มะม่วง:มะม่วงปาล์มเมอร์ที่เขาค้อ

มะม่วงเป็นไม้ผลในบ้านเราที่เกษตรกรนิยมปลูกกันมาก อีกทั้งมีพันธุ์มะม่วงให้เลือกมากมายทั้งพันธุ์เก่าและพันธุ์ใหม่แล้วแต่ความชอบของเกษตรกร ตลาดของมะม่วงในขณะนี้ มีทั้งตลาดมะม่วงขายสุก และขายดิบเพื่อทำมะม่วงยำ หรือมะม่วงน้ำปลาหวาน ซึ่งมะม่วงเหล่านี้ล้วนเป็นมะม่วงเพื่อบริโภคสด ในแง่ของมะม่วงเพื่ออุตสาหกรรมแปรรูปแล้ว บ้านเรามีมะม่วงไม่กี่พันธุ์ เช่น มะม่วงแก้ว มะม่วงสามปี สำหรับพันธุ์มะม่วงจากต่างประเทศ ซึ่งสถานีวิจัยหลายแห่งเช่น สถานีวิจัยปากช่อง  ได้มีการนำเอามาปลูกหลายพันธุ์ด้วยกัน หนึ่งในจำนวนหลายพันธุ์นั้น มะม่วงพันธุ์ปาล์มเมอร์เป็นพันธุ์หนึ่งที่ให้ผลผลิตดีและสม่ำเสมอ  ดังเช่นผลการปลูกที่สถานีวิจัยเพชรบูรณ์ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งได้นำมะม่วงพันธุ์ปาล์มเมอร์ไปทดลองปลูกที่ระดับความสูง 600 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล จึงทำให้ทีมงานเคหการเกษตรต้องติดตามขึ้นไปดู

เป้าหมายเพื่อพัฒนาพืชเมืองหนาว

สถานีวิจัยเพชรบูรณ์เริ่มงานตั้งแต่เมื่อปี 2528 ในรูปของโครงการพัฒนาพืชเมืองหนาว จนกระทั่งปี 2534 โครงการดังกล่าวก็เริ่มก่อตั้งเป็นสถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบเกษตรวิกฤติ  เป็นหน่วยงานขึ้นตรงกับสำนักงานอธิการบดี ม.เกษตรศาสตร์  ปัจจุบันสถานีวิจัยเพชรบูรณ์มีแปลงทดลองทั้งหมด 3 แปลงที่ระดับความสูงตั้งแต่ 700-1,200 เมตร ที่อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ หัวหน้าสถานีวิจัยคนปัจจุบันคือ อ.กิตติพงศ์  ตรีตรุยานนท์ ซึ่งได้กล่าวถึงเป้าหมายของสถานีวิจัยแห่งนี้ไว้ว่า “งานวิจัยในพื้นที่ของสถานี จะมุ่งเน้นค้นคว้าวิจัยพืชเมืองหนาวตัวอย่างไม้ผล เช่น ท้อ แอปเปิ้ล สาลี่ พลับ ไม้ดอกเมืองหนาวเช่น เบญจมาศ เยอบีร่า เฮลิโคเนีย อัฟริกันไวโอเล็ต ส่วนมะม่วงพันธุ์จากต่างประเทศเพื่อทดสอบหาพันธุ์ที่เหมาะสม  จะปลูกเป็นไม้ผลอุตสาหกรรมในพื้นที่การเกษตรที่สูง  ซึ่งพบว่าพันธุ์ปาล์มเมอร์จากการทดลองมา 2-3 ปี ให้ผลผลิตค่อนข้างสูงและสม่ำเสมอเกือบทุกปี”

มะม่วงปาล์มเมอร์ติดผลดก

มะม่วงพันธุ์ปาล์มเมอร์ได้ถูกนำมาปลูกที่นี่เมื่อปลายปี 2533 ปัจจุบันต้นมะม่วงอายุเกือบ 5 ปี เป็นมะม่วงกิ่งทาบโดยใช้ต้นตอมะม่วงแก้ว ต้นพันธุ์นำมาจากสถานีวิจัยปากช่องปลูกระยะ 4×4 เมตร จำนวน 145 ตัน บนพื้นที่ 2 ไร่ เป็นการปลูกระยะชิด ซึ่ง อ.กิตติพงศ์ได้ให้เหตุผลว่า “มะม่วงพันธุ์นี้เหมาะที่จะทำเป็นมะม่วงแปรรูปอุตสาหกรรมมากกว่า ดังนั้นการปลูกระยะชิดจะช่วยทำให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มสูงขึ้น ผลผลิตเมื่อปีที่ผ่านมาสามารถเก็บผลผลิตได้ทั้งหมด 1,400-1,600 กิโลกรัม แต่ปีนี้น่าจะได้ถึง 2,000 กิโลกรัม”

ลักษณะประจำพันธุ์ของมะม่วงปาล์มเมอร์

มะม่วงพันธุ์นี้ถูกนำมาปลูกครั้งแรกที่สถานีวิจัยปากช่องนานแล้ว เป็นมะม่วงที่มีถิ่นกำเนิดจากรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา  ยางมีกลิ่นฉุนน้อยกว่ามะม่วงพันธุ์อื่นในประเภทมะม่วงจากต่างประเทศ เป็นมะม่วงที่มีคุณสมบัติใช้คั้นน้ำได้ดี  เปลือกหนาเนื้อมากเป็นพิเศษ เมล็ดลีบ เสี้ยนน้อย จากการทดสอบปลูกที่สถานีวิจัยเพชรบูรณ์  ที่ระดับความสูง 600 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลของพื้นที่สูง อ.เขาค้อ  ซึ่งมีสภาพอากาศเย็น อ.กิตติพงศ์ได้กล่าวว่า “มะม่วงพันธุ์นี้ติดผลดกมากประมาณ 30-40 กิโลกรัมต่อต้น (ปี2538) เมื่อปีที่แล้วได้ให้ผลผลิต 15-20 กิโลกรัมต่อต้น”

สำหรับสภาพการปลูก ดูแลรักษา และการออกดอกติดผลนั้น อ.กิตติพงศ์ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า

–        หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตมะม่วงหมด ก็จะเริ่มให้ปุ๋ยสูตรเสมอเช่น 15-15-15 หรือ 16-16-16 อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้  การตัดแต่งกิ่งของมะม่วงพันธุ์นี้สำคัญมาก มีแนวทางที่ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องปลูกมะม่วงนี้ระยะชิด จึงจำเป็นจะต้องควบคุมทรงพุ่มไม่ให้มีขนาดใหญ่ อีกทั้งการตัดแต่งกิ่งช่วยทำให้ลดปัญหาโรคและแมลง

–        มะม่วงนี้จะเริ่มออกดอกต้นเดือนมีนาคม ก่อนถึงช่วงออกดอกประมาณ 3 เดือน ควรให้ปุ๋ยสูตร 12-24-12 มะม่วงพันธุ์นี้ไม่มีปัญหาการออกดอกติดผล  ถึงแม้ว่าจะออกดอกช่วงหน้าร้อนซึ่งอุณหภูมิกลางวันสูง แต่ที่เขาค้ออุณหภูมิกลางคืนจะเย็น อุณหภูมิกลางคืนของเดือนเมษายนเฉลี่ย 18-22 องศาเซลเซียส

–        มะม่วงจะเริ่มติดผลประมาณปลายเดือนเมษายน  ซึ่งเปอร์เซ็นต์การติดผลสูงมาก โดยจะสังเกตได้จากการติดผลแต่ละปีจะต้องปลิดผลทิ้ง การติดผลดกนี้เป็นลักษณะประจำพันธุ์ของมะม่วงพันธุ์นี้อยู่แล้วประกอบกับอากาศที่เขาค้อมีความเหมาะสม

–        การห่อผลของมะม่วงที่จะปลูกในเขตเขาค้อจำเป็นมาก เพราะปัญหาแมลงวันทอง เมื่อปีที่แล้วได้ศึกษาการใช้วัสดุห่อผลมะม่วง พบว่าการใช้ถุงพลาสติกประเภทร้อนหรือเย็นก็ได้ เจาะรู 8 รู และตัดที่ปลายถุงนำมาห่อผลมะม่วงเมื่อมะม่วงมีขนาดผลเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เซนติเมตร จะทำให้ได้ผลผลิตมะม่วงคุณภาพดีที่สุด ในการห่อผลแต่ละครั้งต้องคัดเลือกผลที่สมบูรณ์ รูปทรงดี ผลที่ไม่ต้องการต้องปลิดทิ้ง โดย 1 ช่อจะห่อ 1 ผล ถ้าต้องการผลใหญ่

–        ในช่วงการติดผลปุ๋ยที่ใช้ยังคงเป็นสูตรเสมอ  จนกระทั่งใกล้เก็บเกี่ยว ผลใกล้จะเปลี่ยนสีก็จะให้ปุ๋ยสูตร 13-13-21 เพื่อปรับปรุงคุณภาพผล แต่อย่างไรก็ตามการที่จะได้ผลผลิตดีหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติมาตั้งแต่ต้น เนื่องจากมะม่วงพันธุ์นี้ให้น้ำหนักผลค่อนข้างสูง จำเป็นจะต้องมีไม้ค้ำยันกิ่งเพื่อป้องกันไม่ให้กิ่งมะม่วงฉีกขาด  ในกรณีที่พื้นที่ปลูกมีลมพัดแรงจะต้องปลูกไม้กำบังลมไม้ที่เหมาะสมน่าจะเป็นต้นไผ่ เพราะสามารถตัดต้นไผ่มาทำไม้ค้ำยันกิ่งได้

–        ระยะเก็บเกี่ยว  ถ้าเก็บเกี่ยวเพื่อรับประทานสุกควรเก็บเกี่ยวระยะแก่จัด  โดยสังเกตจากผิวภายนอกของผลเปลี่ยนเป็นสีม่วงแดง  ซึ่งหลังจากเก็บมาแล้ว 2-4 วันก็จะสุกพร้อมที่จะบริโภคได้  เนื้อภายในผลจะเป็นสีเหลือง  ไม่ควรเก็บมะม่วงระยะอ่อนมาบ่มเพราะผิวมะม่วงจะเหี่ยว  เมื่อบีบผลเนื้อจะนิ่ม  หลังเก็บเกี่ยวมาแล้วให้ตัดขั้วผลออกแล้วคว่ำลงบนช่องตารางไม้ไผ่ที่มีกระดาษรองอยู่ข้างล่าง เพื่อให้น้ำยางไหลออกมาให้หมด

ปัญหาโรคและแมลง

แมลงที่พบเป็นปัญหามากมีอยู่ไม่กี่ชนิด เช่น หนอนเจาะลำต้น และหนอนรัง ซึ่งจะชักใยนำเอาใบมะม่วง มาทำเป็นรัง จะทำให้ใบมะม่วงเสียได้ การสังเคราะห์แสงเพื่อสร้างอาหารเกิดได้ไม่ดี นอกจากนี้ก็มีแมลงวันทอง  ซึ่งทำให้ต้องห่อทุกผล เพราะเคยทดลองไม่ห่อผลมะม่วงแล้ว  ปรากฎว่ามะม่วงถูกแมลงวันทองเข้าทำลายเกือบ 100℅ การใช้สารเคมีกำจัดแมลงจะใช้แค่ระยะก่อนออกดอกเพื่อป้องกันแมลงศัตรู

ส่วนโรคแอนแทรคโนสของมะม่วงพันธุ์นี้  จากการวิจัยตรวจพบเชื้อสาเหตุของโรคนี้ที่ผิวผลมะม่วง แต่อาการของโรคจะไม่แสดงออกมาให้เห็น  อาจจะเป็นเพราะมะม่วงมีเปลือกค่อนข้างหนา  จึงทำให้การเข้าทำลายเชื้อโรคไม่แสดงอาการที่ชัดเจน โรคอีกชนิดที่ตรวจพบคือโรคขั้วผลเน่า แต่อย่างไรก็ตามก่อนห่อผลมะม่วงที่นี่จะไม่ฉีดพ่นสารเคมีป้องกันโรค

การใช้สารเคมีต่าง ๆ นั้น อ.กิตติพงศ์ได้เพิ่มเติมว่า “มะม่วงที่ปลูกพยายามที่จะลดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้น้อยที่สุด  เพราะเป็นการทำเกษตรบริเวณที่สูง  ถ้าจะใช้จะต้องทำด้วยความระมัดระวัง  ใช้อย่างถูกวิธีและเหมาะสม”

จุดเด่นของมะม่วงพันธุ์ปาล์มเมอร์

งานวิจัยของมะม่วงพันธุ์ปาล์มเมอร์ของสถานีวิจัยเพชรบูรณ์ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา อ.กิตติพงศ์ได้กล่าวถึงจุดเด่นของมะม่วงพันธุ์นี้ไว้ดังนี้

–        เป็นมะม่วงที่ติดผลดก และเก็บเกี่ยวผลได้ในช่วงที่มะม่วงหรือผลไม้อื่น ๆ ได้ขาดตลาดตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม  ทำให้การปลูกมะม่วงพันธุ์นี้ไม่จำเป็นจะต้องใช้สารบังคับเพื่อทำนอกฤดู

–        เป็นมะม่วงที่เหมาะกับส่งเข้าโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อการแปรรูป เช่น การทำน้ำคั้นมะม่วง มะม่วงลอยแก้ว หรือมะม่วงแปรรูปอื่น ๆ เพราะให้ผลผลิตต่อไร่ค่อนข้างสูงเมื่อปลูกระยะชิด ผลใหญ่น้ำหนักโดยเฉลี่ย 600-800 กรัมต่อผล ให้เปอร์เซ็นต์เนื้อมาก

–        สำหรับการรับประทานผลสด พบว่ามะม่วงพันธุ์นี้เมื่อสุกจะมีความหวานประมาณ 12-14 องศาบริกซ์ เมื่อทานจะพบรสชาติเปรี้ยวเล็กน้อย ซึ่งอาจจะไม่คุ้นเคยกับคนไทยที่ชอบมะม่วงรสชาติหวาน สำหรับปัญหากลิ่นฉุนของมะม่วงสามารถที่จะแก้ไขได้ โดยการปอกเปลือกให้เฉือนเปลือกออกลึก 3-5 มิลลเมตร  เพื่อเอาท่อน้ำยางบริเวณเปลือกออกให้หมด ระยะผลดิบสามารถรับประทานได้ทั้งแบบมะม่วงน้ำปลาหวาน หรือมะม่วงยำก็ได้

–        ลักษณะสีผิวม่วงแดงที่เด่นของมะม่วงพันธุ์นี้น่าจะทำให้เป็นจุดสนใจของลูกค้า  โดยเฉพาะถ้าปลูกในเขตที่สูงอากาศเย็นมะม่วงจะมีสีผิวสวยอีกทั้งเปลือกหนาจึงทำให้ขนส่งระยะทางไกลได้ดี

–        มะม่วงพันธุ์นี้เมื่อถึงระยะแก่แล้ว แต่ถ้ายังไม่ต้องการเก็บผลก็สามารถปล่อยผลไว้บนต้นได้ ยืดเวลาการเก็บออกไปได้อีกประมาณเกือบเดือน ขณะที่คุณภาพยังใช้ได้เหมือนเดิม

ความเหมาะสมที่จะปลูกพื้นราบ

ดังที่กล่าวมาแล้วว่ามะม่วงพันธุ์นี้ ถ้าปลูกในเขตที่สูงอากาศหนาวเย็น จะทำให้มะม่วงมีคุณภาพดีโดยเฉพาะสีผิวของมะม่วง แต่ในกรณีปลูกพื้นราบ ซึ่งอากาศจะค่อนข้างร้อน อ.กิตติพงศ์ได้ให้ข้อคิดเห็นว่า การปลูกพื้นราบอาจจะมีปัญหาในเรื่องของการเจริญเติบโต และคุณภาพของผล  ส่วนการออกดอกของเขตที่ราบกับที่สูงนั้นระยะเวลาคงจะใกล้เคียงกัน เพราะเท่าที่เปรียบเทียบข้อมูลจากสถานีวิจัยกาญจนบุรี ซึ่งปลูกมะม่วงพันธุ์นี้เช่นเดียวกัน  พบว่ากาญจนบุรีมะม่วงพันธุ์นี้จะออกดอกก่อนที่เขาค้อ

ถ้านำไปปลูกในระยะชิดควรจะตัดแต่งกิ่งให้โปร่งจะช่วยให้การติดผลเกิดได้ดี  โดยการตัดแต่งกิ่งแบบต้นเว้นต้น จนกระทั่งต้นโตเต็มที่จึงค่อยตัดต้นออกเพื่อขยายระยะปลูกเป็น 8×8 เมตร ในส่วนของความสูงของต้น ระยะที่สะดวกในการทำงานโดยไม่ต้องใช้บันไดคือ 3-4 เมตร จะสะดวกในการห่อผลและเก็บเกี่ยว

เรื่อง        กวินหาญ

ข้อมูล     อ.กิตติพงศ์  ตรีตรุยานนท์

สถานที่   สถานีวิจัยเพชรบูรณ์ ต.เข็กน้อย อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ 67280

หรือ สำนักงานโครงการจัดตั้ง สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบเกษตรในเขตวิกฤติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กทม.โทร.579-3197