การคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำ

แนวทางคัดเลือกพันธุ์และปรับปรุงพันธุกรรมสัตว์น้ำที่ใช้ในการเพาะเลี้ยง

แนวทางพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้าในอนาคตของภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นเห็นว่ายังมีทางที่จะพัฒนาได้หลายประการ เช่น

(1) การคัดเลือกพันธุ์และความจำเป็น

ในการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์เพื่อให้ได้สัตว์นํ้าที่มีคุณสมบัติดี เช่น มีความต้านทานโรคดี โตเร็ว ลักษณะดี เป็นที่ต้องการของตลาดนั้น จะต้องรู้ถึงพื้นฐานสำคัญในการคัดเลือกพันธุ์เสียก่อน เช่น

ก. การคัดเลือกพันธุ์ทั่วๆ ไปในปัจจุบันก็ยังคงปฎิบัติกันอยู่ โดยมีอยู่ 2 แบบคือ

แบบแรกเริ่มจากคัดลูกที่โตเร็ว ลักษณะดี มาทำการเลี้ยงเพื่อทำเป็นพ่อแม่พันธุ์ เมื่อทำการเลี้ยงลูกสัตว์น้ำจนได้ขนาดพ่อแม่พันธุ์แล้ว ก็จะคัดเอาพ่อแม่ที่มีลักษณะดีตามต้องการ ทำการเพาะพันธุ์หรือเก็บไว้ทำพันธุ์อีกทีหนึ่ง และก็จะสะสมพ่อแม่พันธุ์ที่ได้นี้เรื่อยไป การคัดแบบนี้ทำให้มีการสะสมพ่อแม่พันธุ์ที่มีอายุและขนาดต่างๆ กันไว้ในบ่อเดียวกัน

แบบที่สอง เริ่มจากผู้เลี้ยงมักจะคัดเอาปลาขนาดใหญ่รุ่นแรกขายสู่ตลาดและเลี้ยงปลาที่เหลือต่อไป เมื่อจับปลาครั้งหลังก็จะเก็บปลาส่วนหนึ่งไว้ทำพ่อแม่พันธุ์

ข้อเสียจากการคัดเลือกพันธุ์ทั้ง 2 แบบ ได้แก่

-การคัดเอาปลาขนาดใหญ่ไปทำพันธุ์นั้น มีผลให้มีการคัดเอาปลาที่มีขนาดแก่กว่ามาเป็นพ่อแม่พันธุ์ โดยปลาเหล่านี้จะมีการเจริญเติบโตที่มีแนวโน้มทางช้าลง

-การคัดเอาปลาที่เหลือจากการขายมาทำพันธุ์นั้น ทำให้ยีน (gene) ที่ดีของปลาถูกกำจัดไปจากประชากรปลาโดยปริยาย ทำให้ลูกปลาจากพ่อแม่พันธุ์ดังกล่าว มีขนาดเจริญเติบโตลดลง สาเหตุดังกล่าวเคยมีผู้ศึกษาซึ่งลงความเห็นว่า น่าจะเกิดจากการคัดเลือกในทางลบ (negative selection)

-ทำให้เกิดการผสมเลือดชิด (inbreeding) ในหมู่ปลาที่เลี้ยงไว้ในฟาร์มเดียวกันหลายๆ รุ่น จนเป็นที่สังเกตได้ว่า พันธุ์ปลารุ่นหลังๆ นั้น มีความเจริญเติบโตและความสมบูรณ์ลดลง

ข. สาเหตุและความจำเป็นที่จะต้องมีการคัดเลือกพันธุ์

ก่อนอื่นจะต้องพิจารณาดูว่ามีสาเหตุและมีความจำเป็นอย่างไร จึงต้องมีการคัดเลือกพันธุ์ ซึ่งเมื่อได้มีการพิจารณาแล้วพอจะสรุปได้ดังนี้

1. อัตราการเจริญเติบโตของปลาและกุ้งที่เลี้ยงลดลง ทั้งนี้สืบเนื่องจากการสังเกตของนักวิชาการประมงพบว่าการเจริญเติบโตช้าลง ซึ่งน่าจะเกิดจากการคัดเลือกพันธุ์ในทางลบ และทั้งการผสมเลือดชิดดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

2. การเจริญเติบโตของปลาและกุ้งแต่ละเพศแตกต่างกัน เมื่อทำการเลี้ยงในระยะเวลาเท่ากัน เช่น

-ปลานิลเพศผู้เติบโตเร็วกว่าเพศเมีย

-ปลาตะเพียนขาวตัวเมียโตเร็วกว่าตัวผู้

-กุ้งก้ามกรามตัวผู้โตเร็วกว่าตัวเมีย

3. โรค การเลี้ยงสัตว์น้ำหลายชนิดโดยเฉพาะพวกปลากินเนื้อเป็นอาหาร เช่น ปลาดุก ปลาช่อน ปลาบู่ ฯลฯ มีปัญหาเรื่องการเป็นโรคมาก และเป็นอุปสรรคในการลงทุนมาก เพราะจะมีการเลี้ยง อยู่ตลอดเวลา

ค. การแก้ไขปัญหาเพื่อที่จะได้พันธุ์สัตว์น้ำที่โตเร็ว

ในการแก้ปัญหาเพื่อที่จะได้พันธุ์สัตว์น้ำที่โตเร็ว ซึ่งเป็นปัญหาเฉพาะหน้าในปัจจุบัน ได้แก่

1. การแก้ปัญหาการผสมเลือดชิด

ในวงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในปัจจุบัน เท่าที่ได้มีการสังเกตจากนักเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้าโดยทั่วไปมักจะพบว่าพันธุ์ปลาพันธุ์กุ้งที่ใช้ในการเพาะพันธุ์นั้น จะได้ลูกที่มีการเจริญเติบโตช้าลง ได้ปริมาณลูกน้อยลง และในที่สุดได้ลูกที่ไม่ค่อยจะแข็งแรงพร้อมกันไปด้วย ทั้งนี้จะสังเกตเห็นได้ชัดใน การเพาะเลี้ยงพวกปลาตะเพียน ปลาไน กุ้งก้ามกราม ที่ใช้พ่อแม่พันธุ์จากการเลี้ยงมาทำการเพาะพันธุ์ ได้มีการแก้ไขเป็นการเฉพาะหน้าซึ่งค่อนข้างจะได้ผลดีอยู่บ้าง เช่น ให้หาพ่อแม่พันธุ์ปลาแหล่งน้ำธรรมชาติหรือจากแหล่งอื่นมาผสมกับพ่อแม่สัตว์น้ำที่ทำการเลี้ยงไว้เอง จึงเป็นเรื่องจำเป็น ตัวอย่างเช่น การเพาะพันธุ์ปลาตะเพียนขาวหรือกุ้งก้ามกรามนั้น จะใช้พ่อหรือแม่พันธุ์จากแหล่งนํ้าธรรมชาติมาผสมกับพ่อแม่พันธุ์ที่เลี้ยงในบ่อ ก็จะได้ลูกที่มีคุณสมบัติดี เช่น แข็งแรง โตเร็ว และมีเปอร์เซ็นต์รอดมาก เป็นต้น

2. การแก้ปัญหาโดยวิธีการคัดเลือกเพศที่โตเร็วมาทำการเลี้ยง

ในปัจจุบันได้มีการแก้ไขปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับหาพันธุ์ปลาหรือปลาเพศใดเพศหนึ่งมาทำการเลี้ยง โดยใช้วิธีการต่างๆ กัน เช่น

-การผสมข้ามพันธุ์ (Hybrid) เช่น การผสมข้ามพันธุ์ปลาในสกุล Tilapia โดยใช้ปลานิลตัวเมียผสมกับปลา Tilapia aurea เพศผู้ ได้ลูกผสมเพศผู้ทั้งหมด การผสมข้ามพันธุ์นี้จึงเป็นวิธีหนึ่งในการแก้ปัญหาที่จะได้ปลา หรือสัตว์น้ำเพศใดเพศหนึ่งที่โตเร็วมาทำการเลี้ยง

-การใช้ฮอร์โมนที่ชื่อว่า 17a-methyl testosterone (17a.-MT) ผสมในปลาป่นบดละเอียด ซึ่งใช้เป็นอาหารลูกปลานิลวัยอ่อน ในอัตราส่วน 40 มก./ลิตร หรือ 40 ส่วนล้าน โดยให้อาหารดังกล่าวแก่ลูกปลานิลวัยอ่อน ในระยะที่มีไข่แดงที่ท้องเพิ่งยุบและเริ่มกินอาหาร โดยให้ติดต่อกันระยะประมาณ 30 วัน

-สาร Fluoxymesterone หรือมีชื่อทางการค้าว่า Halotestin ได้ใช้ทดลองเปลี่ยนเพศปลากัดจนวัยอ่อนอายุ 3 วัน เลี้ยงลูกปลาดังกล่าวติดต่อกัน 14 วัน พบว่าได้เพศผู้ 100 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาเกี่ยวกับการคัดเลือกพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อให้ได้พันธุ์แท้ที่มีคุณสมบัติโตเร็ว มีความต้านทานต่อโรคและดินฟ้าอากาศดี ตลอดจนมีลักษณะเป็นที่ต้องการของตลาดนั้น ในระยะยาวต้องมีการศึกษาเพื่อหาทางปรับปรุงพันธุ์ สายพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับเพาะเลี้ยง ในประเทศของเราจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก

(2) การปรับปรุงพันธุกรรม

เพื่อที่จะให้ได้ปลาหรือพันธุ์สัตว์น้ำ ซึ่งมีคุณลักษณะที่ต้องการเช่น โตเร็ว มีความทรหด อดทนต่อภาวะแวดล้อม มีความต้านทานต่อโรคสูง ฯลฯ นั้น การศึกษาและค้นคว้าเกี่ยวกับการปรับปรุง พันธุกรรมมีความจำเป็นมาก

การปรับปรุงพันธุ์ปลาในต่างประเทศ เช่น ในสหภาพโซเวียต เยอรมนี โปแลนด์ และอิสราเอล ได้เป็นผู้นำในทางปรับปรุงพันธุกรรมของปลา ยกตัวอย่างเห็นง่ายๆ ได้แก่ พันธุ์ปลาไน ซึ่งใน สหภาพโซเวียตได้มีโครงการปรับปรุงพันธุ์ปลามานานถึง 40 ปี ในเยอรมนีก็มีพันธุ์ปลาไนชนิดไม่มีเกล็ด อิสราเอลมีพันธุ์ปลาไนแบบผสมคือมีเกล็ดอยู่บางส่วน ส่วนในเอเชียก็มีพันธุ์ปลาไนชนิดมีเกล็ดของอินโดนิเซีย ของจีน ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งแต่ละประเทศก็มีการปรับปรุงสายพันธุ์ปลาให้มีความเหมาะสมกับสภาพท้องที่ เพื่อให้ได้คุณลักษณะ เช่น โตเร็ว เลี้ยงดูง่าย มีความต้านทานโรคสูง ฯลฯ

ตัวอย่างของการปรับปรุงพันธุกรรมเพื่อให้ได้พันธุ์ปลาที่ต่อต้านโรค ที่เห็นได้ชัดในปัจจุบัน  เช่น โรคไวรัสททำลายอวัยวะสร้างเม็ดเลือด (infectious haemopoieic necrosis) พบใน Sockeye salmon, โรคท้องบวม (dropsy) โรคถุงลมอักเสบ (swim bladder inflamation) และโรคเนื้องอกที่ผิวหนัง (epidermal epithelioma) ของปลาไน คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เริ่มโครงการปรับปรุงพันธุกรรม ปลาดุกอุย ให้ปลามีความต้านทานโรคแบคทีเรียพวก Aeromonus hydrophila เป็นต้น

ทางรัฐบาลก็ได้เล็งเห็นความสำคัญเรื่องการปรับปรุงพันธุกรรมนี้ จึงมีโครงการจัดตั้งศูนย์พันธุกรรมสัตว์น้ำแห่งประเทศไทย ของกรมประมงขึ้น ที่จังหวัดปทุมธานี และมีสาขาทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย ฯลฯ อีกหลายแห่งซึ่งนับว่าเป็นความก้าวหน้าในวงวิทยาการเพาะเลี้ยงที่สำคัญอีกแขนงหนึ่ง

ในการปรับปรุงสายพันธุ์และการคัดเลือกพันธุ์เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่ดีนั้น พอจะแบ่งการคัดเลือกออกเป็น 3 แบบ คือ

-คัดเลือกโดยบันทึกลักษณะตัวมันเอง (individual selection or mass selection)

-การคัดเลือกโดยบันทึกลักษณะของครอบครัว (family selection)

-การคัดเลือกโดยบันทึกดูลักษณะของตัวเองและครอบครัว (within family selection)

ทั้งหมดที่ได้กล่าวมาแล้วนี้เพียงแต่เป็นหลักการใหญ่ๆ เพื่อที่จะได้พัฒนาเกี่ยวกับสายพันธุ์ของสัตว์น้ำที่ดีเช่นเดียวกับการพัฒนาในสัตว์เลี้ยงทั่วไป การเริ่มต้นในการปรับปรุงพันธุกรรมจึงเป็นวิทยาการที่ก้าวหน้าอีกแขนงหนึ่ง ซึ่งในอนาคตวงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเห็นความจำเป็นในเรื่องนี้อย่างมาก