มะยม

(Star Gooseberry Tree)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Phyllanthus acidus (L.) Skeels
ชื่อวงศ์ EUPHORBIACEAE
ถิ่นกำเนิด เอเชียใต้และอเมริกาเขตร้อน
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 5-10 ม. ขนาด ทรงพุ่ม 3-5 ม. กึ่งผลัดใบ ทรงพุ่มกลม แตกกิ่งก้านแผ่กระจาย กิ่งก้านคดงอ เปลือกต้นมีรอยด่างเป็นวงสีขาวอมเทาทั่วไปและเป็นปุ่มปม


ใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับบนกิ่งเล็กๆ ยาว 20-40 ซม. ดูคล้ายใบประกอบ รูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง 1.5-4 ซม. ยาว 3.5-9 ซม. ปลายใบเป็นติ่งแหลม โคนใบมนและเบี้ยว ขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบบางแต่ค่อนข้างเหนียว สีเขียวสดเรียบ ผิวใบด้านล่างสีเขียวนวล ใบอ่อนสีแดงระเรื่อ ก้านใบยาว 0.3-0.5 ซม.
ดอก สีเขียวอ่อนหรือสีแดงเรื่อ ออกเป็นช่อแบบช่อกระจะที่กิ่งแก่ และลำต้นช่อดอกตั้งยาว 5-12 ซม. กลีบเลี้ยง 4 กลีบ รูปกลม แกมรูปไข่ ไม่มีกลีบดอก เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 0.4-0.5 ซม.ดอกแยกเพศรวมต้น ดอกเพศผู้มีขนาดเล็กและจำนวนมากกว่าดอกเพศเมีย ออกดอกเดือน ม.ค.-มี.ค.


ผล ผลสดแบบมีเนื้อเมล็ดเดียว ทรงกลมแป้น เส้นผ่านศูนย์กลาง 1-2 ซม. ลักษณะเป็นพู 6-8 พู ด้านบนบุ๋มลง ด้านล่างแบน สีเขียวอ่อน เมื่อสุกสีขาวอมเหลือง เนื้อนุ่มฉ้ำน้ำมีรสเปรี้ยว เมล็ดทรงกลมเป็นเหลี่ยม เปลือกแข็ง สีนํ้าตาลอ่อน ติดผลเดือน ก.พ.-พ.ค. ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
นิเวศวิทยา พบปลูกเลี้ยงอยู่ทั่วไป
การใช้ประโยชน์ ผลแก่ รสเปรี้ยวหรือเปรี้ยวอมหวาน นิยมรับประทานเป็นผลไม้ทั้งสด ดอง แช่อิ่ม เชื่อม กวน หรือแปรรูปเป็นผลไม้แห้ง เป็นต้น นอกจากนี้ยังใช้ทำไวน์ได้ ใบ ใช้รับประทานเป็นผัก
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร ราก แก้โรคผิวหนัง ผดผื่นคัน เปลือกต้น แก้ไข้ขับระดู ใบ ขับพิษไข้บำรุงประสาท แก้หืด หัด อีสุกอีใส ผล มีรสเปรี้ยวแก้หลอดลมอักเสบ และขับปัสสาวะ
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย