มะม่วงก่อนฤดูกาล

มะม่วงปลูกได้ทุกภาคก็จริง  แต่ทว่าผลผลิตและรสชาติในภาคกลางรู้สึกว่าจะได้เปรียบกว่าภาคอื่น ๆ โดยเฉพาะในท้องที่จังหวัดฉะเชิงเทรา  อันเป็นแหล่งปลูกมะม่วงมาช้านานและมีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของประเทศ

โดยปกติมะม่วงจะตกดอกออกช่อในเดือนธันวาคม  ผลจะแก่ในราวปลายเดือนมีนาคมต่อต้นเดือนเมษายนของทุกปี  บางปีก็ตก บางปีออกช่อติดผลมาก แต่ก็ร่วงหล่นภายหลัง  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้นและสภาพแวดล้อม

มาระยะ 4-5 ปีมานี้  กรมวิชาการเกษตร และบริษัทขายผลิตภัณฑ์เคมีเกษตรได้ทดลองใช้สารเคมีต่าง ๆ ช่วยให้มะม่วงออกผลก่อนฤดู  พบว่ามะม่วงหลายพันธุ์มีผลตอบสนองต่อการใช้พอตัสเซียมไนเตรดมากกว่าสารอื่น เป็นผลให้มีมะม่วงก่อนฤดูออกมาวางตลาดทำรายได้ให้แก่เจ้าของสวนมากกว่ามะม่วงตามฤดูกาลถึง 3-4เท่า

คุณพนัส  บุญสว่าง 2 หมู่ 6 ต.สาวชะโงก อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ประธานกลุ่มชาวสวนมะม่วงสาวชะโงก เป็นผู้หนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการบังคับให้มะม่วงออกผิดฤดู

คุณพนัส มีเนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ มีอาชีพทำสวนมะม่วง  สืบเนื่องมาจากบรรพบุรุษเป็นเวลานานหลายสิบปี ระยะแรก ๆ ปลูกปล่อยตามธรรมชาติ ให้ผลบ้างไม่ให้ผลบ้าง  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม

ปีใดมีอากาศหนาวเย็น มะม่วงก็ติดดอกออกช่อมาก  ปีใดอากาศหนาวน้อย  มะม่วงจะออกดอกตกช่อน้อย  ผลผลิตจะได้น้อย รายได้ไม่แน่นอน ซึ่งขณะนี้ชาวสวนส่วนมากยังทำสวนแบบเก่าอยู่

คุณพนัส เป็นเกษตรกรที่มีความคิดก้าวหน้า  ได้ทำการทดลองค้นคว้าหาวิธีใหม่ ๆ มาปรับปรุงสวนมะม่วงของตนอยู่เสมอ  ไม่ว่าใครว่าฮอร์โมน ปุ๋ย ยา อะไรดี เป็นหามาทดลอง พิสูจน์หาความจริง จึงไม่เป็นการพูดเกินเลยไปว่า คุณพนัส  บุญสว่าง เป็นนักวิชาการระดับชาวบ้านผู้หนึ่งที่สมควร  เป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรทั่วไป

การปลูกแบบดั้งเดิม  ทิ้งระยะระหว่างต้นห่างไร่หนึ่งปลูกได้ไกลถึง 10 ต้น คุณพนัส ก็ได้พิจารณาปรับปรุงแก้ไขระยะปลูกใหม่  ให้มีระยะระหว่างต้นระหว่างแถวชิดกว่าเดิม ควบคุมการให้น้ำให้ปุ๋ยเสียใหม่ ดังเช่น

การปรับพื้นที่ สมัยก่อนนิยมทำหลังร่องนูนเป็นหลังเต่าเพื่อการระบายน้ำ คุณพนัสกับทำตรงกันข้าม คือปรับให้เรียบเป็นแอ่งตรงกลางกักเก็บน้ำ ถ้าเห็นว่าแฉะมากจึงค่อยระบายน้ำออก ทำให้พื้นดินชุ่มชื้นนานกว่าแบบหลังร่องนูน ยังผลให้มะม่วงเจริญเติบโตและต้นสมบูรณ์ดีกว่า

การใช้ปุ๋ย คุณพนัสได้เลี้ยงหมู ควบคู่ไปกับการทำสวน แล้วใช้ขี้หมูเป็นปุ๋ยให้มะม่วง ซึ่งเป็นการประหยัด และส่งผลดีแก่มะม่วง ซึ่งปรากฎว่าสวนอื่นเมื่อมะม่างต้นแก่ ผลจะเล็กแต่สวนนี้ผลโตและแถมดกดี

การให้น้ำ  นับเป็นศาสตร์สำคัญต่อการตกช่อออกผลของมะม่วง ก่อนทีมะม่วงจะตกช่อจะต้องระบายน้ำออกจากร่องคูให้เหลือน้อย เหลือเพียง 1 ใน 3 ของร่อง  ถ้ากักเก็บน้ำไว้มากแทนที่มะม่วงจะให้ช่อกลับแตกใบอ่อน หลังจากออกช่อแล้วจึงจำเป็นต้องระบายน้ำเข้าสวนเต็มอัตรา  ซึ่งปรากฎว่ามะม่วงติดผลดีและผลโตเร็ว ผลก็สมบูรณ์กว่า ขายได้ราคาดีกว่า แต่สวนอื่น ๆ มองข้ามหลักและวิธีการนี้ไป  โดยเกรงไปว่ารากจะแฉะน้ำตาย แต่เท่าที่ทดลองมาไม่เป็นเช่นนั้น  เนื่องจากฤดูมะม่วงออกช่อตรงกับฤดูแล้ง

ทฤษฎีนี้อาจจะประสบปัญหาต่อสวนที่ขาดแคลนน้ำ

การใช้ยาต่าง ๆ เป็นต้นว่าสารพิษฆ่าแมลง ยากระตุ้นให้ออกช่อเร็วกว่ากำหนด  ชาวสวนต้องมีความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติของมะม่วง และยาเหล่านี้ได้ดีพอสมควร  มิฉะนั้นจะเสียทั้งเงินและมะม่วง