มะลิ:ไม้ดอกยอดนิยมปลูกได้โดยไม่ต้องใช้สารเคมี

มะลิเป็นไม้พุ่ม ไม้เลื้อย และไม้รอเลี้อย ใบมีทั้งใบเดี่ยวและใบรวม ดอกสีขาวออกตามยอดของก้าน มีทั้งซ้อนและไม่ซ้อน ที่ซ้อนเรียกมะลิซ้อน ที่ไม่ซ้อนเรียกมะลิลา และมะลิลาจะมีกลิ่นหอมกว่ามะลิซ้อน ออกตลอดปี ออกมากในช่วงฤดูร้อนและฤดูฝน เมื่อดอกบานแล้วจะไม่ติดผล

มะลิที่นิยมปลูกเป็นการค้ามากที่สุด คือ มะลิลา ซึ่งมีหลายพันธุ์ ได้แก่

พันธุ์แม่กลอง

ลักษณะเป็นทรงพุ่มใหญ่ ใบใหญ่หนาสีเขียวเข้มออกดำ ดอกกลมขนาดใหญ่ ให้ดอกไม่ดกมากนัก ดอกออกเป็นช่อละไม่เกิน 3 ดอก

พันธุ์ราษฎร์บูรณะ

ทรงพุ่มมีขนาดเล็กกว่าพันธุ์แม่กลอง ใบเล็กและบางกว่าสีเขียวไม่เข้ม ดอกเล็กเรียวแหลม ทยอยให้ดอกเรื่อย ๆ ในหนึ่งช่อมี 1-2 ชุด ให้ดอกชุดละ 3 ดอก

พันธุ์ชุมพร

มีลักษณะทรงพุ่มคล้ายราษฎร์บูรณะแต่โปร่งกว่า ใบบางและสีอ่อนกว่า ดอกขนาดเล็กเรียวแหลม ให้ดอกมากแต่ทิ้งระยะเป็นช่วง ๆ ช่อดอกมีมากกว่า 2 ชุด ๆ ละ 3 ดอก

การขยายพันธุ์

มะลิขยายพันธุ์โดยการตอนกิ่ง ปักชำ หรือแยกกอ แต่วิธีที่ง่ายและนิยมมากที่สุดคือ การปักชำ มะลิเป็นไม้ดอกที่ชอบแสงแดดจัดและดินที่ร่วนซุย การดูแลรักษาต้องหมั่นตัดแต่งกิ่งและพรวนดินรดน้ำให้ปุ๋ยย่างสม่ำเสมอ จึงจะให้ดอกตลอดปี ช่วงที่เหมาะสมสำหรับการปลูกมะลิมากที่สุดคือ ต้นฤดูฝนระหว่างเดือน มิถุนายน-กรกฎาคม

วิธีการปักชำ

เลือกกิ่งที่ไม่อ่อนหรือแก่เกินไป ตัดกิ่งให้ชิดข้อมากที่สุด ขนาดความยาวของกิ่งประมาณ 4 นิ้ว หรือให้มีข้อติดอยู่อย่างน้อย 3 ข้อ เหลือใบคู่บนสุดไว้ 1-2 คู่ นอกนั้นให้ตัดทิ้ง นำโคนกิ่งไปจุ่มกับน้ำสกัดชีวภาพสักครู่แล้วผึ่งให้แห้งนำไปปักในกระบะชำ เพื่อช่วยให้รากงอกเร็วและมีความแข็งแรง ดินที่ใช้ให้นำทรายหยาบกับถ่านแกลบอย่างละ 1 ส่วน นำกิ่งลงไปปักลึก 1 ใน 3 ส่วนของความยาว ระยะห่างระหว่างแถวและกิ่งห่างกัน 2×2 นิ้ว นำไปวางไว้ในที่ร่มรดน้ำและรักษาความชื้นให้คงที่ โดยอาจใช้พลาสติกใส่ปิดให้มิดชิดเพื่อรักษาความชื้น กิ่งชำจะงอกรากภายใน 3 สัปดาห์

การเตรียมดินและแปลงปลูก

ก่อนปลูกควรมีการเตรียมดินหรือปรับปรุงดินให้มีคุณภาพ มีธาตุอาหารเพียงพอต่อการเจริญเติบโต โดยขุดดินให้ลึกประมาณ 1 ฟุต แล้วตากดินเพื่อฆ่าเชื้อโรคและแมลงประมาณ 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นให้ย่อยดินให้ละเอียดใส่อินทรีย์วัตถุที่สลายตัวแล้วอย่างเช่น เศษฟาง เปลือกถั่วลิสง ขี้เถ้าแกลบ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยชีวภาพ หรือปุ๋ยพืชสด เพื่อให้ดินมีความร่วนซุย สามารถเก็บความชื้นและมีการระบายน้ำดี

แปลงที่ใช้ปลูกมะลิอาจใช้วิธียกร่อง หรือปรับระดับดินให้สูงกว่าระดับดินธรรมดาไม่ต่ำกว่า 1 ฟุต หลุมสำหรับปลูกควรขุดหลุมขนาดกว้างยาวลึก 50 เซนติเมตร ระยะปลูกประมาณ 1×1 เมตร ก่อนปลูกควรรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยชีวภาพ เปลือกถั่ว ฟางผุ อย่างละ 1 ส่วน คลุกเคล้าให้เข้ากันแล้ว จึงนำกิ่งพันธุ์ลงไปปลูก หลังจากกลบดินเรียบร้อยแล้วควรคลุมแปลงปลูกและรดน้ำให้ชุ่ม การคลุมแปลงจะช่วยรักษาความชื้นรักษาอุณหภูมิและช่วยป้องกันวัชพืชวัสดุที่ใช้คลุมแปลง เช่น ฟางข้าว เศษหญ้าแห้ง เปลือกถั่ว หรือวัสดุอื่นที่มี

การให้น้ำ

มะลิเป็นไม้ดอกที่ต้องการนำตลอดทั้งปี ในการให้น้ำนั้นจะให้มากให้น้อยขึ้นอยู่กับสภาพดินที่ปลูกและฤดูกาลด้วยหลักในการพิจารณาคือหากดินยังมีความชื้นอยู่ไม่ควรให้น้ำเพิ่ม รอกระทั่งดินแห้งหมาด ๆ เสียก่อนจึงให้น้ำครั้งต่อไป เพราะมะลิไม่ชอบให้มีน้ำท่วมขังอยู่นาน ๆ อย่างไรก็ตามไม่ควรให้น้ำถึงกับดินเปียกโชกเกินไป ด้วยจะทำให้เกิดโรคแมลงระบาดได้ง่าย

การให้ปุ๋ย

ปกติการใส่ปุ๋ยให้มะลิอาจให้เดือนละ 1 ครั้ง หากเป็นช่วงเริ่มให้ดอก ให้ใส่ปุ๋ยที่มีฟอสฟอรัสสูง เพื่อเร่งดอกหลังใส่ปุ๋ยทุกครั้งควรรดน้ำตามทันที หรือฉีดพ่นด้วน้ำหวานหมักจากผลไม้(Fermented Fruit Juice) ใช้ฉีดพ่นแบบฮอร์โมนพืช ให้ผลในการบำรุงดีมากโดยเฉพาะในช่วงที่พืชกำลังออกดอก

การตัดแต่งกิ่ง

การตัดแต่งกิ่งเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งของการปลูกมะลิ เพราะจะช่วยให้มะลิมีอายุยืนยาวและผลิตดอกได้มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่มะลิมักไม่ค่อยให้ดอกแต่มีราคาแพง วิธีการตัดแต่งกิ่งในทรงพุ่มและกิ่งเลี้อยออกไปจะช่วยได้มาก การตัดแต่งกิ่งยังทำให้ทรงพุ่มโปร่ง ง่ายต่อการดูแลรักษาและเก็บเกี่ยว

วิธีการตัดแต่งกิ่งควรใช้มีดหรือกรรไกรที่สะอาดและคม ตัดเป็นรอยเฉียงทำมุม 45 องศา ป้องกันไม่ให้มีน้ำขังทำให้รอยแผลเปื่อยยุ่ยและเกิดโรคเน่าตามมาการตัดไม่ควรตัดชิดตามากไป ควรเหลือกิ่งเหนือตาไว้ประมาณ ¼ นิ้ว และให้ตาอยู่ทางด้านส่วนสูงของรอยเฉียง หลังจากตัดกิ่งแล้วควรทารอยตัดสำหรับกิ่งที่มีขนาดโตกว่าดินสอด้วยสีน้ำมันหรือปูนแดง เพื่อป้องกันการแห้งตายของปลายกิ่งจากการเข้าทำลายของเชื้อรา และหนอนเจาะลำต้น

ในการตัดแต่งกิ่งมะลิก็มีหลักในการพิจารณาเช่นเดียวกับการตัดแต่งกิ่งกุหลาบ คือ ให้ตัดกิ่งแก่ กิ่งแห้งตาย ซึ่งมักเป็นกิ่งในพุ่มและกิ่งแขนง เป็นกิ่งที่มีสีดำหรือน้ำตาล ตัดกิ่งที่ถูกโรคและแมลงรบกวนออกให้หมด ตัดกิ่งไขว้หรือกิ่งที่เข้าไปในทรงพุ่ม รวมทั้งกิ่งที่ล้มเอน เกะกะไปคลุมเกาะต้นอื่น

โรค-แมลงและการป้องกันกำจัด

โรคมะลิ

โรคมะลิที่สำคัญได้แก่ โรครากเน่า โรคแอนแทรกโนส โรครากปม ซึ่งโรคเหล่านี้ผู้ปลูกจะทราบก็ต่อเมื่อเชื้อได้เข้าทำลายต้นมะลิแล้ว ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าทำลายต้นได้

1.  โรครากเน่า เกิดจากเชื้อรา พบมากในแปลงที่ปลูกมะลิมากกว่า 1ปีขึ้นไป อาการของโรคที่พบคือ ต้นจะเหลือง เหี่ยว ใบร่วง เมื่อขูดดูจะเห็นเส้นใย ราสีขาวที่โคนต้นและรากเน่าเปื่อย

การป้องกัน

เมื่อพบว่าเกิดการระบาดของโรคนี้ขึ้น ให้เปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นสัก 4-5 ปี โดยมีการปรับปรุงดินด้วยปูนขาวหรือปุ๋ยคอก สำหรับต้นที่เป็นโรคให้ถอนและขุดดินในหลุมไปเผา จากนั้นใช้ปูนขาวผสมน้ำราดลงไปในดินอีกครั้ง

2.  โรคแอนแทรกโนส ระบาดในช่วงฤดูฝน มักเกิดกับใบอ่อน อาการของโรคจะมีจุดสีน้ำตาลเป็นวงกลมขนาดเล็กแล้วเปลี่ยนเป็นสีขาวขอบม่วง ใบที่เป็นโรคมักแห้งกรอบคล้ายโรคใบแห้ง

3.  โรครากปม เกิดจากไส้เดือนฝอย อาการของโรคจะพบใบด่างเหลืองคล้ายอาการขาดธาตุ อาการ เมื่อถอนต้นจะพบรากปมเล็ก ๆ ทั่วไป

การป้องกัน

อาจใช้วิธีปลูกดาวเรืองไว้รอบ ๆ แปลงหรือสลับแปลงปลูก เพราะรากของดาวเรืองจะมีสารที่ช่วยลดปริมาณไส้เดือนฝอยในดินได้

แมลงศัตรูมะลิ

แมลงศัตรูของมะลิที่สำคัญ ได้แก่ หนอนกินใบ และหนอนเจาะดอก หรือฉีดพ่นน้ำหมักสะเดาหรือสมุนไพรอื่น ๆ ที่มีฤทธิ์ในการป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืช เช่น ตะไคร้หอม ข่า ฟ้าทะลายโจร พริกขี้หนู หรือน้ำหมักชีวภาพเพื่อขับไล่แมลงศัตรูพืชทุก ๆ สัปดาห์ ก่อนที่จะมีโรคแมลงรบกวนโดยควรทำในช่วงเช้าหรือหลังฝนตกหนัก

การป้องกันกำจัด

วิธีที่ดีที่สุดคือดูแลรักษาต้นมะลิให้เจริญเติบโตสมบูรณ์แข็งแรง หมั่นกำจัดวัชพืช ทำความสะอาดต้นด้วยการ นำใบแก่ที่ร่วงหล่นออกไปให้พ้นบริเวณต้น กำจัดต้นที่เป็นโรคไปเผาทำลาย หมั่นตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง หลีกเลี่ยงการให้น้ำที่เปียกบริเวณต้นและใบ หรือฉีดพ่นน้ำหมักสะเดาหรือสมุนไพรอื่น ๆ ที่มีฤทธิ์ในการป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืช เช่น ตะไคร้หอม ข่า ฟ้าทะลายโจร พริกขี้หนู หรือน้ำหมักชีวภาพเพื่อขับไล่แมลงศัตรูพืชทุก ๆ สัปดาห์ ก่อนที่จะมีโรคแมลงรบกวนโดยควรทำในช่วงเช้าหรือหลังฝนตกหนัก และควรมีการปลูกพืชหมุนเวียนบำรุงดินชนิดอื่น เพื่อตัดวงจรของโรคแมลงและให้มีการใช้ประโยชน์จากดินอย่างเต็มที่ เพราะพืชแต่ละชนิดมีรากลึก และต้องการธาตุอาหารแตกต่างกัน