มะปริง

(Marin Fruit Tree, Plum Mango)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Bouea oppositifolia (Roxb.) Meisn var.
microphylla (Engler) Merr.
ชื่อวงศ์ AMACARDIACEAE
ชื่ออื่น ปริง
ถิ่นกำเนิด เอเชียเขตรัอนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 12-20 ม. ขนาดทรงพุ่ม 10-12 ม. ไม่ผลัดใบ ทรงพุ่มกลมหรือรูปกรวยกว้าง แน่นทึบ กิ่งห้อยย้อย เปลือกต้นสีน้ำตาลปนดำ แตกเป็นร่องตื้นๆ ตามยาว มียางสีเหลือง


ใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีแกมรูปใบหอก กว้าง
1.5-2.5 ซม. ยาว 7-10 ซม. ปลายใบติ่งแหลม โคนใบแหลม ขอบใบเรียบ ห่อยกขึ้น แผ่นใบบางแต่เหนียวและแข็ง สีเขียวเข้มเรียบเป็นมัน ใบอ่อนสีม่วงแดงหรือสีม่วงอมฟ้า ก้านใบยาว 1-1.5 ซม.


ดอก สีเขียวอมเหลือง ออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนงที่ซอกใบ ใกล้ปลายกิ่งและปลายกิ่งช่อดอกตั้งยาว 4-15 ซม.กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปไข่ สีเขียวอ่อน เชื่อมติดกับฐานรองดอก กลีบดอก 5 กลีบ รูปขอบขนาน เกสรเพศผู้10 อัน เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 0.2-0.3 ซม. ออกดอก เดือน ม.ค.-มี.ค.
ผล ผลสดแบบมีเนื้อเมล็ดเดียว ทรงกลมหรือรูปไข่ กว้าง 1.5-2 ซม. ยาว 1.5-2.5 ซม. เปลือกผลบาง เรียบเกลี้ยงเป็นมัน สีเขียว เมื่อสุก สีเหลืองอมส้มเมล็ดมีเนื้อนุ่มสีเหลืองอมส้มติดกับเปลือกหุ้มเมล็ดหนาแข็ง ผิวมีเส้นใย รสเปรี้ยวอมหวาน เมล็ดรูปร่างกลมรี ค่อนข้างแบน สีน้ำตาล อมเหลือง ติดผลเดือน ก.พ.-เม.ย. ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
นิเวศวิทยา พบตามป่าเขตร้อนชื้นในภาคตะวันออกและภาคใต้
การใช้ประโยชน์ ผลสด มีรสเปรี้ยวจัด ฝานเป็นแว่นบางๆ รับประทานกับนํ้าปลาหวานใช้ปรุงอาหารประเภทต้มยำ หรือนำไปดอง
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร ราก เป็นยาเย็นใช้ถอนพิษไข้ต่างๆ
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย