พิพิธภัณฑ์ชาวนา ที่…ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก

พิพิธภัณฑ์ชาวนา ที่…ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก

แม้ว่าการปลูกข้าวในปัจจุบัน จะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่  และเครื่องจักรกลการเกษตรเป็นส่วนมาก  แต่วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของคนไทยเกี่ยวกับการปลูกข้าว ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่ครั้งบรรพกาล  ก็ยังดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน  เนื่องจากประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์ปกครองแผ่นดินมาโดยตลอด  และทรงส่งเสริมประชาราษฎร์ทำการเกษตรกรรมเป็นหลักในการเลี้ยงชีพและครอบครัว ในแต่ละสมัยเป็นลำดับมา  ทรงมีส่วนร่วมในกิจการรม และประเพณีต่าง ๆ ทางการเกษตร เพื่อเป็นการสนับสนุนขวัญและกำลังใจเกษตรกรดังเช่น พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช  เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุ 72 พรรษา ในปี พ.ศ. 2542  ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก โดยนายเล็ก  จันทร์เกษม ผู้อำนวนการศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก ข้าราชการและลูกจ้าง จึงพร้อมใจกันจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ชาวนาขึ้น  เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในวโรกาสอันเป็นมหามงคลนี้  และเพื่อรวบรวมรักษาเครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับการปลูกข้าวที่เกิดจากภูมิปัญญาของชาวนาไทยไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ และตระหนักถึงความสำคัญของข้าว

พิพิธภัณฑ์ชาวนา ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก ได้เปิดให้นักเรียน นักศึกษาและผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมตามวันและเวลาราชการ ตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2543 เป็นต้นมา  โดยได้จัดแสดงสิ่งสำคัญอันเกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตการปลูกข้าวของชาวนาไทย  ตั้งแต่สมัยโบราณ  และนำเสนอขั้นตอนการทำนาตั้งแต่ระยะก่อนปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยวและแปรรูป คือ

1.  เครื่องมือเตรียมดิน ได้แก่ คันไถ สำหรับพลิกหน้าดิน เช่น ไถแก้ว ไถกระบือ ไถหัวหมู คันไถควาย คราดเดี่ยว คราดคู่ และอุปกรณ์ที่ใช้กับควาย เช่น คอมควายใช้ครอบคอควายผูกให้ควายลากไถ ระหัดวิดน้ำ จอบ และพลั่ว เป็นต้น

2.  เครื่องมือเครื่องใช้ในการเก็บเกี่ยวและนวด เช่น เคียวใช้ในภาคกลางและภาคเหนือ  แกะใช้ในภาคใต้มีลักษณะเป็นเหล็กบาง ๆ ติดอยู่กับด้ามไม้แบนเกี่ยวข้าวครั้งละรวม  และนำมามัดรวมกันไม้คู่ ใช้หนีบฟ่อนข้าวเพื่อตีให้เมล็ดหลุดจากฟ่อน เครื่องสีฝัด ใช้ทำความสะอาด ข้าวเปลือก และกระด้งฝัดข้าว

3.  เครื่องใช้ในการขนส่งข้าว ได้แก่ เรือ เกวียน เลื่อน (ใช้บรรทุกฟ่อนข้าวที่เกี่ยวแล้ว) กระบุง กระบุงปากบาน ถังตวงพร้อมไม้ปาดข้าว และตาชั่ง เป็นต้น

4.  เครื่องใช้ในการแปรรูปข้าว ได้แก่ เครื่องสีข้าวใช้สีข้าวเปลือกให้เป็นข้าวสาร ครก พร้อมสากตำข้าว และโม่ มีด พร้า เป็นต้น

5.  เครื่องใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน ได้แก่ โอ่งน้ำ ตะเกียงโป๊ะ สว่านเจาะไม้ ขวานโยน หีบโบราณ เลื่อยอก เหล็กศอก ใช้วัดพื้นที่ และเหรากรอด้าย เป็นต้น

6.  เครื่องมือจับสัตว์น้ำ ได้แก่ แห กบแทงปลา สุ่มจับปลา ไซ ข้อง ลอบจับปลา แอบดักกบ ซ่อมแทงปลาไหล เป็นต้น

ในโอกาสนี้ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก ในนามผู้จัดพิพิธภัณฑ์ชาวนาขอขอบคุณข้าราชการและลูกจ้างศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก ตลอดจนเกษตรกรที่สนับสนุนบริจาคเครื่องมืออุปกรณ์การทำนาในสมัยโบราณ และขอขอบคุณ คุณวีระศักดิ์  ศรีอ่อน และคณะจากสถาบันวิจัยข้าว ที่ให้ความช่วยเหลือด้านการจัดแสดงนิทรรศการต่าง ๆ

ท่านผู้สนใจ หรือสถาบันศึกษาต่าง ๆ ที่ต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก ทุกวัน ในเวลาราชการ โทร 055-311184