ฟิโลเดนดรอน:ผลของสารพาโคลบิวทราโซลต่อต้นฟิโลเดนดรอนเพื่อใช้เป็นไม้กระถาง

ฟิโลเดนดรอน เป็นไม้ประดับที่มีใบสวยงามได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางอยู่ทั่วไปเป็นพืชในวงศ์ Arum หรือ Family Araceae มีอยู่ด้วยกันหลายพันธุ์และฟิโลเดนดรอนใบมะละกอ Philodendron selloum ก็เป็นอีกพันธุ์หนึ่งที่ได้รับความนิยมนำมาเป็นไม้ประดับ เป็นพันธุ์ไม้ที่ชอบความชื้นในอากาศสูง ไม่ชอบแสงแดดโดยตรง เมื่อนำมาใช้เป็นไม้ประดับจึงนิยมใช้เป็นไม้ประดับภายในอาคาร ในบริเวณที่มีแสงสว่างส่องเข้าถึงบ้าง ธรรมชาติของการเจริญเติบโตของฟิโลเดนดรอนมีขนาดใหญ่ ดังนั้นจึงมีการใช้สารชะลอการเจริญเติบโตมาใช้ชะลอความสูงของต้นขนาดพื้นที่ใบให้ได้ขนาดต้นตามต้องการ

สารพาโคลบิวทราโซล (paclobutrazol) เป็นสารชะลอการเจริญเติบโตชนิดหนึ่ง มีคุณสมบัติในการยับยั้งการสร้างจิบเบอเรลลินบริเวณเนื้อเยื่อเจริญใกล้ปลายยอด  ทำให้เซลยืดตัวไม่ได้ ข้อปล้องสั้นลง มีผลในการชะลอความสูงและมีผลในการเพิ่มจำนวนคลอโรฟิลต่อพื้นที่ใบ ทำให้ใบมีสีเขียวเพิ่มขึ้น

ทำการทดลองโดยเพาะเมล็ดต้นฟิโลเดนดรอนในกระบะเพาะใช้ทราย ขุยมะพร้าว อัตรา 1:1 เป็นวัสดุเพาะเมื่อมีใบจริง 4-5 ใบ จึงย้ายลงปลูกในถุงเพาะแล้วนำไปเลี้ยงต่อในโรงเรือนเพาะชำ ให้ปุ๋ยเกล็ดช่วยในการเจริญเติบโตอีก 5 สัปดาห์ จึงย้ายลงปลูกในกระถาง

เตรียมสารละลายพาโคลบิวทราโซล โดยใช้สารพาโคลบิวทราโซลชนิดผง 40% ในอัตรา 100, 75, 50, 25 และ 0 ppm. (0.1, 0.075, 0.025 และ 0 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร) โดยใช้วิธีการรดบนดินจำนวน 1 ครั้ง ปริมาณ 10 มิลลิลิตรต่อกระถาง

จากการทดลองพบว่าสารพาโคลบิวทราโซลมีผลต่อความสูงของต้นฟิโลเดนดรอน  โดยเมื่อเพิ่มความเข้มข้นของสารจะทำให้ความสูงของต้นลดลง ในที่นี้ความเข้มข้นสูงสุดที่ใช้คือสารพาโคลบิวทราโซล 100 ppm. ทำให้ต้นเตี้ยที่สุด ทำให้ความยาวก้านใบสั้นลง แต่ไม่มีผลกับทรงพุ่มทั้งที่ความยาวก้านใบสั้นลง  เพราะว่าก้านใบที่ได้รับสารเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จะแผ่ออกด้านข้างตามแนวนอน ทำมุมกับแนวตั้งเป็นมุมที่กว้างกว่าต้นที่ไม่ได้รับสาร ทำให้ความกว้างทรงพุ่มไม่เกิดความแตกต่างทางสถิติ

จากการทดลองครั้งนี้พบว่า การใช้สารพาโคลบิวทราโซล ความเข้มข้น 100 ppm.(0.1 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร) เหมาะสมที่จะใช้กับต้น Philodendron selloum เพื่อเป็นไม้กระถาง เพราะสามารถลดความสูงต้นและความยาวก้านใบให้มีขนาดที่เหมาะสม  แต่ควรมีการทำการทดลองเพิ่มเติมในเรื่องความเข้มข้นของสารให้สูงขึ้น เพราะอาจสามารถทำให้ได้ต้นที่มีขนาดแคระและใบเล็กลงเหมาะสมในการใช้ทำเป็นไม้กระถางมากขึ้น

ที่มา:ณรงค์  รุจิเรขเสรีกลุ 2538 ปัญหาพิเศษปริญญาตรี

ภาควิชาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์