มะขาม:พืชที่สำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย

ชูศักดิ์  สัจจพงษ์

ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ  กรมวิชาการเกษตร

มะขามนับว่าเป็นพืชที่สำคัญทางเศรษฐกิจพืชหนึ่งของประเทศไทย ทั้งมะขามเปรี้ยวและมะขามหวานเป็นที่ต้องการของตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศมากขึ้นทุกปี โดยจะเห็นได้จากในปีหนึ่งๆ มีมะขามเปียกส่งออกมีมูลค่าหลายสิบล้านบาท ส่วนมะขามหวาน ส่วนใหญ่ใช้บริโภคสดภายในประเทศ

พันธุ์มะขาม

เราสามารถจำแนกมะขามออกเป็นมะขามเปรี้ยวและมะขามหวาน มะขามเปรี้ยวยังไม่มีการจำแนกพันธุ์ สำหรับมะขามหวานที่พบเห็นและปรากฎอยู่ทุกวันนี้มีอยู่มากกว่า ๒๐ พันธุ์ บางพันธุ์อาจจะมีลักษณะและรูปร่างคล้ายคลึงกันเจ้าของมะขามจะตั้งชื่อขึ้นมาเอง โดยเอาแหล่งปลูกหรือชื่อเจ้าของนั้น่ตั้งเป็นชื่อพันธุ์ ดังจะเห็นได้จากมีการประกวดมะขามหวานตามจังหวัดต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งพบว่ามีพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ เมื่อรวบรวมพันธุ์แล้วศึกษาลักษณะและคุณสมบัติประจำพันธุ์ พบว่ามีพันธุ์มะขามหวานอยู่เพียงไม่กี่พันธุ์ แต่อย่างไรก็พอจะอนุโลมเรียกชื่อพันธุ์ตามที่มีอยู่ดังต่อไปนี้ พันธุ์มหาจรูญ พันธุ์ครูอินทร์ พันธุ์ไผ่ใหญ่ พันธุ์พระโรจน์ พันธุ์ครูบัวพันธุ์ พันธุ์สีทอง พันธุ์หมื่นจง พันธุ์น้ำผึ้ง พันธุ์น้ำดุกหรือปากดุก พันธุ์ขันดี พันธุ์อินทผาลัม พันธุ์แจ้ห่ม(นายปั๋น) พันธุ์แจ้ห่ม(ครูประชาสาร) พันธุ์ส้มป่อย พันธุ์นิ่มนวล พันธุ์นาศรีนวล พันธุ์นวลละออง พันธุ์ศรีชมพู

ดินปลูก

มะขามหวานสามารถขึ้นได้ดีในดินแทบทุกชนิด เป็นต้นว่า ดินทราย ดินเหนียว ดินลูกรัง แต่ดินร่วนปนทรายเหมาะที่สุด ควรมีการระบายน้ำดีด้วย สามารถขึ้นได้ในที่ค่อนข้างแห้งแล้ง

การขยายพันธุ์

มะขามหวานนิยมขยายพันธุ์ด้วยการทาบกิ่ง แต่อาจจะขยายพันธุ์ด้วยการติดตา และการต่อยอดได้ด้วย การทาบกิ่งใช้ต้นตอที่มีอายุประมาณ ๘ เดือน เมื่อหุ้มขุยมะพร้าวแล้วนำไปทาบกับพันธุ์ที่ต้องการหลังจากทาบแล้ว ๔๕ วัน จึงตัดมาปักชำ จนเจริญเติบโตดีจึงนำลงปลูก สำหรับมะขามเปรี้ยวนิยมใช้เมล็ดหยอดในหลุมปลูกเลย

การปลูก

ควรจะมีการเตรียมหลุมปลูกขนาดหลุมปลูก ๖๐x๖๐x๖๐ ซม. เมื่อขุดแล้วก่อนจะปลูกควรจะใส่ปุ๋ยคอกหลุมละ ๑-๒ บุ้งกี๋ แล้วคลุกเคล้ากับดินบน จากนั้นจึงปลูก ระยะปลูก ๘x๘ เมตร จะปลูกได้ ๒๕ ต้นต่อไร่ สำหรับฤดูปลูกควรจะปลูกต้นฤดูฝนเพราะเมื่อปลูกเสร็จแล้วต้นมะขามที่ยังเล็กอยู่จะได้รับน้ำฝนสามารถตั้งตัวได้ดีก่อนจะเข้าถึงฤดูแล้ง ต้นมะขามที่ปลูกใหม่ควรจะผูกยึดกับหลัก เพื่อให้ต้นมะขามขึ้นตรงไม่โค่นล้มเนื่องจากลมแรงก่อนจะปลูก หากปลูกด้วยกิ่งทาบจำเป็นต้องตรวจดูก่อนว่าแกะเอาเชือกฟางหรือผ้าพลาสติกตรงรอยต่อออกแล้ว ถ้าทิ้งไว้จะทำให้แคระแกรนหรืออาจจะตายได้

การดูแลรักษา

การให้น้ำ ในระยะปลูกใหม่หากฝนไม่ตก จำเป็นต้องรดน้ำทุก ๆวัน ประมาณ ๑ อาทิตย์ จนกว่าจะตั้งตัวได้ จากนั้นจึงรดให้ห่างกว่าเดิมอาจจะเป็น ๓ หรือ ๗ วัน ต่อครั้ง สำหรับมะขามหวานต้นโตให้ผลผลิตแล้ว ควรจะให้น้ำเดือนละครั้งจะช่วยให้ต้นแข็งแรงสมบูรณ์

การกำจัดวัชพืช ในระยะที่ต้นยังเล็กอยู่จำเป็นต้องกำจัดวัชพืชเป็นระยะไปอย่าให้วัชพืชแย่งน้ำและอาหารได้ การทำความสะอาดรอบโคนต้นนอกจากจะเป็นการกำจัดวัชพืชแล้ว ยังสามารถทำลายแหล่งอาศัยของโรคและแมลงได้ด้วย

การใส่ปุ๋ย สำหรับมะขามหวานต้นเล็กยังไม่ออกผลอายุ ๑-๓ ปี ควรใส่ปุ๋ยสูตร ๑๒-๒๔-๑๒ อัตรา ๔๕๐ กรัม ในปีแรก แบ่งใส่ ๓ ครั้ง จำนวน ๑๐๐, ๑๕๐, ๒๐๐ กรัม ตามลำดับสำหรับปีต่อๆไป ให้เพิ่มปุ๋ยมากขึ้นตามจำนวนอายุที่มากขึ้น เมื่อมะขามตกผลแล้วควรใส่ปุ๋ยสูตร ๑๒-๑๒-๑๗ หรือ ๑๓-๑๓-๒๑ จะช่วยให้มีการติดผมมากขึ้น และเพิ่มความหวานด้วย

การปลูกพืชแซม เนื่องจากการปลูกมะขามหวานปลูกระยะห่าง ๘x๘ เมตร ขณะที่มะขามหวานยังเล็กอยู่อาจจะปลูกพืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วลิสง อาจจะปลูกสับปะรดหรือพวกพริก อันจะเป็นการเพิ่มรายได้ต่อเนื้อที่ให้มากขึ้น

โรคและแมลงที่พบ

๑.  โรคราแป้งของมะขาม โรคนี้เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่ง เข้าทำลายส่วนของใบอ่อน กิ่งอ่อน และฝักอ่อน ถ้าเป็นมากทำให้ส่วนที่เป็นแห้งตายได้ ช่วงที่ราแป้งระบาดมากที่สุด คือช่วงต่อระหว่างฤดูฝนกับฤดูหนาว

การป้องกันกำจัด โดยใช้สารเคมีพวกเบโนมิล ไดโนแคป ไพราโซฟอส และกำมะถัน

๒.  หนอนเจาะลำต้นและกิ่ง หนอนชนิดนี้จะเข้าทำลายกิ่งมะขามโดยทำลายกิ่งที่ค่อนข้างเล็กเป็นส่วนใหญ่ ทำให้กิ่งแห้งตาย

การป้องกันกำจัด ตัดกิ่งที่ถูกหนอนทำลายไปเผาหมั่นตรวจดูสภาพกิ่งและลำต้นของมะขาม หากพบเป็นรูและมีร่องรอยการทำลายคือ เป็นขุยๆ ให้ใช้สารเคมีประเภทดูดซึมฉีดเข้าไปในรูแล้วเอาดินเหนียวอุดไว้

๓.  หนอนเจาะฝัก เกิดจากผีเสื้อวางไข่เป็นกลุ่มๆละ ๒-๓ ฟอง ที่ใบหรือฝักมะขาม เมื่อฟักออกมาเป็นตัวหนอนๆจะเจาะเข้าไปในฝัก โดยกินบริเวณผิวเปลือกก่อน จากนั้นจะเจาะกินเข้าไปภายในฝัก

การป้องกันกำจัด หมั่นตรวจดูฝักที่ถูกหนอนทำลาย ซึ่งร่วงหล่นตามโคนต้น ให้เก็บไปเผาหรือทำลายและใช้สารเคมีกลุ่ม คาร์บาริล เช่น เซฟวิน พ่นป้องกันในระยะที่ฝักมะขามยังอ่อน

๔.  หนอนปลอก เกิดจากผีเสื้อกลางคืน ตัวผู้มีหนวดเล็ก มีหนวดคล้ายแปรงหวีผมแต่ตัวเมียไม่มีปีกและขา อาศัยและวางไข่อยู่ในปลอก เมื่อไข่ฟักเป็นตัวอ่อนจะออกมาแทะเล็มและกัดกินใบมะขามพร้อมกับทำรังหุ้มตัว และเกาะอยู่ใต้ใบหรือตามก้านใบ

การป้องกันกำจัด ใช้สารเคมีกลุ่มไตรคลอร์ฟอน

การเก็บเกี่ยว

มะขามส่วนมากจะแก่และเก็บเกี่ยวได้ในระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคมของปีถัดไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแหล่งปลูกและสภาพดินฟ้าอากาศ การเก็บฝักมะขามควรใช้กรรไกรตัดขั้วให้หลุดออกจากกิ่ง ไม่ควรใช้มือปลิดจะทำให้ฝักแตก หากมีฝักแตกแล้วโอกาสที่เชื้อโรคจะเข้าทำลายมีมาก ฝักมะขามสามารถเก็บไว้ในถุงพลาสติกได้นานในอุณหภูมิปกติถึง ๖ เดือน

ผลผลิต

มะขามหวานแต่ละพันธุ์ให้ผลผลิตไม่เท่ากัน และไม่แน่นอนด้วยในพันธุ์เดียวกันถ้าปลูกคนละสถานที่ ดินฟ้าอากาศและการดูแลรักษาที่แตกต่างกัน ย่อมให้ผลผลิตต่างกัน การที่ขนาดของฝักเล็กหรือใหญ่นั้น ทำให้ราคาไม่เท่ากันด้วย ราคาของมะขามหวานอาจจะมีตั้งแต่ ๕๐ บาทถึง ๒๐๐ บาทต่อกิโลกรัม

การที่จะปลูกมะขามหวานให้ได้ราคาดี ควรจะปลูกพันธุ์ดี ด้วยกิ่งทาบหรือกิ่งติดตา จะทำให้ไม่กลายพันธุ์และจำเป็นต้องดูแลรักษาให้ดีด้วย เพื่อที่จะได้มะขามที่มีฝักขนาดมาตรฐานมีความสม่ำเสมอและคุณภาพดี