มะขามเทศ:พืชเด่นของพื้นที่ดินเค็มและดินเปรี้ยว

สภาพดินของแต่ละพื้นที่ในประเทศไทยมีความแตกต่างกัน บริเวณจังหวัดสมุทรสาครจัดว่าเป็นพื้นที่ดินเค็มและดินเปรี้ยว เกษตรกรยึดอาชีพปลูกไม้ผล และเลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง แต่การปลูกไม้ผลส่วนใหญ่แล้วจะพบปัญหาพืชไม่สามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้เต็มที่ การเลี้ยงกุ้งกุลาดำทำให้เกษตรกรหลายรายขาดทุนไปตาม ๆ กัน ในช่วงที่เกษตรกรเกิดปัญหานั้นก็ค้นพบพืชตัวใหม่ที่ทนดินเค็มและดินเปรี้ยวมาปลูกทดแทนไม้ผลอื่น ๆ มะขามเทศจึงถือได้ว่าเป็นพืชเด่นของพื้นที่ดินเค็มและดินเปรี้ยว ถึงแม้มะขามเทศจะมีข้อจำกัดตรงที่มีผู้นิยมบริโภคน้อยและเก็บรักษาไว้ได้ไม่นาน แต่เมื่อชาวสวนไม่สามารถทำการเกษตรอย่างอื่นที่ดีกว่าได้ มะขามเทศจึงเป็นพืชทางเลือกหนึ่งในขณะนี้

คุณบุญส่งเหรียญทอง  เป็นเกษตรกรอีกท่านหนึ่งที่หันมาปลูกมะขามเทศเป็นอาชีพ เมื่อก่อนเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ปลูกมะพร้าว มะม่วง กระท้อน มะนาว ส้ม พืชเหล่านี้ปลูกไปแล้วเมื่อเพิ่มให้ผลผลิตต้นไม้ผลเหล่านี้ก็เกิดอาการยืนต้นตาย เหี่ยวเฉาและทยอยตายไป  พอหันมาเลี้ยงกุ้งกุลาดำก็ต้องประสบปัญหาและขาดทุน ดังนั้นเมื่อเห็นคนข้างบ้านเขาปลูกมะขามเทศให้ผลผลิตดีและมีรายได้ดีจึงได้ซื้อกิ่งพันธุ์จากสวนข้างเคียงมาปลูกโดยเริ่มปลูกตั้งแต่ปี 2533 ขณะนี้มีพื้นที่ปลูกมะขามเทศทั้งหมด 30 กว่าไร่  พื้นที่แห่งนี้เป็นมกดกตกทอดมาจากพ่อแม่  ฉะนั้นจึงต้องทำการเกษตรต่อไป  คุณบุญส่งทดลองนำพืชอื่น ๆ มาปลูกในสวนแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จมีเพียงมะขามเทศเท่านั้นที่ทนดินเค็มและดินเปรี้ยว  ถึงแม้มะขามเทศจะมีข้อจำกัดอยู่หลายข้ออาทิเช่น ติดผลน้อย เน่าเสียง่าย ต้องพ่นสารป้องกันกำจัดแมลงบ่อย ๆ ตลาดผู้บริโภคมีน้อย แต่มะขามเทศก็เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในช่วงนี้  ส่วนในอนาคตข้างหน้าถ้ามีพืชตัวอื่นที่เหมาะสำหรับปลูกในดินเค็มและดินเปรี้ยวราคาและการปลูกดูแลรักษาง่ายก็อยากจะเปลี่ยนพืชเหมือนกัน  ในช่วงนี้ก็คงต้องปลูกมะขามเทศไปเรื่อย ๆ ก่อนเพราะคุณบุญส่งเองก็มีแม่ค้ามารับซื้อถึงสวน มีขาประจำอยู่แล้ว และราคามะขามเทศค่อนข้างจะเป็นที่น่าพอใจ

มะขามเทศอายุมากต้นทุนการผลิตสูง

มะขามเทศปลูกเพียงปีกว่า ๆ ก็เริ่มเก็บผลผลิตขายได้การลงทุนและการดูแลรักษาในช่วงแรก ๆ ค่อนข้างสบาย  แต่พอมะขามเทศอายุมากขึ้นต้นทุนในการผลิตก็ยิ่งสูงขึ้นในขณะที่รายรับค่อนข้างจะอยู่ตัว อย่างเช่นช่วงต้นเล็กเคยลงทุนค่าสารเคมีและค่าปุ๋ยเพียงปีละ 1 แสนบาท แต่พอมะขามเทศอายุมากขึ้น ค่าสารเคมี ค่าปุ๋ยสูงขึ้นเป็น 2-3 แสนบาท (พื้นที่ 30 กว่าไร่) จึงอยากจะเตือนพี่น้องที่คิดจะปลูกมะขามเทศให้รับทราบกันว่าการปลูกมะขามเทศช่วงแรก ๆ นั้นการดูแลรักษาง่าย การลงทุนต่ำ แต่พอมะขามเทศอายุ 5-6 ปี การลงทุน ค่าปุ๋ย ค่าสารเคมีเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว การเก็บดูแลรักษาค่อนข้างจะลำบาก ยิ่งต้นใหญ่ยิ่งเข้าไปทำงานได้ลำบาก  ดังนั้นคุณบุญส่งจึงคิดว่าจะตัดต้นมะขามเทศทิ้งแล้วปลูกมะขามเทศใหม่ โดยทำการตอนกิ่งจากต้นมะขามเทศจากสวนเดิม  นำไปชำเอาไว้แล้วตัดต้นมะขามเทศต้นใหญ่ทิ้งทั้งหมดแล้วทำการปรับปรุงดินเตรียมปลูกมะขามเทศใหม่อีกครั้ง ใช้เวลาเพียงปีกว่า ๆ ก็จะสามารถเก็บผลผลิตขายได้ดีกว่ามะขามเทศต้นใหญ่

จริง ๆ แล้วน่าจะใช้วิธีตัดแต่งไม่ให้สูงได้โดยทำการตัดแต่งทุกปีหลังเก็บผลแล้ว

มะขามเทศปลูกใหม่ ๆ ดูแลรักษาง่าย

มะขามเทศที่คุณบุญส่งนำมาปลูกครั้งแรกได้กิ่งพันธุ์มาจากคุณทองห่อ  วรรณศิริ  ลักษณะของกิ่งพันธุ์เป็นกิ่งตอนราคาช่วงนั้นค่อนข้างจะสูง  แต่ปัจจุบันราคากิ่งพันธุ์ก็ลดลงมาเหลือกิ่งละ 35 บาท การปลูกในช่วงปีแรก ๆ แทบไม่ต้องทำอะไรมากเพียงแต่ให้ปุ๋ยและน้ำ สารเคมีก็พ่นเพียงเล็กน้อย หลังจากต้นมะขามเทศโตมากขึ้น การลงทุนก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ การเก็บเกี่ยวและการเข้าไปปฏิบัติงานก็เริ่มจะลำบากขึ้น  โดยเฉพาะต้นทุน ค่าสารเคมี  การให้ปุ๋ยมะขามเทศต้องให้บ่อย ต้องพ่นทุก ๆ 7 วัน หรืออย่างมากไม่ควรเกิน 15 วัน การให้ปุ๋ยแต่ละครั้งจะให้ต้นละ 2-3 กก. โดยหว่านไปรอบ ๆ ทรงต้น หลังจากหว่านแล้วต้องรดน้ำ ตามปกติแล้วมะขามเทศจะต้องรดน้ำวันเว้นวัน (ใช้เรือรดน้ำรด) น้ำที่ใช้มีตลอดทั้งปี  การพ่นสารเคมีต้องพ่นทุก ๆ 7 วัน ในช่วงที่เก็บผลผลิตจะพยายามใช้สารเคมีที่สลายตัวเร็ว เพราะมะขามเทศจะต้องเก็บทุก ๆ 2 วัน ไม่อย่างนั้นแล้วมะขามเทศจะสุกและเน่าบนต้นเลย

การบังคับให้มะขามเทศออกดอกนั้นจะทำการกักน้ำแล้วพ่นปุ๋ยทางใบและอาหารเสริมจะเป็นการช่วยเร่งให้มะขามเทศออกดอกเร็วขึ้น มะขามเทศจะเริ่มออกดอกและติดผล สามารถเก็บผลผลิตขายได้ตั้งแต่เดือนธันวาคมโดยที่มะขามเทศจะทยอยออกดอกและติดผลให้ได้เก็บเกี่ยวไปเรื่อยจนกว่าจะเริ่มมีฝนตกลงมาจึงเลิกเก็บผลผลิต  หลังจากหยุดเก็บผลผลิตแล้วก็ไม่ต้องดูแลอะไรมาก อาจจะให้ปุ๋ยบำรุงบ้างและตัดแต่งกิ่งที่สูงเกินไปทิ้งบ้าง ตัดแต่งกิ่งปีละ 1 ครั้ง หลังจากนั้นจะไปเริ่มบำรุงกันอีกครั้งก่อนที่จะให้ผลผลิตในรุ่นถัดไป

มะขามเทศคัดเพียง 2 เกรด

มะขามเทศในบางปีเริ่มเก็บเกี่ยวต้นเดือนธันวาคม แต่ในบางปีเริ่มเก็บได้ช่วงปลายเดือนธันวาคม มะขามเทศจะเก็บเกี่ยวได้มากที่สุดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์วิธีการเก็บเกี่ยวมะขามเทศต้นสูงนั้น ใช้ตะกร้อเก็บมะม่วงช่วยเก็บ ในแต่ละวันที่เก็บมะขามเทศ คุณบุญส่งจะจ้างคนงานวันละ 10-30 คนแล้วแต่ว่าผลผลิตแต่ละวันมากน้อยแค่ไหน ค่าแรงตกวันละ 100 กว่าบาท หลังจากเก็บเสร็จแล้วคนงานก็สามารถกลับบ้านได้เลย แต่ถ้าวันไหนทำงานเกินเวลา 16.00 น.  จะต้องคิดค่าล่วงเวลาให้อีกต่างหาก มะขามเทศที่เก็บได้จะนำมาคัดเกรดโดยคัดเพียง 2 เกรด คือเกรดใหญ่และเกรดเล็ก เกรดใหญ่ที่ขายให้แม่ค้าขาประจำกิโลกรัมละ 47 บาท(แม่ค้าจากกรุงเทพฯ) เกรดเล็กกิโลกรัมละ 25 บาท (แม่ค้าจากมหาชัยรับซื้อไปขายให้กับสาวโรงงาน) นอกจากนี้ยังมีมะขามเทศที่แกะเปลือกแล้วเอาเฉพาะเนื้อเป็นมะขามเทศที่ฝักแตก แกะเอาเฉพาะเนื้อที่ดี ๆ ชั่งกิโลขายกิโลกรัมละ 15 บาท(ขายส่ง) ขายปลีกกิโลกรัมละ 20 บาท มะขามเทศที่เก็บมาจะขายได้ทั้งหมดนอกจากเปลือก แม่ค้าขาประจำจากกรุงเทพฯเข้ามารับซื้อถึงสวนโดยส่งมะขามเทศไปขายถึงเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง

กลุ่มผู้บริโภคมะขามเทศ

มะขามเทศเป็นพืชที่มีกลุ่มผู้บริโภคอยู่ในวงจำกัด บางคนไม่ชอบเพราะเหม็นเขียว แต่ถ้ามีการแนะนำและให้เขาทดลองรับประทานดูแล้วเขาจะติดใจ เป็นผลไม้ที่เหมาะสำหรับทานเล่น  กลุ่มผู้บริโภคมะขามเทศส่วนใหญ่จะเป็นผู้มีสตางค์  แต่การบริโภคยังไม่แพร่หลายนัก มะขามเทศเบอร์ใหญ่เหมาะสำหรับขายให้กับผู้มีอันจะกิน ส่วนมะขามเทศเบอร์เล็กนั้นสาวโรงงานแถบมหาชัยก็นิยมบริโภคกันเพราะราคาไม่แพง  ซึ่งมะขามเทศเบอร์ใหญ่กว่าจะถึงมือผู้บริโภคก็ตกกิโลกรัมละ 120-130 บาท นอกจากมะขามเทศ 2 เบอร์นี้แล้วยังมีมะขามเทศที่แกะเอาเฉพาะเนื้อเป็นมะขามเทศที่สุกเต็มที่มีรสหวานเพียงแต่ฝักแตก  เจ้าของก็เลยต้องแกะเอาเฉพาะเนื้อมาจำหน่ายกิโลกรัมละ 15-20 บาท กิโลหนึ่งได้ปริมาณมากทีเดียว แถมรสชาติหวานกว่ามะขามเทศเบอร์ใหญ่และเบอร์เล็กเสียอีก  แต่ปริมาณที่แกะได้แต่ละวันมีไม่มากนัก จะเห็นว่ามะขามเทศที่เก็บมาจะขายได้เกือบทั้งหมด  ส่วนเปลือกบางครั้งยังเอาไปให้วัวกินได้

ผู้ที่ปลูกมะขามเทศจะต้องมีตลาดเป็นของตัวเอง

มะขามเทศจัดว่าเป็นพืชที่เน่าเสียง่าย ตลาดมีจำกัด ฉะนั้นผู้ที่คิดจะปลูกมะขามเทศจะต้องมีตลาดรองรับ ปัจจุบันมีเกษตรกรหลาย ๆ คนตัดพุทราทิ้งหันมาปลูกมะขามเทศแล้วนำมาวางขายกันเองกิโลกรัมละ 30 บาท การขายในราคานี้อาจจะได้ราคาดีกว่าพุทรา ซึ่งพุทรากิโลกรัมละ 2-3 บาท แต่มะขามเทศเป็นพืชที่คายน้ำเร็ว น้ำหนักลดลงเมื่อเก็บไว้นาน ๆ  การปลูกมะขามเทศในช่วงแรก ๆ นั้นปัญหาค่อนข้างจะมีน้อย แต่เมื่อใดที่มะขามเทศโตเต็มที่การดูแลรักษาจะเริ่มลำบากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บเกี่ยว การให้ปุ๋ย การพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดแมลง  ปัญหาโรคราดำที่เกิดกับฝักมะขามเทศ  ปัญหาโรคกิ่งแห้งตาย สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นภาระที่ท่านผู้ปลูกมะขามเทศจะต้องพบในโอกาสต่อไป ยิ่งถ้าปีไหนฝนตกชุกแล้ว โอกาสขาดทุนก็ยิ่งสูงมากขึ้นเท่านั้น ผลผลิตปี 2537/2538 มะขามเทศสวนคุณบุญส่งต้องขาดทุนเพราะฝนตกชุก  ฝนตกลงมาช่วงที่กำลังเก็บเกี่ยวมะขามเทสเน่าเก็บขายไม่ได้  สำหรับปี 2538/2539 นี้ นับว่าโชคดีฝนยังไม่ตกทั้งที่ฝนตกที่กรุงเทพฯ แต่ที่สมุทรสาครไม่ตก  ถ้าฝนตกลงมามะขามเทศเก็บขายไม่ได้จะต้องเสียรายได้ของวันนั้นไปเลย รายได้ของแต่ละวันไม่แน่นอน บางวันไม่น่าเชื่อว่าจะเก็บได้มากก็ต้องเชื่อปีไหนฝนไม่ตกช่วงเก็บผลผลิตมีรายได้อยู่ในหลักล้าน แต่รายจ่ายเฉพาะค่าสารเคมีตกประมาณ 2-3 แสนบาทยังไม่รวมค่าคนงาน แต่ก็ถือว่าพอมีกำไร ยกเว้นปี 2537/2538 ขาดทุนหลายแสนเช่นกัน

จากข้อจำกัดของมะขามเทศในเรื่องของตลาดผู้บริโภคมีน้อย ผลผลิตที่ออกมาสู่ตลาดต้องขายได้หมดภายในวันเดียว  การแปรรูปมะขามเทศและวิธีการเก็บรักษายังไม่สามารถกระทำได้ ฉะนั้นการจะปลูกมะขามเทศนั้น  ผู้ที่คิดจะปลูกจึงต้องพิจารณาให้ดีว่าเรามีตลาดแล้วหรือยัง สินค้าทุกอย่างถ้ามีปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการของผู้บริโภค ปัญหาราคาตกต่ำก็มีน้อย แต่ถ้าเมื่อใดที่สินค้าเกษตรมีมากกว่าความต้องการของผู้บริโภค  เมื่อนั้นปัญหาราคาตกต่ำก็จะตามมา ยิ่งมะขามเทศเป็นพืชที่เน่าเสียหายง่าย อัตราการเสี่ยงยิ่งสูง

อย่างไรก็ตามมะขามเทศนั้นหากมองในแง่มุมอื่น ๆ จะเห็นได้ว่าเป็นพืชที่ทั้งทนเค็มทนดินเปรี้ยวและทนแล้ง รวมไปถึงโตเร็ว หากปลูกเป็นพืชยืนต้นตามโรงเรียนในเขตทุรกันดาร นอกจากจะให้ร่มให้เงาแก่เด็ก ๆ แล้วยังมีฝักให้เด็กสอยกินเป็นอาหารกลางวันได้อย่างดีเพราะเป็นพืชที่มีแป้งและน้ำตาลสูง  ไม่ต้องใช้สารเคมีใด ๆ ปลูกแบบเทวดาเลี้ยงก็ได้ฝักธรรมชาติของมะขามเทศเป็นอย่างนี้มาแต่ไหนแล้ว เพิ่งจะปลูกเป็นการค้าไม่กี่ปีมานี้เอง

เรื่องโดย แม่โจ้ 54

ข้อมูล  คุณบุญส่ง  เหรียญทอง

สถานที่ 83 หมู่ 2 ต.โรงเข้ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร