มะปราง

(Plum Mango)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Bouea burmanica Griff.
ชื่อวงศ์ AMACARDIACEAE
ชื่ออื่น ปราง มะยง มะยงชิด
ถิ่นกำเนิด เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ สูง 10-20 ม. ขนาดทรงพุ่ม 8-10 ม. ไม่ผลัดใบ ทรงพุ่มกลมหรือรูปไข่ แน่นทึบ กิ่งห้อยย้อย เปลือกต้นสีเทาอ่อนอมนํ้าตาล แตกหลุดล่อนเป็นสะเก็ด มียางสีเหลือง


ใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีแกมรูปใบหอก กว้าง 5-10 ซม.ยาว 14-30 ซม.ปลายใบติ่งแหลมโคนใบแหลมขอบใบเรียบ และห่อเข้าทางผิวใบด้านล่าง แผ่นใบบางแต่เหนียวและแข็ง ย่นเป็นลอน สีเขียวเข้มเป็นมันใบอ่อนสีม่วงแดงหรือสีม่วงอมฟ้า ก้านใบยาว 1-2.5 ซม.


ดอก สีเขียวอมเหลือง ออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนงที่ซอกใบใกล้ ปลายกิ่งและปลายกิ่ง ช่อดอกตั้งยาว 4-15 ซม. ดอกย่อยขนาดเล็ก กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปไข่ สีเขียวอ่อน เชื่อมติดกับฐานรองดอก กลีบดอก 5 กลีบ รูปขอบขนานหรือรูปไข่กลับ เกสรเพศผู้ 10 อัน เส้นผ่านศูนย์กลาง ดอก 0.3-0.4 ซม. ออกดอกเดือน ม.ค.-มี.ค.
ผล ผลสดแบบมีเนื้อเมล็ดเดียว รูปไข่ กว้าง 2.5-3.5 ซม. ยาว
3.5-5 ซม. เปลือกผลบางเรียบเกลี้ยงเป็นมัน สีเขียว เมื่อสุกสีเหลือง อมส้ม เมล็ดมีเนื้อนุ่มสีเหลืองอมส้มติดกับเปลือกหุ้มเมล็ดหนาแข็ง ผิวมีเส้นใย รสเปรี้ยวอมหวาน เมล็ดทรงกลมรีค่อนข้างแบน สีน้ำตาลอมเหลือง ติดผลเดือน ก.พ.-เม.ย. ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดหรือเสียบยอด
นิเวศวิทยา พบปลูกเลี้ยงอยู่ทั่วไป
การใช้ประโยชน์ รับประทานเป็นผลไม้ให้วิตามินสูง
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร ราก เป็นยาเย็น ถอนพิษไข้ ใบ
ใช้พอกแก้ปวดศีรษะ น้ำจากต้นใช้เป็นยาอมกลั้วคอ
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย