ฟาร์มสัตว์น้ำ:พัฒนาฟาร์มสัตว์น้ำสู่ตลาดสากล

เมื่อวันที่ 25-26 กรกฎาคม 2554ที่ผ่านมา ศูนย์พัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ(ศรฟ) กรมประมงได้จัดฝึกอบรมให้กับผู้ตรวจประเมิน ในหลักสูตร ยา สารเคมีและวัตถุอันตรายที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ณ โรงแรมหลุยส์ แทเวิร์น กรุงเทพฯ

ปัจจุบันผู้คนทั่วโลกต่างหันมาใส่ใจในการเลือกบริโภคอาหารที่มีคุณภาพ ถูกสุขอนามัยและคำนึงถึงผลกระทบจากการผลิตสินค้าที่มีต่อสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ประเทศไทยซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศผู้นำในการผลิตและส่งออกสินค้าประมง โดยเฉพาะกุ้งทะเลที่สามารถนำรายได้เข้าประเทสอย่างมหาศาลมากว่า 20 ปี

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากหลายๆประเทศที่เป็นตลาดหลักในการนำเข้าสินค้าเพิ่มความเข้มงวดในการกำหนดมาตรฐานการตรวจสอบรับรองคุณภาพสินค้ามากขึ้น กรมประมงในฐานะเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่พัฒนาด้านเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จึงได้มีการพัฒนาระบบการเลี้ยงกุ้งให้ได้คุณภาพตามมาตรฐาน การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างมีความรับผิดชอบ โดยมุ่งเน้นการเพาะเลี้ยงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีผลกระทบต่อสังคม ผลผลิตที่ได้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค สามารถที่ตรวจสอบย้อนกลับได้ เพื่อมุ่งสู่การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน และมาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่มีการจัดการที่ดี สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ถูกสุขอนามัย ที่สำคัญคือไม่มีสารหรือยาปฏิชีวนะตกค้าง

ที่สำคัญได้มีการควบคุมคุณภาพผลผลิตกุ้งในระดับฟาร์มมาอย่างต่อเนื่องโดยตลอดตั้งแต่ปี 2541 และเพื่อให้มาตรการดังกล่าวมีความทันสมัยทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีนโยบายให้กรมประมงจัดตั้งหน่วยรับรองมาตรฐานฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ให้ได้มาตรฐานสากล ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจัดอบรมผู้ตรวจประเมิน ให้ตรงกับคุณสมบัติตามข้อกำหนด

นางธณิฎฐา  จงพีร์เพียร  ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (ศรฟ.) กรมประมงกล่าวถึงการจัดสัมมนาดังกล่าวว่า การจัดอบรมให้กับผู้ตรวจประเมินฟาร์มในครั้งนี้มีผู้เข้ารับอบรมทั้งสิ้น 150 คน ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ของกรมประมงซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานด้านการตรวจประเมินฟาร์มและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เป้าหมายสำหรับการจัดอบรมในครั้งนี้ก็เพื่อที่จะเสริมสร้างศักยภาพในการตรวจประเมินฟาร์ม ให้สามารถรับมือกับการตรวจประเมินได้ทุกสถานการณ์ และทันต่อการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบหรือข้อกำหนดต่างๆอยู่เสมอ

การอบรมผู้ตรวจประเมินฟาร์ม ในหลักสูตรนี้จะเน้นให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องของยาเคมีภัณฑ์ อาหารสัตว์น้ำ และวัตถุอันตรายทางการประมงรวมทั้งปัญหาสารตกค้างในสินค้าประมงและกฎระเบียบของประเทศคู่ค้า ฯลฯ ซึ่งแน่นอนว่าความรู้ที่ได้จากการเข้ารับการอบรมในครั้งนี้จะเป็นแนวทางหนึ่งเพื่อพัฒนาผู้ตรวจประเมินฟาร์มเหล่านี้ให้ช่วยผลักดันให้มาตรฐานฟาร์มของประเทศไทยจนเป็นที่ยอมรับในระดับสากลมากยิ่งขึ้น