มะขามแขก

มะขามแขก มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า แคชเชีย อะคิวทิโฟเลีย Cassia acutifolia, Delile หรือ C. angustifolia, Vahl ภาษาอังกฤษเรียกว่า เซนน่า (senna) อยู่ในตระกูล เล็กกูมมิโนซี่ ( Legumjnosae) แยกเป็นตระกูลย่อย ซีซํลปิเนียซี่ (Caesalipiniadae )

ใบมะขามแขก (senna leaf) มีสารเคมีซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาถ่าย คือ แอนธราคิวโนน ไกลโคซายด์ ( Anthraquinone glycosides) ซึ่งประกอบด้วยส่วนที่เป็นน้ำตาล และไม่เป็นน้ำตาล มี เซนโนซายด์ เอ และ บี(Sennoside A และ b) สูงมาก ส่วน C และ D มีปริมาณน้อย มีคุณสมบัติเป็นยาถ่ายได้ดีไม่เป็นพิษ แต่ใบมะขามแขกเป็นยาถ่ายที่ทำให้เกิดอาการไซ้ท้อง ดังนั้น เพื่อบรรเทาอาการไซ้ท้องจึงใส่กระวาน หรืออบเชยร่วมไปด้วย ขนาดรับประทาน = ๒ กรัม หรือบางทีใช้ใบมะขามแขกต้มน้ำดื่มเพื่อระบายท้อง

ส่วนฝักมะขามแขก (senna pods) เป็นยาถ่ายได้ดีกว่าใบ คือ มีอาการไซ้ท้องน้อยกว่าใบ เนื่องจากในฝักมีปริมาณนํ้าตาลสูงกว่าใบ

อย่างไรก็ตาม ทั้งฝักและใบมะขามแขก เป็นยาถ่ายได้ดีสำหรับผู้สูงอายุที่ท้องผูกเป็นประจำ

มะขามแขกนี้ชาวอาหรับรู้จักนำมาใช้เป็นยามานานแล้ว และได้นำมาใช้ในยุโรป ตั้งแต่สมัย ๑,๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว

ใบมะขามแขกมี ๒ ชนิด คือ Cassia acutifolia – Alexandrian Senna ซึ่งมีปลายใบแหลมกว่า เป็นพืชพื้นเมืองของอัฟริกาเขตร้อน ปลูกมากในประเทศซูดาน เมืองคอร์โดฟาน (Kordofan) และเมืองเซนน่า (senna) และอีกชนิดหนึ่งมีปลายใบเรียวคือ Cassia angustifolia Tinnevely Senna เป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดที่เมืองโซมาลิแลนด์ ( Somaliland ) อาระเบีย แคว้นปัญจาบและสินธุ แต่แหล่งที่ปลูกพืชนี้มากที่สุดคือ เมือง Tinnevelly ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของอินเดีย

มะขามแขกทั้งสองชนิดนี้เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง ๑ เมตร ใบใหญ่ประกอบด้วย ใบย่อยหลายๆ ใบออกเป็นแบบขนนก ขอบใบเรียบมีขนอ่อนนุ่มปกคลุมผิวใบ โคนใบไม่เท่ากัน มีกลิ่นเหม็นเขียว

ปัจจุบันนี้ในไทยปลูกต้นมะขามแขกกันมากแถวพระพุทธบาทสระบุรี ในโครงการร่วมไทย – เยอรมัน เพื่อส่งเป็นสินค้าออกไปยังเยอรมัน

เนื่องจากมีผู้นิยมใช้ใบมะขามแขกกันมาก จึงมีผู้คิดปนปลอมโดยใช้ใบก้างปลามาปลอมขาย ซึ่งไม่มีฤทธิ์เป็นยาถ่าย เพื่อป้องกันเหตุเหล่านี้เกิดขึ้นก็โดยการที่เราควรจะทราบให้ แน่นอนว่าสมุนไพรนั้นมีลักษณะอย่างไร และอีกประการหนึ่งก็สนับสนุนให้มีการปลูกให้มากพอกับความต้องการที่จะใช้

สรุปสรรพคุณ

ใบ และ ฝักมะขามแขกมีสารแอนธราคิวโนน ไกลโคไซด์ มีฤทธิ์เป็นยาถ่ายและยาระบาย แต่ฝักมะขามแขกมีคุณภาพดีกว่าใบ