มะม่วง:การศึกษาผลของโซเดียมคลอไรด์ต่อการเจริญเติบโตของต้นกล้ามะม่วงที่ใช้เป็นต้นตอ

เรืองศักดิ์  กมขุนทด และฉลองชัย  แบบประเสริฐ

สถานีวิจัยปากช่อง นครราชสีมา

มะม่วงที่ปลูกในปัจจุบัน โดยมากมักนิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีทาบกิ่ง ต่อกิ่ง เสียบกิ่ง หรือเปลี่ยนยอดกับต้นตอ เพราะต้องการให้มีระบบรากที่แข็งแรง ทนทานต่อสภาพแวดล้อม ต้นตอที่นิยมและยอมรับว่าดี คือมะม่วงแก้วและมะม่วงกะล่อน

การเจริญเติบโตและการพัฒนาของมะม่วงมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง ความเค็มเป็นปัจจัยหนึ่งในนั้น ต้นที่ได้รับความเค็ม มักจะแคระแกร็น เจริญเติบโตไม่สม่ำเสมอ ขนาดใบลดลง และมีสีเขียวเข้มผิดปกติ ใบหนา หยาบกระด้าง ใบไหม้จากปลายมายังโคนและยังมีผลทำให้ต้นพืชเกิดอาการขาดน้ำ นอกจากนี้ธาตุโซเดียม(Na) ซึ่งเป็นส่วนประกอบของเกลือที่ละลายออกมามีผลทำให้โครงสร้างของดินเลว ดังนั้นการใช้พืชทนเค็มจึงเป็นวิธีการแก้ไขวิธีการหนึ่งซึ่งจำเป็นอย่างมาก การวิจัยพืชทนเค็มจึงมีความสำคัญ และต้องหาพืชที่เหมาะสมทนเค็มได้สูง ให้ผลตอบแทนสูงด้วย

การทดลองใช้เกลือโซเดียมคลอไรด์ในระดับความเข้มข้น 0,1,3℅เพื่อศึกษาหาผลของเกลือต่อการเจริญเติบโตและอาการเป็นพิษของใบกล้ามะม่วง พบว่าเกลือทุกระดับความเข้มข้นมีผลต่อความสูงสะสมที่เพิ่มขึ้น และเส้นผ่าศูนย์กลางลำต้นสะสมที่เพิ่มขึ้น หากความเข้มข้นของเกลือสูงขึ้น มีผลทำให้ความสูงสะสมที่เพิ่มขึ้น และเส้นผ่าศูนย์กลางลำต้นสะสมที่เพิ่มขึ้นลดน้อยลง ต้นกล้ามะม่วงสามารถทนเกลือได้ในระดับความเข้มข้น 1℅ซึ่งแสดงอาการใบไหม้เล็กน้อย แต่ในระดับความเข้มข้น 3℅แสดงอาการเป็นพิษรุนแรงใบไหม้และร่วงไป พันธุ์ที่สามารถทนการเป็นพิษได้ดีคือ ทอมมี่ แอคกินส์, อัลฟองโซ, เออร์วิน, ดันแคน, น้ำดอกไม้ และหนังกลางวัน