พืชน้ำมันที่สกัดด้วยวิธีธรรมชาติ

น้ำมันมะพร้าว(Coconut Oil)

น้ำมันมะพร้าวเป็นน้ำมันที่สกัดได้จากเนื้อมะพร้าวแห้ง ซึ่งมีปริมาณน้ำมันอยู่ประมาณ 65-68% เป็นน้ำมันที่มีกรดไขมันอิ่มตัวมากที่สุดคือประมาณ 86% กรดไขมันที่มีมาก คือ กรดลอริก 45 % กรดปาล์มมิติก 10% เป็นน้ำมันที่เก็บไว้ได้นานไม่เหม็นหืนแต่จะจับตัวแข็งเมื่อถูกความเย็น ไม่มีควันเมื่อถูกความร้อนสูง ๆ จึงเหมาะสำหรับการทอดอาหารหรือขนมแบบทอดกรอบและแบบน้ำมันท่วม แต่ไม่ควรบริโภคมากเพราะจะไปเพิ่มปริมาณคลอเลสเตอรอลในร่างกาย

น้ำมันมะพร้าวที่สกัดแบบธรรมชาติด้วยวิธีการหมัก จะได้น้ำมันออกมาประมาณ 20-30% ของน้ำหนักเนื้อมะพร้าวที่สกัด น้ำมันที่ได้ใสไม่มีกลิ่นหอม เก็บไว้ได้นานเป็นปีในขวดทึบแสง โดยไม่เปลี่ยนคุณภาพและไม่เหม็นหืน เหมาะสำหรับใช้เป็นน้ำมันชโลมเส้นผม เป็นโลชั่นทาผิวหน้าและร่างกาย จะซึมผ่านผิวหนังได้เร็วไม่เหนียวเหนอะหนะใช้เป็นน้ำมันนวดตัว ใช้ทำสบู่ธรรมชาติและน้ำมันใส่ผมคุณภาพดีน้ำมันมะพร้าวที่สกัดแบบธรรมชาติอีกวิธีหนึ่ง คือ การเคี่ยวเนื้อมะพร้าว หรือเคี่ยวน้ำกะทิ โดยเคี่ยวในกระทะบนเตาไฟ หรือตุ๋นด้วยไอน้ำในหม้อตุ๋น จะได้น้ำมันสีเหลืองอ่อน ๆ กลิ่นไม่หอมเหมือนน้ำมันมะพร้าวแบบหมัก แต่วิธีนี้จะได้ปริมาณน้ำมันมากขึ้น คือ ประมาณ 30-40%ของน้ำหนักเนื้อมะพร้าวแห้ง แต่คุณภาพของน้ำมันไม่ดีเท่าแบบหมัก แต่ก็ดีกว่าน้ำมันมะพร้าวผ่านกรรมวิธีมาก สามารถนำมาใช้บำรุงผิวพรรณและนวดตัวได้เช่นกัน

น้ำมันปาล์ม (Palm Oil)

น้ำมันปาล์มได้จากผลปาล์มน้ำมัน ซึ่งมีส่วนให้น้ำมัน 2 ส่วน คือ เนื้อนอก (Mesocarp) ซึ่งมีปริมาณน้ำมัน 45-50 % สกัดได้น้ำมันปาล์มสีส้มแดง และเนื้อในเมล็ด(palm kernel) ซึ่งมีปริมาณน้ำมัน 45-50% สกัดได้น้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์ม (palm kernel oil) มีสีเหลืองอ่อน น้ำมันปาล์มมีกรดไขมันอิ่มตัวประมาณ 50% เป็นกรดปาล์มมิติก 44% กรดไขมันไม่อิ่มตัวโอเลอิก 39% ใช้เป็นน้ำมันปรุงอาหาร ใช้ทอดอาหารในร้านอาหารฟาสต์ฟูด ส่วนน้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์ม มีกรดไขมันอิ่มตัวสูง มีกรดลอริก 46-52% กรดไขมันไม่อิ่มตัว โอเลอิก 10-19% ไม่ใช้ในการปรุงอาหาร ใช้ทำเนยเทียมสบู่ผงซักฟอก น้ำมันปาล์ม สามารถสกัดได้ด้วยวิธีธรรมชาติ โดยไม่ใช้สารเคมี โดยการบีบอัดและกลั่นด้วยอุณหภูมิต่ำ(มีการผลิตจำหน่ายในบางประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์) น้ำมันที่ได้มีสีแดงหรือสีส้มเนื่องจากอุดมไปด้วยสารแคโรทีนและวิตามินอี เป็นน้ำมันที่คงตัว ไม่เหม็นหืน ไม่เกิดฟอง โดยเฉพาะที่อุณหภูมิสูง ๆ จากการที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวน้อย และมีวิตามินอี ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระสูงทำให้ลดความเสียงต่อการรับอนุมูลอิสระ น้ำมันปาล์มที่สกัดด้วยวิธีธรรมชาติใช้บริโภคได้ แต่ไม่ควรบริโภคมากนักและไม่เป็นที่นิยมในการนำมาใช้กับผิวพรรณ

น้ำมันเมล็ดทานตะวัน (Sunflower Seeol Oil)

น้ำมันเมล็ดทานตะวันได้จากการสกัดเมล็ดทานตะวัน มีน้ำมันอยู่ประมาณ 35-45% เป็นน้ำมันไม่อิ่มตัวสูงถึง 80% มีกรดไลโนเลอิก ซึ่งเป็นกรดไขมันที่จำเป็นสูงถึง 60-70% จึงช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลในร่างกายและยังอุดมด้วยวิตามินเอ ดี อี เค สูงกว่าน้ำมันพืชชนิดอื่น ๆ จึงเหมาะเป็นน้ำมันสำหรับบริโภค แต่ไม่ควรใช้กับความร้อนสูง ๆ เช่น ทอด เพราะจะเหม็นหืนได้ง่ายและเกิดอนุมูลอิสระใช้ทำเป็นน้ำมันสลัดได้ดี

น้ำมันเมล็ดทานตะวันที่สกัดด้วยวิธีธรรมชาติ สกัดได้ด้วยการบีบอัดด้วยเครื่องไฮโดรลิกและเครื่องสกรูเพลส แต่เครื่องสกรูเพลสจะได้ปริมาณน้ำมันมากกว่าโดยนำเมล็ดทานตะวันไปกระเทาะเปลือกออกก่อนและกระตุ้นด้วยความร้อน โดยการตากแดดหรืออบ แล้วนำไปบีบ ก็จะได้น้ำมันสีเหลืองกลิ่นหอม นำไปกรองก็จะได้น้ำมันเมล็ดทานตะวันแบบธรรมชาติ แต่น้ำมันชนิดนี้จะมีกลิ่นเหม็นมากขึ้นเมื่อนำไปทอดหรือผัด ถ้าต้องการกำจัดกลิ่นก็จะต้องนำไปต้มด้วยหม้อสูญญากาศ เพื่อดูดกลิ่นออก ปัจจุบันนี้น้ำมันเมล็ดทานตะวันแบบธรรมชาติกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น นอกจากใช้ในการบริโภคแล้ว ยังเป็นที่นิยมใช้เป็นน้ำมันนวดตัวอีกด้วย

น้ำมันรำข้าว (Rice bran Oil)

น้ำมันรำข้าวสกัดได้จากรำข้าวทั้งรำข้าวสดและรำข้าวนึ่ง ถ้าเป็นรำข้าวสดจะต้องรีบสกัดทันที เพราะถ้าทิ้งไว้นานเอ็นไซม์ในรำข้าวจะทำให้น้ำมันเสื่อมคุณภาพ รำข้าวมีปริมาณน้ำมันอยู่เพียง 12-25% น้ำมันรำข้าวเป็นน้ำมันไม่อิ่มตัวสูง 70% มีกรดไขมันอิ่มตัวเชิงเดี่ยวและอิ่มตัวเชิงซ้อนอยู่พอ ๆ กัน หรือเชิงเดี่ยวสูงกว่าอยู่นิดหน่อย จึงเป็นน้ำมันที่เหมาะแก่การบริโภค เพราะมีกรดไขมันที่จำเป็นไลโนเลอิก 32-40% สูงช่วยลดปริมาณคลอเลสเตอรอลและไม่เสี่ยงต่ออนุมูลอิสระใช้ผัด ทอด ต้ม ทำน้ำสลัด น้ำจิ้ม น้ำมันรำข้าวมีสารป้องกันการออกซิเดชั่น จึงเก็บไว้ได้นาน ไม่เหม็นหืนง่าย ไม่เปลี่ยนคุณสมบัติทางกายภาพและทางเคมี

น้ำมันรำข้าวที่สกัดด้วยวิธีธรรมชาติ สามารถทำได้ด้วยวิธีบีบอัดด้วยเครื่องไฮโดรลิก แต่จะได้น้ำมันออกมาค่อนข้างน้อย และควรนำรำข้าวไปอบเสียก่อน การบีบอัดจะบีบน้ำมันได้มากขึ้น น้ำมันที่ผ่านการกรองแล้วจะมีสีเหลืองอ่อนใช้บริโภค และใช้เป็นน้ำมันตัวพาผสมกับน้ำมันหอมระเหย ใช้ทำสบู่ธรรมชาติคุณภาพดี

น้ำมันถั่วลิสง (Peanut Oil)

น้ำมันถั่วลิสง ได้จากการสกัดเมล็ดถั่วลิสง ซึ่งมีปริมาณน้ำมันอยู่ประมาณ 45-55% เป็นน้ำมันชนิดไม่อิ่มตัวสูงถึง 80% โดยเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวถึง 50% และไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (กรดไลโนเลอิก) 30% จึงเป็นน้ำมันที่เป็นที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบันเพราะช่วยลดปริมาณคลอเลสเตอรอล และไม่เสี่ยงต่อการรับอนุมูลอิสระ แต่ก็เป็นน้ำมันที่เหม็นหืนง่าย ใช้ทอดความร้อนสูง ๆ ไม่ได้ ใช้ทำน้ำมันสลัด ใช้ผัดทอดต้ม ตามปกติได้

น้ำมันถั่วลิสงที่สกัดแบบธรรมชาติสามารถทำได้ด้วยวิธีการบีบอัดแบบไฮโดรลิกและแบบสกรูเพลส จะได้น้ำมันประมาณ 30-40% โดยการนำถั่วลิสงไปกระตุ้นด้วยความร้อน เช่น ตากแดดหรือคั่วด้วยไฟอ่อน ๆ ก่อนนำไปบีบแล้วจึงนำน้ำมันที่บีบได้ไปกรอง น้ำมันที่ได้มีสีเหลืองอ่อน กลิ่นหอมของถั่วลิสง มีคุณค่าทางอาหารสูง นอกจากใช้บริโภคได้ดีแล้ว ยังเป็นที่นิยมใช้เป็นน้ำมันนวดตัว หรือน้ำมันตัวพาที่ผสมกับน้ำมันหอมระเหย

การสกัดน้ำมันจากถั่วลิสงมีข้อควรระวังตรงที่ต้องเป็นถั่วลิสงที่ไม่มีความชื้นสูง เพราะจะทำให้เกิดเชื้อราอัลฟาทอกซิน ซึ่งอาจปนเปื้อนในน้ำมันได้

น้ำมันงา (Sesame oil)

น้ำมันงา สกัดได้จากเมล็ดงา ทั้งงาดำและงาขาว ซึ่งมีปริมาณน้ำมันประมาณ 50-55% เป็นน้ำมันชนิดไม่อิ่มตัวสูงถึง 80% มีปริมาณกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวและเชิงซ้อนอยู่พอกันคืออย่างละ 40% ทำให้เป็นน้ำมันที่เหมาะแก่การบริโภคเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีกรดไลโนเลอิกมากช่วยลดคลอเลสเตอรอลและไม่เสี่ยงต่อการรับอนุมูลอิสระ อุดมด้วยสารอาหารต่าง ๆ และยังมีทั้งโปรตีน แคลเซียม แมกนิเซียม วิตามินอี น้ำมันงามีสารป้องกันหืน คือ เซเซมอล ทำให้เก็บไว้ได้นาน ๆ เป็นปี ๆ ไม่เหม็นหืน ใช้ผัด ทอด ต้ม ทำน้ำสลัด น้ำจิ้ม        น้ำมันงาที่สกัดแบบธรรมชาติสามารถทำได้ด้วยการบดเมล็ดงาดิบด้วยครกขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ หรือด้วยเครื่องแบบสกรูเพลส เนื่องจากมีเปลือกแข็งจะได้น้ำมันประมาณ 20-40% หลังจากการกรองแล้วน้ำมันงาดิบมีสีเหลืองอมเขียว กลิ่นหอม นอกจากใช้ปรุงอาหารได้แล้ว ยังเป็นน้ำมันที่ดีมากสำหรับใช้บำรุงเส้นผม บำรุงผิวพรรณ ใช้นวดตัว บำรุงเนื้อเยื่อ เส้นเอ็น และกระดูก

น้ำมันเมล็ดคำฝอย (Safflower Seed Oil)

น้ำมันเมล็ดคำฝอย ซึ่งมีน้ำมันอยู่ปริมาณ 30-35% เป็นน้ำมันคุณภาพดี มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงถึง 90% มีทั้งพันธุ์ที่ให้น้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวสูง พันธุ์ที่ให้น้ำมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนสูง และพันธุ์ที่ให้น้ำมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวและเชิงซ้อนอยู่พอ ๆกันคืออย่างละ 40% จึงเหมาะแก่การบริโภค มีกรดไขมันที่จำเป็นไลโนเลอิกสูง ช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอล สามารถใช้ปรุงอาหาร ทำน้ำมันสกัด ทอดอาหารต่าง ๆ ได้น้ำมันคงตัวไม่เหม็นหืนง่าย

น้ำมันเมล็ดคำฝอยที่สลัดด้วยวิธีธรรมชาติ ที่ได้ด้วยวิธีการบีบอัดด้วยเครื่องไฮโดรลิกและสกรูเพลส จะได้น้ำมันออกมาปริมาณไม่มากน้ำมันมีสีเหลืองเข้ม เป็นน้ำมันเบา อ่อนโยนต่อผิวหนัง ใช้เป็นน้ำมันพื้นฐานในการนวดตัวผสมกับน้ำมันหอมระเหยแต่ปัจจุบันยังมีราคาค่อนข้างแพง

น้ำมันละหุ่ง (Castor Oil)

น้ำมันละหุ่งได้จากการสกัดเมล็ดละหุ่งซึ่งมีน้ำมันอยู่ประมาณ 40-60% น้ำมันไม่อิ่มตัวสูง มีกรดไขมันไรซิโนเลอิน อุดมไปด้วยวิตามินอี และสารเพิ่มความชุ่มชื้น มักไม่ใช้ในการบริโภคใช้ในอุตสาหกรรมยาสูบ สบู่ และเครื่องสำอาง

น้ำมันละหุ่งที่สกัดได้ด้วยวิธีธรรมชาติ สามารถสกัดได้ด้วยการบีบอัดด้วยเครื่องไฮโดรลิก จะได้น้ำมันประมาณ 25-35% เป็นน้ำมันหนืดใสไม่มีสี ใช้เป็นน้ำมันพื้นฐานในการนวดตัวให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวพรรณดี เหมาะกับคนผิวแห้งใช้ทำสบู่ธรรมชาติคุณภาพดี

เอกสารอ้างอิง  “พืชเศรษฐกิจ” ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก.ค.2542 “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร” คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก.ค.2539 “ทฤษฎีอาหาร” เข็มทอง  นิ่มจินดาหน่วย ศึกษานิเทศน์ กรมฝึกหัดครู 2538 “หลักเมคโครไบโอติก” เฮอร์แมน ไอฮารา มักนี  เกษกมล แปล สนพ สาระ “คู่มือปรุงอาหารแมคโคไบโอติก” อเวลีน  คูซิและอเล็ก แจ๊ค  รณี  เลิศเลื่อมใส  แปล สนพ.โกมลคีมทอง พ.ย.2541