มะขวิด

มะขวิด มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า เฟอโรเนีย เลโมเนีย Feronia limmia ( Linn.) Swingle หรือ Feronia elephantum, Corr.) อยู่ในตระกูล รูตาซี ( Rutaceae ) บางที เรียกว่า มะฟิต มะฝิด ผลมะขวิดกลมคลายผลแอ๊ปเปิลแต่เปลือกแข็ง จึงเรียกว่า วู๊ดแอ๊ปเปิล (Wood Apple) เนื้อผลมะขวิดสุกมีสีนํ้าตาลคล้ายสีมะขาม มีรสอมเปรี้ยวอมหวานกลิ่นหอม น่ารับประทาน ใช้รับประทานเป็นผลไม้ทำให้สดชื่นและมีคุณสมบัติเป็นยาบำรุงธาตุ ผลมะขวิดที่ไม่สุกนำมาฝานเป็นชิ้นตากแห้งนำมาชงน้ำดื่มแก้โรคลักปิดลักเปิด ( antiscorbutic ) เนื่องจากมีสารพวกวิตามินซี และมีสารรสฝาดแทนนิน ( Tannin ) ช่วยแก้โรคท้องเสียและโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร ใช้แทนผลมะตูมได้ ภายในผลมะขวิดมีสารเมือกเพคติน (pectin) ประมาณ ๕% ช่วยหล่อลื่นกระเพาะลำไส้ ท้องไม่ผูก นอกจากผลมะขวิดที่จะให้คุณค่าทางอาหารและยาแล้ว ใบมะขวิดซึ่งมีลักษณะคล้ายครีบ มีกลิ่นหอม เนื่องจากมีน้ำมันหอมระเหยจำนวนเล็กน้อย (๐.๗๓%) ส่วนใหญ่เป็นสารพวกเอสตราก๊อล ( estragol ) ประมาณ ๙๐% จึงนำใบมะขวิดมาทำเป็นยาขับลมและช่วยฝาดสมาน

มะขวิดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ตามลำต้นมีหนาม ตามลำต้นและกิ่งก้านของมะขวิด มียางกัม (gum) มีลักษณะเป็นก้อนใสสีเหลืองอ่อนหรือไม่มีสี มีชื่อทางการค้าว่ายางเฟอโรเนีย (Feronia gum) ยางมะขวิดละลายน้ำได้นํ้ายางเหนียวข้น กรีดหลังฤดูฝนไปแล้ว ใช้แทนกาวได้ ในชวาใช้ยางมะขวิดเป็นส่วนผสมในน้ำหมึกเวลาเขียนเส้นจะไม่ขาด เนื้อยางมะขวิดสลายตัวจะให้น้ำตาลชนิดต่างๆ เช่น น้ำตาลกาแลคโตส (D – galactose ) ๔๒.๗% น้ำตาลเพนโตส (pentose) ๓๕.๕% และน้ำแฮมโนส, กรดกลูคิวโรนิค (glucuronic acid) ปริมาณเล็กน้อย ยางมะขวิดมีสารพวกแทนนินแก้โรคท้องร่วงและห้ามโลหิต ใช้แทนยางอะคาเซีย (acacia gum)

ต้นมะขวิดมีกำเนิดในอินเดีย สามารถปลูกได้ในแถบอากาศร้อนทั่วไป โดยเฉพาะในประเทศไทย ต้นมะขวิดสามารถปลูกได้ทั่วทุกภาค มีขึ้นตามป่าโปร่งแล้งทั่วไป ผลมะขวิดสามารถนำมาทำน้ำมะขวิดได้เช่นเดียวกับน้ำมะตูม ผสมน้ำตาลเกลือชิมรสตามชอบ ดื่มได้ทั้งร้อนและเย็น ทำให้ชื่นใจ และให้คุณค่าทางยาดังที่กล่าวมาแล้ว

สรุปสรรพคุณ

ผล ให้วิตามินซี สารรสฝาด และมีสารเมือกเพคติน บำรุงธาตุ แก้ท้องเสีย โรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร แก้โรคลักปิดลักเปิด ใช้เป็นผลไม้เเละทำน้ำผลไม้

ใบ มีกลิ่นหอมของน้ำมันหอมระเหย เป็นยาขับลมและช่วยสมาน

ยางจากต้น ใช้แก้โรคท้องร่วง และห้ามโลหิต