป็นระเบียบ


ใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่แกมรีหรือรูปรี กว้าง
4-9 ซม. ยาว 8-20 ซม. โคนใบมน ปลายใบแหลมสั้น ผิวใบเรียบหนา คล้ายแผ่นหนัง ผิวใบด้านบนมีสีเขียวเข้มเป็นมัน ผิวใบด้านล่างเป็นสีเขียว อมเหลืองมีเส้นใบ 8-10 คู่ และเส้นใบสีแดงเรื่อๆ ก้านใบกลมมีสีแดงเรื่อๆ ยาว 2-5 ซม. หูใบแหลมยาว ประกบกันเป็นคู่ๆ ที่ปลายกิ่ง ยาว 4-8 ซม. มีสีแดง ร่วงง่าย


ดอก สีแดงหรือแดงอมชมพู ออกดอกเดี่ยวๆ ตามง่ามใบ ก้าน ดอกยาว 3-4 ซม. ดอกตูมโค้งลงล่าง รูปกระสวย ยาว 2.5-3.5 ซม. กลีบเลี้ยงสีเขียวปนสีแดง โคนติดกัน ปลายแยกเป็นแฉกแคบๆ ลึกลง ครึ่งหนึ่ง มี 10-16 แฉก แต่ละแฉก กว้าง 0.3-0.5 ซม. ยาว 1.5-2 ซม. มีกลีบดอก 10-16 กลีบ รูปขอบขนาน ปลายกลีบเว้าลึกลงเกือบถึงกลางกลีบ เป็น 2 แฉก มีขนสั้นปกคลุม ปลายแหลม และมีรยางค์เป็นเส้นแข่งติดที่ปลาย 3-4 เส้น ยาว 0.3 ซม. เมื่อดอกบานจะมีลักษณะคล้ายสุ่ม
ผล แบบงอกตั้งแต่ผลยังติดอยู่บนต้น รูปลูกข่าง ยาว 2-3 ซม. ผิวเรียบ “ฝัก” หรือลำต้นใต้ใบเลี้ยง รูปกระสวยขนาดกว้าง 1.5-2 ซม. ยาว
7-25 ซม. เป็นเหลี่ยมหรือมีสันเล็กน้อย สีเขียวเข้มแกมม่วง เมื่อผลแก่ จัดมีสีม่วงดำ
นิเวศวิทยา พบในบริเวณที่น้ำท่วมถึงอย่างสม่ำเสมอ และดินค่อนข้างแข็งและเหนียว
การใช้ประโยชน์ หน่อ ใช้บริโภคเป็นอาหารและปรุงเป็นนํ้าปลา เนื้อไม้ ใช้เป็นเชื้อเพลิง เปลือกไม้ สกัดเป็นกาวและปรุงเป็นนํ้าปลา
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร ผล ใช้สกัดเป็นยาหยอดตา
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย