พันธุ์ของกาแฟอราบิก้าและพันธุ์ปลูก


พันธุ์ของกาแฟมีมากมายทั้งพันธุ์เดิม และพันธุ์ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางพันธุกรรม (Mutation) ระหว่างการปลูก และการเกิดลูกหลานที่มีลักษณะผิดไปจากพันธุ์เดิม (Mutant) ซึ่งพันธุ์เหล่านี้ก็จะมีลักษณะที่ดีขึ้น และเลวลงในบางพันธุ์ในที่นี้จะกล่าวถึงเพียงแต่พันธุ์หลักที่สามารถจำแนกลักษณะได้ด้วยการสังเกตสีของใบยอด และความถี่ห่างของข้อ เป็นต้น
๑. พันธุ์อราบิก้าหรือพันธุ์ทิบิดา (coffea Arabica var. Arabica syn. Typical) ทั้ง ๒ ชื่อนี้เป็นพันธุ์เดียวกัน เป็นพันธุ์ดั้งเดิม มีพันธุกรรมควบคุมลักษณะเด่น มีลักษณะเด่นชัดคือใบยอดหรือใบอ่อนจะมีสีบรอนซ์(สีทองแดง) ข้อห่าง ใบมีขนาดเล็กเรียบเป็นมัน เจริญเติบโตเร็ว ออกดอกผลและเก็บเกี่ยวได้เร็วกว่าแต่โทรมเร็ว และมีอาการตายยอด (Die-back) ได้ง่ายหากความอุดมสมบูรณ์ไม่เพียงพอ แสดงอาการขาดธาตุสังกะสีมาก เจริญเติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าไม่ตัดยอด
๒. พันธุ์เบอร์บอน (Coffea Arabica var. Bourbon) เป็นพันธุ์ที่ได้มาจากลูกหลานหรือเมล็ดชั่วลูก จากต้นที่มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางพันธุกรรมมาจากพันธุ์อราบิก้า หรือทิปิคาแสดงลักษณะด้อยของพันธุ์ทิปิคา ลักษณะที่เด่นชัด คือ ยอดหรือใบอ่อนมีสีเขียวข้อถี่กว่าเล็กน้อยใบใหญ่กว่าเล็กน้อย ออกดอกผลและเก็บเกี่ยวได้ช้ากว่าเล็กน้อย แต่ให้ผลผลิตสูงกว่า และทนทานต่อลักษณะการตายยอดได้ดีกว่า เจริญเติบโตขึ้นทางสูงเรื่อยๆ ถ้าไม่ตัดยอด
๓. พันธุ์แคทัวร่า (Coffea Arabica var. Caturra) เกิดจากการเปลี่ยนแปลงลักษณะพันธุกรรม แสดงลักษณะเด่นของพันธุ์เบอร์บอน  ลักษณะคล้ายกับพันธุ์เบอร์บอน แต่ลักษณะที่เด่นชัด คือ ทรงพุ่มเล็ก ข้อและปล้องของทั้งลำต้นและกิ่งข้างกิ่งแขนงสั้นมากให้ผลผลิตสูงเพราะจำนวนข้อมากในต้นขนาดเล็ก ปลูกได้ถี่ขึ้น ใบใหญ่กว่าและเป็นลอน ต้นเล็ก เจริญเติบโตช้าหากเด็ดยอดทิ้ง ไม่ควรใช้วิธีตัดแต่งแบบให้มีหลายต้น เพราะกิ่งแขนงจะแตกสวนกันภายใน และเนื่องจากปล้องสั้นใบใหญ่จะทำให้ทรงต้นทึบ เก็บเกี่ยวยาก ควรปลูกตามระบบตัดแต่งกิ่งแบบเบอร์มองท์-ฟูกูนากา
ลักษณะพันธุ์ที่คล้ายคลึงกันนี้ เกิดขึ้นในแหล่งปลูกกาแฟพันธุ์เบอร์บอนต่างๆ กันเรียกว่า Bourbon Mutacion เช่น Villa Lobos, Villa Sarchi, Pacas, Portillo เหล่านี้เป็นต้น แต่ในทางพันธุกรรมยังจัดเป็นพวก Caturra เช่นเดิมมีมากกว่า ๓๐ พันธุ์ ทั้งใช้ปลูกและสำหรับผสมพันธุ์เพื่อสร้างพันธุ์ลูกผสม เรียกครั้งแรกในบราซิล ต่อมาเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกมีทั้งชนิดยอดแดงและยอดเขียว ตัวอย่างเช่น Red Caturra และ Yello Caturra เป็นต้น
พันธุ์นี้จะแสดงอาการขาดธาตุสังกะสีน้อย  ซึ่งอาจเป็นเพราะมีระบบรากที่ดี และถ้าหากมีการตัดลำต้น กิ่งตั้งหรือลำต้นที่แตกใหม่ สามารถให้ดอกผลในปีที่สอง ขณะที่พันธุ์ทิปิคาจะให้ดอกผลในปีที่สาม
พันธุ์นี้ เหมาะสำหรับปลูกในระดับสูงที่สุดเพราะเกิดดอกดาว ซึ่งไม่ให้ผลน้อย และเหมาะสำหรับปลูกในระดับที่ต่ำลงมาด้วยเช่นกัน
พันธุ์ปลูก
ในจำนวนพันธุ์ที่กลายเป็นพันธุ์มานี้ มีพันธุ์ที่รู้จักกันดีและใช้ปลูกเป็นการค้า คือ
๑. Blue Mountain มาจากพันธุ์อาราบิก้าในจาไมก้า ต้านทานโรคที่เกิดกับผลกาแฟ (Coffee Berry Disease) และใช้ปลูกในแหล่งที่การใช้ยาป้องกันกำจัดเชื้อราไม่สะดวกหรือไม่คุ้มค่า
๒. French Mission ได้จากเมล็ดที่ส่งเข้ามาจากเอเดนปี ๑๘๙๓ ใช้ปลูกอย่างกว้างขวางในเคนยา
๓. Kents’ จากไมซอประเทศอินเดีย ปี ๑๙๑๑ มีทรงต้นแบบพันธุ์เบอร์บอน  แต่มีใบอ่อนเป็นสีบรอนซ์ ให้ผลผลิตสูงและคุณภาพดี แต่อ่อนแอต่อโรคที่เกิดกับผลกาแฟ เคยปลูกอย่างกว้างขวางในอินเดีย แต่ปัจจุบันทำการปลูกแทนด้วยสายพันธุ์ที่ต้านทานเชื้อราสนิม เช่น S.228, S.333 และ S.795
๔. Mundo Novo จากบราซิล เกิดจากการผสมข้ามตามธรรมชาติ ระหว่างพันธุ์อราบิก้ากับพันธุ์เบอร์บอน แสดงลักษณะเป็นเบอร์บอน มีความแข็งแรงและให้ผลผลิตสูงมาก ปัจจุบันกำลังเข้าแทนที่พันธุ์ต่างๆ ในบราซิล
๕. K7, SL6 และ KP532 จากเอธิโอเปีย ต้านทานเชื้อราสนิมสายพันธุ์ II
๖. San Ramon จากพันธุ์อราบิก้า ต้นเตี้ย ใบใหญ่ ติดผลดกมาก ทนแล้ง ทนลมจากบราซิล
พันธุ์เหล่านี้มีทั้งพันธุ์ที่กลายพันธุ์มา และพันธุ์ที่เกิดการผสมข้ามทั้งธรรมชาติและมนุษย์เป็นผู้ผสม  บางพันธุ์ให้เมล็ดในผลมากกว่า ๒ เมล็ด  ซึ่งเป็นลักษณะที่ไม่ต้องการในวงการค้ากาแฟของโลก แต่เมล็ดไม่ดีเหล่านี้ก็ยังเหมาะสำหรับเป็นตัวผสมในการทำกาแฟผงสำเร็จรูป
พันธุ์กาแฟอราบิก้าที่มีอยู่ในขณะนี้ มีอยู่หลายพันธุ์ อยู่ระหว่างการศึกษาของกรมวิชาการเกษตร และกำลังคัดเลือกเก็บเมล็ดพันธุ์ขยายโดยใช้ลักษณะจากต้นแม่ที่ดี ให้ผลผลิตสูง และต้านทานโรคแมลง เพราะไม่สามารถรอผลการทดลองได้ จึงควรคัดเลือกต้นแม่ที่ดี เก็บเมล็ดขยายพันธุ์ไปพลางๆ ก่อน และพันธุ์ที่กล่าวกันว่าต้านทานโรคราสนิมนั้น  โดยเหตุที่เชื้อราสนิมชนิดนี้มีอยู่หลายสายพันธุ์ด้วยกัน และระบาดในที่ต่างๆ บางพันธุ์ ก็อาจต้านทานเชื้อราสายพันธุ์หนึ่ง แต่ไม่ต้านทานเชื้อราสายพันธุ์อื่น และส่วนมากพันธุ์ที่ต้านทานมากที่สุดก็มักจะมีลักษณะเมล็ดไม่ดี
ส่วนพันธุ์ที่กำลังปลูกกันมากในโครงการปลูกพืชทดแทนและพัฒนาเศรษฐกิจชาวไทยภูเขานั้นกำลังใช้พันธุ์ Caturra และ Cattui ขยายพันธุ์และส่งเสริมให้ปลูกแทนพันธุ์เดิม ซึ่งเป็นพันธุ์ Typica และ Bourbon  เพราะพบว่าดีกว่าพันธุ์ Typica และ Bourbon และเช่นเดียวกันในลาตินอเมริกา ไร่กาแฟที่ปลูกใหม่หรือปลูกทดแทนไร่เก่า จะใช้พันธุ์ Caturra เพียงอย่างเดียว
ที่มา:อนันต์  อิสระเสนีย์