มะยงชิด:มะยงชิดชีวภาพเมืองปราจีนบุรี

คุณวันเพ็ญ  สนลอย  เกษตรกรลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) จังหวัดปราจีนบุรี ประสบผลสำเร็จในการปลูกมะยงชิดและทำการเกษตรแบบผสมผสาน โดยอาศัยเทคนิคทางชีวภาพ จากช่วงก่อนหน้านี้เคยเพาะกล้าผลไม้จำหน่ายและทำสวนผลไม้ ซึ่งผลผลิตและรายได้ไม่ค่อยแน่นอน เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูง ทั้งค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าแมลง

ต่อมาได้หันมาปลูกมะยงชิด โดยใช้ปุ๋ยและน้ำหมักชีวภาพทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตได้เป็นอย่างมาก ซึ่งทั้งปุ๋ยและน้ำหมักชีวภาพที่ใช้นั้น วันเพ็ญ พยายามทดลองทำ ทดลองใช้อยู่หลายครั้งหลายคราวด้วยกันกว่าจะได้สูตรที่ลงตัวสำหรับพืชที่ปลูก  โดยจุดเริ่มต้นเกิดจากการฟังรายการวิทยุและดูรายการโทรทัศน์ ได้เห็นเกษตรกรที่มาออกรายการ เล่าให้ฟังถึงกระบวนการทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพใช้ในสวนผลไม้จากนั้นก็ทดลองไปซื้อวัสดุอุปกรณ์มาทำบ้าง ช่วงแรก ๆ ที่ทำ หมักแล้วเศษผัก ผลไม้ไม่สลายบ้าง เอามาใส่แล้วต้นไม้เหี่ยวเฉาบ้าง แต่ก็ไม่หยุดคิดหยุดทำ จนได้ผลดีในวันนี้

ทั้งนี้ การใช้ปุ๋ยชีวภาพ น้ำหมักและยาไล่แมลง ก็ได้ผลผลิตไม่ต่างกับการใช้วิธีการทางเคมี แต่ที่สิ่งต่างกันคือ ต้นทุนการผลิต โดยที่การผลิตปุ๋ยและน้ำหมักใช้เองนั้น มีต้นทุนน้อยมาก ไม่ต้องไปกู้เงินไปซื้อปุ๋ยและยาฆ่าแมลงเหมือนแต่ก่อน ในขณะที่คุณภาพของดินก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คือ หลังจากเลิกใช้เคมีแล้วดินจะไม่แห้ง มีความชุ่มชื้นเป็นการสร้างความสมดุลให้ธรรมชาติด้วยวิธีการทางธรรมชาติ และที่สำคัญคือรสชาติผลไม้ที่ได้จะหวานฉ่ำประทับใจลูกค้า

นอกจากจะใช้วิธีการทางชีวภาพแล้ว การปลูกมะยงชิดให้ได้ผลดีนั้น ต้องใส่ใจตั้งแต่การปลูก โดยจัดระยะการปลูกแต่ละต้นห่างกันประมาณ 4×4 เมตร ขุดหลุมลึก 50 ซม. กว้าง 50 ซม. ยาว 50 ซม. นำแกลบดิน ปุ๋ยคอก ผสมให้เข้ากันกับดินที่ขุดในหลุม นำกิ่งพันธุ์ลงปลูกโดยแกะถุงพลาสติกออกระวังอย่าให้ดินในถุงแตก กลบดินเท่ากับรอยดินในถุงเดิม ปักไม้ค้ำยัยกันลมโยกต้นรดน้ำให้เปียกโชก หลังจากที่ปลูกเสร็จ

ส่วนการดูแลนั้นโดยปกติมะยงชิดจะทนทานต่อความแห้งแล้ง แต่ถ้าขาดน้ำก็จะไม่แตกยอดใหม่ ทำให้ชะงักการเจริญเติบโต จึงต้องรดน้ำในระยะแรกปลูก 2-3 เดือน 3-5 วันต่อครั้ง เมื่ออายุ 3-6 เดือน ให้น้ำ 7-10 วันต่อครั้ง และเมื่อมะยงชิดอายุ 1 ปีขึ้นไป รดน้ำ 15-20 วันต่อครั้ง

ในระยะเจริญเติบโตใช้ปุ๋ยหมักเพิ่มธาตุอาหารไนโตรเจน โพแทสเซียม และฟอสฟอรัส ในสัดส่วนที่เท่า ๆ กัน เพื่อเสริมสร้างและทดแทนส่วนที่พืชนำไปใช้ในการแตกยอด ใบ กิ่งก้าน ระยะใกล้ออกดอก จะใช้ปุ๋ยที่หมักให้มีฟอสฟอรัสสูง เพื่อช่วยให้ติดผล เมื่อติดผลแล้วใช้ปุ๋ยที่มีธาตุโพแทสเซียมสูงเพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิต

การเก็บเกี่ยวผลผลิต ไม่ว่าผลแก่หรือผลอ่อน ต้องเก็บเกี่ยวด้วยความระมัดระวัง ป้องกันการกระทบกระเทือน เพราะจะทำให้ผลช้ำ เมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จควรนำไปไว้ในที่ร่ม  และบรรจุกล่องส่งจำหน่าย

นอกจากมะยงชิดแล้ว ยังปลูกพืชผักอีกหลายชนิด เช่น พริก มะเขือ มะนาว กล้วย และมะม่วง รวมทั้งเพาะพันธุ์กล้าผลไม้ เพื่อเป็นรายได้เสริมเป็นอาหารในครัวเรือน

“การใช้วิธีการทางชีวภาพ สามารถช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตได้เป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังไม่มีสารเคมีตกค้างทั้งในดินและผลผลิต แต่ในการผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพและน้ำหมักชีวภาพ ต้องใช้ให้ตรงกับความต้องการธาตุอาหาร และช่วงระยะเวลาการเจริญเติบโตของพืชแต่ละชนิด”

สนใจศึกษาการทำและวิธีใช้ปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพติดต่อได้ที่ 62/1 หมู่ที่ 5 ต.ไม้เค็ด อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี โทร. 08-1803-4930