มะลิ:การปลูกและการขยายพันธุ์

มะลิ

เพ็ญแข วุฒิพงศ์กุล(นักวิชาการเกษตร ฝ่ายไม้ดอกไม้ประดับและสมุนไพร กองส่งเสริมพืชพันธุ์ กรมส่งเสริมการเกษตร)

ดอกมะลิ เป็นดอกไม้ที่ทุกคนคงรู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะมีการปลูกกันอย่างแพร่หลายมานานแล้ว  ดอกมะลิมีสีขาวบริสุทธิ์และมีกลิ่นหอมชื่นใจแตกต่างไปจากไม้ดอกชนิดอื่น ๆ ประชาชนนิยมนำมาใช้ในการสักการะบูชาต่าง ๆ และในปัจจุบันนี้ได้กำหนดให้ “ดอกมะลิ” เป็นสัญญลักษณ์ประจำวันแม่ เพื่อใช้เป็นตัวแทนแสดงความรักของลูก ที่มีต่อแม่ จึงทำให้มีการนำดอกมะลิมาใช้อย่างกว้างขวาง  และก่อให้เกิดอาชีพแก่บุคคลในหลายวงการ เช่น เกษตรกรผู้ปลูกมะละ แม่ค้าขายดอกมะลิ ผู้มีอาชีพทำพวงมาลัย ผู้ทำพวงหรีดตลอดจนถึงเด็ก ๆ ที่วิ่งขายพวงมาลัยตามที่ต่าง ๆ เป็นต้น การใช้ประโยชน์ส่วนใหญ่จะนำดอกสดมาใช้เท่านั้น

มะลิเป็นพืชในสกุล Jasminum วงศ์ Loeaceae มีถิ่นกำเนิดในแถบร้อนชื้นและกึ่งร้อนชื้นพบมากทั้งในยุโรป เอเชีย อาฟริกา และแถบแปซิฟิค พืชในสกุลนี้มีประมาณ 200 ชนิด แต่ในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 45 ชนิด ซึ่งเป็นไม้พื้นเมืองของไทยประมาณ 15 ชนิด

ลักษณะทั่วไปของมะลิ

มีลักษณะทั้งเป็นไม้พุ่ม ไม้เลื้อย และไม้รอเลื้อย  มีทั้งเป็นใบเดียวและใบรวม การจัดเรียงตัวของใบมีทั้งเป็นแบบใบอยู่ตรงกันข้าม ใบแบบสลับกัน ส่วนดอกมีทั้งที่เป็นดอกเดียวหรือเป็นดอกช่อ ดอกจะออกจากยอดหรือข้างกิ่ง ดอกมีสีขาว สีเหลือง บางทีก็มีสีค่อนข้างแดง  รูปร่างของดอกจะเป็นแบบแบนราบ ส่วนมากมีกลีบเลี้ยง 4-9 อัน หรือบางทีมี 4-10 อัน กลีบดอกมี 4-9 กลีบ โดยปกติดอกจะเริ่มบานในเวลาบ่ายแล้วจะร่วงในวันรุ่งขึ้น มะลิจะให้ดอกมากในฤดูร้อน ฝน และจะน้อยที่สุดในฤดูหนาว

พันธุ์ที่พบมากในประเทศไทย

1.  มะลิลา ต้นเป็นไม้รอเลื้อย กิ่งอ่อนและกิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อนมีขน ใบเป็นใบเดียวออกเป็นคู่ตรงกันข้าม ใบเป็นรูปไข่ ขอบใบเรียบ ดอกออกเป็นช่อมี 3 ดอก ดอกกลางบานก่อน กลีบดอกชั้นเดียวปลายกลีบมน สีดอกขาว กลิ่นหอม เกษตรกรนิยมปลูกเป็นการค้าอยู่ 3 พันธุ์คือ พันธุ์แม่กลอง พันธุ์ราษฎร์บูรณะ และพันธุ์ชุมพร  ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันเท่าที่สำรวจพบ พอจะสรุปได้ดังนี้

ลักษณะความแตกต่างของพันธุ์มะลิ 3 พันธุ์

ความแตกต่าง

ทรงต้น

พันธุ์แม่กลอง พุ่มต้นใหญ่หนาดกและทึบ เจริญเติบโตเร็ว

พันธุ์ราษฏร์บูรณะ พุ่มเล็กกว่า ค่อนข้างทึบ

พันธุ์ชุมพร คล้ายพันธุ์ราษฎร์บูรณะ แต่ดูโปร่งกว่าเล็กน้อย

ใบ

พันธุ์แม่กลอง ใหญ่หนา สีเขียวเข้มจนดูออกดำ รูปใบค่อนข้างกลม ปลายใบมน

พันธุ์ราษฎร์บูรณะ ใบเล็กบางกว่า สีเขียวไม่เข้ม รูปใบเรียวกว่า

พันธุ์ชุมพร ใบคล้ายราษฏร์บูรณะ แต่เรียวน้อยกว่า สีอ่อนกว่าและบางกว่า

ช่วงข้อใบ

พันธุ์แม่กลอง ห่าง

พันธุ์ราษฎร์บูรณะ ค่อนข้างถี่

พันธุ์ชุมพร ถี่

ดอก

พันธุ์แม่กลอง ใหญ่กลม

พันธุ์ราษฎร์บูรณะ เล็กเรียวแหลม

พันธุ์ชุมพร คล้ายราษฎร์บูรณะ

ลักษณะช่อดอก

พันธุ์แม่กลอง มักมี 1 ชุด 3 ดอก

พันธุ์ราษฎร์บูรณะ มักมี 1-2 ชุด ๆ ละ 3 ดอก

พันธุ์ชุมพร มักมีมากกว่า 2 ชุด ๆ ละ 3 ดอก

ผลผลิต

พันธุ์แม่กลอง ให้ดอกไม่ดก

พันธุ์ราษฎร์บูรณะ ให้ดอกดก โดยทะยอยให้ดอกเรื่อย

พันธุ์ชุมพร ให้ดอกดกมากแต่ทิ้งระยะห่างเป็นช่วง ๆ

ซึ่งในปัจจุบันนี้มีการตั้งชื่อพันธุ์มะลิลาขึ้นใหม่อีกหลายพันธุ์ เช่น พันธุ์เชียงใหม่ ซึ่งคาดว่าป็นพันธุ์ชุมพร ที่นำไปปลูกที่เชียงใหม่มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยตามสภาพภูมิอากาศ พันธุ์เพชรบุรี เท่าที่ผู้เขียนสังเกตเห็นคิดว่าเป็นลักษณะพันธุ์ที่อยู่ระหว่างพันธุ์ราษฎร์บูรณะ และพันธุ์ชุมพร  จะเกิดจากการกลายพันธุ์ก็ได้ แต่ก็ไม่มีผลงานวิจัยเกี่ยวกับพันธุ์มายืนยันได้แน่ชัด

2.  มะลิลาซ้อน ลักษณะต้นใบและอื่น ๆ คล้ายมะลิลา แต่ใบใหญ่กว่า ดอกออกเป็นช่อ มี 3 ดอก และดอกกลางบานก่อนเช่นกัน แต่มีดอกซ้อน 3-4 ชั้น ปลายกลีบมน ขนาดดอก 3-3.5 ซม.

3.  มะลิถอด ต้นใบการจัดเรียงตัวของใบ รูปแบบของใบคล้ายมะลิลาซ้อนแต่ใบเป็นคลื่นดอกเป็นช่อมี 3 ดอก ดอกซ้อนขึ้นมากกว่าคือ 3-6 ชั้น ดอกมีสีขาวกลิ่นหอมมาก ขนาดดอก 2.5-3.5 ซม.

4.  มะลิซ้อน ลักษณะทั่วไปคล้ายมะลิถอดและมะลิลาซ้อน แต่ใบมีลักษณะแคบกว่าดอกออกเป็นช่อมี 3 ดอก เช่นกัน กลีบดอกซ้อน แต่ซ้อนมากชั้นกว่าคือ มากกว่า 5 ชั้น แต่ละชั้นมีกลีบดอก 10 กลีบขึ้นไป ขนาดดอก 3-4 ซม. มีสีขาว กลิ่นหอมมาก

5.  มะลิพิกุลหรือมะลิฉัตร ลักษณะต่าง ๆ เช่นเดียวกันกับ 4 ชนิดที่ผ่านมา ใบคล้ายมะลิซ้อนและมีคลื่นเล็กน้อย ดอกเป็นช่อ 3 ดอก ดอกซ้อนเป็นชั้น ๆ เห็นได้ชัด(คล้ายฉัตร) และดอกมีขนาดเล็กพอ ๆ กับดอกพิกุล ขนาดดอก 1-1.4 ซม. ดอกมีสีขาวกลิ่นหอม

6.  มะลิทะเล เป็นต้นแกมเถาคล้ายเฟื่องฟ้า ออกดอกเป็นกระจุก ๆ หนึ่ง ๆ มี 5-6 ดอก น่าดูมาก กลิ่นหอมฉุน

7.  มะลิพวง ลำต้นเป็นไม้พุ่ม กิ่งอ่อน และกิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อนมีขนเห็นเด่นชัดเช่นกัน ใบและรูปแบบตลอดจนการจัดเรียงคล้ายมะลิอื่นๆ แต่ใบมีขนเห็นได้ชัดดอกออกเป็นช่อแน่นสีขาว กลีบดอกชั้นเดียว กลีบเล็กยาว ปลายแหลมขนาด 3-4.5 ซม. มีกลิ่นหอมมาก

8.  มะลิเลื้อย ลำต้นเลื้อยไปตามพื้นดินยาวประมาณ 1 ฟุต ใบเล็กกว่าพันธุ์อื่นมาก

9.  มะลิวัลย์ เป็นไม้เถาเลื้อยพาดพันต้นไม้อื่น หรือขึ้นร้าน ใบเล็กว่าและยาวกว่ามะลิอื่น กลีบดอกเล็กยาว สีขาว กลิ่นหอมเย็นชืด ชื่ออื่นเรียกว่า “มะลิป่า”

10.  พุทธชาติ เป็นไม้เลื้อย ใบเป็นใบเดี่ยว แต่ใบด้านล่างลดขนาดลงมากจนมีลักษณะคล้ายหูใบ ดอกเป็นช่อ ออกที่ปลายกิ่งและข้างกิ่ง  ดอกขาวปลายกลีบมนก้านดอกยาว

11.  ปันหยี ต้นเป็นไม้เลื้อย เช่นเดียวกับมะลิวัลย์ใบเดี่ยว การออกของใบ เช่นเดียวกันแต่มีขนาดใบใหญ่กว่า หน้าใบเป็นมันสีเขียวเข้ม หนาและแข็ง ดอกออกเป็นช่อเช่นเดียวกัน มะลิวัลย์สีขาว แต่กลีบดอกใหญ่กว่า กว้างและมน ดอกชั้นเดียวขนาดดอกก็ใหญ่กว่าด้วย

12.  เครือใส้ไก่ เป็นไม้รอเลื้อย  กิ่งอ่อน และกิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อนมีขนใบเดียวปลายใบแหลม สีเขียวเข้มเป็นต้น ดอกออกเป็นช่อ ดอกกลางบานก่อน กลีบดอกสีขาว ชั้นเดียวปลายกลีบแหลม

13.  อ้อยแสนสวย เป็นไม้เลื้อยกึ่งอ่อนสีม่วงแดง  ไม่มีขน กิ่งแก่สีน้ำตาลใบเดี่ยวมีขนาดใหญ่ก้านใบสีม่วง ดอกออกเป็นช่อมี 8 ดอก ดอกกลางบานก่อนก้านดอกยาวกลีบดอกสีขาวชั้นเดียว ปลายกลีบมน

14.  มะลิเขี้ยวงู (มะลิก้านยาว) เป็นไม้เลื้อยแตกกิ่งก้านมาก ลำเถาเกลี้ยงไม่ใหญ่โต ใบออกเป็นช่อคล้ายใบแก้ว แต่บางกว่า ดอกออกเป็นช่อมี 3 ดอก ก้านดอกเป็นหลอดสีแดงอมม่วง กลีบขาว กลิ่นดอกหอมจัด

นอกจากนี้ยังมีมะลิอื่น ๆ อีกเช่น มะลิไส้ไก่ มะลิฝรั้ง มะลิย่าน มะลิเถื่อน ฯลฯ

การขยายพันธุ์

นิยมใช้การปักชำ มากที่สุดเนื่องจากเป็นวิธีที่ง่ายและสะดวกที่สุด โดยนำกิ่งที่ไม่อ่อนหรือแก่เกินไปตัดยาวประมาณ 4 นิ้ว หรือมีข้ออย่างน้อย 3 ข้อ การตัดกิ่งควรจะตัดให้ชิดข้อ เหลือใบคู่บนสุด 1 คู่ โดยตัดใบเหลือครึ่งใบ ถ้าต้องการเร่งการออกราก ควรใช้ฮอร์โมน ไอบีเอ (IBA=indold butyric acid) และเอ็นเอเอ (NAA=naphthalene acetic acid) ในอัตราส่วน 1:1 ความเข้มข้น 4,500 พีพีเอ็ม (ppm)

การปลูก

เกษตรกรมักจะปลูกในช่วงต้นฤดูฝนประมาณเดือนมิถุนายน กรกฎาคม เพราะว่ามะลิสามารถตั้งตังได้ดีและเร็วกว่า เนื่องจากได้รับน้ำเพียงพอ

วัสดุที่ใช้ชำ ควรเป็นทรายผสมขี้เถ้าแกลบ อัตราส่วน 1:1 แล้วปักชำเรียงเป็นแถวแต่ละแถวห่างกัน 2 นิ้ว ระยะระหว่างกิ่ง 2 นิ้ว แล้วหมั่นรดน้ำบ่อย ๆ เพื่อให้มีความชื้นตลอดเวลา แปลงชำนี้ควรอยู่ในที่ร่ม ควรฉีดพ่นยากันรา เช่น แคปแทน ลงในกระบะขณะปักชำ หลังจากชำแล้วประมาณ 3 อาทิตย์ กิ่งมะลิจะออกรากประมาณ 90% ควรจะเลือกเฉพาะกิ่งที่สมบูรณ์ มีระบบรากดี ไม่มีโรคติดมา ย้ายลงถุงพลาสติกเพื่อรอการปลูกหรือจำหน่ายต่อไป

มะลิชอบดินร่วนซุยระบายน้ำดี มีอินทรีย์วัตถุและธาตุอาหารพอเพียง การปลูกมะลิให้ได้ผลดีมีอายุยืนยาว ควรจะขุดหลุมลึกกว้างและยาวด้านละ 50 ซม. ใส่ปุ๋ยคอก ใบไม้ผุ หรือปุ๋ยหมัก อัตราส่วน 1:1:1 รองก้นหลุม  พร้อมทั้งใส่ปุ๋ยซุปเปอร์ฟอสเฟต(0-46-0) 1 กำมือและปุ๋ยสูตร 15-15-15  1  กำมือคลุกเคล้าให้เข้ากัน ทิ้งไว้ประมาณ 7-10 วัน จึงนำเอาต้นมะลิมาปลูก และควรจะปลูกในที่ได้รับแสงจัดเต็มที่ ระยะปลูกที่เหมาะสมควรใช้ระยะ 1x 1 เมตร

การรดน้ำ

มะลิต้องการน้ำพอสมควร หากดินยังแฉะอยู่ไม่ควรรดน้ำควรรอจนกว่าดินจะแห้งหมาด ๆ เสียก่อนทั้งนี้อาจจะรดน้ำวันละครั้งหรือสองวันครั้ง ถึงอาทิตย์ละครั้งก็ได้ แล้วแต่สภาพอากาศ แต่ในระยะเริ่มปลูกใหม่ควรรดน้ำทุกวัน โดยรดในตอนเช้า แต่ระวังอย่าให้น้ำท่วมหรือขังอยู่ในแปลงมะลินาน ๆ เพราะจะทำให้ต้นมะลิไม่สมบูรณ์ ใบเหลือง ต้นแคระแกร็น และตายได้

การใส่ปุ๋ย

ปกติเกษตรกรนิยมใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 โดยใส่เดือนละครั้งด้วยวิธีการหว่านและรดน้ำตาม ทั้งนี้ก่อนใส่ปุ๋ยเกษตรกรมักมีการงดน้ำจนดินแห้งเต็มที่ก่อน นอกจากนี้เกษตรกรยังนิยมใช้ปุ๋ยน้ำเช่น ไบโฟลาน ผสมฉีดไปพร้อมกับยา แต่ไม่นิยมใช้ในฤดูหนาว แต่ในปัจจุบันนี้มีปุ๋ยน้ำมากมายหลายชนิด เกษตรกรมักจะเข้าใจผิดว่าเป็นฮอร์โมน มีการนำมาฉีดเพื่อเพิ่มผลผลิตในช่วงฤดูหนาว

การตัดแต่ง

มะลิที่มีอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไปจะแตกกิ่งก้านสาขามากมาย ควรที่จะตัดแต่งพุ่มต้นให้โปร่งและกระทัดรัด จะช่วยให้มะลิมีทรงพุ่มสวยงาม โรคแมลงน้อยลง ให้ดอกมากขึ้นพร้อมทั้ง ช่วยให้เกษตรกรสะดวกในการปฏิบัติงานด้วย  ทั้งนี้ควรจะทำการตัดแต่งกิ่งทุกปี

ลักษณะกิ่งที่ควรตัดคือ

1.  กิ่งที่แห้งตาย

2.  กิ่งที่เป็นโรคหรือถูกแมลงทำลาย

3.  กิ่งไขว้ล้มเอนไม่เป็นระเบียบ

4.  กิ่งเลื้อย

วิธีตัดแต่งกิ่ง

1.  แบบให้เหลือกิ่งไว้ กับต้นยาว (light pruning)

–  ตัดแต่งกิ่งเพียงเล็กน้อย โดยให้เหลือกิ่งสมบูรณ์ไว้มาก

–  เพื่อให้อาหารเหลือเลี้ยงต้นมาก เหมาะกับต้นที่อายุน้อย

2.  แบบให้เหลือกิ่งไว้อย่างสั้น (Hard pruning)

–  ตัดแต่งกิ่งให้เหลือ 3-4 กิ่ง สูงประมาณ 1-15 ฟุต

–  เหมาะสำหรับต้นมะลิ ที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป