มะระ:พืชตระกูลแตง

มะระ (Bitter Gourd)

มะระเป็นพืชล้มลุกที่มีลำต้นเป็นเถา ชอบดินร่วนซุย น้ำไม่ขัง เป็นพืชผักที่มีอายุสั้น นับจากวันปลูกถึงเก็บเกี่ยวได้ราว 45-55 วัน แล้วแต่พันธุ์  การปลูกมะระต้องให้ความสนใจ เอาใจใส่ดูแลในเรื่องการป้องกันกำจัดแมลงมากพอสมควร มิฉะนั้น เหล่าแมลงจะเข้าทำลาย ทำให้ผลร่วงหรือแคระแกรน ซึ่งนับเป็นความเสียหายต่อผู้ปลูกมาก

พันธุ์

มะระที่ปลูกอยู่ในบ้านเราเท่าที่รู้จักกันแพร่หลายมีดังนี้

1.มะระขี้นก ลักษณะผลป้อม เล็ก มีรสขมจัด ผิวขรุขระเป็นหนามแหลม เนื้อบาง ปลูกง่ายผลดก

2.มะระย่างกุ้ง เป็นพันธุ์จากประเทศพม่าลักษณะผลเล็กยาว หัว ท้ายแหลม เส้นผ่าศูนย์กลางของผลประมาณ 4 เซนติเมตร ผิวขรุขระเป็นหนามแหลม

3.มะระจีน เป็นพันธุ์ที่นำมาจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ผลมีขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 7-8 เซนติเมตร ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ผลสีเขียวอ่อน เนื้อหนา มีรสขมเพียงเล็กน้อย

4.มะระสองพี่น้อง เป็นมะระที่กลายพันธุ์ไปจากมะระจีน ลักษณะผลเช่นเดียวกับมะระจีน

มะระเป็นพืชผักที่ปลูกได้ตลอดปี แต่จะได้ผลดีที่สุดในฤดูหนาว ถ้าปลูกในฤดูร้อนควรนำเมล็ดแช่น้ำก่อนปลูกสัก 1 ชั่วโมง แต่ถ้าปลูกในฤดูฝนควรเพาะเมล็ดให้งอกเสียก่อนเพื่อกันเมล็ดเน่า และถ้าเป็นช่วงที่มีฝนตกชุกต้องทำทางระบายน้ำ อย่าให้น้ำขังแปลงปลูกไม่เช่นนั้นต้นจะเน่าตาย

มะระพันธุ์ที่นิยมบริโภคและเป็นที่ต้องการของตลาดมากในขณะนี้ได้แก่ มะระจีน เพราะมีรสดี เนื้อหนา และผลใหญ่ ถ้าคิดจะปลูกมะระขอให้นึกมะระจีนก่อน

วิธีเพาะกล้า

การเพาะกล้ามะระอาจจะเพาะในแปลง ในถุงกระดาษ หรือเพาะกล้างอกก็ได้

1.เพาะในแปลง การเพาะกล้าด้วยวิธีนี้ ต้องพรวนดินให้ร่วนซุย ถ้าผสมปุ๋ยมูลสัตว์จะช่วยให้ดินร่วนซุยยิ่งขึ้น เมื่อเตรียมดินเสร็จแล้วนำเมล็ดมะระมาวางเรียง ให้แต่ละเมล็ดห่างกันประะมาณ 3 เซนติเมตร กลบด้วยดินละเอียดหนา 2-3 เซนติเมตรเอาฟางคลุม รดน้ำ 3-4 วัน เมล็ดมะระจะงอก รอจนต้นโตมีใบจริง 2 ใบ หรืออายุประมาณ 8-10 วัน ก็ย้ายไปปลูกในแปลงได้ ก่อนถอนกล้าควรรดน้ำ แปลงกล้าให้ชุ่มเสียก่อน จะทำให้ถอนง่าย ต้นกล้าไม่บอบช้ำมาก

2.เพาะกล้าในถุงกระดาษ นำดินผสมปุ๋ยคอกใส่ในถุงกระดาษขนาด 7×7 เซนติเมตร แช่เมล็ดมะระไว้ในน้ำประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วนำเมล็ดลงเพาะในถุง ๆ ละ 1 เมล็ด รดน้ำพอชุ่ม เมื่อต้นกล้ามีใบจริง 2 ใบ จึงย้ายไปปลูก

3.เพาะกล้างอก วิธีนี้คือนำเมล็ดมะระมาเพาะให้งอกเสียก่อน โดย นำเมล็ดมาแช่น้ำไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วนำมาห่อไว้ด้วยผ้าชื้นประมาณ 2-3 วัน เมื่อเปิดดูจะเห็นรากเริ่มโผล่ออกมาจากเมล็ด เลือกเอาแต่เมล็ดที่มีรากงอกออกมาปลูกได้

การเตรียมดินและการปลูก

ไถพรวนดินและเก็บหญ้าออกให้หมด ขณะที่พรวนดินควรใส่ปุ๋ยมูลสัตว์

คลุกเคล้าลงในดินด้วยแล้วอกร่องเล็ก ๆ กะให้ระยะระหว่างร่องห่างกันพอเป็นทางเดิน ส่วนระยะห่างระหว่างหลุมห่างกัน 50 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างแถวห่างกัน 1 เมตร ขุดหลุมปลูกให้กว้างและลึกประมาณ 1 ศอก ใส่ปุ๋ยคอกรองก้นหลุม ๆ ละ 1 กระป๋องนม ใส่ผิวดินลงไปในหลุมก่อนจนหลุมตื้นแล้วจึงนำกล้ามะระที่เพาะไว้ลงปลูกหลุมละ 2 ต้น กลบดินเพียงบาง ๆ แล้วใช้ฟางคลุม รดน้ำให้ชุ่ม

ถ้าจะใช้วิธีหยอดเมล็ดโดยตรงลงในหลุมเลยก็ได้ โดยหยอดเมล็ดลงไป หลุมละ 3-4 เมล็ด ลึกลงไปในดินประมาณ 2.5 -3.5 เซนติเมตร กลบทับด้วยดินผสม หรือปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้ว รดน้ำให้ชุ่มแล้วคลุมด้วยฟาง หรือหญ้าแห้ง เมื่อต้นกล้างอกและมีใบจริง 2 ใบ ก็ถอนแยกต้นที่อ่อนแอทิ้งไปให้เหลือเพียงหลุมละ 2 ต้น

เมื่อมะระโตขึ้นก็ยิ่งต้องการน้ำมากขึ้นจึงควรรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ หมั่น ถอนหญ้าที่ขึ้นรกแปลงออกให้หมด และพรวนดินกลบโคนจนกว่าต้นมะระจะโตทอดยอด เลื้อยขึ้นค้าง จึงเลิกพรวนดินได้

การทำค้าง

ถ้าใช้ไม้ไผ่ต้องนำมาผ่าเป็นซีกเล็ก ๆ กว้าง 2-3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2 เมตร ถ้าใช้ไม้รวกก็ไม่ต้องผ่า ใช้ไม้รวกยาวประมาณ 2 เมตรเช่นกัน ปักไม้ลงไปข้าง ๆ หลุม แล้วรวบปลายไม้เข้าด้วยกันเป็นรูปจั่ว มัดให้เหลือปลายไม้ไว้ แล้วใช้ไม้ยาววางพาดข้างบนอีกทีหนึ่ง ตามร่องใช้ยอดไม้รวกปักเพื่อให้มะระเลื้อย ขึ้นไปได้

การใส่ปุ๋ย

มะระก็เช่นเดียวกับพืชอื่น ๆ ที่ต้องการอาหารคือปุ๋ยเพื่อการเจริญเติบโต การใส่ปุ๋ยมะระแบ่งใส่เป็นระยะได้ดังนี้คือ

ใส่ในขณะเตรียมดิน ควรใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักคลุกเคล้าลงในดิน เพื่อช่วยให้ดินร่วนอุ้มน้ำได้ดีขึ้น และรักษาความเป็นกรดด่างของดินให้เหมาะกับการเจริญเติบโตของพืช ใส่หลังจากย้ายกล้าไปปลูกแล้ว 7 วัน หรือเมื่อกล้ามะระเริ่มตั้งตัวได้แล้ว ถ้าใส่ปุ๋ยมูลสัตว์ควรใส่ต้นละ 1 กำมือ โรยรอบ ๆ ต้น และใส่หลังจากนั้นทุก 3 หรือ 7 วัน ถ้าใส่ปุ๋ยเคมี เช่นปุ๋ยสูตร 12-24-12 หรือปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ปุ๋ยยูเรีย ใส่ต้นละประมาณ 1 ช้อนแกง ระวังอย่าโรยให้ถูกต้น เสร็จแล้วพรวนดินและรดน้ำให้มะระด้วย ใส่เมื่อต้นมะระอายุได้ 30 วัน ระยะนี้ควรใส่ปุ๋ยเคมีที่มีส่วนผสมของไนโตรเจน ฟอสฟอรัสและโปแตสเซียม เพื่อบำรุง ต้น ใบ ดอก และผลให้งอกงาม ควรใส่ในอัตรา 2 ช้อนแกงต่อต้น

การห่อผล

เมื่อมะระอายุได้ 40 วัน จะออกดอกและติดผลจนลูกโตขนาดนิ้วก้อย ก็เริ่มห่อผลได้ทันที โดยใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ทำเป็นถุงขนาด 15×20 เซนติเมตร ปากถุงเปิดทั้งสองด้าน นำปากถุงด้านหนึ่งสวมผลมะระ แล้วใช้ไม้กลัด ๆ ปากถุงให้แขวนอยู่บนก้านของผลมะระ การห่อผลจะช่วยไม่ให้มะระถูกรบกวนจากแมลง ศัตรูพืชมากนัก และยังทำให้ผลมีสีเขียวอ่อนน่ารับประทานด้วย

การเก็บเกี่ยว

มะระจะให้ผลเก็บเกี่ยวได้เป็นรุ่น ๆ ไป มะระรุ่นแรกเกษตรกรเรียกว่า มะระตีนดิน ผลมีลักษณะอ้วน ป้อม สั้น ผลจะอยู่บริเวณโคนเถาเกือบติดดิน เก็บผลได้วันเว้นวัน เมื่อเก็บมะระรุ่นใหญ่ไปแล้ว 3 ครั้ง ก็จะถึงมะระรุ่นเล็กซึ่งเป็นมะระปลายเถา ผลจะมีขนาดเล็กลง การเก็บผลมะระควรเลือกเก็บในขณะที่ผลยังมีลักษณะอ่อนอยู่ มีสีเขียวและโตได้ขนาด อย่าปล่อยให้มะระแก่จัดจนเปลี่ยนเป็นสีครีม หรือ ผลเริ่มแตกเพราะเนื้อและรสจะไม่น่ารับประทาน

การเก็บเมล็ดไว้ทำพันธุ์

เริ่มด้วยการคัดเลือกต้นมะระในแปลงปลูกที่เจริญงอกงามแข็งแรง ให้ผลรุ่นแรกมีลักษณะดีตรงตามพันธุ์ไว้หลาย ๆ ต้น กะให้ได้เมล็ดพันธุ์พอปลูกในปีหน้า เมื่อดอกตัวเมียและตัวผู้ของต้นที่เลือกไว้เป็นต้นแม่พันธุ์ใกล้จะบาน หาถุงกระดาษ

บางขนาดโตกว่าดอกนิดหน่อยมาสวมไว้ รุ่งขึ้นดอกจะบาน เด็ดดอกตัวผู้มาครอบดอกตัวเมียแล้วเคาะเบา ๆ ให้ละอองเกสรหล่นลงไปบนดอกตัวเมีย แล้วเอาถุงกระดาษสวมไว้ตามเดิม ทิ้งให้ผลสุกจึงเด็ดไปผ่าเอาเมล็ดออกล้างน้ำตากแดดจนแห้งสนิท เก็บไว้ทำพันธุ์ต่อไปได้

โรคและศัตรูของมะระ

1.โรคเหี่ยวตายเนื่องจากเชื้อรา มะระที่เป็นโรคนี้จะแสดงอาการใบล่าง เหลือง และเหี่ยวตายอย่างรวดเร็วทั้งเถา บางต้นจะมีรอยแตกหรือรอยช้ำสีน้ำตาล ตามเถาหรือตามโคนก้านใบก่อนที่จะตายไป

เชื้อราที่ทำให้เกิดโรคนี้ ชอบเกิดในดินที่เป็นกรด ดินปนทรายมาก ๆ  และดินที่ใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์มาก ควรป้องกันโดยการใส่ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยคอกมาก ๆ  ลดการใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ลง และถ้าจะปลูกซ้ำที่เดิมควรปรับดินด้วยปูนขาวและใส่ปุ๋ย คอกมาก ๆ เพื่อให้ดินร่วนซุย

2.โรคเหี่ยวเนื่องจากเชื้อแบคทีเรีย อาการที่แสดงคือใบมะระจะเหี่ยว ห้อยลู่ลงเพียง 2-3 ใบก่อน หลังจากนั้นใบอื่น ๆ จะแสดงอาการตามมา เถามะระที่ถูกเชื้อทำลายในตอนแรก ๆ จะอ่อนนุ่มต่อมาเถาจะแห้งแข็งและในที่สุดจะเหี่ยวทั้งต้น ถ้าใช้มีดตัดเถามะระที่เป็นโรคเหี่ยวจากเชื้อแบคทีเรียแล้วลองบีบดูจะเห็นว่ามีน้ำเมือกขาวข้นคล้ายน้ำนมออกมา

โรคนี้มีแมลงพาหะคือ เต่าแตงดำ และเต่าแตงแดง ซึ่งเมื่อกัดกินต้นที่เป็นโรคแล้วไปกัดกินต้นอื่นก็จะแพร่เชื้อเข้าไปด้วย  ฉะนั้นการป้องกันกำจัดก็คือฉีด พ่นยาป้องกันพวกเต่าแตง โดยใช้ยาคาร์บาริล เซพวิน หรือวิทอกซ์ 85 ฉีดอาทิตย์ละครั้ง ส่วนมะระที่แสดงอาการแล้วควรใช้คูปราวิทคอปเปอร์อ๊อกซีคลอไรด์ หรือ อาจใช้สารปฏิชีวนะพวก สเตรปโตมัยซิน หรือนีโอมัยซินก็ได้ วิธีสุดท้ายคือถอนต้นที่ เป็นโรคแล้วนำไปเผาทิ้งเสีย

3.โรคราน้ำค้าง เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่ง อาการที่แสดงคือ ใบมะระ จะมีผลสี่หลี่ยมสีน้ำตาลประปรายทำให้ใบแห้งเหลือง เวลาที่อากาศชื้นจะสังเกต เห็นด้านท้องใบมีขุยของราสีขาวอมม่วงอ่อนขึ้นบนแผลนั้น การป้องกันกำจัดควรฉีดพ่นยาป้องกันเชื้อรา เช่น ไซเนบ มาเนบ หรือยาชนิดอื่น แต่ไม่ควรใช้เบนโนมิล เพราะไม่สามารถป้องกันกำจัดเชื้อราชนิดนี้ได้

4.แมลงวันทอง เจาะและวางไข่ในผลทำให้มีหนอนไชผล ผลจะเล็ก แกรนและเน่าเสีย ควรป้องกันด้วยการฉีดพ่นด้วยยามาลาไธออน, ไดเมครอน หรือ ไดเมทโธเอท ในอัตรา 2-3 ช้อนสังกะสีต่อน้ำ 1 ปีบ

5.หนอนเจาะเถา เกิดจากยุงกลางวันชนิดหนึ่งวางไข่ที่เถา และตัวหนอนของยุงกลางวันชนิดนี้จะเข้าไปอาศัยอยู่ภายในเถามะระ ทำให้เถาโป่งออกมองเห็นได้ชัด ต้นมะระที่เกิดอาการนี้จะหยุดชะงักการเจริญเติบโต ไม่แตกตาดอก ไม่ออกดอกออกผล ป้องกันและกำจัดโดยใช้ยามาลาไธออน ไดเมครอน หรือไดเมทโธเอท อย่างใดอย่างหนึ่งโดยใช้ยา 2-3 ช้อนผสมน้ำ 1 ปีบ

6.เพลี้ย ถ้ายอดมะระถูกเพลี้ยไปดูดน้ำเลี้ยงที่ยอด ทำให้ยอดหงิก โตช้า ไม่มีดอกผล หรือถูกเพลี้ยอ่อนดูดน้ำเลี้ยงที่ยอด ทำให้มะระเติบโตช้าเช่นกัน ควรใช้ยาเซฟวิน หรือมาลาไธออน ในอัตรา 1 -2 ช้อน ผสมน้ำ 1 ปีบ ฉีดพ่น