มะม่วงเบา

(Mango)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Mangifera indica L. Var.
ชื่อวงศ์ ANACARDIACEAE
ชื่ออื่น ม่วงเบา มะม่วง
ถิ่นกำเนิด มาเลเซียและภาคใต้ของไทย
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 5-10 ม. ขนาด ทรงพุ่ม 3-6 ม. ไม่ผลัดใบ ทรงพุ่มกลม แตกกิ่งในระดับต่ำ เปลือกต้น สีน้ำตาลอมเหลือง เปลือกเรียบแตกเป็นร่องตื้นตามแนวยาว


ใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีแกมรูปใบหอก กว้าง 5-7 ซม. ยาว 15-25 ซม. ปลายใบติ่งแหลมอ่อนโคนใบแหลม ขอบใบ เรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบบางแต่ค่อนข้างเหนียวและย่นเป็นลอน สีเขียวสดเป็นมันใบอ่อนสีม่วงแดงหรือสีม่วงอมฟ้า ก้านใบยาว 2-4 ซม.


ดอก สีเขียวอมเหลือง ออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนงที่ปลายกิ่ง ช่อดอกตั้ง ยาว 20-30 ซม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปไข่ สีเขียวอ่อน เชื่อมติดกับฐานรองดอก กลีบดอก 5 กลีบ รูปขอบขนานหรือรูปไข่กลับ เกสรเพศผู้ 10 อัน เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 0.5-0.7 ซม.
ผล ผลสดแบบมีเนื้อเมล็ดเดียวทรงกลมแบนฐานผลกว้างแล้วสอบที่ปลายผล ปลายผลมน กว้าง 3.5-4 ซม. ยาว 4.5-5.5 ซม. เปลือกผล เรียบเกลี้ยงเป็นมัน สีเขียวสด เมื่อสุกสีเหลืองอมเขียว เมล็ดมีเนื้อนุ่ม ติดกับเปลือกหุ้มเมล็ดหนาแข็ง ผิวมีเส้นใย รสเปรี้ยวอมหวาน เมล็ด คล้ายรูปไต สีน้ำตาลอมเหลืองขนาดใหญ่ ออกดอกติดผลตลอดปี ออกดอกมากเดือน ม.ค.-พ.ค. ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
นิเวศวิทยา พบปลูกเลี้ยงทั่วไปในภาคใต้
การใช้ประโยชน์ ภาคใต้นิยมใช้ผลดิบมาเป็นอาหารมากกว่าการใช้ประโยชน์จากผลสุกโดยนิยมนำมาแกงส้ม ยำต่างๆ ทำส้มตำมะม่วง น้ำปลาหวาน หรือแปรรูปในลักษณะแช่อิ่ม
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย