“มะละกอ” ไม้ผลที่น่าสนใจ

ในอนาคตอันใกล้นี้  มะละกอจะเป็นพืชเศรษฐกิจ  ที่สำคัญของประเทศที่สามารถจะทำรายได้ให้แก่เกษตรกรได้มากพืชหนึ่ง  เพราะแนวโน้มการนำมะละกอไปใช้เป็นวัตถุดิบทางอุตสาหกรรมนั้นมีมากมายหลายชนิด แต่น่าประหลาดใจที่มะละกอกลับถูกมองข้ามไปอย่างน่าเสียดายและประการสำคัญ  นักวิทยาศาสตร์การเกษตรที่ทำการค้นคว้าวิจัย  เกี่ยวกับมะละกออย่างจริงจัง  เท่าที่ทราบมานั้นมีเพียง 2 ท่านเท่านั้นคือ อาจารย์ ดร.จันทรวิภา ธนะโสภณ  แห่งภาควิชาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม และอาจารย์สิริกุล  วะสี  แห่งศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกทดลอง  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ฉะนั้นทางกอง บก.จึงหวังว่า บทความเกี่ยวกับมะละกอ ของ อ.สิริกุล  วะสี  คงจะเป็นประโยชน์สำหรับบรรดาท่านพี่น้องเกษตรกรและผู้ที่สนใจได้มาก และถ้าท่านอาจารย์มีเวลาว่าง  ก็คงจะเขียนเรื่องมะละกอ มาลงในนิตยสาร “ชาวเกษตร” ฉบับต่อ ๆ ไป

ถ้าจะพูดถึงมะละกอแล้ว  ทุกคนย่อมรู้จักและเคยรับประทานกันมาแล้วแน่นอน  เพราะมะละกอเป็นไม้ผลที่เรียกได้ว่า มีปลูกแทบทุกบ้าน และเป็นที่นิยมบริโภคกันแทบทุกภาค  โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคอีสาน  แต่แหล่งปลูกขนาดใหญ่ เป็นการค้า  จะจำกัดแหล่งปลูกอยู่บ้าง  เพราะสาเหตุหลาย ๆ ประการ ดังที่ท่านได้อ่านมาแล้วในฉบับก่อน ๆ อย่างไรก็ตาม  มะละกอก็สามารถปลูกได้ง่าย โตเร็ว ให้ผลดกทั้งประโยชน์ก็มีหลายทาง  ตั้งแต่ผลอ่อน  ที่มียางซึ่งเรียกว่า ปาเปน(papain)ซึ่งช่วยให้เนื้อเปื่อย ใช้หมักเบียร์ ทำให้เบียร์ใส  ใช้ในอุตสาหกรรมฟอกหนัง  เป็นตัวผสมในยารักษาโรคกระเพาะ และยาระบาย เป็นต้น  ในผลดิบ ก็ใช้ปรุงอาหารได้หลายอย่าง  ใช้แกงส้ม ทำส้มตำ หรือจะส่งเข้าโรงงานอุตสาหกรรมอีกก็ยังได้  ปัจจุบันมีการทำมะละกอดอง รับประทานกับข้าวต้มก็อร่อยมิใช่น้อย  ทั้งยังสามารถทำเองได้อีกด้วย  ส่วนในผลสุก  ก็รับประทานเป็นผลไม้  ซึ่งให้คุณค่าทางอาหารมาก  หรือจะเข้าโรงงานอุตสาหกรรม ทำซอส ทำผลไม้กระป๋อง และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อีกมากมาย จะเห็นว่ามะละกอแม้จะเป็นพืชพื้นบ้านธรรมดา  แต่ประโยชน์ของมะละกอนั้นมากมายนัก  ทั้งขณะนี้ก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งทีเดียว