มะกล่ำต้น

(Barbados Pride, Coral Pea)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Adenanthera pavonina L.
ชื่อวงศ์ LEGUMIMOSAE – MIMOSOIDEAE
ชื่ออื่น บนซี ไพ ไพเงินกล่ำ มะกล่ำตาไก่
ถิ่นกำเนิด เอเชียตะวันออกเฉียงใต้


ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 8-15 ม. ขนาดทรงพุ่ม 8-10 ม. ไม่ผลัดใบ ทรงพุ่มกลมแผ่กว้างค่อนข้างโปร่ง เปลือกต้นสีน้ำตาลอมเทา แตกเป็นแผ่น หรือสะเก็ดบาง
ใบ ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ปลายคู่ เรียงเวียนสลับ แกนกลาง ใบประกอบยาว 30-40 ซม. แยกแขนงตรงข้าม 3-6 คู่ใบย่อย 5-8 คู่ เรียงสลับ รูปรีหรือรูปรีแกมรูปไข่ กว้าง 1.1-2 ซม. ยาว 2-4.5 ซม. ปลายใบกลม หรือเว้าตื้นโคนใบมนและเบี้ยว แผ่นใบบาง สีเขียวเข้ม เรียบเกลี้ยง ผิวใบด้านล่างสีเขียวนวล


ดอก สีเหลืองนวล กลิ่นหอมในตอนเย็น ออกเป็นช่อแบบช่อกระจะ ที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่งและปลายกิ่ง ช่อดอกมีทั้งห้อยและตั้ง ยาว 7.5-20 ซม. ดอกย่อยขนาดเล็ก กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 แฉก เกสรเพศผู้ 10 อัน เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 0.3-0.5 ซม.
ผล ผลแห้งแตกสองตะเข็บ เป็นฝักรูปแถบ กว้าง 0.8-1.2 ซม. ยาว 15-20 ซม. โค้งบิดเวียนเป็นเกลียวมีรอยคอดตามรูปเมล็ดชัดเจน เมื่อสุกจะแตกออกตามยาวและบิดเพื่อกระจายเมล็ดเมล็ดรูปกลมแบน รูปหัวใจสีแดงหรือแดงอมส้ม เกลี้ยงเป็นมัน เปลือกแข็ง ติดกับฝักเป็น เวลานาน 10-15 เมล็ดต่อฝัก ออกดอกติดผลตลอดปี การขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
นิเวศวิทยา พบทั่วไป ตามช่องว่างชายป่าดงดิบ และป่าเบญจพรรณ ที่มีความสูง 50-400 ม. จากระดับน้ำทะเล ทั่วทุกภาคของไทย
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพรใบ ต้มกินแก้โรคปวดข้อ บำรุงธาตุ แก้ท้องร่วงและบิด ราก ขับเสมหะ เมล็ด พอกดับพิษฝี รักษาแผลหนอง และฝี
หมายเหตุ เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดสิงห์บุรี
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย