มอดเจาะลำต้นทุเรียน:เชื้อราไฟทอปธอร่าสาเหตุโรครากเน่า-โคนเน่าของทุเรียน

ชัยวัฒน์  กระตุฤกษ์  กลุ่มงานวิจัยโรคไม้ผลพืชสวนอุตสาหกรรมและสมุนไพร กองโรคพืชและจุลชีววิทยา กรมวิชาการเกษตร

ทุเรียน (Durio zibethinus Murray) อาจพูดได้ว่าเป็นผลไม้ที่เคียงคู่กับเมืองไทยของเราเพราะปัจจุบันเกษตรกรชาวสวนทุเรียนสามารถผลิตทุเรียนออกจำหน่ายหมุนเวียนกันได้ตลอดทั้งปี จนประเทศไทยเราได้กลายเป็นผู้นำในการผลิตและส่งออกผลทุเรียนสด และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากทุเรียนมากที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน เรามีทุเรียนพันธุ์ดีเป็นที่รู้จักและทำชื่อเสียงให้กับประเทศหลากหลายพันธุ์ โดยเฉพาะพันธุ์ที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายได้แก่ ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง พันธุ์ชะนี พันธุ์ก้านยาว และพันธุ์กระดุมทอง และจากการที่มีพื้นที่ปลูกเป็นแหล่งผลิตใหญ่ๆ ย่อมต้องมีปัญหาติดตามมา ปัญหาที่พบมากของการทำสวนทุเรียนนอกเหนือจากแมลงศัตรูต่างๆแล้ว “โรคของทุเรียน” นับว่ามีความสำคัญมากโดยเฉพาะโรครากเน่า-โคนเน่าที่เกิดจากเชื้อราไฟทอปธอร่า (Phytophthora palmivora (Butler) Butler) ซึ่งนับได้ว่าเป็นของคู่กันกับเกษตรกรชาวสวนทุเรียนมาโดยตลอด และสิ่งที่ปรากฎควบคู่ไปกับการเกิดโรครากเน่า-โคนเน่าของทุเรียน ได้แก่ร่องรอยการเจาะของมอดตัวเล็กๆ ตามกิ่งและลำต้นของทุเรียนที่เป็นโรคนี้จนกลายเป็นปัญหาที่เกษตรกรชาวสวนทุเรียนได้ถกเถียงกันมาตลอดว่าสิ่งไหนเกิดขึ้นก่อนกันระหว่างมอดเจาะลำต้นทุเรียนกับโรครากเน่า-โคนเน่าของทุเรียน เกษตรกรชาวสวนทุเรียนหลายท่านมีประสบการแตกต่างกันไป หลายท่านเข้าใจว่ามอดเจาะลำต้นทุเรียนเกิดขึ้นก่อน และเป็นตัวนำพาเชื้อราของโรครากเน่า-โคนเน่าให้มาเกิดกับทุเรียน นอกจากนี้นักวิชาการที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับแมลงศัตรูทุเรียน ยังได้รายงานไว้ว่ารอยเจาะของมอดเป็นทางให้เชื้อโรคโคนเน่าเข้าทำลาย และทำให้ต้นทุเรียนต้นขนาดใหญ่ตายได้

มอดเจาะลำต้นทุเรียน (Durian Shot-hole Borer) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Xyleborus fornicates (Eichhoff) ตัวเต็มวัยมีขนาดลำตัวยาว 2-3 มิลลิเมตร มีสีดำปนน้ำตาล เป็นมัน รูปร่างทรงกระบอก หัวและท้ายตัด ตัวเต็มวัยจะเจาะเข้าไปที่กิ่งหรือลำต้นเป็นรูพรุน หลังจากผสมพันธุ์เพศเมียจะวางไข่ในรูที่เจาะ เมื่อไข่ฟักเป็นตัวหนอนก็จะกัดกินชอนไชภายในกิ่งและลำต้นทุเรียนและเข้าดักแด้อยู่ภายในรูที่มอดอาศัยอยู่นั่นเอง ต่อจากนั้นก็เจริญเป็นตัวเต็มวัยผสมพันธุ์และวางไข่ต่อไปอีก มักจะพบว่ามีเพศเมียมากกว่าเพศผู้ถึง 10 เท่า เมื่อผสมพันธุ์แล้ว เพศเมียจะบินไปยังต้นอื่น เพศผู้ไม่บิน วงจรชีวิตประมาณ 30-35 วัน และเพศเมียตัวหนึ่งสามารถขยายพันธุ์ได้ 30-35 ตัว

แมลงชนิดนี้มีรายงานว่าพบใน มาดากัสการ์ อินเดีย เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และปาปัวนิวกินี สำหรับในประเทศไทยพบระบาดตลอดทั้งปีในพื้นที่ที่ปลูกทุเรียนทั้งที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ นอกจากเข้าทำลายทุเรียนแล้วยังพบในพืชอื่นคือ ชา พืชตระกูลส้ม และโกโก้

ในเรื่องของมอดเจาะต้นทุเรียนกับโรครากเน่า-โคนเน่าของทุเรียนนั้น จากการศึกษาค้นพบครั้งนี้นับว่าเป็นเหตุบังเอิญก็ได้ที่ทำให้รู้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างมอดเจาะลำต้นกับโรครากเน่า-โคนเน่าของทุเรียน เนื่องมาจากงานค้นคว้าวิจัยตั้งแต่ปี 2530 ที่ได้ร่วมปฏิบัติงานทดสอบประสิทธิภาพของสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราชนิดต่างๆ ในการป้องกันกำจัดโรครากเน่า-โคนเน่าของทุเรียนที่เกิดจากเชื้อร่าไฟทอปธอรานี้ ในงานวิจัยครั้งนั้นได้ทำการทดลองปลูกเชื้อราไฟทอปธอร่า (วิธีการที่ทำให้ต้นไม้เป็นโรค โดยการนำเชื้อโรคเข้าไปใส่ให้ต้นไม้นั้น) กับต้นทุเรียนพันธุ์ต่างๆ รวมทั้งหมด 80 ต้น จากผลการทดลองการปลูกเชื้อ พบว่าหลังจากต้นทุเรียนทุกต้นเกิดมีแผลเน่าแล้ว ได้มีมอดเข้ามาเจาะที่บริเวณแผลเนาบนต้นทุเรียนทุกงานทดลอง ซึ่งครั้งนั้นไม่ได้เน้นในเรื่องแมลงตัวนี้มากนักเพียงแต่ได้บันทึกไว้ และจากการทดลองทุกครั้งในวิธีการเดียวกันนี้ของปีต่อๆ มาก็ได้พบว่ามีมอดเข้ามาเจาะที่บริเวณแผลเน่าอยู่เสมอในปริมาณที่มาก-น้อยแตกต่างกันไปตามช่วงระยะเวลาที่ได้ปฏิบัติงานทดลองนั้น จึงทำให้มีความมั่นใจว่าแมลงหรือมอดตัวนี้ไม่ได้เป็นพาหะหรือเป็นตัวนำเชื้อราไฟทอปธอร่าให้มาเกิดกับต้นทุเรียนซึ่งจะตรงกับรายงานของต่างประเทศที่ได้รายงานไว้ว่ามอดชนิดนี้มีนิสัยที่ชอบเจาะเนื้อไม้ที่เน่าเสียเพื่อวางไข่โดยตัวหนอนของมอดนี้จะหากินเข้าดักแด้ และเป็นตัวเต็มวัยภายในเนื้อไม้เน่าเสียนั้น

ดังนั้นเพื่อเป็นการยืนยันผลการทดลองให้แน่ใจยิ่งขึ้น และเพื่อศึกษาถึงรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับมอดตัวนี้ในทุเรียน จึงได้ทำการทดลองขึ้นอีกในช่วงระหว่างปี 2536-2537 ใช้ทุเรียนพันธุ์ชะนีอายุ 8-10 ปี ในแปลงทดลองของศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี ขั้นแรกทำให้ต้นทุเรียนเกิดแผลเน่าก่อนโดยการปลูกเชื้อราไฟทอปธอร่าเข้าที่ส่วนของลำต้น บันทึกการเกิดแผลเน่าและการขยายของแผลเน่าบนต้นทุเรียนบันทึกวันที่ตัวมอดเริ่มเข้ามาเจาะเนื้อไม้และจำนวนตัวมอด(ปริมาณ) ที่เข้ามาเจาะ บันทึกลักษณะของรูที่ตัวมอดเจาะ ความลึกของรูมอด ลักษณะของไข่ ตัวหนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัยของตัวมอด และอื่นๆ ซึ่งได้ข้อมูลต่างๆ ออกมาดังนี้

–         แผลเน่าและการขยายขอบเขตของแผลเน่าบนต้นทุเรียน จะสังเกตเห็นได้หลังจากการปลูกเชื้อไปแล้ว 2-3 วัน และยิ่งนานวันแผลเน่านี้จะขยายใหญ่ขึ้นลุกลามไปตามส่วนต่างๆของต้นทุเรียน เช่น ตามกิ่งแขนง และบางส่วนแผลลามลงสู่โคนต้นจนทุเรียนเกิดอาการใบเหลือง

–         ตัวมอดเริ่มเข้ามาเจาะที่แผลเน่าบนต้นทุเรียน ประมาณวันที่ 7 หลังจากเกิดแผลเน่าแล้ว(โดยเฉลี่ย) และจะเข้ามาเรื่อย ๆ เมื่อแผลขยายขอบเขตออกไป โดยจะพบในปริมาณที่มากที่สุดช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม และพบน้อยมากในช่วงฤดูฝน

–         ขนาดของรูที่ตัวมอดเจาะมีขนาดเล็กมาก ประมาณ 1-2 มิลลิเมตร ความลึกโดยเฉลี่ยประมาณ 2-3 ซม. สังเกตเห็นได้ง่ายในช่วงฤดูแล้ง โดยจะพบขี้มอดสีขาว หรือสีน้ำตาลปรากฎอยู่ที่ปากรูที่เจาะ ส่วนในช่วงฤดูฝนจะไม่ค่อยพบขี้มอด เพราะน้ำฝนได้ล้างออกหมด

–         เมื่อเปิดเปลือกบริเวณรูที่ตัวมอดเจาะ จะพบตัวหนอนและดักแด้ของมอดชนิดนี้อาศัยอยู่ตามรูและใต้เปลือกทุเรียนที่เน่า ส่วนตัวเต็มวัยพบอาศัยอยู่ตามรูที่เจาะลึกเข้าไปในเนื้อไม้ของทุเรียน

–         จากการศึกษามอดเจาะลำต้นทุเรียนต้นนี้ส่วนใหญ่แล้วพบตัวมอดเจาะเฉพาะต้นทุเรียนที่มีอาการของโรครากเน่า-โคนเน่าเนื่องจากเชื้อราไฟทอปธอร่าเท่านั้น และพบส่วนน้อยที่มอดตัวนี้เจาะตามกิ่งทุเรียนที่กำลังจะแห้งตาย (อาการทิ้งกิ่งของทุเรียน) เนื่องจากเป็นกิ่งอยู่ในทรงพุ่มได้รับแสงแดดไม่เพียงพอ และยังไม่พบเลยว่ามอดตัวนี้เจาะเข้าต้นทุเรียนที่เนื้อไม้ยังปกติอยู่(ยังสดอยู่)

จากข้อมูลที่ได้มาทั้งหมดนี้ ทำให้สรุปได้ว่า มอดเจาะลำต้นทุเรียนตัวนี้จะบินมาเจาะที่แผลเน่าภายหลังจากที่ต้นทุเรียนเป็นโรครากเน่า-โคนเน่า เนื่องจากเชื้อราไฟทอปธอร่าแล้วเท่านั้น โดยตัวมอดจะเจาะเข้าไปที่ส่วนของลำต้นหรือกิ่งที่มีแผลเน่าเป็นรูเล็กๆ เพื่อเข้าไปวางไข่ เมื่อไข่ฟักเป็นตัวหนอนๆก็จะหากินอยู่ภายในบริเวณเนื้อไม้ที่เน่าเสีย จนกระทั่งเข้าดักแด้และเป็นตัวเต็มวัยในเวลาต่อมา และจากประสบการณ์เข้าใจว่า มอดเจาะต้นทุเรียนตัวนี้ไม่น่าที่จะเป็นตัวที่ทำให้อาการของโรครากเน่า-โคนเน่าของทุเรียนลุกลามได้มากขึ้น ทั้งนี้เพราะว่าจากงานทดลองที่ผ่านมา ถึงแม้ไม่พบมอดเข้ามาเจาะที่แผลเน่าเลย แต่อาการเน่าของแผลก็ลุกลามมากขึ้นเรื่อย ๆ และถ้าไม่มีการบำบัดรักษาที่ถูกต้องแล้วอาจทำให้ต้นทุเรียนตายเนื่องจากโรคนี้ในเวลาอันรวดเร็ว และมอดเจาะต้นทุเรียนตัวนี้ไม่ได้เป็นพาหะหรือตัวนำพาเชื้อราไฟทอปธอร่าให้ไปเกิดกับทุเรียนอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ยังพบว่ามอดเจาะต้นทุเรียนตัวนี้น่าจะมีผลดีต่อเกษตรกรชาวสวนทุเรียนตรงที่ว่าทำให้ชาวสวนทุเรียนทราบตำแหน่งหรือจุดที่เป็นโรคได้ง่ายยิ่งขึ้นโดยสังเกตจากรูที่มอดเจาะหรือมีขี้มอดอยู่ตามเปลือกไม้ เพราะว่าโดยปกติแล้วอาการของโรครากเน่า-โคนเน่าของทุเรียนที่เกิดจากเชื้อราไฟทอปธอร่านี้ เมื่อเริ่มเกิดกับทุเรียนถ้าไม่มีของเหลวไหลออกมาจากแผลที่เน่าจะสังเกตยากมาก นอกเสียจากผู้ที่คุ้นเคยเท่านั้น แต่ถ้าสังเกตจากรอยที่มอดเจาะจะรู้ทันทีว่าเกิดแผลเน่าขึ้นแล้ว ณ ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งของต้นทุเรียน จะได้วางแผนป้องกันกำจัดได้ทันท่วงที และจากงานทดลองป้องกันกำจัดโรคนี้ด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดโรคราอีกเช่นกันพบว่า  สารเคมีป้องกันกำจัดโรคราบางชนิดที่มีกลิ่นรุนแรงสามารถป้องกันไม่ให้มอดตัวนี้เข้ามาเจาะที่แผลเน่าได้