พิษของสบู่ขาว


ชื่ออื่น หมักเยา มะเยา มะหัว มะหุ่งฮั้ว มะโห่ง หงเทก(ภาคเหนือ) สบู่หัวเทศ สลอดดำ สลอดป่า สบู่ดำ สลอดใหญ่ สี่หลอด(ภาคกลาง) มั่วฮวงชิ่ว(แต้จิ๋ว) หมาเฟิงสู้(จีนกลาง) Purge Nut, Curcas Bean, Physic Nut, Barbados Nut
ชื่อวิทยาศาสตร์ Jatropha curcas L.
วงศ์ Euphorbiaceae
ลักษณะต้น เป็นไม้พุ่ม สูง 2-5 เมตร มียางสีขาวปนเทา เปลือกต้นเรียบลื่น ใบเกือบกลมออกสลับกันยาว 7-16 ซม. ขอบใบเรียบหรือมีรอยหยัก 3-5 หยัก ฐานใบเป็นรูปหัวใจ เส้นใบมีลักษณะคล้ายนิ้วมือ 5-7 เส้น ตรงเส้นใบ มีขนอ่อนปกคลุม ก้านใบยาว 6-18 ซม. ดอกเพศเดี่ยวและมีทั้งสองเพศ ในต้นเดียวกัน ดอกยาว 6-10 ซม. เกิดตรงซอกใบ ผลสุกแตกเป็น 3 พู แต่ละพูมี 2 กลีบ เมล็ดกลมรี สีดำ ผิวเรียบลื่น ขยายพันธุ์โดยการชำกิ่ง ขึ้นได้ง่าย พบได้ทุกภาคทั่วประเทศไทย
ส่วนที่ใช้ เปลือกต้น ใบ เมล็ด
สรรพคุณ
เปลือกต้นหรือใบ แก้อาการเคล็ดขัดยอก ปวดบวม บาดแผล กระดูกหัก
ใบหรือเมล็ด แก้โรคผิวหนัง เช่น หิด ผื่นคัน และฆ่าแมลง
ตำรับยาและวิธีใช้
1. กระดูกหัก ใช้เปลือกต้นหรือใบสดร่วมกับต้นส้มกบ (Oxalis corymbosa DC.) และพริกไท (Piper nigrum L.) 4-5 เมล็ด ตำใหละเอียด นำไปผัดกับเหล้าแล้วพอกรอบๆ บริเวณที่หัก
2. เคล็ดขัดยอก ปวดบวม ฟกช้ำ ใช้ใบสดจำนวนพอควรตำให้ละเอียดพอกบริเวณที่เป็น
3. โรคผิวหนังผื่นคัน ใช้ใบสดลนไฟจนใบอ่อนแล้วขยี้ให้แหลก ทาบริเวณที่เป็น หรือใช้เมล็ดโขลกกับน้ำมันพืชทาบริเวณที่เป็น
ผลทางเภสัชวิทยา
เมล็ดมีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างแรง คล้ายผลสลอด (Croton tiglium L.) แต่ฤทธิ์อ่อนกว่า เมื่อใช้เมล็ดที่กระเทาะเปลือกออกแล้ว 3-5 เมล็ดมาบดเป็นผงกิน ทำให้ถ่ายท้อง และอาเจียนได้ หรือรู้สึกแสบร้อนท้อง อาการคล้ายพิษที่เกิดจากเมล็ดละหุ่ง กากที่บีบน้ำมันออกแล้วเป็นพิษต่อเลือด จึงใช้เป็นอาหารวัวควายไม่ได้ นอกจากนี้สารบางชนิดในเมล็ดมีผลเพิ่มการเคลื่อนไหวของลำไส้เล็กของหนูขาว ซึ่งการให้อะโทรปีนก็ไม่สามารถจะยับยั้งฤทธิ์นี้ได้ เมล็ดยังมีสารบางตัวที่มีฤทธิ์ในการห้ามเลือด (ทำให้เลือดแข็งตัวเร็วขึ้น)
ความเป็นพิษ
เมล็ดเป็นพิษมากที่สุด กิ่งและใบมีพิษรองลงมา สารเป็นพิษคือ เคอร์ซิน (curcine) และไรซิน (ricine) มีรายงานว่าเด็กเก็บผลกินทำให้เกิดอาการอาเจียนอย่างรุนแรง ถ่ายเป็นเลือดถึงตาย และทำให้คนท้อง แท้งได้
วิธีแก้พิษเบื้องต้น ล้างท้องโดยการทำให้อาเจียน แล้วรีบส่งต่อแพทย์
สารเคมีที่พบ
ทั้งต้น โดยเฉพาะเมล็ด รวมทั้งน้ำยาง มี curcine (โปรตีนที่เป็นพิษ), phytosterols และ resin
ใบและเปลือกต้น มี steroidal saponin
ที่มา:สำลี  ใจดี, สุนทรี  วิทยานารถไพศาล, รพีพล  ภโววาท, จิราพร  ลิ้มปานานนท์, นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี, วิทิต  วัณนาวิบูล